Thai E-News
#การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ
ของจิตร ภูมิศักดิ์ ขณะที่ถูกขังอยู่ในคุก
อยู่ในคุก ก็ต่อสู้กับอำนาจอธรรมได้ ดู จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นตัวอย่าง
การอภิวัฒน์ 2475 : ทัศนะทางประวัติศาสตร์กฎหมาย
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 (ปีคริสตศักราช 1932) ซึ่งตรงกับวันแรม 6 ค่ำเดือน 7 ปีมะแม เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่ไม่อาจมองข้ามหรือแม้แต่ปฏิเสธการมีอยู่คงอยู่ได้อีกต่อไป กล่าวคือ เป็นวันที่คณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary System) ซึ่งประสงค์ให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของราษฎร โดยมีกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเป็นเพียงประมุขของรัฐในทางแบบพิธีเท่านั้น
หากจะกล่าวในทางกฎหมาย 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่น้อยไปกว่ามุมมองในทางประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพราะเป็นวันที่มีการเปลี่ยนรากฐานแห่งอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นที่เป็นหัวใจหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกันด้วย
ในทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้าและพยายามให้คำอธิบายข้อเท็จจริงประการต่างๆ ที่เป็นมูลเหตุปัจจัยก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งภายนอกและภายในประเทศในเวลานั้น รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน จนกระทั่งคลี่คลายไปสู่การประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในอีก 3 วันต่อมา และเหตุการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องต่อมาอีกหลายเหตุการณ์มากพอสมควรอยู่แล้ว ดังนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอหยิบยกเพียงบางประเด็นขึ้นมาพินิจพิจารณาให้เห็นทัศนะทางประวัติศาสตร์ของผู้เขียนที่มีต่อการอภิวัฒน์ 2475
ความสำคัญของการอภิวัฒน์ 2475 ในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย
ในแง่ของประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักฐานเอกสารชิ้นสำคัญสองฉบับที่มีนัยสูงยิ่งสำหรับการอภิวัฒน์ 2475 ได้แก่ (1) ประกาศคณะราษฎร ที่นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหาร ได้อ่านเพื่อประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรุ่งเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน และ (2) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้และเติมข้อความ “ชั่วคราว” ลงไปในวันที่ 27 มิถุนายน
ด้วยเหตุนี้ การอภิวัฒน์จึงมีนัยและผลกระทบทั้งในแง่ของ (1) ระบอบการเมืองการปกครอง และ (2) ระบบกฎหมาย ไปพร้อมๆ กัน
เพื่อแจกแจงในเห็นผลในทางข้อเท็จจริง (de facto) และผลในทางกฎหมาย (de jure) อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่นี้ เราพึงจำแนกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน กล่าวคือ
(1) ช่วงแรก นับแต่ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475
ในช่วงนี้ เหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนแน่นอนว่า จะมีผลไปในทิศทางใด เนื่องจากคณะราษฎรยังคงรอคำตอบจากรัชกาลที่ 7 อยู่ว่าจะทรงรับหรือปฏิเสธ แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดคือ คณะราษฎรได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศตามไว้ความเป็นจริง (de facto) แล้ว
(2) ช่วงที่สอง ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 นับแต่เวลาเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงตอบรับและลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475
ในแง่ของระบบกฎหมาย (de jure) จึงต้องนับว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) ได้ปรากฏตัวขึ้นในนาม “คณะราษฎร” โดยกำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และโครงสร้างทางกฎหมายอันมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด พร้อมกันกับการประกาศยกเลิกตัดขาดจาก “ระบอบเก่า” โดยสิ้นเชิง (ผู้สนใจในประเด็นนี้ โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, รัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนาและการเปลี่ยนผ่าน, พิมพ์ครั้งที่ 1, นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559)
ในทัศนะของผู้เขียน การจดจำวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในฐานะจุดเริ่มต้นการอภิวัฒน์ดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป นับเป็นเรื่องปกติและไม่ผิดฝาผิดตัวแต่อย่างใด แต่ผู้เขียนยังเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เพียงวันที่ 24 มิถุนายนเท่านั้นที่พึงจดจำ เพราะหากกล่าวในแง่กฎหมายแล้ว วันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อนักกฎหมายและต่อความเข้าใจในระบบกฎหมายไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏตัวขึ้นของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายของไทย รวมถึงระบอบการเมืองปกครองแบบใหม่ที่กำหนดขึ้นไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ด้วย
อีกนัยหนึ่ง นี่คือปฐมบทแห่ง “ชีวิตรัฐแบบใหม่” ในระบอบการเมืองที่อุบัติขึ้นโดยผลของบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันนั่นเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
ในแง่ของรูปแบบ
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ “ที่เป็นลายลักษณ์อักษร” ฉบับแรกของประเทศอย่างแท้จริง
2. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นหมุดหมายที่สำคัญในระบอบการเมืองการปกครองไทย นับแต่บัดนี้ จะเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การปกครองประเทศจะต้องดำเนินไปตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ในแง่ของเนื้อหา
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง “แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมสมัยใหม่” ฉบับแรก (เช่น หลักการว่าด้วยความเป็นกฎหมายสูงสุดในระบบกฎหมาย)
2. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 จึงเป็นการประกาศ “ชีวิตรัฐแบบใหม่” และตัดขาดจากระบอบการปกครองเก่า อีกนัยหนึ่ง มีเจตนารมณ์และหลักการที่ปฏิเสธระบอบการปกครองเก่าและประกาศเปลี่ยนมูลฐานอำนาจการปกครองประเทศอย่างสิ้นเชิง ดังปรากฏในบทบัญญัติในมาตรา 1 ซึ่งมีความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
ในทางนิติศาสตร์ถือว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” เป็น “ศาสตร์” ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสาขาหนึ่งในระบบกฎหมายมหาชน เมื่อกล่าวถึง “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” บรรพชนนักนิติศาสตร์ต่างได้ให้คำอธิบายและถกเถียงถึงพัฒนาการของหลักการ ความเป็นมา เจตนารมณ์ และสถานะที่สำคัญในระบอบการเมืองการปกครองไว้มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนที่จะต้องทำความเข้าใจ “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ให้ถ่องแท้ และไม่ถูกชักจูงไปโดยคำกล่าวอ้างที่บิดเบือนและขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญในตัวมันเอง
โดยสรุป ความทรงจำที่มีต่อการอภิวัฒน์ 2475 จึงควรหมายถึงวันที่ 24
มิถุนายน และวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ
ที่ว่า หากไม่มี 24 มิถุนาฯ (เหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น)
ก็ย่อมไม่มี 27 มิถุนาฯ
(ระบบกฎหมายที่ก่อตั้งบนฐานของเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น)
และแม้จะมี 24 มิถุนาฯ แต่ถ้าไม่มี 27 มิถุนาฯ ก็ย่อมไม่มีความหมายใดๆ
เช่นกัน
คำกล่าวอ้าง “24 มิถุนายน 2475 เป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม”
คำกล่าวอ้างเช่นว่านี้ ดูเหมือนจะเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์และพยายามตัดสินการกระทำในอดีตที่จบสิ้นลงแล้วของคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ดี การอภิปรายปัญหาทางประวัติศาสตร์ซึ่งพ่วงมาด้วยการตัดสินอดีตที่จบสิ้นไปแล้วในลักษณะนี้ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ และคงต้องอาศัยข้อมูล รวมถึงรายละเอียดหลายประเด็นเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งคงเกินความสามารถของผู้เขียนที่จะอภิปรายลงลึกได้ในพื้นที่อันจำกัดเช่นนี้
การกล่าวอ้างถึงความประสงค์ของกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ว่า พระองค์เองก็ดี หรือแม้แต่กษัตริย์องค์ก่อนหน้านั้นก็ดีได้เตรียมการร่าง หรือเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว ความใจเร็วด่วนได้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นอกจากจะไม่เป็นผลดีแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบการเมืองการปกครองในตัวมันเองในเวลาต่อมาด้วยนั้น ข้อกล่าวอ้างเช่นนี้ หากได้ผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างรอบคอบและรัดกุม โดยคำนึงถึงเหตุปัจจัยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ประกอบกันเข้าในเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นอย่างถ่องแท้ก็อาจพึงเป็นที่รับฟังได้
แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่า รัชกาลที่ 7 เองก็ดี หรือแม้แต่กษัตริย์องค์ก่อนหน้านั้นได้เตรียมการร่าง หรือเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ร่างบทบัญญัติเหล่านั้นก็หาได้ให้อำนาจการปกครองเป็นของราษฎรแต่อย่างใด แต่กลับยืนยันว่าอำนาจการปกครองยังเป็นของกษัตริย์อยู่นั่นเอง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับระบอบเก่ามีเนื้อหาสาระแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบทบัญญัติในมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะสถาปนาอำนาจการปกครองให้เป็นของราษฎรทั่วไป กล่าวคือ ราษฎรมีอำนาจปกครองและเป็นอิสระในการกำหนดชีวิตทางการเมืองด้วยตนเอง
นอกจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับระบอบกว่ายังขัดต่อเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์ตามประกาศคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรากฏอยู่ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ดังมีความว่า
“1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมืองการศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพมีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
เห็นได้ว่า หลัก 6 ประการของคณะราษฎรกำหนดให้รัฐมีภารกิจและบทบาทผูกพันต่อราษฎรในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญด้วย ไม่น้อยไปกว่าการสถาปนาอิสรภาพทางการเมืองแก่ราษฎรเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผู้เขียน การวิเคราะห์ลงลึกใน “คำกล่าวอ้าง” ที่ยกมาข้างต้นดูเหมือนว่าในตัวมันเองจะมีสาระและน้ำหนักน้อยเสียยิ่งกว่าการวิเคราะห์ลงลึกใน “จุดยืนและทัศนคติเบื้องหลัง” ของผู้กล่าวถ้อยคำข้างต้นด้วยซ้ำ เพราะหากเป็นจุดยืนและทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ยึดโยงอยู่กับ “ราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญเสียแล้ว การสถาปนาอำนาจปกครองสูงสุดให้แก่ราษฎรทั้งหลายย่อมเป็นสิ่งที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่งในความคิดของคนเหล่านั้น คำกล่าวอ้างที่เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามก็ย่อมเป็นผลที่ตามมาได้โดยไม่ยากนัก
เป็นไปได้เช่นกันว่า หากประสงค์จะประเมินสถานะของของการอภิวัฒน์ 2475 อย่างเป็นกลาง ก็น่าจะมีแนวทางในลักษณะที่ว่า แม้อุดมคติทางการเมืองเพื่อ “ชีวิตรัฐแบบใหม่” จะได้ลงหลักปักฐานพร้อมๆ กับการอภิวัฒน์แล้วก็ตาม แต่อุดมคติใหม่เช่นนี้ก็ยังต้องเผชิญหรือถูกทดสอบจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ห้อมล้อมอุดมคติดังกล่าวนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อีกนัยหนึ่ง ปัจจัยทางอุดมการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่จำต้องนำมาพิเคราะห์ประกอบการประเมินสถานะของการอภิวัฒน์ทางการเมืองให้เห็นชัดเจนและรอบด้าน ควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เช่นนี้แล้วจึงจะทำให้ผลการวิเคราะห์เป็นที่พึงพอใจทุกฝ่ายได้ในระดับหนึ่ง
แต่ในความเห็นของผู้เขียน ยิ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองมากเพียงใด การอ้างว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเป็นกลางดูจะเป็นสิ่งที่น่าสงสัยยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้น พึงตระหนักว่าหาใช่ประเด็นเล็กน้อยทำนองความคิดความเห็นในเชิงการให้เหตุผลของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง หรือแม้แต่จะกล่าวอ้างถึงมุมมองทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สนใจศึกษาที่ผ่านการวิเคราะห์ค้นคว้าเหตุการณ์การอภิวัฒน์มาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม เพราะหากจะคำนึงถึงแนวโน้มการประเมินสถานะของการอภิวัฒน์ 2475 เท่าที่เป็นมาในรอบ 85 ปี เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า จุดยืนและทัศนคติเบื้องหลังของคำกล่าวอ้างดังกล่าวมีน้ำหนักในการกำหนดทิศทางของความเห็นและการให้เหตุผลในเรื่องนี้อย่างใหญ่หลวงทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวอ้างที่ว่า “24 มิถุนายน 2475 เป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่เพียงใด อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการตระหนักในเบื้องต้นก่อนว่า “ผู้กล่าวมีจุดยืนหรือทัศนะทางการเมือง” อย่างไร เพราะคำตอบประการหลังย่อมเป็นกุญแจสำคัญของคำตอบประการแรกโดยตรง
คงปฏิเสธได้ยากว่า การอภิวัฒน์ 2475 ในตัวมันเองมิใช่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แต่เพียงประการเดียว แต่ยังเป็นเหตุการณ์ที่แฝงด้วย “อุดมคติและจุดยืนทางการเมือง” ที่แตกต่างจากระบอบเก่าที่เคยมีมา และยังมีนัยช่วงชิงในแง่ของนิยามและการให้ความชอบธรรมทางการเมืองจากระบอบเก่าด้วยเช่นกัน
การประเมินสถานะการอภิวัฒน์ 2475
การประเมินสถานะของการอภิวัฒน์ 2475 ในช่วงที่ผ่านมา จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ (1) จุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองของผู้ประเมิน และ (2) สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาหนึ่งๆ
ดังที่กล่าวแล้วว่า การอภิวัฒน์ 2475 มิใช่เป็นแต่เพียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ยังแฝงด้วยอุดมคติและจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากระบอบเก่า เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้และต่อรองกันระหว่างอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์และของคณะราษฎรในช่วงวันที่ 24-27 มิถุนาฯ รวมถึงเหตุการณ์ที่สืบเนื่องต่อมาอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เราเห็นลึกลงไปถึงจุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองที่แตกต่างกัน 2 กลุ่ม กล่าวคือ
(1) กลุ่มกษัตริย์นิยม เป็นกลุ่มที่สืบทอดมาจากระบอบการปกครองและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมก่อนการอภิวัฒน์ 2475 ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่ยึดโยงอยู่กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของไทยในอดีตโดยตรง ซึ่งหมายรวมเอาทั้งสถาบันกษัตริย์และระบบราชการที่เป็นกลไกการปกครองเดิมเอาไว้ด้วย
(2) กลุ่มเสรีนิยม เป็นกลุ่มที่เน้นความสำคัญของ “ราษฎรทั้งหลาย” และ “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งมีบ่อเกิดทางความคิดจากโลกตะวันตกที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นภายในประเทศ เช่น การกำเนิดขึ้นของเศรษฐกิจทุนนิยมนับแต่การทำสนธิสัญญาบาวริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ในปี 2475 สมาชิกของกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่ กลุ่มข้าราชการที่ไม่พอใจกับระบบการเมืองปกครองเดิม และกลุ่มที่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง เช่น นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
ดังนั้น การพิจารณาประเมินสถานะของการอภิวัฒน์ 2475 จากมุมมองที่แตกต่างกัน ย่อมมีผลแตกต่างกันทั้งในแง่ของคุณค่า นิยาม และความชอบธรรมในกระบวนการทางการเมืองตลอดสาย รวมไปถึงเนื้อหาและหลักการทั้งปวงที่จะกำหนดลงไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิเช่น มูลเหตุเบื้องหลังการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช ในปี 2476 ก็คือการล้มรัฐบาลของคณะราษฎร นี่คือการปะทะกันในทางกำลังอย่างแท้จริงระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ แม้ว่าโดยภาพรวมของวันที่ 24-27 มิถุนายน 2475 เหตุการณ์ดูจะเป็นไปในทางประนีประนอมซึ่งกันและกันก็ตามที
หรือสาเหตุของการสละราชสมบัติของกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ในปี 2477 แม้จะมีเหตุขัดแย้งกับรัฐบาลของคณะราษฎรอยู่หลายกรณี แต่กรณีที่จะมองข้ามมิได้เลยก็คือ ความแตกต่างในการตีความสถานะกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐว่ายังมีอำนาจมากน้อยเพียงใดในระบอบการปกครองใหม่และรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่กษัตริย์เห็นว่า พระองค์ยังมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยได้ในหลายกรณีเช่นที่เคยเป็นมา แต่ทางรัฐบาลกลับเห็นว่ากษัตริย์สิ้นอำนาจในทางความเป็นจริงแล้ว คงมีแต่สถานะความเป็นประมุขในทางแบบพิธีเท่านั้น ดังนั้น อำนาจการตัดสินใจสุดท้ายจึงอยู่ที่สภาและคณะรัฐมนตรีซึ่งแต่งตั้งโดยสภา เพราะเป็นผู้แทนของราษฎรตามรัฐธรรมนูญ (ดูตัวอย่างคำอธิบายของนักกฎหมายฝ่ายกษัตริย์นิยมประเด็นอื่นๆ ในหนังสือของปิยบุตร แสงกนกกุล เล่มที่อ้างแล้ว)
ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า เป็นเพียงกรณีเหตุการณ์ที่ยังคุกรุ่นอยู่ในช่วงเวลาการอภิวัฒน์อย่างแท้จริง แต่หากพินิจพิเคราะห์อย่างรอบคอบและรัดกุมในรอบ 85 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่า พัฒนาการทางการเมืองนับจากปี 2475 เป็นต้นมา ปัจจัยที่เป็นอุดมคติและจุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ล้วนมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายครั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และรัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดขึ้นตามมา (เช่น ฉบับปี 2492 ที่กลับมาให้ความสำคัญแก่สถาบันกษัตริย์ เป็นต้น) การขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการทหารแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่สถานการณ์เปลี่ยนกลับมาเป็นชัยชนะในเบื้องต้นของกลุ่มเสรีนิยม ซึ่งนำโดยนักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ในเวลานั้น และแน่นอนว่า ความขัดแย้งทางอุดมคติและจุดยืนทางการเมืองเช่นว่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่ไม่อาจสิ้นสุดลงได้โดยง่ายแม้ในปัจจุบัน ในแง่นี้ ผลพวงของการอภิวัฒน์ 2475 แท้จริงแล้ว อาจไม่ได้เป็นแต่เพียงผลของประวัติศาสตร์ แต่กลับมองได้เช่นกันว่า นี่คือปัญหาร่วมสมัยเลยทีเดียวก็ว่าได้
เมื่อผลพวงของการอภิวัฒน์ 2475 อาจถูกมองได้ว่าเป็นปัญหาร่วมสมัยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด 85 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ แม้จะไม่มีใครคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นและมีทิศทางอย่างไร อีกทั้งยังมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ผลักดัน หรือลงมือกระทำการด้วยตนเอง และแสดงทัศนะอันหลากหลายอยู่ไม่น้อย
ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ (ปี 2549-2559) สถานการณ์ต่างๆ ก็ดี รวมทั้งทัศนะของบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องเหล่านั้นก็ดี ต่างสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งที่ยังคงเป็นประเด็นหรือผลสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์ 2475 อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและได้รับการรายงานผ่านทางสื่อในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลหลายกลุ่มหรือหลายฝ่ายอย่างเข้มข้น หรือแม้แต่ข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในการอธิบาย ตีความ หรือการร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม
ตัวอย่างเช่น ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองที่ดูเหมือนจะหาหนทางออกไม่ได้ (ทั้งๆ ที่การตัดสินปัญหาก็เพียงรอผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น) กลับมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เสนอให้มีการ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” หรือแม้ในปัจจุบันก็ตาม การอธิบายทางวิชาการเกี่ยวกับสถานะของกษัตริย์ในช่วงการอภิวัฒน์ก็มีประเด็นด้วยว่า กษัตริย์จะยังคงมีสถานะสืบเนื่องในลักษณะเดียวกันกับสถานะที่เคยมีมาก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือไม่ เป็นต้น
จากที่กล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองซึ่งเมื่อพินิจพิจารณาลึกลงไปสู่เบื้องหลังความเป็นไปแล้ว เราได้เห็นประเด็นข้อขัดแย้งซึ่งสืบเนื่องและเป็นผลโดยตรงมาจากการอภิวัฒน์เมื่อ 85 ปีก่อนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
นอกจากนี้ หากกล่าวถึงการอภิวัฒน์ 2475 ในแง่ของความทรงจำร่วมกัน (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความทรงจำที่มีจุดยืนและให้ความสำคัญแก่ราษฎรเป็นสำคัญ) และนำมาอธิบายเปรียบเทียบหรือให้ความหมายแก่สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา พบว่า หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มไปในทางที่จะกดขี่ “ราษฎรทั้งหลาย” และบิดเบือน “ระบอบประชาธิปไตย” เช่นนี้แล้ว การอภิวัฒน์ 2475 มักจะถูกหยิบยกขึ้นอธิบาย เปรียบเทียบ และโยงไปสู่เจตนารมณ์ของคณะราษฎรอยู่เนืองๆ ดังจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนได้จาก ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ ที่ปรากฏตัวขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ กลุ่มคนเหล่านี้ได้หยิบยก กำหนดสัญลักษณ์ และเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนกลับไปสู่เจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์ 2475 อยู่ไม่น้อยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักระหว่างปัจจัยทั้ง 2 ประการที่ว่ามา กล่าวคือ สถานการณ์บ้านเมืองกับจุดยืนและทัศนคติในทางการเมือง ต้องนับว่า จุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองนับเป็นปัจจัยที่จะกำหนดผลของการประเมินสถานะของการอภิวัฒน์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลยทีเดียว
ดังตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย ได้แก่ ความคิดเห็นนานาประการที่สื่อพากันเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ในกรณี “หมุดคณะราษฎร” ถูกถอนออกไปและมีหมุดใหม่มาฝังไว้แทน ณ จุดเดิม ซึ่งไม่ว่ารายละเอียดของแต่ละความเห็นจะเป็นเช่นไร เรากลับสามารถวิเคราะห์จุดยืนและทัศนคติเบื้องหลังของความคิดเห็นเหล่านั้นได้ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า มีจุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองอยู่ในกลุ่มใด
ด้วยเหตุนี้ การประเมินสถานะของการอภิวัฒน์ 2475 ในรอบ 85 ปีที่ผ่านมา จึงไม่อาจมองข้ามปัจจัยพื้นฐานสองประการนี้ได้เลย
การอภิวัฒน์ 2475 คืออะไร ในทัศนะของผู้เขียน
24 มิถุนายน 2475 คงมิใช่เป็นเพียงวันสำคัญในประวัติศาสตร์แต่เพียงประการเดียว ไม่นับที่เคยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “วันชาติ” มาแล้ว และไม่ว่าจะเป็นผู้ปรารถนาที่จะจำหรือใคร่ที่จะลืมวันนี้เพียงใด ด้วยเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังของตนเช่นไร ประวัติศาสตร์ชีวิตการเมืองของแผ่นดินนี้ได้ชี้ลงไปแล้วว่า “ชีวิตรัฐแบบใหม่” ที่มี “ราษฎรทั้งหลาย” เป็นศูนย์กลางได้ เริ่มก่อตัวขึ้นแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ 85 ปีก่อน
ชีวิตรัฐแบบใหม่จึงเป็นสิ่งที่ผู้ริเริ่มก่อสร้าง กล่าวคือ คณะราษฎร ประสงค์ที่จะสถาปนาให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกลไกทางการเมืองการปกครองอีกหลายประการที่ได้ประกาศสู่สาธารณะในเอกสารชิ้นสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ “ประกาศคณะราษฎร (24 มิถุนายน 2475)” และอีกสามวันต่อมา ได้แก่ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475”
ดังนั้น การอภิวัฒน์ 2475 จึงมีนัยสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและในแง่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งนักกฎหมาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ยังเคารพหลักและวิชาการกฎหมายที่ตนได้ร่ำเรียนมา) พึงเป็นกลุ่มที่ควรตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในช่วงวันที่ 24-26 มิถุนายน 2475 เป็นวันอภิวัฒน์เพื่อก่อร่างชีวิตรัฐแบบใหม่ขึ้น ส่วนในทางกฎหมาย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) ได้ปรากฏขึ้นในนาม “คณะราษฎร” โดยกำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary System) และโครงสร้างทางกฎหมายอันมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด พร้อมกันกับการประกาศยกเลิกตัดขาดจาก “ระบอบเก่า” อย่างสิ้นเชิง ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 นั่นเอง
หากพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงราวหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ (ปี 2549-2559) คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า แม้จะเป็นช่วงลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากมีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง สลับกับการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีรัฐบาลพลเรือนปกครอง แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ได้ก่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านมุมมองความคิด การเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมไปถึงการหวนคิดทบทวนตรวจสอบอดีต ปัจจุบัน และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
การเมืองไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่สังคมไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมาเป็นระลอกๆ ระบอบการเมืองจึงจำเป็นที่จะต้องหา “จุดสมดุล” ในการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ยังไม่มีใครสามารถคาดหมายได้อย่างแม่นยำว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเพียงใด
ในท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ การอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ขึ้นแทนที่ระบอบการปกครองเก่า ดังที่ปรากฏบทบัญญัติในมาตรา 1 ซึ่งมีความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เป็น “แรงบันดาลใจ” และ “พลังทางเหตุผล” ต่อผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อมั่นอย่างมั่นคงและแน่นแฟ้นในศักยภาพและอำนาจการปกครองตนเองของราษฎรทั้งหลาย
ที่ตั้งใจใช้คำว่า “แรงบันดาลใจ” และ “พลังทางเหตุผล” ก็ด้วยเหตุว่า นี่คือหลักการที่เป็นแก่นแกนชีวิตทางการเมืองของรัฐที่เป็นอารยะทั้งหลายในโลก เป็นอิฐก้อนแรกที่จะช่วยสถาปนาระบอบการเมืองที่ประโยชน์ตกแก่พลเมืองทุกคนอย่างถ้วนหน้า มิใช่เพื่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเป็นการเฉพาะอย่างที่เคยเป็นมา
ผู้เขียนจึงประสงค์จะเรียกร้องไปยังบรรดาเพื่อนนักกฎหมายทั้งหลายว่า หากทุกท่านตั้งมั่นและตระหนักในความสำคัญของ “เหตุผลและหลักการ” เช่นนี้ว่าจะเป็นบ่อเกิดและจุดรวมศูนย์ของความยุติธรรมในแผ่นดิน อีกนัยหนึ่ง เป็นหลักการพื้นฐานประการแรกสุดที่จะสถาปนา “ความชอบธรรม” ให้เกิดขึ้นในสังคมและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางด้านกฎหมาย แม้ว่าในภายภาคหน้า พวกเราจะต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ล้วนมีผลกระทบให้ต้องใส่ใจครุ่นคิดถึงความจำเป็นของเหตุผลหรือหลักการนั้น เราก็ต้องยืนยันในเหตุผลหรือหลักการดังกล่าวอย่างหนักแน่นว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบอบการเมืองการปกครองที่จะยกเลิกเพิกถอนหรือลบล้างออกไปด้วยเหตุผลหรือตรรกะอื่นใดมิได้โดยเด็ดขาด
ชีวิตทางการเมืองของพลเมืองทั้งในการกระทำและความคิดนั้นจะต้องโยงเข้าหาเหตุผลและหลักการที่ว่านี้ได้ในทุกระดับนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การใช้เหตุผลกลอื่นเข้ากลบเกลื่อนก็ดี พยายามหาเลศหรือมุ่งนำเอาคุณค่าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาอธิบายแทนที่ก็ดี อาทิเช่น “24 มิถุนายน 2475 เป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “ระบอบเช่นนี้เป็นผลให้นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมีสันดานเลวร้ายและทุจริต” หรือ “คนดีจำเป็นต่อสังคมเสียยิ่งกว่าคนที่เคารพหลักกฎหมาย” (แต่ไม่อธิบายว่าดีเช่นไร) เหตุผลอันแยบยลที่ยกมาเหล่านี้ล้วนมีเบื้องหลังหรือจุดหมายสุดท้ายเพื่อทำลายน้ำหนักและหัวใจของระบอบการเมืองการปกครองที่สถาปนาขึ้นบนเหตุผลและหลักการดังปรากฏในมาตรา 1 นั่นคือ บิดเบือนและลบล้างบ่อเกิดและจุดรวมศูนย์ของความยุติธรรมออกไปเสียจากรัฐ และที่สำคัญที่สุดก็คือจากความคิดและจิตใจของบรรดาพลเมืองด้วยในที่สุด
ด้วยการมีจิตใจที่หมั่นพิเคราะห์และใช้เหตุและผลต่อข้ออ้างในลักษณะต่างๆ ที่มุ่งกลบเกลื่อนหรือลบล้างความยุติธรรมดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่ควรตระหนัก กับทั้งฝึกฝนความคิดและจิตใจในประเด็นนี้อย่างสม่ำเสมอ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar