4 เมษา: อดีตแกนนำเสื้อเหลือง-เสื้อแดง สามัคคีชุมนุมไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ยึด “พฤษภา 35 โมเดล”

การชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

การชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 เพื่อ "ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มาจากเสียงของประชาชน" ของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เสียงส่วนใหญ่ลงมติ "ไว้วางใจ" 10 รัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

อดีตแกนนำคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง กปปส. และประชาชน นัดหมายชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เย็นนี้ โดยกล่าวหาว่าเป็น "ตัวปัญหาของชาติ"

กิจกรรม "ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย" จะเกิดขึ้นที่อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรรม สวนสันติพร กทม. ในวันที่ 4 เดือน 4 เวลา 4 โมงเย็น จึงถูกเรียกขานว่าเป็นปฏิบัติการภายใต้รหัส "4-4-4"

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลายกลุ่มได้ประกาศสลายขั้ว-เลิกข้าง-ไม่แบ่งสีเสื้อ ก่อนมารวมตัวกันในนามกลุ่ม "สามัคคีประชาชน" ประกาศเป้าหมายเพียงข้อเดียวคือการขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ออกจากอำนาจ แต่นั่นเท่ากับเป็นการลดระดับข้อเรียกร้องของขบวนการ "ราษฎร" ที่ไปไกลถึงขั้นเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

สองแกนนำจัดกิจกรรมอย่าง นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุตรงกันว่า พล.อ. ประยุทธ์ คือ "ตัวปัญหาของชาติ" จึงต้องการเปิดเวทีชำแหละความผิดพลาดล้มเหลวของนายกฯ คนที่ 29

"พล.อ. ประยุทธ์คือตัวปัญหา เหมือนกับช่วงพฤษภา 2535 ที่นักศึกษาและประชาชนเห็นว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คือตัวปัญหา จึงออกมาขับไล่จนสำเร็จ" นายอดุลย์กล่าว

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงหนึ่งเดียวที่ร่วมในกลุ่ม "สามัคคีประชาชน"

ความเคลื่อนไหวบนท้องถนนของกลุ่ม "สามัคคีประชาชน" จะใช้ "พฤษภา 2535 โมเดล" เป็นแนวทางตามการเปิดเผยของนายจตุพร โดยย้ำว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเผด็จการเท่านั้น

สำหรับเหตุการณ์พฤษภา 2535 เกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาและประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้นำรัฐประหารปี 2534 ที่ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ทั้งที่เคยสัญญาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง

ผลที่ตามมาคือ เกิดเหตุปะทะระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย บาดเจ็บ 1,728 ราย และสูญหายอีก 48 ราย ก่อนที่เหตุจลาจลกลางกรุงจะยุติลงเมื่อในหลวง ร. 9 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ หลังจากนั้นอีก 4 วัน พล.อ. สุจินดาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

ใครคือแกนนำกลุ่ม "สามัคคีประชาชน"

นักกิจกรรมการเมืองที่เปิดตัวเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "สามัคคีประชาชน" มีหลากหลาย และมีวีรกรรมการเมืองบนท้องถนนแตกต่างกันไปในช่วงเกิดวิกฤตการเมืองเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

  • นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35
  • นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) - ต่อต้านการรัฐประหารปี 2549-2550, ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552-2553
  • นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) - ขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2548-2549, ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปี 2550-2551, ขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551, ขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในนาม กปปส. ปี 2556-2557
  • นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์เสรีภาพประชาชน และเลขาธิการเครือขายประชาชนต้านคอร์รัปชัน - เข้าร่วมกับ พธม. ขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2548-2549, ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปี 2550-2551, ขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551, เคลื่อนไหวทวงคืนดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552 จนถูกจับกุมและต้องโทษจำคุกในกัมพูชา, ต่อต้าน คสช. หลังรัฐประหารปี 2557 และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง
getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) (ซ้าย) ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 เคียงข้างนายสนธิ ลิ้มทองกุล และจำลอง ศรีเมือง

เปิดข้อกล่าวหาที่ใช้ไล่ พล.อ. ประยุทธ์

แกนนำกลุ่มสามัคคีประชาชนได้บรรยายพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ไว้อย่างน้อย 7 ข้อ และเตรียมสลับกันให้ข้อมูลกับประชาชนบนเวทีวันนี้ ทว่าเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านเคยใช้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาจะลงมติ "ไว้วางใจ" ให้ผู้นำฝ่ายบริหารทำหน้าที่ต่อไป

  • ตระบัดสัตย์ไม่ปฏิรูปประเทศตามที่ให้สัญญาประชาคมเมื่อครั้งยึดอำนาจปี 2557
  • ไม่สร้างความสามัคคีปรองดองตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับแกนนำกลุ่มการเมืองทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง
  • ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน
  • เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ ทำให้เจ้าสัวร่ำรวย แต่ประชาชนต้องซื้อของแพง ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีคูณ
  • สร้างกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน อภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมาย ส่วนคนจนเข้าไม่ถึงความยุติธรรม
  • ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และวางแผนสืบทอดอำนาจอีก
  • แอบอ้างสถาบันฯ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันฯ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถปกป้องสถาบันฯ ได้

ส่วนการรักษาความปลอดภัยในวันอาทิตย์ ซึ่งมีการนัดหมายการชุมนุมหลายจุดในเขตพระนคร สำหรับการชุมนุมของกลุ่ม "สามัคคีประชาชน" นัดหมายที่บริเวณสวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ฐานะโฆษก บช.น. ระบุว่าเน้นตั้งจุดตรวจค้นรอบพื้นที่การชุมนุม

ทั้งนี้กลุ่มญาติวีรชนได้แจ้งขอใช้สถานที่ไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่มีการตอบอย่างเป็นทางการว่าอนุญาตหรือไม่