ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ 5 จำเลยคดี กปปส. หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
.
วันนี้ (7 เม.ย.)
ศาลรัฐธรรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ที่ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของจำเลยในคดีชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม
กปปส. 5 คน สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุต้องคำพิพากษาศาลอาญาจำคุกในคดีชุมนุม
กปปส. ปี 2557
.
ส.ส.ทั้ง 5 คน ได้แก่
• นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
• นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
• นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และ ส.ส.เขต 6 สงขลา
• นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
• นายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้บุคคลทั้ง 5 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่
ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เนื่องจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกบุคคลทั้ง 5 คน และบุคคลทั้ง 5
ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายชุมพล นายอิสระ
และนายณัฏฐพล มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา
.
ศาลอาญาพิพากษาคดีชุมนุม กปปส. ว่าอย่างไร และใครต้องโทษอะไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://bbc.in/2Q4srAJ
กปปส. : 3 รมต. ในรัฐบาลประยุทธ์ พ้นตำแหน่งทันที หลังศาลสั่งจำคุกคดี กปปส. แต่หลุดข้อหากบฏ
ศาลอาญาพิพากษาจำคุกแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปีเศษ โดยมี 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพิพากษาจำคุกด้วย และต้องหลุดจากตำแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (24 ก.พ.) ศาลอาญา ถ.รัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และข้อหาอื่น ๆ จากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เฉพาะนายสุเทพ และนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้ายด้วย
คดีนี้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นสำนวนฟ้องแกนนำ 9 คนนำโดยนายสุเทพต่อศาลอาญา และต่อมาฟ้องเพิ่มเติมอีก 30 คน รวมเป็น 39 คน เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีทุกคน
อ่านคำพิพากษากว่า 7 ชั่วโมง
ศาลใช้เวลากว่า 7 ชม. ในการอ่านพิพากษา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี
- นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน
- นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี
- นายอิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน
- นายวิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี
- นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน
- นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
สำหรับจำเลยรายอื่น ๆ ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกในคดีเดียวกัน ประกอบด้วย
- น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายถนอม อ่อนเกตุพล จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำคุก 3 ปี
- นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพระพุทธอิสระ จำคุก 4 ปี 8 เดือน
- นายสาธิต เซกัลป์ จำคุก 2 ปี รองลงอาญา ปรับ 26,666 บาท
- พล.อ.ท. วัชระ ฤทธาคนี จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- พล.ร.อ. ชัย สุวรรณภาพ จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน
- นายมั่นแม่น กะการดี จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายคมสัน ทองศิริ จำคุก 2 ปี
- นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำคุก 2 ปี
- นายสุริยะใส กตะศิลา จำคุก 2 ปี
- นายสำราญ รอดเพชร จำคุก 2 ปี 16 เดือน
- นายอมร อมรรัตนานนท์ จำคุก 20 เดือน
- นายพิเชษฐ พัฒนโชติ จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- นายกิตติชัย ใสสะอาด จำคุก 4 เดือน รอลงอาญา ปรับ 6,666 บาท
- นางทยา ทีปสุวรรณ จำคุก 1 ปี 8 เดือน รอลงอาญา ปรับ 26,666 บาท
3 รมต. พ้นตำแหน่ง
ผลจากคำพิพากษาศาลวันนี้ ทำให้ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ต้องพ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลทันที เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตาม 160(7) และมาตรา 170(4) ของรัฐธรรมนูญ แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมายืนยันในเรื่องนี้
ส่วนกรณีของ ส.ส. มีการวิเคราะห์กันในหมู่นักการเมืองว่าหากยึดตามบรรทัดฐานคดีนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สถานภาพของพวกเขาต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 98(6), 101(6) หากต้องคำพิพากษาให้จำคุกและไม่ได้รับการประกันตัว
ตัดสิทธิการเมือง 7 คน
แต่สำหรับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ปชป. และนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ต้องหลุดจากสภา เนื่องจากศาลอาญายังสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพวกเขาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนอกจากจำเลย 3 คนนี้ ยังมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเมืองของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ, ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์, นายสำราญ รอดเพชร และนางทยา ทีปสุวรรณ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าสนใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการ กทม. ด้วย
อย่างไรก็ตามในข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังรัฐบาลลาออก ให้มีการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาประเทศก่อนเลือกตั้ง จึงไม่มีลักษณะล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยที่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร วินิจฉัยแล้วไม่มีเจตนาความผิดฐานกบฏ
"อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด"
ก่อนเข้าไปในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังคำพิพากษา นายสุเทพกล่าวว่า "อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด" โดยบอกว่าจำเลยทั้ง 39 คนได้พูดคุยกัน และทำใจไว้แล้วไม่ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร แต่ย้ำว่าการต่อสู้ของพวกเขาเป็นการต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นการกระทำที่รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการฝ่าฝืนกฎหมาย เคารพกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม และน่าชื่นใจมากทุกกรณีทุกจังหวัดที่แนวร่วม กปปส. ถูกดำเนินคดี ไม่มีใครหลบหนีคดี
ขณะที่บรรยากาศที่ศาลอาญา ถ.รัชดา มีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้ง 39 คน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นโดยรอบพื้นที่ศาล
กปปส. นำโดยนายสุเทพจัดการชุมนุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2556 บริเวณ ถ.เลียบสถานีรถไฟสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลากยาวเป็นเวลา 204 วัน ก่อนจะสิ้นสุดในวันที่ 22 พ.ค. 2557 เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติยึดอำนาจ
สำหรับพฤติการณ์ความผิดที่อัยการบรรยายในคำฟ้อง สรุปสาระสำคัญได้ว่า
- จัดตั้งคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า กปปส.
- ร่วมกันมั่วสุม เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร จัดตั้งกองกำลัง แบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
- ยุยงปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่อง ร่วมชุมนุมขับไล่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง
- ขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ
- ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.
- แต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็น "รัฐบาลประชาชน" เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ เอง
- จัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญหลายแห่ง เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้
- ปิดกั้นขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่งเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
- ปิดกรุงเทพฯ ด้วยการตั้งเวทีปราศรัย 7 จุดทั่วกรุงเทพฯ ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง
ศาลไม่ให้ประกัน เข้าคุกทันที 8 คน
เมื่อเวลา 19.34 น. นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตแกนนำ ปปปส. ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กว่า "กำนัน พี่ตั้น พี่บี พี่ลูกหมี พี่ถาวร ไม่ได้ประกันตัวครับ 😢😢😢" ซึ่งหมายถึง
- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
- นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
- นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
- นายชุมพล จุลใส
- นายถาวร เสนเนียม
ส่วนอีก 3 คน ได้แก่
- นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพระพุทธอิสระ
- ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์
- นายอิสสระ สมชัย
ราว 20.30 น. นักโทษทั้ง 8 คน ถูกนำตัวจากศาลอาญาขึ้นรถกักของเรือนจำไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาส่ง พร้อมร้องเพลง "สู้ไม่ถอย" ที่ใช้ร้องระหว่างการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ แล้วมีเสียงตะโกนว่า "คนชั่วหนีหมด คนดีหนีเข้าคุก คนชั่วหนีไปต่างประเทศ ต่อไปใครจะออกมาสู้"
นางทยา ทีปสุวรรณ ที่ถูกจำคุก 1 ปี 8 เดือน รอลงอาญา ปรับ 26,666 บาท กล่าวกับผู้สื่อข่าวหน้าศาลในสภาพหนีบไม้เท้าที่แขนทั้งสองข้างว่า ผู้ต้องโทษทั้งหมดจะขออุทธรณ์และขอประกันตัวอีกครั้ง
นอกจากคดีกบฏ กปปส. ชุดใหญ่ ยังมีคดีย่อย ๆ ที่ถูกแยกสำนวนออกไป โดยศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 25 ก.ค. 2562 ยกฟ้อง 4 แกนนำ กปปส. ประกอบด้วย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายเสรี วงษ์มณฑา, นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏและอื่น ๆ รวม 8 ข้อหา โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำผิดตามฟ้อง ต่อมาอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 6 พ.ค.
“ที่สุด” ในการชุมนุม กปปส.
204 วัน
ระยะเวลาชุมนุม
1.4 พันล้าน
เงินที่ใช้ตลอดการชุมนุม*
-
300-400 ล้านบาท หนี้คงค้างสุเทพถึงปัจจุบัน
-
25 ล้านบาท สุเทพขายที่เกาะสมุย ประเดิมเปิดเวทีแรกที่สามเสน
-
10 ล้านบาท/วัน งบบริหาร 8 เวที วันชัตดาวน์กรุงเทพฯ**
-
5.8 ล้านคน/วัน ยอดผู้ชุมนุมสูงสุด วันชัตดาวน์กรุงเทพฯ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar