โควิด-19: ครม. เคาะมาตรการเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง ร้านอาหาร-ก่อสร้าง และกิจการอื่นใน 6 จังหวัด

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ,

ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในวันบังคับใช้มาตรการห้ามร้านอาหารขายแบบนั่งกินในร้าน วันแรก (28 มิ.ย.) อนุญาตเฉพาะซื้อกลับเท่านั้น

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างกิจการก่อสร้างและร้านอาหารใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างในระบบประกันสังคมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อคน กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ช่วยเหลือจ่ายผ่านแอปฯ ถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง รายละ 3,000 บาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (29 มิ.ย.) ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการออกมาตรการเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างและที่พักคนงาน รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณจากเงินกู้ และเงินจากกองทุนประกันสังคมรวมแล้วประมาณ 7.5 พันล้านบาท

รายละเอียดมาตรการช่วยเหลือที่ ครม. เห็นชอบมีดังนี้

  • พื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี ระยะเวลาช่วยเหลือ 1 เดือน
  • กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ

- กิจการก่อสร้าง

- กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

- กิจการศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ

- กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่ประกันสังคมกำหนด โดยโฆษกรัฐบาลได้ยกตัวอย่างกิจการร้านซ่อมแต่ละประเภท เช่น ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนังรองเท้า เครื่องแต่งกาย จักรยานยนต์ เครื่องดนตรี เครื่องกีฬา รวมทั้งร้านสปา ลดน้ำหนัก ร้านทำผม ทำเล็บ ซักรีด ร้านดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นส่วนหนึ่งที่กิจกรรมด้านอื่น ๆ ด้วย

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

เยียวยาเท่าไหร่

  • ลูกจ้างที่เป็นแรงงานผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ได้รับช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน เพิ่มเติมช่วยเหลือจากปกติที่ประกันสังคมจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 เดือน
  • นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับ 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 ราย ดังนั้นวงเงินช่วยเหลือสูงสุดจึงไม่เกิน 6 แสนบาท
  • กรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีลูกจ้าง ให้ลงผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือน ก.ค. 2564 แล้วผู้ประกอบการจะได้รับช่วยเหลือ 3,000 บาท
  • ในกรณีผู้ประกอบการเป็นร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมก็จะได้รับช่วยเหลือ 3,000 บาท โดยในแอปฯ ดังกล่าว ในการลงทะเบียนจะมีการระบุประเภทกิจการเอาไว้

คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้มีการทบทวนมติ ครม.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ขยายเวลาดำเนินการสินเชื่อ ปรับปรุงการดำเนินการซอฟต์โลน และปรับปรุงสินเชื่อสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ และสมาคมภัตตาคารไทย ให้มีการใช้บริการจากภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลอดจนพ่อค้า แม่ค้า รายย่อย ในการจัดหาอาหารให้กับแรงงานทั้งภายในและภายนอกที่พักก่อสร้าง

ส่วนการเยียวยากลุ่มศิลปิน ฟรีแลนซ์ ลูกจ้างสถานประกอบการบันเทิง ที่ถูกสั่งปิดมาก่อนหน้านี้ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายก รัฐมนตรี ได้หารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อมีมาตรการออกมาโดยเร็วที่สุด