ตรวจโควิด

ที่มาของภาพ, Thai NEws Pix

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงมาตรการใหม่ 5 ข้อเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นอย่างมากทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมทั้งเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยกระดับมาตรการควบคุมโรคด้วยการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดและปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องการดำรงชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. เรียกประชุมด่วนพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) คาดว่าจะมีการพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ โดยคาดว่าจะนำมติที่ประชุม ศบค. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 13 ก.ค.

5 มาตรการล่าสุดจาก สธ.

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของรัฐบาลรายงานว่าในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทำสถิติสูงสุดอีกครั้งคือมีผู้ป่วยใหม่ 7,058 คน และเสียชีวิต 75 คน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในการระบาดระลอกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. รวมแล้วทั้งสิ้น 2,368 คน ผู้บริหารระดับสูงของ สธ. แถลงข่าวที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขช่วงสายวันนี้ (8 ก.ค.) ระบุถึงมาตรการ 5 ข้อที่ออกมาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากที่นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย และความอ่อนล้าของบุคลากรทางการแพทย์

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า มาตรการ 5 ข้อได้แก่

  • อนุมัติให้สถานพยาบาลที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยใช้ชุดตรวจหาเชื้ออย่างง่ายที่เรียกว่า rapid antigen test เพื่อให้รู้ผลตรวจเร็วขึ้นกว่าเทคนิคการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวันกว่าจะรู้ผล ทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย และในขั้นต่อไป สธ.จะพัฒนาระบบให้ประชาชนตรวจหาเชื้อเองได้ที่บ้าน
  • อนุมัติให้ผู้ป่วยอาการไม่หนักหรือผู้ป่วยระดับสีเขียวแยกรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน (home isolation และ community isolation) โดยจะจัดระบบให้มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแล สนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น เช่น ต่างๆ ในการตรวจด้วยตัวเอง เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์วัดไข้ เป็นต้น โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียว แต่ให้สมาชิกในครอบครัวดูแลได้ นอกจากนี้จะให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวโรงพยาบาลที่อาการดีขึ้นหรือรักษามาแล้ว 10 วันขึ้นไปกลับไปรักษาต่อที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงว่างมากขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลจริง ๆ
  • ย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด คือ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือ และให้ทำงานที่บ้าน
  • เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรค เพื่อลดอัตราการตาย สธ. ตั้งเป้าหมายว่าในสัปดาห์หน้าจะระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดส
  • สธ. จะเสนอให้ ศบค. ยกระดับมาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่เสี่ยงสูงและพื้นที่กันชนเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เช่น จำกัดการเดินทาง ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ขอให้ทุกคนอยู่บ้าน ไม่ออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและมีการทำกิจกรรมร่วมกันของบุคคลต่าง ๆ แต่ตลาดและซูเปอร์มาเก็ตจะยังคงเปิดได้เพราะมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

ติดเชื้อเพิ่ม 7,058 เสียชีวิต 75

ในการแถลงสถานการณ์ประจำวันของ ศบค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตในรอบวันของไทยที่ทำสถิติสูงสุดอีกครั้งในวันนี้ เป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังได้ยืนยันข้อมูลที่แพทย์นิติเวชบางรายเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวานนี้ว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ตรวจพบว่าติดเชื้อหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหมายถึงไม่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อหรือรักษาเลย

พญ. อภิสมัยกล่าวว่า 36% ของการเสียชีวิต เกิดขึ้นภายใน 6 วันหลังได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีดังนี้

  • ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 7,058 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,981 ราย เรือนจำ 68 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 308,230 ราย
  • นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 279,367 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 69,619 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,564 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 698 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (2,212 ราย) สมุทรปราการ(565 ราย) สมุทรสาคร (517) ชลบุรี (266 ราย) และปทุมธานี (262 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 75 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 2,462 ราย คิดเป็น 0.80% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.84%