tisdag 6 april 2021

นักวิชาการนานาชาติเรียกร้องต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ



เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.
21h ·

ใบแถลงข่าว (English version below)
(5 เมษายน 2563)
นักวิชาการนานาชาติเรียกร้องต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ
นักวิชาการนับร้อยคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ได้ส่งจดหมายไปยังผู้บริหารระดับสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ผู้บริหารปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและยุติการคุกคามต่อ ดร. ณัฐพล ใจจริง
ดร. ณัฐพล ใจจริง ซึ่งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2552 และปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กำลังถูกจุฬาฯสอบสวนเกี่ยวกับความบกพร่องโดยไม่เจตนาที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา ตามการร้องเรียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวหาว่าความบกพร่องนั้นเป็นการกุหลักฐานซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การสอบสวน ดร. ณัฐพลเกี่ยวกับความบกพร่องในวิทยานิพนธ์เช่นนี้เป็นการโหมกระพือให้แก่การ “ล่าแม่มด” (witch-hunt) มากกว่าจะเป็นการปกป้องหลักการความซื่อตรงทางวิชาการ (academic integrity)
นักวิชาการนานาชาติเหล่านี้เขียนจดหมายถึงศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีด้านวิชาการ และศาสตราจารย์จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย ขอให้จุฬาฯ ยุติการสอบสวนดร.ณัฐพลและขอให้อนุญาตให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของดร.ณัฐพลได้ เพราะแทนที่จะปิดกั้น การถกเถียงกันอย่างเปิดเผยจะเป็นวิธีการประกันความซื่อตรงทางวิชาการที่ดีที่สุดในกรณีนี้ นักวิชาการนานาชาติยังเสนอให้จุฬาฯ กำหนดนโยบายที่จะสามารถให้ความคุ้มครองแก่นักศึกษาและอาจารย์ที่กล้าจะทำงานที่มีความเสี่ยงทางปัญญา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์หรือแปลกใหม่ชนิดไม่เคยมีใครทำมาก่อนให้สำเร็จได้
นักวิชาการเหล่านั้นได้อธิบายในจดหมายว่า ถ้าปราศจากความคุ้มครองนักวิชาการจากการคุกคามให้ร้ายโจมตี ความเสียหายจะเกิดต่อมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งสามารถรับรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงที่อับจนด้อยคุณภาพในห้องเรียน วิทยานิพนธ์น่าเบื่อที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างหวั่นเกรงเพราะต้องการให้ปลอดจากภัยคุกคาม และวิทยาการอันไร้ชีวิตชีวาที่จำกัดตัวอยู่แค่ในกรอบการถกเถียงที่คล้อยตามผู้มีอำนาจเท่านั้น ความเสียหายจากการผลิตวิทยาการความรู้อันคับแคบคล้อยตามผู้มีอำนาจย่อมหมายถึงความเสื่อมถอยของความเป็นเลิศทางวิชาการ ในที่สุดก็จะสะท้อนออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับการอยู่รอดของทุกมหาวิทยาลัยในทุกวันนี้ รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ตัวอย่างของนักวิชาการนานาชาติชั้นนำที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ มีดังต่อไปนี้
Dr. Jeffrey Wasserstrom, Chancellor's Professor of History, University of California, Irvine:
“ขณะนี้ เสรีภาพทางวิชาการกำลังถูกคุกคามในหลายส่วนของทวีปเอเชีย (อาจเรียกว่าในระดับโลกก็ได้) ณ เวลาเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญยิ่งยวดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะเป็นสถานที่ให้มีการศึกษาไต่สวนอย่างอิสระในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบการเมืองต่างๆ ... ข้าพเจ้าจึงมีความกังวลใจอย่างมากเมื่อได้รับรู้ถึงมาตรการต่างๆที่ถูกใช้เพื่อทำให้นักวิชาการไทยผู้น่าเคารพที่ศึกษาในหัวข้อเหล่านี้ต้องสงบเสียงลง โดยเฉพาะการที่ใช้มาตรการเหล่านี้เน้นตรงความผิดพลาดเล็กๆในรายละเอียดที่เขาทำในช่วงต้นๆของวิชาชีพของเขา ทั้งที่เขายังได้ยอมรับและพยายามแก้ไขแล้วด้วยซ้ำ”
Dr. Ben Kiernan, A. Whitney Griswold Professor of History at Yale University:
“การปิดกั้นไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้น ... จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังกระทำการข่มเหงทางวิชาการที่สมควรถูกประณามอย่างแรงจากชุมชนวิชาการนานาชาติ”
Dr. Jim Glassman, Professor of Geography at the University of British Columbia:
“เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพทางวิชาการเป็นมาตรวัดที่ชี้ว่าสังคมและสถาบันสำคัญๆทางสังคมยังมีสุขภาพดีอยู่หรือป่วยไข้ลง ในสังคมซึ่งแข็งแรงและสุขภาพดี เสรีภาพพื้นฐานเหล่านี้จะยิ่งทำให้สังคมมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น ครั้นนักวิชาการ...ก่อความผิดพลาด (ทางวิชาการ) -- ซึ่งพวกเขาไม่มีทางหลีกพ้นไปได้ -- ความผิดพลาดเหล่านั้นจะถูกแก้ไขผ่านการถกเถียงอย่างเปิดเผยและอิสระ แต่ในสังคมใดก็ตามซึ่งความผิดพลาดอย่างไม่เจตนาถูกแก้ไข...ด้วยการลงทัณฑ์อย่างรุนแรง ย่อมเผยให้เห็นว่าสังคมนั้นไม่เข้มแข็งเลยที่จะปกป้องสถาบันทางสังคม แต่เปราะบางและผุพังเพราะสุขภาพที่กำลังถดถอยลงทุกวัน สังคมไทยในขณะนี้มาถึงทางแยก การตัดสินใจโดยผู้นำทางนโยบายและโดยปัญญาชนเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดและในการไต่สวนทางปัญญา จะเผยให้เห็น –และจะมีผลอย่างมากด้วย – ว่าประเทศและสถาบันต่างๆจะมีสุขภาพดีต่อไปในอนาคตหรือจะถดถอยดิ่งสู่ความป่วยไข้อย่างหนักจนถึงกับสิ้นสลายไปในที่สุดหรือไม่
Katherine A. Bowie, Vilas Distinguished Achievement Professor of Anthropology, University of Wisconsin-Madison, former President (2017-2018) of the Association for Asian Studies:
“หากจุฬาฯล้มเหลวที่จะปกป้องเสรีภาพทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมา จุฬาฯกำลังเสี่ยงทำตนเองให้ดูเหมือนว่าเข้าข้างฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองระดับประเทศ ซึ่งกำลังกัดกร่อนประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญที่จะต้องเป็นพื้นที่ของพลเมืองที่สามารถคิดต่างและถกเถียงกันได้ พื้นที่นี้มีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมวงกว้าง ความล้มเหลวที่จะปกป้องเสรีภาพทางวิชาการไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ความอับจนของการถกเถียงในสถาบันการศึกษา แต่จะไม่สามารถหล่อหลอมสร้างผู้นำที่มีพลวัตรอันสร้างสรรค์ในรุ่นต่อไปได้อีกด้วย”
Dr. Andrew J. Nathan, Class of 1919 Professor of Political Science at Columbia University:
ขอร้องให้ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งโลก เขากล่าวว่า …
“กรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในความห่วงใยของนานาชาติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการในประเทศไทยวันนี้ อาจจะเกิดกับข้าพเจ้าในสหรัฐอเมริกาในวันพรุ่งก็เป็นได้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอร้องเป็นการส่วนตัวมายังท่านซึ่งเป็นผู้นำทางวิชาการได้โปรดกระทำการอันจำเป็นเพื่อปกป้อง ดร. ณัฐพล ใจจริงให้พ้นจากการถูกข่มเหง... การกระทำของท่านจะเป็นกำลังใจมหันต์ให้แก่นักวิชาการทั่วทั้งโลก”
ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์เกียรติคุณทางประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และดร. ไทเรล ฮาเบอคอร์น ศาสตราจารย์ด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเชียแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการรณรงค์เขียนจดหมายครั้งนี้ เชื่อว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยืนเคียงข้างมิตรของเราในประเทศไทย เพราะบทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้นำทางส่องสว่างแก่การแลกเปลี่ยนที่อิสระ และเป็นพื้นที่สำหรับการคิดต่างและการถกเถียงได้อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งทั้งสำหรับสังคมไทยในวงกว้างและสำหรับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะต้องเกื้อหนุนบรรยากาศสำหรับการแลกเปลี่ยนอย่างวิพากษ์วิจารณ์และสร้างสรรค์ อันเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับความเป็นเลิศทางวิชาการ
[เกี่ยวกับคำแถลงข่าวนี้ โปรดติดต่อ ธงชัย วินิจจะกูล twinicha@wisc.edu และไทเรล ฮาเบอคอร์น (Tyrell Haberkorn) tyrellcaroline@gmail.com]

อ่านเวอร์ชั่นอังกฤษที่
https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/photos/a.487222531441124/1915223291974367/

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar