โควิด-19: ไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันเกินพันเป็นครั้งแรก ในขณะที่กรมการแพทย์ยืนยันมีเตียงว่างในระบบ

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลขการติดเชื้อวันนี้ (14 เม.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักพันวันแรก จำนวน 1,335 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,326 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักพันวันแรก จำนวน 1,335 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,326 ราย ซึ่งมาจากตัวเลขในระบบบริการ 789 ราย และการคัดกรองเชิงรุก 537 ราย เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม จึงมียอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 97 ราย

ในวันนี้ (14 เม.ย.) จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 13 เม.ย. จำนวน 5,712 คน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจำแนกสีของจังหวัดตามลักษณะการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการจำแนกสีพื้นที่มาตรการในอดีตของ ศบค. และได้เพิ่มประเภทจังหวัดสีแดงเข้มขึ้นมาเป็นวันแรก ดังนี้

  • สีขาว ไม่พบผู้ติดเชื้อ 2 จังหวัด
  • สีเขียว ไม่พบการระบาดภายใน พบผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น
  • สีเหลือง พบกลุ่มก้อนการติดเชื้อภายในครอบครัว
  • สีส้ม มีการระบาดในจังหวัดตนเอง พบกลุ่มก้อนการระบาดน้อยกว่า 50 ราย
  • สีแดง มีการระบาดในจังหวัดตนเอง และกลุ่มก้อนการระบาดมากกว่า 50 ราย
  • สีแดงเข้ม มีการระบาดในจังหวัดตนเอง และกลุ่มก้อนการระบาดมากกว่า 100 ราย ขณะนี้มี 9 จังหวัด (โดย 8 จังหวัด ได้ถูกปรับจากสีแดงมาเป็นสีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ นาราธิวาส ประจวบคิรีขันธ์ สมุทรสาคร สระแก้ว และปรากฏปทุมธานีในกลุ่มจังหวัดสีแดงเข้มเป็นครั้งแรก

นพ. โอภาส ระบุว่าการแพร่ระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้ง และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยภายในระยะเวลา 1 เดือนข้างหน้า คืออาจมีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 20,000 ราย หากไม่มีการดำเนินการใดเลย แต่เนื่องจากมีมาตรการปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงแล้ว รวมถึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล จึงคาดหวังว่าจะสามารถคุมตัวเลขให้อยู่ที่ 593-934 รายต่อวันได้ และหากสามารถ work from home ได้ทั้งหมด ก็น่าจะคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ที่จำนวน 391 คนต่อวัน

Covid-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นพ. ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่าผู้ติดเชื้อต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

รวมถึงชี้แจงกรณีที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า "ยังมีเตียงว่างในระบบ" จำนวน 2,725 เตียง จากทั้งทางโรงพยาบาลรัฐ เอกชน โรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทล แต่สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อยังไม่ได้เตียงเพราะว่าเตียงในระบบนั้นรวมตัวเลขเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักด้วย พร้อมย้ำว่าผู้ติดเชื้อทุกคนจะได้เตียง "ในเวลาที่เหมาะสม" นอกจากนี้ ยังแนะนำประชาชนไม่ร้องขอ "ห้องเดี่ยว/ห้องพิเศษ" เมื่อได้ห้องรวม เนื่องจากจะทำให้จัดการยาก

นอกจากช่องทางการติดต่อผ่าน 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ), 1669 สายด่วนจัดหาเตียงในกทม., และ 1330 สายด่วน สปสช. นพ. ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มช่องทางการติดต่อผ่าน "สบายดีบอต" (@sabaideebot) ในแอปพลิเคชั่นไลน์ เพื่อฝากข้อมูลไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานกับทางสายด่วนจัดหาเตียงและติดต่อกลับไป ขอให้ผู้ติดเชื้อดูแลตนเองและรอการติดต่อกลับอยู่ที่บ้าน ไม่เดินทางไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อหาเตียงเอง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ โดยศูนย์เอราวัณจะส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่บ้านเอง

"ยืนยันรักษาฟรีเมื่อติดเชื้อโควิด ไม่ทิ้งประชาชนให้นอนป่วยอยู่ที่บ้าน"

นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปิดท้ายว่า ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขล่าช้า แต่ได้มีการเพิ่มกลไกการบริหารจัดการเตียงแล้ว รวมถึงยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เตือนให้ประชาชนระวังข่าวเท็จเกี่ยวกับวัคซีนด้วย