"ไม่ล็อกดาวน์"
ข้อกำหนดเหล่านี้
ออกมาหลังการประชุมนัดพิเศษระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (สบค.)
กับคณะแพทย์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 25
มิ.ย. ท่ามกลางหลายปัญหาในรอบสัปดาห์
ตลอดสัปดาห์
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 ราย
และยอดผู้เสียชีวิตต่อวันทำสถิติสูงสุดที่ 51 รายเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงและอาการวิกฤตในกรุงเทพฯ
และปริมณฑล ส่งผลให้แพทย์หลายคนออกมาแสดงความกังวล
และบางคนเสนอให้มีการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 วัน
นายกฯ
แถลงว่าที่ประชุมเห็นควรให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง
ซึ่งเป็นแหล่งที่พบการระบาดรุนแรงทุกแห่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 4
จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 1 เดือน
โดยสั่งการให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานและการห้าม
ออกนอกพื้นที่
สำหรับโครงการก่อสร้างของรัฐให้ชะลอไว้ก่อน
โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายเวลาการก่อสร้างในสัญญากับผู้รับเหมา
ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มคนงานก่อสร้าง
นอกจากนี้
เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดรุนแรงในช่วงนี้
ที่ประชุมเห็นควรให้บังคับใช้มาตรการเฉพาะสำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
รวมทั้งมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คน
ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว
แต่จะขอความร่วมมือให้เข้มงวดมากขึ้นและปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์
นายกฯ
ยืนยันว่ามาตรการเหล่านี้ "ไม่ใช่การล็อกดาวน์"
และไม่มีการกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว
ทั้งนี้จะมีการประกาศในรายละเอียดต่อไปโดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28
มิ.ย.
"คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่
เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่
คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ...เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม
ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน
มันก็มีปัญหาอีก" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกชิโนฟาร์ม
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ถ. แจ้งวัฒนะว่า
เขารับทราบถึงความห่วงใยจากแพทย์บางส่วนเกี่ยวกับการเปิดประเทศ
แต่ขอให้เชื่อมั่นว่า
ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานจริงทำงานบนพื้นฐานของข้อมูล
หากใครมีข้อสงสัยขอให้ถามมาโดยตรง เพราะหากพูดกันไปกันมาจะไปคนละทางสองทาง
ผู้นำรัฐบาลยังทำสัญลักษณ์มือ
2 แบบส่งให้ประชาชน โดยชู 3 นิ้ว ในท่าบอกรัก พลางกล่าวว่า
"นี่คือไอเลิฟยู" จากนั้นได้ชู 2 นิ้วในท่า "สู้ตาย" และกล่าวว่า
"นี่คือวัคซีน วิคโตรี เอาชนะให้ได้" ซึ่งมีชายไทยอีกคนตะโกนให้กำลังใจ
"นายกฯ สู้ ๆ" ด้วย
ในระหว่างตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือก
มี ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมนำชมศูนย์
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ได้เดินพูดไปตลอดทาง บ้างก็กล่าวกับประชาชนว่า
"โลกฉีดเท่าไร ยี่ห้อนี้ก็เยอะ อย่าไปฟังใครมาก ไม่ฉีดอันตรายกว่า"
บ้างก็พูดถึงความพยายามจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ย้ำว่า
"รัฐบาลต้องดูแลคน 50 กว่าล้านคน ไม่ง่าย เราก็พยายามเจรจาหาเพิ่ม
เชื่อมั่น ๆ"
ขณะที่บางช่วง
พล.อ. ประยุทธ์ได้พูดถึงการเปิดเศรษฐกิจ
โดยถามประชาชนว่าถ้าล็อกดาวน์เอาหรือไม่ ซึ่งมีผู้ตอบว่าไม่เอา ทำให้นายกฯ
กล่าวเสริมว่า เพราะอะไร เดือดร้อนใช่หรือไม่ คนหากินรายวัน
เมื่อสื่อมวลชนถามถึงข้อเสนอของแพทย์อาวุโสบางส่วนให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ
7 วัน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นายกฯ ถามกลับว่า
"แล้วเราแน่ใจว่าปิดแล้วจบไหม รับรองให้ผมได้ไหม
ถ้าปิดแล้วไม่จบจะทำอย่างไร ตอบคำถามผมต่อสิ
ผมกำลังคิดว่าถ้าเจ็บแล้วจบก็ควรทำ แต่ถ้าเจ็บแล้วไม่จบจะทำอย่างไร
ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมไม่โทษใคร ทุกคนต้องปกป้องตัวเอง ต้องมีจิตสำนึกด้วย
ระมัดระวังอย่าไปเสี่ยงกัน"
ศบค. เร่งแก้วิกฤตเตียงไม่พอ
พญ.
อภิสมัย ศรีรังสรรค์ โฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันนี้ว่า
ที่ประชุม ศบค.
มีความเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯ
และปริมณฑลจึงได้มีความพยายามขยายศักยภาพเตียง
เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรงและอาการหนัก หรือผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดง
โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1
สัปดาห์ในการจัดเตรียมพื้นที่และระดมบุคลากรเพื่อรองรับการให้บริการ
แนวทางการแก้ปัญหาการรองรับผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการหนักที่ ศบค. กำลังพิจารณาและดำเนินการ ได้แก่
- ปรับพื้นที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยบางแห่งเพื่อรองรับเตียงผู้ป่วยระดับสีแดงเพิ่มขึ้น
- ระดมบุคลากรจากทุกภาคส่วน
ดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรง เช่น บุคลากรทหาร บุคลากรสาธารณสุขจากต่างจังหวัด
แพทย์ประจำบ้านหรือเรสซิเดนซ์ที่จบใหม่ประมาณ 2,000
คนมาเป็นกำลังในการดูแลผู้ป่วยใน
- เพิ่มทีมคัดกรองและสอบสวนโรค
- พิจารณาเรื่องของการแยกผู้ป่วยกักตัวที่บ้านหรือ home isolation ในกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
โฆษก
ศบค.กล่าวว่าเบื้องต้นสามารถจัดหาเตียงเพิ่มเติมจาก รพ. อย่างน้อย 3
แห่งคือ รพ. ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ. ราชพิพัฒน์ และ รพ. ธนบุรี
ทำให้มีเตียงเพิ่มสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง 370 เตียง
และผู้ป่วยระดับสีแดง 111 เตียง
สำหรับประเด็นที่แพทย์บางส่วนกังวลว่าการระบาดจะขยายวงกว้างจนทำให้ระบบเตียง
หรือบุคลากรสาธารณสุขรองรับไม่ไหวนั้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.
"รับฟังทุกฝ่าย" และพยายามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามข้อเสนอเรื่องการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองอาจกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างนั้น
และต้องรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการด้วย
ขณะนี้กรมควบคุมโรคยังเห็นควรให้ปิดเฉพาะพื้นที่และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
มีกลุ่มเสี่ยงอยู่มากกว่าการล็อกดาวน์ทั้งจังหวัด
"นอกจากนี้การล็อกดาวน์อาจจะไม่ได้แก้ปัญหา
อาจจะทำให้กลายเป็นจุดชวนของปัญหามากขึ้น...พอมีการล็อก
การปิดกิจการกิจกรรม คนก็อาจจะเดินทางกลับบ้าน
ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อหรือไม่" โฆษก ศบค.ตั้งข้อสังเกต
ข้อเสนอจากแพทย์
การทบทวนมาตรการควบคุมโรคของ
ศบค.
มีขึ้นหลังจากมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความกังวลถึงความรุนแรงของการระบาด
ปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง
และขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
บีบีซีไทยรวบรวมข้อกังวลและข้อเสนอของแพทย์ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในรอบสัปดาห์นี้ ดังนี้
นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- รพ.ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด
จึงงดการตรวจหาเชื้อ
เพราะหากตรวจพบผู้ติดเชื้อก็ไม่มีเตียงรองรับหรือมีเตียง
แต่ไม่มีแพทย์หรือพยาบาลดูแล
จึงเกิดกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแล้วจึงมาห้องฉุกเฉิน
- ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้
แม้โอกาสจะน้อยลงและเมื่อติดแล้วอาการอาจไม่รุนแรง
แต่ข้อสำคัญคือเมื่อติดแล้วยังแพร่ต่อได้ปริมาณไวรัสมีจำนวนสูงจนน่าตกใจ
- ต้องตรวจคัดกรองทุกคน ทุก ๆ 7 วัน เพราะทุกวันมีโอกาสได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว เมื่อตรวจพบการติดเชื้อต้องแยกตัวออกทันที
นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- ยอดคนไข้ใหม่รายวันไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแนวโน้มการต้องรักษาใน รพ. ต่อวันก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
- การตรวจหาเชื้อทำได้จำกัด สถานพยาบาลบางแห่งตรวจกันจนเกินศักยภาพที่เจ้าหน้าที่จะทำไหว
- จำนวนผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันที่ 3,000-4,000 ราย อาจจะไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะถ้าตรวจได้มากกว่านี้ก็จะพบผู้ติดเชื้อมากกว่านี้
- ระบบการจัดหาเตียงยังมีปัญหาทำให้คนไข้ยังต้องรอเตียงนาน
บางรายต้องรอนาน 3-4 วันจนอาการแย่ลง
บางรายได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ประสานหาเตียงว่าไปตรวจหาเชื้อที่ไหนก็ให้ไปนอนที่นั่น
ซึ่งทำให้ รพ. ไม่กล้าตรวจเยอะเกินกว่าศักยภาพในการรับผู้ป่วยใน
โรงพยาบาลบางแห่งแจ้งผู้มารับบริการว่าไม่รับตรวจแล้ว ให้ไปตรวจที่อื่นเอง
ทำให้คนต้องดิ้นรนกระจายตัวไปหาที่ตรวจเอง
ยิ่งเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ
- เมื่อต้องรอเตียงนาน
คนไข้อาการแย่ลงจากระดับสีเขียวเป็นสีเหลือง ส้มและแดง
ซึ่งต้องเข้าไอซียูและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็ต้องใช้ รพ.ศักยภาพสูงมาก
และพบว่าไอซียูเต็ม เพราะอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยไอซียูนาน 2-4 สัปดาห์
บางรายนานถึง 2 เดือน
- การเพิ่มศักยภาพ
รพ.เพื่อให้รับผู้ป่วยได้มากขึ้นไม่มีทางทำได้แล้ว
เพราะพยาบาลและหมอมีเท่าเดิมหรือน้อยลงเพราะบางส่วนติดเชื้อ จะเปิด รพ.
สนามเพิ่มอีกก็ไม่ไหวเพราไม่มีคน
- จัดหาวัคซีนรุ่น
2 ที่ได้รับการพัฒนาให้ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ
ได้มาให้รวดเร็วกว่านี้ เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย
- ยอดผู้ป่วยใหม่รายวันไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเกินสี่หลัก
- โรงพยาบาลแต่ละแห่งพยายามตรวจให้น้อยเพราะไม่มีเตียงรับผู้ป่วยถ้าผลเป็นบวก
- ผู้ป่วยเด็กมีสัดส่วนมากขึ้นกว่าระลอกก่อน
ๆ แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชน
และพบว่าผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น
- ขณะนี้ไม่สามารถเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดขัดเรื่องกำลังคน
- การล็อกดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย
7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา
และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า
ที่สำคัญคือต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพฯ
เดินทางออกต่างจังหวัดเหมือนที่เคยทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์
อัตราการเสียชีวิตระลอก เม.ย. ขยับขึ้นเป็น 0.83%
สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ
24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,644 ราย
เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,451 ราย เรือนจำ 162 ราย
และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 236,3291
ราย หากนับเฉพาะการะบาดระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสม 207,428 ราย
- ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 41,366 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,603 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 ราย
- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด
5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,142 ราย) สมุทรปราการ (295 ราย) ยะลา (215
ราย) ปทุมธานี (192 ราย) และสมุทรปราการ (186 ราย)
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
44 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,819 ราย
คิดเป็น 0.77% และหากนับเฉพาะการระบาดระลอก เม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง
0.83%
สำหรับการระบาดในกรุงเทพฯ
นั้น พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก
ศบค.กล่าวว่าการสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะคลัสเตอร์การติดเชื้อที่เป็นแคมป์คนงาน ตลาด
สถานประกอบการและชุมชนรวมไม่ต่ำกว่า 25
แห่งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 28 วัน
ผู้ช่วยโฆษก
ศบค. กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ
เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนบางส่วในพื้นที่การระบาดไม่ให้ความร่วมมือในการงดการเดินทางเคลื่อนย้ายสถานที่
"พอเราไปปิด
(สถานที่พบการติดเชื้อ) ก็ยังคงพบว่ามีการเล็ดลอดออกไปตลาด ไปชุมชน
มีการแพร่กระจายเชื้อ ปิดแคมป์ที่หนึ่ง คนงานก็มีการเดินทางไปแคมป์ที่สอง
แคมป์ที่สาม" พญ.อภิสมัยกล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar