ศบค. ยอมรับว่ากังวลกับตัวเลขผู้ป่วยหนักที่ล่าสุดพุ่งเป็นเกือบ 2,500 ราย ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มเป็นเกือบ 700 รายแล้ว
โควิด-19: เลขา สมช. ระบุพร้อมพิจารณาล็อกดาวน์ทั้งประเทศหาก สธ. เสนอ
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดรุนแรง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ระบุพร้อมพิจารณาประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศหากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอมา
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิดวันนี้ (7 ก.ค.) ว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย เสียชีวิต 54 ราย โดยพบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบนอกพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก เม.ย. 2564 คือกว่า 3,000 รายหรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดในประเทศ
พญ. อภิสมัยกล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่ประชาชนเดินทางจากพื้นที่ระบาดรุนแรงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับภูมิลำเนา
และเนื่องจากมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ศบค. จึงคาดว่าผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดส่วนหนึ่งเป็นสายพันธุ์เดลตาด้วยเช่นกัน
ข้อมูลการกระจายตัวของสายพันธุ์เดลตาและจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. (ศปก.ศบค.) ว่า ศบค. พร้อมจะพิจารณาเรื่องการล็อกดาวน์ทั้งประเทศหากมีข้อเสนออย่างเป็นทางการจาก สธ.
เดลตากระจาย
ในการแถลงสถานการณ์ประจำวันของ ศบค. วันนี้ พญ. อภิสมัยชี้ประเด็นที่ "น่ากังวล" อยู่ 2 เรื่อง คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในต่างจังหวัด และตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
กราฟที่ผู้ช่วยโฆษก ศบค. นำมาอธิบายสถานการณ์การติดเชื้อนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล แสดงให้เห็นว่าในช่วงแรกของการระบาดตัวนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลน้อยกว่าตัวเลขรวมในต่างจังหวัด แต่ต่อมาผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ก็สูงกว่าต่างจังหวัดเป็นหลักพันคน เกือบทุกวันจนกระทั่งวันนี้ (7 ก.ค.) ที่จำนวนเท่ากันคือ ประมาณ 3,000 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 218 รายใน 17 จังหวัด รองลงมาคือภาคเหนือ (88 รายใน 11 จังหวัด) ภาคกลางและภาคตะวันออก (65 รายใน 9 จังหวัด) และภาคใต้ (6 รายใน 3 จังหวัด)
"พอจะคาดเดาได้ว่าการที่คนเดินทางกลับต่างจังหวัด (การติดเชื้อ) ก็จะเป็นสายพันธุ์เดลตาด้วยส่วนหนึ่ง" พญ.อภิสมัยกล่าว
ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยในทุกจังหวัดแล้ว โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรกวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,549 ราย) สมุทรสาคร (548 ราย) สมุทรสาคร (434) นครปฐม (266 ราย) ชลบุรี (262 ราย) ฉะเชิงเทรา (252) ประจวบคีรีขันธ์ (241) นนทบุรี (235 ราย) ปทุมธานี (212) และปัตตานี (190)
อีกประเด็นหนึ่งที่ ศบค. กังวลคือการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
พญ.อภิสมัยกล่าวว่าจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ "ขยับขึ้นมาก" ขณะนี้มีผู้ป่วยระดับสีเหลืองที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 20% และผู้ป่วยระดับสีแดง 10 % ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
"เห็นได้ชัดว่าตัวเลขผู้ที่มีอาการหนัก และใช้เครื่องช่วยหายใจขยับขึ้นมากพอสมควร จากเมื่อก่อนอาการหนักและปอดอักเสบจะอยู่ที่หลักพันต้น ๆ ตอนนี้เป็นสองพันกว่าราย" พญ.อภิสมัยกล่าวและให้ข้อมูลว่าขณะนี้ในไทยมีผู้ป่วยโควิดอยู่ระหว่างการรักษา 67,614 ราย ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งรักษาอยู่ในโรงพยาบาลส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาลสนาม
ผู้ป่วยอาการหนักจำนวน 2,496 ราย ในอาการนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย หรือราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยอาการหนักระดับสีแดงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และ "ในจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 คน จะเสียชีวิต 1-2 คน"
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบคนต่างชาติติดเชื้อ 1 ราย
สำหรับสถานการณ์ติดเชื้อใน จ.ภูเก็ต หลังจากเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาได้ 1 สัปดาห์ นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตแถลงข่าวว่าพบนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการติดเชื้อ 1 คน เป็นเพศชาย ซึ่งมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นพ.กู้ศักดิ์ชี้แจงว่านักท่องเที่ยวคนดังกล่าวได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อตามระบบเฝ้าระวังตั้งแต่นักท่องเที่ยวมาถึง ระหว่างรอผลครั้งแรกนักท่องเที่ยวรายนี้ก็อยู่ในห้องพักตลอดเวลาตามที่ทางการกำหนด จนรู้ผลว่าติดเชื้อ ขณะนี้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยจะดำเนินตามขั้นตอนควบคุมโรคปกติ คือ การเฝ้าระวังอาการและกักตัวจนครบ 14 วัน
นับตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.ค. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2,113 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด และตรวจหาเชื้อเป็นระยะ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อใน จ.ภูเก็ตนั้น มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 755 ราย ส่วนใหญ่รักษาหายกลับบ้านแล้ว เหลือ 46 รายที่ยังอยู่ในระบบการรักษา
พร้อมพิจารณาล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
พล.อ. ณัฐพล ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการปรับมาตรการควบคุมโรคเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่การระบาดที่รุนแรงมากขึ้น และข้อเสนอจากแพทย์บางคนที่ระบุว่าขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่การระบาดระยะที่ 4 จึงควรใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการระบาดว่า ขณะนี้ ศบค. รอข้อเสนอที่เป็นทางการจาก สธ.
พล.อ. ณัฐพลอธิบายว่าคำว่า "ล็อกดาวน์" หมายถึงมาตรการที่รัฐบาลเคยใช้เมื่อเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งในตอนนั้นมีการประกาศเคอร์ฟิว ปิดกิจการต่าง ๆ ลดการเคลื่อนย้าย ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทย เป็นต้น
เขาระบุอีกว่าหากล็อกดาวน์ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชนรองรับ ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่าช่วงประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่า 1 เดือนเมื่อเดือน เม.ย. 2563 รัฐบาลใช้งบประมาณเยียวกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ก็ยังเยียวยาประชาชนได้ไม่ทั่วถึง ศบค. จึงมุ่งเน้นที่การทำให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้แต่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
พล.อ. ณัฐพลกล่าวว่าเขา "ไม่ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าล็อกดาวน์ประเทศ" แต่ขอชี้แจงว่าคำว่า "ล็อกดาวน์" คือการไม่ให้ไปไหน แต่ที่ผ่านมายังอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ และเมื่อไหร่ที่จำเป็นจะต้องใช้ มาตรการล็อกดาวน์บางช่วงเวลาหรือบางพื้นที่จะต้องพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar