ศบค.ผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่วันจันทร์ พื้นที่ควบคุมสูงสุด ร้านอาหารเปิดได้ถึงห้าทุ่ม รวมกลุ่มได้ 50 คน ฯลฯ เพื่อเข้าสู่โรดแมพเปิดประเทศ 120 วัน ที่ประกาศขึงขังแล้วรองนายกฯ บอกวันรุ่งขึ้นว่าให้นับตั้งแต่ 1 ก.ค.
ผ่อนคลายทั้งที่ยังติดเชื้อวันละร่วมสามพัน โดยไม่นับในเรือนจำ ชวนให้ขำ ๆ รอบนี้ไม่ยักรอโควิดเป็น 0 แม้ทำถูกแล้ว รอเป็น 0 ก็อดตายกันหมด โควิดรอบนี้ชัดเจนว่า แม้ประชาชนระมัดระวัง การ์ดไม่ตก แต่ก็กันสายพันธุ์อังกฤษไม่อยู่ ต้องฝากความหวังวัคซีนเท่านั้น
แต่นอกจากสั่งจองวัคซีนช้า แทง AstraZeneca ตัวเดียว โควิดรอบสามมาก่อน การผลิตวัคซีนยังมีปัญหา ชมรมแพทย์ชนบทชี้ว่า Siam Bioscience เป็นมือใหม่ ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะเข้าที่ การส่งมอบช่วงนี้จึงไม่ครบ ไม่ตามกำหนด กระทบแผนจัดสรรวัคซีน ที่กำหนดไว้ มิถุนา 6 ล้านโดส เดือนถัดไปเดือนละ 10 ล้านโดส กรมควบคุมโรคแก้ต่างให้ว่า เป็นแผนของ สธ.เอง ไม่ใช่กำหนดส่งมอบของ AstraZeneca
รัฐบาลจึงไปสั่ง Sinovac แก้ขัด สั่งไปสั่งมาเพิ่มเป็น 19.5 ล้านโดส แถมปีหน้า แผนจัดหาวัคซีน 50 ล้านโดส กลายเป็น Sinovac 28 ล้านโดส ทั้งที่แพงกว่า Astra ราคาไล่เลี่ย Pfizer แต่คุณภาพห่างลิบ ล่าสุดก็มีผลวิจัย ฉีด 2 เข็ม ยังไม่รอดสายพันธุ์อินเดีย
สรุปแล้วเราจะซื้อวัคซีน Sinovac ถึง 47.5 ล้านโดส ดูจากตัวเลขที่เปิดเผยรอบแรก ค่าวัคซีน ค่าจัดการประมาณ 624 บาท ก็ตกราว 29,640 ล้านบาท!
ซื้อแก้ขัดไม่ว่ากัน แต่มีเวลาวางแผนล่วงหน้ายังไปซื้อ Sinovac แพงกว่าเรือดำน้ำ อย่าบอกนะว่าสิงคโปร์เลิกใช้ Pfizer Moderna หันไปฉีด Sinovac นั่นมันเฟคนิวส์
วัคซีนไม่พอ วัคซีนไม่มาตามกำหนด กระทบแผนฉีดวัคซีน ยังกำหนดยุทธศาสตร์เปะปะ คนหนุ่มสาวประกันสังคมได้ฉีด Astra แซงคนแก่ เพิ่งจะยอมรับแผนปลัด สธ. ที่ว่า 10 ล้านโดสเดือน ก.ค.จะฉีดคนแก่กลุ่มเสี่ยงก่อน เน้นพื้นที่ กทม. 5 ล้านโดส ภูเก็ตเข็มสอง 70%
มาถูกทางแล้ว แต่ทำไมนายพลรบแพ้ไม่ทำตามปลัด สธ.เสียแต่แรก จนถูกด่าวัคซีนมีเส้น แซงคิวกันอุตลุด ล่าสุดก็โผล่เอกสารปลัด มท. ขอวัคซีนให้พนักงานไทยเบฟพร้อมครอบครัว แม้อ้างว่าทำตามระเบียบ ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ชาวบ้านอ่านแล้วมองว่า “แซงคิว” ชัด ๆ
ดูภาพรวม 120 วันเปิดประเทศได้ไหม ก็คงกระเสือกกระสนจนได้ ถ้าไม่ได้ก็โทษประชาชนไม่ร่วมมือ ไม่ใช่ความผิดรัฐบาล เปิดไปฉีดวัคซีนไป ไม่ได้แปลว่าโควิดจบ ไม่ได้แปลว่านักท่องเที่ยวหลั่งไหล แค่กำหนดเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ หวังเรียกความเชื่อมั่นกลับ เพราะยังไง ๆ ฉีดวัคซีนไประดับหนึ่ง โควิดก็จางลง
รัฐบาลเรียกความเชื่อมั่นไม่ได้ เพราะล้มเหลวไปแล้ว ถูกด่าจนพัง แค่ช่วงโควิดคนไม่สามารถออกมาไล่ เครือข่ายหนุนหลังก็ใหญ่โต จนดันทุรัง ทั้งที่ถ้าบริหารแบบนี้ หลังโควิดก็ฉิบหายอีก เศรษฐกิจไม่ฟื้นง่ายอย่างขายฝัน ดอน นาครทรรพ ชี้ว่าเศรษฐกิจจะแยกเป็นหางตัว K บางภาคพุ่งพรวด บางภาควอดวาย ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรง
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ คือใช้เกมการเมืองทุกอย่างเพื่ออยู่ต่อ แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ยอมให้ตัดอำนาจ 250 ส.ว. จะแก้ระบบเลือกตั้งอย่างเดียวเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ ถ้าโดนไล่ก็บอกไม่ต้อง จะยุบสภาอยู่แล้วไง พปชร.ก็เตรียมพร้อมตั้ง “ธรรมนัส” เป็นเลขาคนใหม่ กลายเป็นพรรคคู่ขวัญ “นาฬิกา-แป้ง” ไม่แยแสสังคม
อ่านโรดแมพได้เลย 120 วันทุลักทุเลยังไงก็ดีขึ้น รัฐบาลก็จะอ้างเป็นผลงาน แต่ยังคุมอำนาจฉุกเฉินปราบม็อบไล่ ถ้าไปไม่รอดก็ยุบสภา มุ่งเอาชนะด้วย 250 ส.ว. กับเครือข่ายอำนาจอิทธิพล ไม่แคร์กระแสสังคม แค่ครองอำนาจต่อไป
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/column/45482รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 เป็นบทบัญญัติที่ กรธ.มีชัยภาคภูมิใจ คุยว่าเป็นหัวใจ “รธน.ปราบโกง” ซูเปอร์โพลเคยด่าฝ่ายค้านต้องการแก้มาตรานี้ ที่ไหนได้กลายเป็น พปชร.แก้เอง
มาตรา 144 เป็นเรื่องแปรญัตติงบประมาณ ห้ามแปรญัตติแล้วทำให้ ส.ส. ส.ว. มีส่วนใช้งบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ใครฝ่าฝืนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต ถ้า ครม.รู้เห็นพ้นตำแหน่งทั้งคณะ
มาตรานี้มาจากทัศนะด้านลบว่า ในอดีตที่ยอมให้ ส.ส. แปรญัตติตัดงบหน่วยงานหนึ่งไปเพิ่มให้อีกหน่วยงานหนึ่ง เช่น ตัดงบกองทัพให้คมนาคม แล้ว ส.ส.จะตามไปของบทำถนนหรือบางทีก็ฮั้วกันทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านเพื่อให้งบผ่าน จัดสรรงบสร้างถนน สร้างฝายตามที่ ส.ส.ขอ ซึ่งบางครั้งก็มีที่ตามไปรับค่าหัวคิว
แต่พอห้ามแปรญัตติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กมธ.ตัดงบเท่าไหร่ต้องกลับไปเข้างบกลาง ส.ส.จะเสนอให้ตัดงบซื้ออาวุธไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ก็ขู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ งบกลางก็เหมือนตีเช็คเปล่าให้นายกฯ คิดหรือว่า ส.ส.รัฐบาลของบไม่ได้ คิดหรือว่าจะไม่สามารถฮั้วกัน
นี่เป็นทัศนะปราบโกงบนหอคอย เกลียดนักการเมืองจากเลือกตั้ง ไม่ยอมรับว่า ส.ส.รู้ปัญหาประชาชนดีที่สุด ควรมีสิทธิเสนอโครงการ โดยการตัดสินใจยังเป็นของรัฐ ใครโกงก็ว่าเป็นราย ๆ ไม่ใช่เหมาว่าของบเข้าพื้นที่ตัวเองผิดหมด
มาตรา 144 ยังควบมาตรา 185 ห้าม ส.ส. ส.ว. ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือผู้อื่น ห้ามกระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมใช้จ่ายงบ
ส.ส. ก็เลยไม่กล้าพาชาวบ้านไปร้องเรียนส่วนราชการ เพราะถือเป็นประโยชน์ “ผู้อื่น”
มาตราเหล่านี้รู้กัน มีไว้เล่นงานเพื่อไทย แต่พอ พปชร.เป็นรัฐบาลก็อึดอัด ไม่ได้ดังใจ จึงเสนอแก้ไข แต่ก็แก้ตลก ๆ คือมาตรา 144 ยังห้ามแปรญัตติ อำนาจศาลตัดสิทธิก็คงไว้ แต่ไปตัดอำนาจ ปปช. บทลงโทษ การเรียกเงินคืน ส่วนมาตรา 185 ก็ไปตัดข้อห้ามก้าวก่ายแทรกแซงและห้ามมีส่วนใช้งบ
ก็เลยเป็นประเด็นให้มองว่า พปชร.ต้องการใช้งบหาเสียง โดยเฉพาะเงินกู้ 5 แสนล้าน ที่จะมีโครงการระดับจังหวัด 45,000 ล้านบาท แม้ล่าสุด ไพบูลย์ นิติตะวัน ยอมถอย รับปากแก้ไขร่างหลังผ่านวาระแรก เพียงขอผ่อนคลายว่า ให้ทำได้ถ้าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน
สองมาตรานี้มองในทางหลักการก็ควรแก้ไข เพราะมัดมือ มัดตีน ส.ส.เกินไป แต่ในทางปฏิบัติ คนก็ไม่ไว้วางใจ ตลกร้ายคือพวกที่เคยไล่ทักษิณ ไม่ไว้วางใจ พปชร.
การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้คงผ่านเฉพาะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบ 2540 ญัตติแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ คงคว่ำตั้งแต่วาระแรก ถ้า ส.ว.โหวตไม่ถึง 1 ใน 3
แต่แรงกระเพื่อมตามมามากมาย เพราะมาตรา 272 ยื่นร่วมกันทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย นับคร่าว ๆ 300 กว่าเสียง กลับแพ้เพราะ ส.ว.
ปชป.เสนอแก้ 256 ให้แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ตามเงื่อนไขที่ใช้อ้างร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ถ้าถูกตีตกจะทำไง ร่วมรัฐบาลต่อไปแบบหน้าเจื่อน?
รัฐบาลคงไม่ล่มง่าย แต่ความไม่ไว้วางใจกำลังเพิ่มขึ้น ทั้งจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหลัง พปชร.เปลี่ยนเลขาธิการเป็นธรรมนัส
ซึ่งประกาศชัดเจนว่าสมัยหน้าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar