บทวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซีเรียกการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจว่า เป็นนโยบาย ที่ "ทะเยอทะยานที่สุดในทวีปเอเชีย" แต่การฟื้นตัวในระยะสั้นจะยังไม่เกิด เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา
เที่ยวไทย : เอชเอสบีซีระบุเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นหากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา
ธนาคารเอชเอสบีซี ชี้ แผนเปิดประเทศของไทย "ทะเยอทะยานที่สุดในทวีปเอเชีย" แต่การฟื้นตัวในระยะสั้นจะยังไม่เกิด เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา
บทวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซี ที่ใช้ชื่อว่า Thailand Tourism: Bangkok beckons หรือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย : กรุงเทพฯ กำลังกวักมือเรียก และเผยแพร่เมื่อ 18 พ.ย. ชี้ว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิดครบแล้ว จาก 63 ตลาด โดยไม่ต้องกักตัว เป็น "ก้าวแรกที่ถูกต้อง" แต่การฟื้นตัวในระยะสั้น จะยังไม่เกิด หากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนยังไม่กลับมาเยือนไทย
หยุน หลิว นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีในฮ่องกง กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่เป็นที่รู้กันแต่ไม่มีกล้าพูดถึงก็คือ "ไร้นักท่องเที่ยวจีน" ที่เคยเป็นสัดส่วนถึง 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด
นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีในฮ่องกง บอกว่า เมื่อปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน ใช้จ่ายเงินในประเทศเป็นสัดส่วนถึง 11% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี เมื่อไร้นักท่องเที่ยว ประเทศก็ขาดรายได้ กระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรม และการจ้างงานจำนวนมาก มีตัวเลขคนตกงานมากกว่าตัวเลขทางการ เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้อยู่ในภาคแรงงานที่ไม่เป็นทางการจำนวนมาก
- สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไตรมาส 3 ติดลบ ยอดนักท่องเที่ยวภูเก็ตต่ำกว่าคาด
- ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับรายได้ของคนบนเกาะ
- ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คนพื้นที่หวังฟื้นรายได้ แต่กลัวโควิดรอบใหม่
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
อัตราว่างงานในภาคท่องเที่ยวของไทยและอาเซียน
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดเมื่อ 18 พ.ย. ชี้ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก
ข้อมูลจาก 5 ประเทศ ได้แก่ บูรไน ดารุสซาลาม, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม พบว่าคนตกงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในปี 2563 มีจำนวนสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ ถึง 4 เท่า
เกือบ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่เสียไปมาจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีการประเมินว่าเฉพาะในบรรดา 5 ประเทศดังกล่าวมีคนตกงานถึง 1.6 ล้านคน และด้วยงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องทางอ้อมกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตัวเลขการประมาณที่แท้จริงของผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด ต่อภาคธุรกิจการท่องท่องในภูมิภาคนี้น่าจะมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก
"ผลกระทบของการระบาดใหญ่โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในเอเชียและแปซิฟิกไม่ต่างอะไรไปจากหายนะ ถึงแม้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเป็นอย่างมากและออกแบบยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อค่อย ๆ เปิดพรมแดนอีกครั้ง แนวโน้มที่งานและชั่วโมงการทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่าตัวเลขช่วงก่อนวิกฤต" ชิโฮโกะ อาซาดะ-มิยากาวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ผลกระทบของวิกฤตต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยบรรเทาเบาบางขึ้น แต่การหดตัวของค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานรุนแรงมาก และงานต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยวหดตัวลง ขณะที่งานในภาคธุรกิจอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงโดยรวม 9.5% อันเนื่องจากแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปทำงานที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เช่น กิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง 10% ตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสเรกของปี 2564 ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตในทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ยกเว้นกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
ตัวเลขปัจจุบัน
กระทรวงการต่างประเทศของไทย แถลงเมื่อ 18 พ.ย. ถึงความคืบหน้าการเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass ระบุว่าระหว่าง 1-17 พ.ย. (จนถึง 09.00 น.) มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว 214,251 คน ได้รับอนุมัติแล้ว 167,415 คน
มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 1-16 พ.ย. ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวม 38,584 คน เป็นผู้ติดเชื้อโควิด 42 คน ทางท่าอากาศยานภูเก็ต 18,421 คน ติดเชื้อ 32 คน ทางท่าอากาศยานสมุย 1,259 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อ ทางท่าอากาศยานเชียงใหม่ 210 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อ รวมผู้เดินทางเข้าประเทศไทย 58,870 คน ติดเชื้อ 74 คน คิดเป็น 0.13%
ก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อ 15 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวยอมรับว่ายอดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 100,000 คน แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นมีอยู่ประมาณ 40,000 คนเท่านั้น
"อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากเที่ยวบินที่เหลือในช่วงสองเดือนนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 257,000 คน และสร้างรายได้ราว 130,000 ล้านบาท แต่ต้องพิจารณากันอีกครั้งหลังจากที่เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีกเป็น 63 ประเทศแล้ว"
ความหวังอนาคต
นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีบอกว่า ตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย. อัตราเฉลี่ยยนักท่องเที่ยวเข้าไทยอยู่ที่ 3,000 คนต่อวัน และเธอเห็นความเป็นไปได้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และมีนักท่องเที่ยวจากอีกหลายประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไทย
เลขาธิการ สศช. คาดว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยของปีหน้าคาดว่าจะเป็น 440,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวราว 5 ล้านคน แต่ หยุน หลิว ของเอชเอสบีซี มองว่าน่าจะได้มากถึง 8.5 ล้านคน หรือราว 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 และอาจไปได้ถึง 10 ล้านคน หรือราว 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 ถ้าประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยยอมเปิดพรมแดนให้ประชาชนออกเที่ยวต่างประเทศ
เมื่อนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเงินในประเทศไทยมากขึ้น จะส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่เอชเอสบีซีคาดว่าจะติดลบ 3% ของจีดีพีปีนี้ ไปเป็นบวก 0.8% ในปีหน้าหากมีนักท่องเที่ยวมาถึง 8.5 ล้านคน และน่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเล็กน้อย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar