อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าว่าห้องขังเธอมีคนราว
150-170 คน นอนเรียงกันห้าแถว นอนตะแคงได้อย่างเดียว
เธอเล่าว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.
โดยผู้ต้องขังต้อง "อยู่กันแบบปลาทูเข่ง" ในห้องตลอด 24 ชั่วโมง
ยกเว้นที่ได้ออกไปอาบน้ำ 15 นาทีที่ได้อาบจริง ๆ 15 วินาที
.
ในช่วงที่กรมราชทัณฑ์เร่งตรวจเชื้อ และ
"แยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ต้องขังรายอื่น"
เธอเล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิดออกไปแต่ก็เอาผู้ต้องขังคนอื่นที่อาจจะมีอาการหรือกำลังรอผลตรวจอยู่เติมในห้องจนแออัดเท่าเดิม
ทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มทุกครั้งที่มีการตรวจ
โควิด-19 : “เหมือนทุกคนติดคุกเพื่อรอติดโควิดอะค่ะ” เสียงจากอดีตผู้ต้องขังหญิงที่เสียพ่อในคุกเพราะไวรัส
- ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์
- บีบีซีไทย
ราวกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จอย (นามสมมติ) สูญเสียอิสรภาพพร้อมพ่อจากคดีฉ้อโกง เธอกลายเป็นผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนพ่ออยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้กัน
"พ่อเหรอ พ่อเขาไปต่างจังหวัดแล้ว" คือคำตอบจากแม่ที่มารอรับเมื่อจอยได้รับอิสรภาพช่วงต้นเดือน มิ.ย.
เป็นรูปในกรุ๊ปไลน์ครอบครัวที่ปกติเรามักใช้ส่งรูปดอกไม้กับข้อความประเภท "สวัสดีวันศุกร์ ขอให้สุขกาย สุขใจ" ให้กัน ที่ทำให้เธอรู้ว่าพ่อติดโควิดและเสียชีวิตในเรือนจำกว่าสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
"ต่างจังหวัด" ที่ว่าคงหมายถึงสมุทรสาครที่ "ทำพิธีแค่วันเดียวแล้วก็เผาเลย"
"เหมือนทุกคนติดคุกเพื่อรอติดโควิดอะค่ะ" หญิงอายุ 34 ปีผู้นี้บอกกับบีบีซีไทย
เกือบสองเดือนผ่านไปหลัง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ออกมาระบุว่าติดเชื้อโควิด และกรมราชทัณฑ์ได้ออกมายอมรับในวันเดียวกันว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกว่า 2,000 ราย ดูเหมือนสถานการณ์หลังลูกกรงจะสวนทางกับโลกภายนอก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดจากหลักพันเป็นหลักสิบหรือหลักหน่วยในบางวัน
แต่คำถามที่บางคนยังสงสัยคือ หากมีมาตรการเชิงรุกตรวจเชื้อผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า 300,000 คน ผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่อย่างเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมาจะยังมีแค่ 9 รายหรือเปล่า
และพ้นจากพาดหัวของแถลงการณ์โดยกรมราชทัณฑ์ที่บอกว่าหายป่วยแล้วกี่เปอร์เซ็นต์และเตรียมลดสถานะเรือนจำสีแดงเพิ่มกี่แห่ง ย่อหน้าสุดท้ายก็มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเกือบทุกวันโดยถึงวันที่ 1 ก.ค. มี 43 รายแล้ว
นำไปสู่อีกคำถามคือ พ่อของจอยและผู้ตายที่เป็นญาติหรือคนรักของใครสักคนอีก 42 คน อาจยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าหากพวกเขาไม่ต้องอยู่อย่างแออัดและได้รับการดูแลรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานเดียวกับคนข้างนอก
1.2 ตร.ม. ตามมาตรฐานสากล
ไม่นานหลังมีรายงานผู้ต้องขังติดเชื้อนับพัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ออกมาแถลงนโยบายเพื่อพยายามลดความแออัดในเรือนจำ โดยบอกว่าได้ปรับจนผู้ต้องขังแต่ละคนมี "พื้นที่ 1.2 ตร.ม. ตามมาตรฐานสากล" แล้ว สวนทางกับคำบอกเล่าของอดีตผู้ต้องขังหลายคนอย่างสิ้นเชิง
จอยเล่าว่าห้องขังเธอมีคนราว 150-170 คน นอนเรียงกันห้าแถว นอนตะแคงได้อย่างเดียว ก่อนกรมราชทัณฑ์จะออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อนับพันวันที่ 12 พ.ค. เธอเล่าว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. โดยผู้ต้องขังต้อง "อยู่กันแบบปลาทูเข่ง" ในห้องตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นที่ได้ออกไปอาบน้ำ 15 นาทีที่ได้อาบจริง ๆ 15 วินาที
ในช่วงที่กรมราชทัณฑ์เร่งตรวจเชื้อ และ "แยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ต้องขังรายอื่น" จอยเล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิดออกไปแต่ก็เอาผู้ต้องขังคนอื่นที่อาจจะมีอาการหรือกำลังรอผลตรวจอยู่เติมในห้องจนแออัดเท่าเดิม ทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มทุกครั้งที่มีการตรวจ
คำบอกเล่าของทนายความ ญาติผู้ต้องขัง และอดีตผู้ต้องขังอีกหลายคนก็ไปในทิศทางเดียวกัน เอนก (นามสมมติ) บอกว่าลูกชายเขาติดโควิดเมื่อต้นเดือน พ.ค. แต่หลังถูกส่งไปรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ถึง 14 วันก็ถูกส่งตัวกลับสู่ความแออัดที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
อย่างกรณีของ ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี หรือ "เฮียซ้ง" ผู้ต้องหาคดีล้อมรถคุมตัวนักกิจกรรม ที่ตอนนี้ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลขณะถูกปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อนผู้ต้องขังเขาเล่าว่าอาการไม่ดีอยู่หลายวันแต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจ ให้เพียงยาพาราเซตามอลมากิน ลูกชายของเฮียซ้งบรรยายสภาพสถานพยาบาลราชทัณฑ์ที่เขาเห็นเมื่อ 13 พ.ค. ไว้ว่า "ไม่มีการกั้นพื้นที่ ไม่มีเตียง เหมือนคนไปเข้าค่าย มีผ้าผืนหนึ่งให้ปูนอนกับพื้น"
มีนา (นามสมมติ) หญิงอายุ 24 ปีที่พ่อแม่เป็นผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดทั้งคู่บอกว่าไม่ได้หายห่วงเลยแม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าทั้งสองหายจากโควิดแล้ว
"...นักโทษเขาไปไหนไม่ได้ ข้างนอกก็ติด[โควิด]กัน ๆ แล้วข้างในอะพี่ นอนก็เบียดกัน อาบน้ำก็พร้อมกัน กินข้าวก็นั่งเป็นแถบ ๆ" ลูกสาวคนเดียวผู้นี้กล่าวกับบีบีซีไทย "เขาบอกอาการหนักถึงจะแจ้งญาติ พี่ ถ้าอาการหนักเงี่ย รอตายเหรอ ถึงจะแจ้งญาติได้ เราอยากรู้ว่ากินยาตัวไหน ฉีดยาอะไร ข้างนอกกินยายังไม่หาย ข้างในกินยาจะหายเหรอ เราก็เป็นห่วงไงพี่ เราไม่รู้อะไรเลย"
จอยเล่าอีกว่า มีครั้งหนึ่งที่ห้องข้าง ๆ กันมีผู้ต้องขังติดเชื้อถึงเกือบ 80 คน ทำให้ผู้ต้องขังในนั้นถูกล็อกดาวน์ตลอดเวลา ทำให้คนที่เหลือและที่ถูกเติมเข้ามาใหม่ไม่สามารถออกไปไหนได้ มีห้องส้วมแค่สามห้องสำหรับขับถ่าย อาบน้ำ และซักผ้า
หญิงวัย 34 ปีผู้นี้บอกว่าสถานการณ์โควิดทำให้เหมือน "ติดคุกในคุกอีกทีนึง" และระหว่างที่เธอ "เครียดมากแบบบางทีเห็นน้ำยาล้างพื้นในห้องน้ำก็คิดอยู่ว่า ให้มันจบ ๆ ไปเลยดีไหม" เธอไม่รู้เลยว่าพ่อเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.
"เขาจะโทรมาบอกตอนอาการเริ่มจะหนักแล้วอะค่ะ ตอนนั้นน้องสาวก็อยากจะเอาพ่อออกเผื่อจะไปรักษาได้ [แต่]คดีมันโดนตัดสินมาเยอะ ศาลอุทธรณ์เขาก็ไม่ให้เราประกันสักที ทุกอย่างมันยากไปหมด สุดท้ายพ่อก็เลยเสีย... มันแย่มาก" จอยเล่าเสริมว่าพ่อถูกส่งไปโรงพยาบาลนอกเรือนจำตอนที่อาการสาหัสแล้วและก็เสียชีวิตที่นั่น
อย่างไรก็ดี บีบีซีไทยก็ได้ยินคำบอกเล่าในเชิงบวกจากเรือนจำในต่างจังหวัดด้วย อย่างอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดคนหนึ่งที่เพิ่งออกมาจากเรือนจำที่กำแพงเพชรเมื่อปลาย พ.ค. เขาบอกว่าแม้ห้องขังจะมีคนนอนแออัดกันถึง 180-190 คน แต่เจ้าหน้าที่ก็มีมาตรการควบคุมโรคอย่างดี และคอยให้ข้อมูลถึงสถานการณ์โควิดภายนอกให้คลายกังวลเรื่องญาติที่อยู่ข้างนอกไปได้ อดีตผู้ต้องขังอีกคนที่เพิ่งออกจากเรือนจำที่มหาสารคามบอกว่าเรือนจำมีมาตรการดีพอสมควร และห้องขังก็ไม่ได้แออัด มีผู้ต้องขังแค่ราว 30 คนต่อห้อง
บีบีซีไทยอีเมลสอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์ว่าสภาพความเป็นอยู่และการดูแลรักษาผู้ต้องขังเป็นตามที่อดีตผู้ต้องขังบางคนบอกเล่าหรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
จอยได้รับอิสรภาพต้นเดือน มิ.ย. หลังครอบครัวเป็นห่วงและเร่งไกล่เกลี่ยคดีกับโจทก์ทั้ง ๆ ที่อยากสู้ต่อ หากสิ่งจอยพูดเป็นความจริง และหากเรือนจำที่ต่าง ๆ ไม่ได้ถูกต่อเติมขยายอาณาเขตชั่วข้ามคืน ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่ อาจมีนักโทษบางส่วนที่กำลังถูกกักขังอยู่ในห้องคับแคบเกือบตลอดวัน
"เกินความเป็นมนุษย์"
จากที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องเรือนจำมาอย่างยาวนาน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ต่อให้ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเลยสักคนเดียว เรือนจำหลายแห่งที่ได้เข้าไปเห็นสภาพมีความแออัดเกินเหตุ "เกินความเป็นมนุษย์ คือมนุษย์ไม่ควรจะถูกมาลงโทษโดยวิธีแบบนี้"
แต่อาจเป็นการด่วนสรุปอย่างตื้นเขินเกินไปหากเราจะบอกว่า เพราะวิกฤตนี้เกิดในเรือนจำ ดังนั้นกรมราชทัณฑ์ต้องเป็นฝ่ายผิด
รศ.ดร.กฤตยา บอกว่าจริง ๆ แล้วกรมราชทัณฑ์น่าสงสาร เพราะเป็น "กรมปลายน้ำ ...ใครมาใส่ยัดอะไรมาก็ปฏิเสธไม่ได้ ราชทัณฑ์ต้องรับหมด" และ "ทำได้ตามเท่าที่กำลังคนและสตางค์ที่รัฐบาลให้มา"
จากเรือนจำทั้งหมด 142 แห่งทั่วประเทศ เธอบอกว่าอาจมีถึง 70% ที่เป็นเรือนจำเก่าที่ทำขึ้นเพื่อเตรียมรับผู้ต้องขังราว 75,000 ไปจนถึง 100,000 ราย
"ถ้าเอาความจุที่ราชทัณฑ์เขาตั้งมาตรฐานขึ้นมาเอง ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลคือ 2.25 ตารางเมตร มันจะจุได้ประมาณแสนคน แต่ตอนนี้เรามีสามแสนแล้ว บางครั้งขึ้นไปเกือบสี่แสน"
งานวิจัยเรื่อง ก้าวแรกของปฐมภูมิในเรือนจำกับชีวิตต้องขังที่กำหนดสุขภาพ ที่ รศ.ดร.กฤตยา ทำร่วมกับ กุลภา วจนสาระ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน มี.ค. เป็นเหมือนลางบอกเหตุที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่กี่เดือนต่อมา จากการเก็บข้อมูลในเรือนจำ 15 แห่งระหว่างปี 2560-2562 ขณะที่เรายังไม่รู้จักโควิด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจก็เป็นอาการที่ผู้ต้องขังเป็นมากที่สุดอันดับหนึ่งอยู่แล้ว
รศ.ดร.กฤตยา บอกว่าผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวจะทำให้ทั้งห้องขังนั้นเป็น "รังโรค" ได้ง่าย ๆ โดยยกตัวอย่างเรื่องพื้นฐานที่เรือนจำหลายแห่งยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นขาดแคลนน้ำ หรือแค่แก้วน้ำในเรือนนอนที่ต้องใช้ร่วมกัน ข้อมูลของนักวิชาการผู้นี้ไปในทางเดียวกันกับประสบการณ์ตรงของอดีตผู้ต้องขังอย่างจอย เธอเล่าว่านั่งกินข้าวติดกันเป็นแพ ส่วนช้อนกินข้าวต้องล้างน้ำเปล่าหรือใช้ทิชชู่เช็ดเอา เธอบอกว่าผู้ต้องขังไม่สามารถซื้อหน้ากากอนามัยเพิ่มได้เพราะร้านค้าปิด "เท่ากับว่าแมสก์อันนึงก็ใช้วนไป"
ผู้เสียชีวิต
ขณะนี้เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสมกว่า 36,000 ราย กรมราชทัณฑ์แถลงว่ามีผู้ต้องขังที่ "รักษาหายแล้ว" กว่า 90% หรือกว่า 33,000 ราย โดยที่อยู่ระหว่างการรักษามีราว 2,500 ราย
แถลงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ระบุว่า มีเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาด 125 แห่ง และเรือนจำสีแดงที่พบการแพร่ระบาด 9 แห่ง โดยนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ บอกว่า นับเป็นวันแรกที่ยอดผู้ติดเชื้อระหว่างการรักษาของพื้นที่กรุงเทพฯ ลดต่ำลงกว่า 2,000 ราย โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยที่หายเพิ่มอีกกว่า 1,000 รายในช่วงต้นเดือนนี้
กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของผู้เสียชีวิตครบทั้ง 43 ราย แต่เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ บีบีซีไทยพบว่า ผู้ตายจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาทิ ผู้เสียชีวิตรายที่ 13 จากเรือนจำกลางคลองเปรมที่อายุ 84 ปี และเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว, ผู้เสียชีวิตรายที่ 14 ซึ่งอายุ 66 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไตวายระยะสุดท้าย หรือพ่อของจอยซึ่งอายุเกือบ 70 ปี เคยผ่าตัดหัวใจ เป็นโรคเก๊าท์และความดันโลหิตสูง
การเป็นผู้สูงอายุและเป็นโรคร้ายแรงล้วนอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้
ข้อมูลบนเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ระบุว่า มีผู้ต้องขังได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว 26,017 ราย และเมื่อเดือน ม.ค. 28,705 ราย ซึ่งน่าจะเป็นจากในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 10 วันที่ 28 ก.ค. และวันพ่อแห่งชาติวันที่ 5 ธ.ค. ตามลำดับ มาในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับอภัยโทษรวมทั้งหมด 87 คน ทำให้อาจคาดเดาได้ว่ากระบวนการการขออภัยโทษน่าจะเกิดขึ้นไล่เลี่ยกรอบเวลาเดิม ไม่ได้ขึ้นกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ในเรือนจำโดยตรง
รศ.ดร.กฤตยา บอกว่าทั้งการอภัยโทษและการพักโทษเป็นสิ่งที่มีมาก่อนอยู่แล้ว
จากข้อมูลบนเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ แม้จำนวนผู้ได้รับการพักโทษในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา (รวม 8,950 ราย) จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาก (รวม 3,566 ราย) แต่ก็ไม่ได้สูงจนชี้ได้ว่าเป็นการตอบรับกับสถานการณ์โควิดในเรือนจำอย่างทันทีทันใด และตัวเลขเดือนที่ผ่าน ๆ มาเช่น ก.พ. ก็สูงกว่ามากที่เกือบ 9,000 ราย
อย่างไรก็ดี ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) บอกว่า แม้จะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงตัวเลข แต่ก็สามารถเห็นความเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายแล้ว
เธอบอกว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด กรมราชทัณฑ์ได้เพิ่มการพิจารณาเลื่อนชั้นผู้ต้องขัง (ทำให้เข้าเกณฑ์ได้พักโทษ) จากปีละ 2 ครั้งเป็น 3 ครั้ง นอกจากนี้ ชลธิชบอกอีกว่า การพักโทษกรณีพิเศษเพื่อรับกับสถานการณ์โควิดอยู่ในขั้นการกำหนดเงื่อนไขและวางกรอบบังคับใช้โดยกระทรวงยุติธรรม
"ผู้ต้องขังระหว่าง"
แม้ในมุมหนึ่ง จอยเข้าใจดีว่าเธอและพ่อมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการประกันตัวเพราะคดีมีโทษหลายปี แต่ก็ยกตัวอย่างเรื่องของผู้หญิงสูงวัยที่นอนข้างกันซึ่งเข้าเรือนจำไปพร้อมเธอด้วยข้อหาลักขโมยของคิดเป็นมูลค่า 130 บาท ที่ขอประกันตัวไม่สำเร็จ
เธอและเพื่อนร่วมห้องจัดอยู่ในกลุ่มของ "ผู้ต้องขังระหว่าง" (หมายถึงอยู่ระหว่าง สอบสวน, ไต่สวน-พิจารณา และอุทธรณ์-ฎีกา) ที่ตอนนี้มีเกือบ 60,000 คน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้ที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
"การโดนหักสิทธิ์มันก็ขัดรัฐธรรมนูญอะ" จอยกล่าว "จริง ๆ ตามกฎหมายเขาไม่มีสิทธิมาปฏิบัติกับเราแบบนั้น แล้วก็คงอ้างโควิด มันก็ไม่ค่อยแฟร์ที่เราต้องโดนขังคุกในคุกอีกที"
ย้อนไปเมื่อกลางเดือน พ.ค. สำนักงานศาลยุติธรรมออกหนังสือเวียนให้ศาลพิจารณาให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้ประกันตัวมากขึ้น รวมถึงให้ผู้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องได้เองจากเรือนจำเลยซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนสูงวัยของจอยพยายามทำ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ต้องขังระหว่างที่สำรวจเมื่อต้น มิ.ย. ก็ยังมีราว 60,000 คนเท่ากับที่สำรวจเมื่อต้นเดือน พ.ค. ก่อนจะมีหนังสือเวียน และก็เท่ากับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
แต่สาเหตุหลักของความแออัดซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันและพยายามผลักดันกันมายาวนานคือผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่ปัจจุบันมีกว่า 220,000 ราย หรือกว่า 80% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมบอกว่า ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะช่วยปรับลดโทษและลดผู้ต้องขังได้เกือบ 50,000 ราย
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่..) พ.ศ.... โดยร่างกฎหมายฉบับแรก ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นรายมาตรา (วาระ 2) แล้วเมื่อ 22 มิ.ย. ขณะที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ยังคาการพิจารณาอยู่ โดย รมว.ยุติธรรมคาดการณ์ว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้นภายใน 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.กฤตยา มองว่านโยบายสร้างทางเบี่ยงให้คนออกมาเรือนจำควรทำได้มากกว่านั้น โดยยกตัวอย่างก่อนปี 2535 ที่มีผู้ต้องขังแค่ 70,000 กว่าราย นักวิชาการผู้นี้บอกว่าผู้ต้องขังคดียาเสพติดควรเป็นแค่ 10% ที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่ และปล่อยผู้ค้ารายย่อยและคนเสพตามแนวทางของประเทศในแถบยุโรป
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบ 311 ล้านบาทให้กรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาโควิดในเรือนจำ อาทิ ค่าชุดตรวจเชื้อโควิด, ค่าสร้างโรงพยาบาลสนาม, ค่าก่อสร้างและปรับปรุงห้องกักโรค และค่าวัสดุและอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเพื่อการขยับขยายพื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังเพื่อลดความแออัดอย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
วัคซีน
เมื่อ 3 มิ.ย. กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ เริ่ม "คิกออฟ" ฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ 6,515 คน โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค และเมื่อถึงกลางเดือน มิ.ย. มีการฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังไปแล้วกว่า 51,000 โดส ในเรือนจำ 42 แห่ง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นยี่ห้อใด
บีบีซีไทยสอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์ถึงความคืบหน้าและยี่ห้อวัคซีนที่ใช้แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
จากข้อมูลประชาสัมพันธ์และคำบอกเล่าของอดีตผู้ต้องขัง บีบีซีไทยเข้าใจว่าเป็นการใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก ยกเว้นเรือนจำกลางชลบุรีที่ได้พระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์ม 6,400 โดสเมื่อไม่นานมานี้จากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
แม้จอยเองได้รับฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 โดสก่อนการปล่อยตัว เธอไม่ได้มองว่าสถานการณ์ในเรือนจำน่ากังวลน้อยลงไปเลย
"มันไม่มีทางทำตัวเลข[ผู้ติดเชื้อ]ให้เป็นศูนย์ได้ ...ขณะที่เรือนจำมันก็แออัดเหมือนเดิม เดี๋ยวมันก็วนกลับมาติดใหม่ ตอนนี้มันแค่สายพันธุ์อังกฤษใช่ไหม แต่อีกสักพักมั่นใจเลยว่าสายพันธุ์อินเดียมันก็จะเข้ามา แล้วมันก็จะวนแบบนี้ใหม่"
เมื่อพูดถึงวัคซีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งซิโนแวค ผู้ต้องขังเองก็อาจเริ่มตั้งคำถามเหมือนกับประชาชนทั่วไปหลังมีรายงานก่อนหน้านี้ว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อินโดนีเซียจำนวนมากติดโควิดแม้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่งบอกว่าภายในสามเดือนนี้ การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาอาจแซงสายพันธุ์อัลฟาในที่สุด ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนซิโนแวคจะรับมือกับโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวได้ดีแค่ไหน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar