การผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวม 13 ฉบับ
ประชุมรัฐสภา: สรุป 10 สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับผ่านรัฐสภา
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย หลังใช้เวลาพิจารณาข้ามปี
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2 เริ่มต้นเมื่อเวลา 11.47 น. ของวันนี้ (22 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา เริ่มตั้งแต่มาตรา 54 จนจบมาตรา 67 รวมทั้งสิ้น 14 มาตรา
นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในวาระที่ 2 หลังจำต้องปิดประชุมอย่างกะทันหันเมื่อ 18 มี.ค. เนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย พลิกมาชนะโหวตมาตรา 9 ที่กำหนดว่าการทำประชามติทำได้ 5 กรณี จากร่างเดิมให้ทำได้ 2 กรณี จึงจำเป็นต้องรื้อเนื้อหาของมาตราที่เหลืออยู่ แล้วปรับปรุงให้สอดคล้องกัน ก่อนนำร่างกลับเข้ารัฐสภาอีกครั้งวันที่ 7-8 เม.ย. แต่แล้วก็เกิดเหตุองค์ประชุมหวิดล่มขณะพิจารณาถึงมาตรา 53 จนประธานต้องชิงสั่งปิดประชุม ก่อนกลับมาพิจารณากันต่อในวันนี้
รัฐสภาใช้เวลาเพียง 3 ชม. ในการพิจารณาวาระ 2
จากนั้นได้พิจารณาวาระ 3 ต่อทันที และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ด้วยคะแนนเสียง 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1
ขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
10 สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูป ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมกับของรัฐสภา ต่างจากร่างกฎหมายปกติที่จะพิจารณาทีละสภา
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ สรุปได้ ดังนี้
1. เปิดทางให้ทำประชามติได้ 5 กรณี
- ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- ประชามติกรณีเมื่อ ครม. เห็นว่ามีเหตุอันสมควร
- ประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง
- ประชามติกรณีที่รัฐสภามีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียง และได้แจ้งเรื่องให้ ครม. ดำเนินการ
- ประชามติกรณีประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง
2. กำหนดให้ใช้เขตจังหวัด เป็นเขตออกเสียงประชามติ แบบเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.
3. เปิดทางให้ใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรได้เป็นครั้งแรก โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่
4. เปิดทางให้ลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ และลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กรอนิกส์ด้วย เพื่อตอบรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
5. ในการผ่านประชามติ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
6. กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ต้องมีสัญชาติไทย, อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงไม่น้อยกว่า 90 วัน
7. กำหนดให้เผยแพร่สาระสำคัญ/เรื่องที่จะให้ทำประชามติ ให้ประชาชนรับทราบผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง และจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งเจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน
8. ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรีและเสมอภาค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด
9. กำหนดบทลงโทษต่าง ๆ อาทิ
- ผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงประชาติไม่สุจริตเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกเสียงประชามติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการขัดขวาง กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดกระทำการ อาทิ ขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือให้/เสนอให้/สัญญาว่าจะให้/จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง หรือหลอกลวง/ บังคับ/ขู่เข็ญ/ใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
- กรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
10. ห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) เกี่ยวกับการออกเสียงในเวลา 7 วันก่อนวันออกเสียง จนสิ้นสุดเวลาออกเสียง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar