• หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ส.ส. เพื่อไทยพร้อมใจชูป้ายที่มีข้อความว่า "หยุดยุทธ์" กลางสภา ภายหลังเพื่อนร่วมพรรคอภิปรายโจมตีการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจผิดพลาด เมื่อ 1 ก.ย.

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

ส.ส. เพื่อไทยพร้อมใจชูป้ายที่มีข้อความว่า "หยุดยุทธ์" กลางสภา ภายหลังเพื่อนร่วมพรรคอภิปรายโจมตีการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจผิดพลาด เมื่อ 1 ก.ย.

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำหนิฝ่ายค้านใช้เวทีสภาเป็นเวทีหาเสียง ในระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทว่าหลังจากนั้นนายกฯ ได้งัดตัวเลขเศรษฐกิจคนละชุดขึ้นมาแจกแจงผลงานของตัวเอง

"ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีนายกฯ คนไหนช่วยประชาชนได้ขนาดนี้ ไม่มีผู้นำคนไหนยอมถูกต่อว่าว่ากู้เงินเก่ง เอามาช่วยประชาชนมากกว่าครึ่งของประเทศ ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รัฐบาลคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก รัฐบาลจำเป็นต้องทำ แล้วผมก็ถูกตำหนิ" พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าว

ตลอดสองวันมานี้ ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายตอกย้ำภาพลักษณ์ "นักกู้" ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่กู้เงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดเวลา 8 ปีงบประมาณ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวยืนยันกลางสภาว่า เงินทั้งหมดเข้าสู่กระเป๋าประชาชนโดยตรง 8.5 แสนล้านบาท ไปถึงมือประชาชนโดยตรงกว่า 42.3 ล้านบาท

"กู้ ๆ ท่านก็พูดแล้วพูดอีก มันมีความจำเป็นต้องกู้ แต่กู้แล้วเกิดผลอะไรบ้าง บ้านเมือง ถนน ไฟฟ้า นั่นคือผลงานที่มองไม่เห็น" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ครม. ของ พล.อ. ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

ครม. ของ พล.อ. ประยุทธ์

ในวันที่สองของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 1 ก.ย. ส.ส. พรรคเพื่อไทย (พท.) หลายคนพุ่งเป้าวิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดและล้มเหลวท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 และหยิบยกข้อมูลทางสถิติหลายชุดมาแสดงต่อสภา อาทิ

  • ธุรกิจปิดกิจการ/เตรียมปิดกิจการเป็นแสนแสนราย มูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท
  • ธุรกิจโรงแรมเหลือรอดเพียง 38% ปิดชั่วคราวกว่า 30%
  • ธุรกิจการท่องเที่ยว คงการจ้างงานได้เพียง 51% และมีการเอาพนักงานออก 49% นั่นหมายความว่ามีคนตกงานจากธุรกิจนี้ถึง 2 ล้านคน
  • หนี้สาธารณะพุ่งทะยาน โดยวันที่ พล.อ. ประยุทธเข้าบริหารประเทศอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท ผ่านมา 8 ปี หนี้สาธารณะแตะ 9 ล้านล้านบาท
  • หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดกว่า 90.5% คิดเป็นมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท

ที่มา: บีบีซีไทยสรุปจากคำอภิปรายของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พท. เมื่อ 1 ก.ย. 2564

เพื่อไทยชี้โรคระบาด-ผู้นำไม่มีความรู้ ทำเศรษฐกิจดิ่งเหว

ในช่วง 8 ปีภายใต้การบริหารของ พล.อ. ประยุทธ์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พท. ชี้ว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเติบโตโดยเฉลี่ย 2% ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทยสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 5-8% ต่อปี นั่นหมายความว่าแม้ยังไม่เผชิญวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟจึงยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อภิปรายกล่าวหานายกฯ ว่า "มีแต่ขายฝันในคืนหลอกลวง" ทำให้คนไทยชอกช้ำ

ที่มาของภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำหนิฝ่ายค้านใช้เวทีสภาเ

คำบรรยายภาพ,

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อภิปรายกล่าวหานายกฯ ว่า "มีแต่ขายฝันในคืนหลอกลวง" ทำให้คนไทยชอกช้ำ

ส.ส. รายนี้ยังยกรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเติบโตที่ 0.5-0% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็หดตัวจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ -3.2% แต่ประเทศอื่นที่สามารถกระจายวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมกลับมาขยายตัวได้ถึงระดับ 6% แต่สำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ "ไม่สามารถบริหารจัดการวัคซีนที่มีคุณภาพให้ได้ทันท่วงที จนนำไปสู่ความพังพินาศทางเศรษฐกิจ"

นายจุลพันธ์อภิปรายต่อไปว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท/เดือน เป็นการล็อกดาวน์ที่ไม่มีแบบแผน ส่วนมาตรการเยียวยาก็เหมือน "จับสลากชิงโชค"

เขายังระบุด้วยว่า ในขณะที่คนไทยยากจน แต่เจ้าสัวกลุ่มหนึ่งกลับรวยขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คนรวยที่สุดในไทย 10 อันดับแรก รวยเพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านล้านบาท

ขณะที่นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พท. กล่าววิจารณ์แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและแผนเปิดประเทศของรัฐบาล โดยตั้งคำถามว่าโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 100,000 ราย แต่ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวตามโครงการดังกล่าวเพียง 25,000 คน ถือเป็นความล้มเหลวหรือไม่ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการวางแผนครบวงจร ทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อในพื้นที่ จนนำมาสู่การปิด กลายเป็นปราสาททรายทลายลงคามือ พล.อ. ประยุทธ์ หรือไม่

นายกฯ บ่น "อเนจอนาถใจ" กับการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ในระหว่างการอภิปราย ส.ส. ฝ่ายค้านกล่าวหานายกฯ ว่า "ไร้วิสัยทัศน์" และ "ไร้ภูมิปัญญา" อยู่หลายครั้ง ทำให้เจ้าตัวต้องลุกขึ้นมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยเห็นว่าเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือ หรือดิสเครดิต เพียงอย่างเดียว

พล.อ. ประยุทธ์ตั้งคำถามกลับไปว่า ในช่วงโควิด-19 มีประเทศไหนมีจีดีพีสูง จนเปรียบเทียบได้ว่าไทยไม่มีอะไรดีเลย อย่าลืมว่ารัฐบาลดูแลประชาชนไปเท่าไร

นายกฯ

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุกขึ้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาประเด็นการบริหารเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ระหว่างการประชุมสภาวันที่ 1 ก.ย.

"ผมไม่อยากให้ท่านพูดแบบหาเสียง ตรงนี้ไม่ใช่เวทีหาเสียง เป็นเวทีต้องแก้ปัญหา ผมฟังประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย" และ "บางทีผมก็อเนจอนาถใจเหมือนกันกับการพูดที่ไม่มีข้อเท็จจริง บิดเบือน"

ผู้นำรัฐบาลยังปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการบริหารล้มเหลว จนคนไม่มาท่องเที่ยวในไทย โดยยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ทุกประเทศประสบเหมือนกันจากโควิด ซึ่งไทยก็มีมาตรการรองรับแล้ว

"ในส่วนของเรา ผมเสียใจและขอโทษถ้าทำอะไรให้ไม่พอใจ ผมลูกผู้ชายพอ ผมไม่ใช้วิธีอันแยบยลในการบ่อนทำลายกัน ผมเคารพ ผมนับถือ หลายท่านเป็นคนดี หลายท่านเป็นคนรักประเทศชาติ ผมรู้ว่าทุกคนรัก แต่บางคนท่านอาจรักตัวเองมากกว่า เลิกเสียที นึกถึงประเทศของเรา ทุกเช้าตื่นขึ้นมา นึกถึงประเทศว่าจะทำอะไรบ้างวันนี้ ถ้าคิดว่าจะต้องทำลายกันทุกวัน ก็เป็นเรื่องของท่าน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าวกับนักการเมืองในสภา

พล.อ. ประยุทธ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหตุใดจึงนำแต่สถิติแย่ ๆ มานำเสนอ ส่วนสิ่งดี ๆ ไม่นำมา เช่น รายงานของธนาคารโลก และรายงานกองทุนไอเอ็มเอฟ ซึ่งชื่นชมประเทศไทยที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้แบบก้าวกระโดด จาก 0.8% ของจีดีพีในปี 2562 เป็น 3.2% ของจีดีพีในปี 2563 และระดับหนี้สาธารณะของไทยรักษาไว้ที่ 60% ขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกอยู่ที่ 99%

สภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

แปรเวทีซักฟอก เป็นเวทีแถลงผลงานรัฐบาล

จากนั้นเวทีซักฟอกรัฐบาล ก็กลายเป็นเวทีแถลงผลงานด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ซึ่งมาพร้อมสไลด์ประกอบการชี้แจงในรูปแบบพาวเวอร์พอยท์หลายหน้า สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • การกู้เงิน ยืนยันว่าเงินทั้งหมดเข้าสู่กระเป๋าประชาชนโดยตรง 8.5 แสนล้านบาท ไปถึงมือประชาชนโดยตรงกว่า 42.3 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงิน 8.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ 5% ของจีดีพี
  • ออกกฎหมายให้มีผลถาวร เรื่องลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนในรัฐบาลไหนในรอบ 90 ปี
  • ช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนแล้วกว่า 5.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1.91 ล้านล้านบาท
  • ช่วยเหลือลูกหนี้ภาคธุรกิจแล้วกว่า 8.9 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1.94 ล้านล้านบาท
  • เดินหน้าแก้ไขหนี้สินให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 6.4 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ราว 4.58 แสนล้านบาท, หนี้สินครู 9 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท

พล.อ. ประยุทธ์ยืนยันว่าได้ใช้นโยบายการเงินการคลังที่เข้มข้นในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาใหญ่ส่งผลรุนแรงน้อยกว่าที่ควรเป็น และดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของหลาย ๆ ประเทศ

"ท่านพูดไปถึงเจ้าสัว นายทุน หาว่าผมพินอบพิเทา ผมไม่เคย ๆ ครับ ผมไม่เคยต้องทำอย่างนั้นกับใคร ผมมีศักดิ์ศรีของผม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เคยเจรจานอกรอบนอกกรอบ ผมไม่เคยจริง ๆ ไม่ใช่นิสัยของผม ถ้าท่านโยงไปโยงมา คนนี้แซ่นั้นแซ่นี้ ตั้งแต่ปู่ย่า เผลอ ๆ ท่านก็มีเชื้อสายเหมือนกันล่ะ พูดอะไรกันเรื่อยไปมั่ว" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

วิโรจน์ชี้วาทกรรม "วัคซีนเต็มแขน" อยู่คนละโลกกับประชาชน

ด้าน ส.ส. พรรคก้าวไกลได้อภิปรายโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของบริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่มี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) ของไทยเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวหารัฐบาลว่ากีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่ยอมให้วัคซีนใดมาก่อนแอสตร้าเซนเนก้า

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวหารัฐบาลว่ากีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่ยอมให้วัคซีนใดมาก่อนแอสตร้าเซนเนก้า

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เริ่มการอภิปรายด้วยการเปิดคลิปวิดีโอที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เคยกล่าวไว้ว่า ในไตรมาส 3 "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีเต็มโรงพยาบาล อยู่เต็มแขนคนไทย" และไทยจะเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มี "วัคซีนไม่พอเก็บ"

คำกล่าวของนายอนุทินเกิดขึ้นกลางสภาในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อ 17 ก.พ. 2564 ซึ่งนายวิโรจน์คือผู้อภิปรายกล่าวหา รมว.สธ. ในวันนั้น และยังตามมาอภิปรายอีกครั้งในวันนี้

นายวิโรจน์กล่าวว่า วาทกรรม "วัคซีนเต็มแขน" จะไม่พูดไม่ได้ เพราะวานนี้ (31 ส.ค.) นายอนุทินก็ยังย้ำคำนี้อีกครั้ง ราวกับ "อยู่คนละโลกกับประชาชน" เพราะข้อมูลการฉีดวัคซีน ณ 1 ก.ย. พบว่า มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก 23.8 ล้านโดส และได้วัคซีนเข็มที่สอง 8.2 ล้านโดส "ถ้าอย่างนี้เรียกเต็มแขน ประชาชนคนต้องเต็มกลืน"

จากนั้นนายวิโรจน์ได้ไล่เรียงเส้นทางวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทย ซึ่งเขาเรียกว่า "แผนการจัดหาวัคซีนลวงโลก" โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • 5 ม.ค. ครม. มีมติให้จัดซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส
  • 23 ก.พ. ครม. มีมติให้จองซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส หลังจากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงต้นปี
  • 13 มิ.ย. อธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดสในแผนการการจัดหาวัคซีน เป็นเพียงศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนวัคซีนที่ต้องส่งมอบ
  • สิ้นเดือน มิ.ย. รัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีน 5.13 ล้านโดส จากแผนการจัดหาที่ต้องได้รับ 6.3 ล้านโดส ต่างกันถึง 1.2 ล้านโดส ทำให้ประชาชนหลายคนถูกเลื่อนฉีดวัคซีนออกไป จนติดโควิด-19 แล้วเสียชีวิต
  • 2 ก.ค. ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติเปิดเผยว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าน่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดส/เดือน ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องได้รับ 10 ล้านโดส/เดือน และยังชี้แจงต่ออีกว่าในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไร
  • 17 ก.ค. มีเอกสารหลุดปรากฏเป็นข่าว ซึ่งเป็นหนังสือที่แอสตร้าเซเนก้าทำถึงนายอนุทิน ลงวันที่ 25 มิ.ย. เพื่อแจ้งว่าแอสตร้าฯ จะจัดสรรกำลังการผลิต 1 ใน 3 เพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย หรือประมาณ 5-6 ล้านโดส/เดือน และยอดวัคซีนที่จะส่งมอบตอนนี้ เป็นยอดเกือบ 2 เท่าจากที่รัฐบาลไทยเคยประเมินความต้องการให้กับแอสตร้าฯ ที่ 3 ล้านโดส/เดือน
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. ภูมิใจไทย รับบท "ผู้ประท้วงหลัก" ขณะนายวิโรจน์อภิปราย เพราะเห็นว่าใช้ถ้อยทำใส่ร้ายและเสียดสี

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. ภูมิใจไทย รับบท "ผู้ประท้วงหลัก" ขณะนายวิโรจน์อภิปราย เพราะเห็นว่าใช้ถ้อยทำใส่ร้ายและเสียดสี

ถามนายกฯ ทำสัญญาหละหลวมได้อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 มี.ค. นายวิโรจน์ยื่นเรื่องต่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อขอให้เปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย-แอสตร้าเซนเนก้าว่าด้วยการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ซึ่ง ส.ส. รายนี้บอกว่าสัญญาที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งให้ เป็นสัญญาจัดซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อ 12 ม.ค. แต่ไม่ได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส อีกทั้งเอกสารที่ได้มาก็เต็มไปด้วยการถมดำข้อความเอาไว้ ทั้งนี้เมื่อนำไปเทียบกับสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของสหภาพยุโรป จะมีตารางระบุประมาณการในการส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือน แต่สุดท้ายเอกสารที่เขาได้รับมาอีกชุดหนึ่ง ก็ไม่พบตารางและไม่เห็นยอดประมาณการส่งมอบแต่อย่างใด

"เราต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าสัญญาที่ พล.อ. ประยุทธ์ไปทำเอาไว้ ไม่ได้มีการระบุยอดประมาณการส่งมอบวัคซีนอะไรเอาไว้เลยจริง ๆ จนต้องตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไปทำสัญญาที่หละหลวมแบบนี้ได้อย่างไร" นายวิโรจน์กล่าว

สำหรับเอกสารสัญญาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส นายวิโรจน์ทราบในภายหลังว่าเพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 พ.ค. จึงตั้งคำถามว่า รัฐบาลกล้าประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามจากคู่สัญญา

ส.ส. พรรคฝ่ายค้ายรายนี้ยังหยิบยกหนังสือจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ลงวันที่ 24 ส.ค. 2563 ซึ่งระบุว่าหากใช้เงินกู้อุดหนุนบริษัทเอกชน ซึ่งในที่นี้คือ SBS ในการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ต้องมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิการส่งออกเพื่อให้ไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ ต่อมา ครม. มีมติ 25 ส.ค. 2563 ให้ใช้งบกลาง 600 ล้านบาทไปอุดหนุนให้กับSBS โดยไม่ใช้งินกู้ จากนั้นนายอนุทินก็รับไม้ต่อไปลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา โดยยอมรับข้อตกลงกับทางแอสตร้าเซนเนก้าให้ส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัด

"สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ทำเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นการนำเอาสถาบันฯ มาสร้างความนิยมทางการเมืองโดยไม่คำนึงชีวิตของประชาชนคนไทยเลย" นายวิโรจน์กล่าว

ในระหว่างการอภิปราย เขาได้เปิดคลิปวิดีโอของ พล.อ. ประยุทธ์ที่กล่าวถึง SBS ว่าเป็น "บริษัทในพระปรมาภิไธย"

นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงเพื่อนร่วมพรรค (ทางนิตินัย) หลายครั้งในระหว่างการอภิปราย

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายคารม พลพรกลาง ลุกขึ้นประท้วงเพื่อนร่วมพรรค (ทางนิตินัย) หลายครั้งในระหว่างการอภิปราย จนนายวิโรจน์เอ่ยขึ้นว่า "งูครับงู"

การอภิปรายของนายวิโรจน์ใช้เวลายาวนาน โดยมีผู้ประท้วงเป็นระยะ ๆ ทั้งนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประท้วงเรื่องการใช้ถ้อยคำบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ส่วนนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งไปนั่งตรงที่นั่งของ ภท. โดยเขาประท้วงการใช้คำว่า "แผนวัคซีนลวงโลก" เนื่องจากไม่ใช่คำที่ปรากฏในญัตติ นอกจากนี้ยังมี พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ประท้วงเรื่องการพาดพิงสถาบันฯ