นายกฯ หนุน คกก. โรคติดต่อให้ฉีดวัคซีนโควิดผสมสูตร นนทบุรีเริ่มฉีดวันนี้ (14 ก.ค.)

ทันทีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานมีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิดต่างชนิดร่วมกันได้ ก็ส่งผลสะเทือนต่อแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดทั้งในระดับนานาชาติและในไทย

มติดังกล่าวระบุว่าผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ให้ฉีดเขมที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวนี้อย่างครึกโครม และไม่นานหลังจากนั้น ดร. ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลกก็ออกมาเตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

หลังจากมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก นพ. ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาแถลงข่าววานนี้ (13 ก.ค.) อธิบายเหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินใจใช้วัคซีนสลับชนิด พร้อมกับยืนยันว่าไทยได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และประเมินถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและผลข้างเคียงแล้ว

กลางดึกที่ผ่านมาตามเวลาไทย ดร. ซุมยาได้ทวีตข้อความอธิบายความเห็นของเธอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผสมสูตรว่า หากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้

"ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ (การรับวัคซีนสลับชนิด) แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่" ดร. ซุมยาระบุ "เรายังต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนผสมสูตร ทั้งข้อมูลในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องประเมิน"

ขณะที่ทั่วโลกยัง "รอผลการศึกษา" เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดผสมสูตร หรือที่ สธ. เลือกใช้คำว่า "สลับชนิด" ของวัคซีน แต่คนไทยบางส่วนก็เริ่มสับสน กังวล ไม่มั่นใจ และไม่พอใจกับการที่จะต้องกลายเป็น "หนูทดลอง"

ความสับสนในการเปลี่ยนสูตรฉีดวัคซีนใหม่เป็นแบบสลับชนิดเห็นได้จากการฉีดวัคซีนที่ จ.นนทบุรี

เหตุเกิดที่ จ.นนทบุรี

ช่วงเย็นของวันที่ 13 ก.ค. สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ประกาศบนเพจเฟซบุ๊กว่าการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีด 4 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14-17 ก.ค. นี้ จะเป็นการใช้สูตรเข็มแรก เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ตามที่มีมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ทำให้มีการแสดงความเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กในเพจที่ประกาศฉีดวัคซีนสูตรใหม่ไปในทิศทางไม่เห็นด้วย เช่น

"ไม่ไปฉีดแน่นอนค่ะ แบบนี้ไม่ไหวนะคะ ตอนลงบอกแอสต้า ทำไมใช้พวกเราเป็นหนูทดลองคะ"

"ไม่ฉีดแน่นอน รอมาแสนนานเพื่อจะได้ฉีด AZ สุดท้ายก็มาเปลี่ยนง่ายๆแบบนี้หรอคะ คิดว่างานนี้ส่วนใหญ่โดนเทแน่นอนค่ะ"

"สงสารพวกเรานะคะ เรียกร้องตามสิทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว พรุ่งนี้และวันอื่นที่หลายๆคนยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว พี่ๆหลายๆคนคงไม่มากัน น่าเสียดายงบนะคะ เราทุกคนก็เสียดายเช่นกัน ที่เสียงของพวกเรา ไม่ได้มีความหมายต่อหน่วยงาน"

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันนี้ (14 ก.ค.) สาธารณสุขนนทบุรีได้ประกาศใหม่ว่า "นนท์พร้อม ฉีดวัคซีนสูตรเดิม" โดยระบุเหตุผลว่า "เนื่องจากมีการทบทวนแนวปฏฺิบัติ ให้เหมาะสม จึงเห็นควรให้ชะลอการเปลี่ยนสูตรวัคซีนไปก่อน" อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฉีดบางแห่งมีการให้วัคซีนซิโนแวคอยู่แล้ว ยังเป็นไปตามแผนเดิม

สสจ. นนทบุรี

ที่มาของภาพ, สสจ. นนทบุรี

คำบรรยายภาพ,

นี่คือข้อความประชาสัมพันธ์ ที่แจ้งบนเพจเฟซบุ๊กของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ช่วงเช้าวันนี้ (14 ก.ค.)

แต่เมื่อบีบีซีไทยโทรศัพท์ไปสอบถามความชัดเจนจาก นพ. พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขนนทบุรี กลับได้รับคำชี้แจงว่า จ.นนทบุรี จะเดินหน้าฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดวันนี้ (14 ก.ค.)

นพ. พนัสกล่าวกับบีบีซีไทยว่าประชาชนใน จ.นนทบุรีที่มีนัดรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่เดิม ก็ได้รับแอสตร้าเซนเนก้าตามที่นัดหมายเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ไปแล้ว หากวันนี้มีนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

"ถ้าใครที่วัคซีนเข็มที่ 1 ฉีดซิโนแวค เข็มที่ 2 ก็จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าให้เลย จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะสูตรนี้จะช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันขึ้น"

โฆษกรัฐบาลระบุ นายกฯ ไม่ระงับใช้วัคซีนผสมสูตร

วันที่ 14 ก.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีนผสมสูตรหรือสลับชนิด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในกรณีนี้เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

โฆษกรัฐบาลยังได้อ้างถึงความเห็นของ ดร. ซุมยา หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลกงค์การอนามัยโลกต่อเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดที่ระบุว่าประชาชนไม่ควรตัดสินใจเอง แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐสามารถตัดสินใจในเรื่องนี้ได้บนฐานข้อมูลที่มีอยู่

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายอนุชากล่าวว่าการวิจัยเรื่องฉีดวัคซีนสลับชนิดทีไทยทำอยู่นั้นเป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่งสำหรับสถานการณ์การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นมากในขณะนี้ แสดงถึงความพยายามของคณะแพทย์ของไทยที่ไม่หยุดคิด ไม่ยอดมแพ้กับปัญหา ครั้งนี้ก็พยายามเอาชนะสายพันธุ์เดลตา ซึ่งก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่ดีที่สุด และทำอย่างเป็นระบบ และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในที่สุด โดยรัฐบาลเปิดกว้างและส่งเสริมให้มีการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

สถานการณ์รายวัน

วันนี้ (14 ก.ค.) พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 24 ชม. ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 9,317 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,180 ราย เรือนจำ 129 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 363,029 ราย

พญ. อภิสมัยกล่าวว่าขณะนี้ไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 59 ของโลกของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงสุด แต่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน ทั้งมาเลเซียที่มีผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักหมื่น รวมถึงอินโดนีเซียที่วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก

ข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานมีดังนี้

  • การระบาดระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสม 334,166 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 2,021 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 99,510 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,201 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 828 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (2,332 ราย) สมุทรปราการ (1,006 ราย) สมุทรสาคร (577 ราย) ชลบุรี (513 ราย) และปทุมธานี (398 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 87 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 2,934 ราย คิดเป็น 0.81% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.85%