2020-05-20 22:03
คนจำนวนหนึ่งก็บ่น จะฟื้นฝอยหาตะเข็บทำไม ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤต รัฐบาลกำลังช่วยประชาชน ค่ายรถยนต์ประกาศลดพิเศษให้ฮีโร่ หมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ
ซึ่งเป็นตลกร้าย ชาวโลกยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ ประเทศนี้ยกย่องทหารตำรวจเคอร์ฟิวจับไวรัสได้
โควิด-19 เป็นโอกาสของรัฐบาลอำนาจนิยม รัฐราชการเป็นใหญ่ ทำให้ประชาชนหวังพึ่งอำนาจเด็ดขาด ของฝ่ายความมั่นคง ของผู้ว่าฯ ทำให้ประเทศย้อนสู่ยุค “พ่อเมือง” ถูกส่งมาปกครอง หรือยุค “รัฐเป็นบิดา” ขณะที่การช่วยเหลือ แทนที่จะเป็น “สิทธิถ้วนหน้า” ก็กลายเป็นการสงเคราะห์ที่จำแนกแยกแยะโดยรัฐราชการผู้มีพระคุณ
รัฐอนุรักษนิยมที่เพิ่งโดนแฟลชม็อบนักศึกษาไล่ คงขอบคุณโควิดเป็นล้นพ้นที่ช่วยพลิกสถานการณ์
แต่นั่นเพราะคนจำนวนมากยังไม่ตระหนัก ว่าการปราบโรคระบาดด้วยทัศนคติทหารต่างหาก ที่ทำให้ทุกข์ยากเกินเหตุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิวสี่หรือห้าทุ่ม ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ ตัวเลขเหลือศูนย์ก็แทบจะรอให้ติดลบ ค่อยปลดล็อก
ประเทศนี้จะวนลูปอยู่แบบนี้ไหม ไม่หรอก วิบัติเศรษฐกิจหลังโควิดจะระส่ำระสายเกินเอาอยู่ เพียงแต่ในทางตรงข้าม พรรคฝ่ายค้าน หรือประชาชน ก็ทำอะไรระบอบนี้ไม่ได้ ยิ่งทำให้วิบัติลามไม่สิ้นสุด
การรำลึก 10 ปีพฤษภา 53 หรือ 28 ปีพฤษภา 35 รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางทวงความยุติธรรม เพราะวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด มีมาตั้งแต่ก่อน 6 ตุลา 2519 เสียอีก ไม่มีทางเอาทหารและผู้สั่งการมาลงโทษได้ ไม่ว่า “ชนะ” อย่างปี 35 หรือแพ้อย่างปี 53
หากเป็นการตอกย้ำ ความย้อนแย้งอัปยศ ของสังคมมือถือสากปากถือศีล ที่ครอบงำโดยชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับบน ที่แสดงตนเป็นคนดี มีน้ำใจ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยึดมั่นวัฒนธรรม ความเป็นไทย
สังคมไทยสังคมพุทธอะไรกัน “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” อย่างโหดร้ายใจกลางเมือง แขวนคอ เก้าอี้ฟาด แล้วกลบเกลื่อน ปกครองด้วยเผด็จการสุดโต่ง แล้วค่อยถอยมาประนีประนอม ให้อภัยผู้รอดตายที่ต่อต้าน ผู้เข่นฆ่ากลายเป็นผู้มีเมตตาธรรม แล้วก็บอกให้สังคมน้อมนำความดีงาม เข้าสู่การก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจบริโภคนิยม
พฤษภา 35 วีรชนประชาธิปไตยถูกลบลืม เหลือแต่เจตนารมณ์ “ม็อบมือถือ” เรียกร้องนายกฯ จากเลือกตั้ง แต่ดีใจได้อานันท์ วาทกรรมเทพมารถูกแปลงเป็นคนเลวซื้อเสียง 27 ปีผ่านไป คนชั้นกลางในเมืองกลับสนับสนุนรัฐประหารสืบทอดอำนาจ ตั้งพรรคการเมืองที่เลวร้ายยิ่งกว่าสามัคคีธรรม ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง
พฤษภา 53 คือการลุกฮือของมวลชนเสียงข้างมาก ทวงอำนาจเลือกรัฐบาล จากรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ยึดแย่งอำนาจไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ในนามแห่งอำนาจอนุรักษ์ ผู้ผูกขาดจริยธรรมความดีงาม แต่ใช้ความรุนแรง ใช้ปืนใช้กฎหมาย ไร้ความยุติธรรม เมตตาธรรม ศีลธรรม ที่ปากอ้างทุกข้อ แล้วก็ยังหวนกลับมารัฐประหาร สถาปนาอำนาจครอบงำ ไม่ยอมให้ประชาชนเลือกอำนาจปกครองตนเอง
วิบัติของรัฐไทย คือความไม่ straight ทำลายหลักการ ความมีกฎเกณฑ์ ทั้งระบบกฎหมาย ระบบปกครอง หรือระบบศีลธรรม ทุกอย่างขึ้นกับความพึงพอใจของอำนาจล้วน ๆ เป็นระบอบที่ไม่มีความเสถียร ใครเห็นต่างถูกทำลาย ใครสอพลอได้เป็นใหญ่ ขณะที่สังคมไทยก็อยู่แบบประโยชน์นิยม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ
ภาวะวิบัติสามานย์ดัดจริตนี้ สั่งสมมาหลายสิบปี น่าทึ่งว่าเหนือชาติใดในโลก ฆ่าฟันไร้ความเมตตาลอยนวลพ้นผิด ยังบอกว่าเป็นเมืองยิ้มเมืองพุทธ อำนาจไร้หลักเกณฑ์ กฎหมายไร้มาตรฐาน ยังเป็นประเทศน่าลงทุน
เพียงสงสัยว่าจะเป็นอย่างนี้ได้อีกนานเท่าไหร่
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/362986
2020-05-20 22:38
พอเข้าใจนะ ถ้าใช้วัดคนเช็กอินเช็กเอาท์เข้าห้าง ป้องกันแออัด หรือบันทึกประวัตินั่งร้านอาหาร ไว้ตามตัวเผื่ออีก 14 วันพบคนติดเชื้อ แต่มิตรสหายหลายท่านบอกว่า ถ้าเข้าห้างใหญ่ๆ แล้วเดินไปแต่ละซูเปอร์ ก็ยังต้องสแกนจนคิวยาวเหยียด
หลายคนกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่แน่ใจว่าข้อมูลจะอยู่ในมือสาธารณสุข เพราะเห็นๆ กันว่า สมช. กองทัพ กุมอำนาจเหนือหมอใน ศบค. แล้วทำไมต้องเก็บข้อมูล 60 วัน ในเมื่อระยะออกอาการแค่ 14 วัน
แต่ยังไม่ต้องถึงขั้นนั้น ก็มีข้อสังเกตว่า มาตรการของรัฐแม้ดูเหมือนจำเป็น แต่มัก “รุงรัง” สร้างความยุ่งยากเกินเหตุ ทั้งที่อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “ข้อมูลขยะ” ยิ่งบางแห่ง ให้คนที่ไม่ได้พกมือถือจดชื่อ คงกองกระดาษเป็นตั้งๆ คล้ายตั้งด่านวัดไข้ที่ กทม.ตรวจ 4-5 แสนคน จับไวรัสไม่ได้สักตัว
พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็ว่าประมาท ถ้าระบาดรอบสอง Super Spreader แบบสนามมวยทำไง พบใครติดเชื้อไปสยามพารากอนวันที่ 17 ก็เรียกตรวจทั้งห้างหรือ มันไม่กว้างขนาดนั้นหรอก ต้องใกล้ชิดกันนานพอควร ต้องตะโกน ต้องไม่ใส่หน้ากาก จึงระบาดกว้าง จุดที่พอมีโอกาสคือร้านอาหาร ให้สแกนเข้าร้านมีเหตุผล แต่ทำไมเข้าแบงก์เข้าซูเปอร์ต้องสแกนทั้งที่ก่อนนี้ไม่ต้อง
เพียงแต่ทุกคนอยากเป็นเด็กดีตามคำขวัญ เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์เชื่อฟังรัฐบาลเชื่อคำแนะนำของหมอ ทำอะไรก็อุ่นใจไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน หน่วยงานรัฐยิ่งยิบย่อย กลัวความผิด กลัวโดนด่า ทั้งนายด่าทั้งประชาชนด่า ว่าไม่ระมัดระวังพอ
พูดอย่างนี้ไม่ได้ปฏิเสธเสียหมด แต่เป็นข้อสังเกตว่า มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโควิด ยิ่งตัวเลขเหลือศูนย์ ยิ่งคลายล็อก ก็ดูเหมือนยิ่งจุกจิกจู้จี้ ของเก่าไม่ยอมเลิก ของใหม่ก็ประดามี ทำไมต้องเลื่อนเคอร์ฟิวเป็นห้าทุ่มถึงตีสี่ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น แต่กลับเห็นเป็นความเคยชิน งั้นก็คงไว้ ไม่ปกติสักที
การเดินทางข้ามจังหวัด เหลือพื้นที่เสี่ยงน้อยมาก ก็ไม่ยอมเปิดเสียที ทั้งที่คนอึดอัด อยากเที่ยวพักผ่อนกันเต็มกลั้น โรงแรมรีสอร์ตสถานที่ท่องเที่ยวจะพอมีรายได้บ้าง ก็ไม่ไฟเขียว
เช่นเดียวกับโรงเรียน ซึ่งจำเป็นกว่าเสียอีก โรงเรียนในชนบท ในจังหวัดสีเขียว นักเรียนก็น้อย ไม่แออัด ทำไมต้องให้เรียนออนไลน์ ผลักภาระผู้ปกครอง ต้องซื้อมือถือหาซื้อเน็ตหรือติดจานดาวเทียม ปล่อยให้จังหวัดให้โรงเรียนตัดสินใจร่วมกับสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ไม่ได้หรือ
ปัญหาคือความคิดชี้นำของ ศบค. ต้องให้โควิดเหลือศูนย์ให้ได้ ศูนย์แล้วก็ยังกลัวระบาดรอบสอง กลัวจำนวนพุ่งขึ้นใหม่ คิดมาตรการอะไรได้ก็เพิ่มเข้ามาๆ แล้วก็คงจะไม่เลิก จนกว่าโลกนี้จะมีวัคซีน หรือโควิดหายไปเอง
ศบค.ไม่ยอมรับความจริงว่า เราต้องอยู่กับโควิด ต้องเปิดเศรษฐกิจ เปิดโรงเรียน และต้องมีผู้ติดเชื้อ แต่ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับมือได้ มีคนตายให้น้อยที่สุด เหมือนไข้เลือดออกที่ระบาดทุกปีจนเป็นปกติ
ตัวเกร็งตั้งเป้าเป็นศูนย์ นึกว่าศูนย์แล้วจะคลาย ศูนย์แล้วยิ่งเกร็งเข้าไปใหญ่ กลัวระบาดใหม่ โฆษกก็ยกตัวอย่างทุกวัน เดี๋ยวที่นั่นที่นี่โควิดกลับมา สรุปคือประเทศไทยที่เป็นศูนย์ก่อนเพื่อน คงจะปลดล็อกช้ากว่าเพื่อน รอจนชาวโลกเขาเปิดหมด แล้วเราค่อยเปิดได้
ถึงตอนนั้นไม่รู้เศรษฐกิจจะวอดวายขนาดไหน อย่าลืมนะว่า เงินชดเชยห้าพันจ่ายแค่สามเดือน หมดก๊อกเมื่อไหร่ยังตั้งตัวไม่ติด จะยิ่งวิกฤติ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/363699
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar