30 กันยา วันส่งท้ายปีงบประมาณ วันสุดท้ายข้าราชการเกษียณ เปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งเก่า ส่งมอบคนใหม่ และอาจเป็นวันสุดท้าย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่รู้คงไว้ทำซากอะไรโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแล้ว
30 กันยา ไม่ทราบศาลรัฐธรรมนูญถือฤกษ์งามยามดีใด นัดวินิจฉัย 8 ปีประยุทธ์ ในวันเลี้ยงส่งเลี้ยงอำลาทั่วประเทศ เพียงไม่รู้คนไทยจะได้เฮดับเบิ้ลเฮ หรืองานกร่อย
ADVERTISEMENT
ประยุทธ์เฟดออกจากการเมืองหนึ่งเดือนเต็ม เหมือนประเทศไทยโล่งไปหมด รักษาการนายกฯ “ป้อม”ดูน่ารักขึ้นทุกวัน นี่ถ้าศาลตัดสินให้ประยุทธ์กลับมาได้ ก็คงเหมือนมรสุมมืดครึ้มทั่วฟ้า แต่ถ้าประยุทธ์ตกเก้าอี้ ก็คงเหมือนฟ้าสว่างสดใส ประเทศเดินหน้าสู่การเลือกนายกฯ ใหม่ หรือเลือกตั้งใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่เดือดร้อนอะไร เดินหน้าหาเสียงในโค้งสุดท้าย 180 วัน ดีเสียอีก ไม่มีประยุทธ์เป้าใหญ่ให้พรรคฝ่ายค้านถล่ม
การเมืองไทยหลังประยุทธ์จะกลับสู่ความสงบ คืนสู่ภาวะปกติ ปรองดอง อย่างนั้นใช่ไหม ที่แล้วก็แล้วกันไป รัฐประหาร 5 ปี สืบทอดอำนาจเกือบ 4 ปี หยวนยอมกันเถอะ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า ประชาชนจะได้ทำมาหากิน
ที่แล้วก็แล้วกันไป การใช้อำนาจอยุติธรรม จับกุมคุมขังคน ต่อต้านรัฐประหาร คนเรียกร้องประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ชูสามนิ้วปฏิรูปสถาบัน ฯลฯ เดี๋ยวพอมีรัฐบาลใหม่ก็หาหาช่องอภัยโทษ หาทางนิรโทษกรรม หลังโดนจำคุกพอสั่งสอนดัดสันดาน ให้ยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็เดินไปข้างหน้า กับรัฐบาลใหม่ ที่หวังว่าจะบริหารได้ดีกว่าประยุทธ์ เศรษฐกิจก็จะผงกหัว การค้าการลงทุน นักท่องเที่ยวกำลังกลับมา
หัวหน้า รปภ.เอาปืนจี้ ยึดอำนาจบริหารบริษัท แล้วออกกฎระเบียบใหม่ รื้อโครงสร้าง ตั้งพวกพ้อง เพิ่มอำนาจฝ่าย รปภ. ฝ่ายกฎหมาย คุมบอร์ดคุมพนักงาน อยู่มานาน 8 ปีจนคนเบื่อคนเกลียด โดนไล่ บอร์ดสั่งปลดโห่ร้องดีใจ ตั้งรองหัวหน้ามารักษาการแทน เอานะ ยังรู้จักโอภาปราศรัย เดี่ยวเลือกผู้บริหารใหม่ จะเจริญก้าวหน้า
แล้วที่รื้อโครงสร้างรื้อหลังคารื้อเพดาน วางกฎบังคับควบคุมไว้ ทำไง ก็หยวนยอม ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว?
Stockholm Syndrome เกลียดกลัวหัวหน้าโจรจับตัวประกัน ดุดันกรรโชกโฮกฮาก รองหัวหน้ายังโอภาปราศรัยดีหน่อย
8 ปีหลังรัฐประหาร ใช้อำนาจกดทับ กระทั่งคนชินไปเองกับการถูกลดสิทธิเสรีภาพ หันไปสนุกปากกับการวิพากษ์ดารา นางงาม ชดเชยการวิจารณ์อำนาจ เหลือแต่ประยุทธ์เป็นซากส่วนเกิน ถ้าประยุทธ์พ้นไป สังคมไทยก็จะรับสภาพ ยอมรับระบอบอำนาจใหม่ ที่สถาปนาขึ้นโดยรัฐประหาร ซึ่งเป็นประชาธิปไตยน้อยลงๆ น้อยกว่าก่อนปี 49 น้อยกว่าก่อนปี 57
นี่คือปฏิบัติการจิตวิทยา จับตัวประกัน ข่มขู่บังคับ ปราบปรามกดขี่ 8 ปี แล้วยอมผ่อนคลายให้นิดหนึ่ง เป็นพระคุณยิ่ง
สมมติประยุทธ์ตกเก้าอี้ หรือไม่ตก แต่ “ผมพอแล้ว” ไม่ไปต่อ ก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ คนไทยจะฝากความหวังกับการเลือกตั้ง “แลนด์สไลด์” หวังได้รัฐบาลใหม่ที่มีฝีมือบริหาร หวังให้ขั้วอำนาจต่างๆ เจรจาต่อรองปรองดองหยวนยอมกัน ตั้งรัฐบาลผสมสลายขั้ว 250 ส.ว.อย่าขวาง แต่ไม่จำเป็นต้องโละ 250 ส.ว. เพราะอยู่อีกปีเดียวก็พ้น
ทายใจไม่ผิดหรอก นี่แหละสังคมไทย แม้คงมีการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็คงไม่ชอบให้หักหาญ (ทั้งที่รัฐประหารหักหาญ) อย่าเพิ่งปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล รื้อองค์กรอิสระ ฯลฯ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร? โอ้โห พวกลิเบอรัลหัวรุนแรง ไปทีละขั้นดีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ก็จัดการทุกฝ่าย ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ทั้งสิระ ปารีณา กนกวรรณ เดี๋ยวถ้าประยุทธ์โดนมั่ง เห็นไหม ก็ไปทั้งประยุทธ์ทั้งธนาธร
เปรียบเทียบบางมุมก็เหมือน 6 ตุลา 2519 หลังเป็นประชาธิปไตย 3 ปีเกิดรัฐประหาร รัฐบาลหอยถอยหลังขวาสุดกู่ แล้วรัฐประหารตัวเองอีกครั้ง นิรโทษกรรม 66/23 มีเลือกตั้ง กลับมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยที่ถูกกำกับไว้ใต้อำนาจ สังคมไทยยอมรับได้เพราะยังดีกว่าขวาสุดโต่ง
รัฐประหาร 57 ใช้อำนาจกดอยู่ 5 ปี ตีกรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ด้านที่เป็นประชาธิปไตยถูกกดต่ำลง มีเพดานให้หายใจน้อยลง ในด้านสิทธิเสรีภาพ แล้วกลับมาสู่ประชาธิปไตยปลอม 3 ปี ค่อยๆ ผ่อนคลายทีละนิด ให้คนไทยรู้สึกว่า “ยังดีวะ” ดีกว่าก่อนหน้านี้ ทั้งที่เทียบไม่ได้เลยกับก่อนปี 49 หรือก่อนปี 57 แล้วก็เข้าสู่ภาวะ New Normal มีรัฐบาลจากเลือกตั้งแต่ไม่มีอำนาจรื้อโครงสร้าง ไม่มีอำนาจแตะต้องฝ่ายความมั่นคง องค์กรอิสระ ที่เป็นผู้พิทักษ์เครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม
New Normal ในฝันของอนุรักษนิยมคือ สมดุลอำนาจใหม่ โดยไม่ต้องรัฐประหาร มีรัฐบาลเลือกตั้งที่ประนีประนอม มีฝีมือบริหารเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถแตะต้องอำนาจทหาร อำนาจกฎหมาย องค์กรอิสระ และใช้อำนาจกดทับได้ตามอำเภอใจ
แต่จะสมหวังไหม โลกเปลี่ยนไปไกลแล้ว การประนีประนอมอาจเกิดได้แค่ชั่วขณะ แรงปะทะจากความขัดแย้งกลับมาได้ทุกเมื่อ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7280173
...........................................................
ใบตองแห้ง: 19 กันยาคุณอยู่ไหน
16 ปีที่แล้วคุณอยู่ไหน ในจุดวิบัติของสังคมไทย ซึ่งกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่สมัยนั้นเรียนประถมเรียนอนุบาล ถูกจับกุมคุมขังในวันนี้
ใครอยู่ในม็อบพันธมิตรบ้าง ยกมือขึ้น ใครฟังแกนนำปราศรัยแล้วฝันหวาน กำจัดนักการเมืองโกงแล้วถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำ ใครดีใจเกิดรัฐประหาร ใครสนับสนุนให้ใช้ตุลาการภิวัตน์จัดการ กกต. “3 หนา” ยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ 111 กรรมการบริหารพรรค
มีไม่น้อยเลยที่วันนี้ “กลับใจ” ไล่ประยุทธ์แปดปี แต่ทำลืม 16 ปีแห่งความหลัง
19 กันยา 2549 เป็นจุดเปลี่ยนจุดวิบัติจุดหักลงเหวครั้งสำคัญของสังคมไทย แต่ละปีที่ผ่านไปยิ่งเห็นชัดเจนเมื่อมองย้อนหลัง ทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่โครงสร้างอำนาจ การต่อสู้ทางความคิด ขุดอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”ที่ปลูกฝังคนมาทั้งชีวิต เพื่อ “เผาบ้านไล่ทักษิณ”
แล้วเป็นไงล่ะ เดิมพันครั้งยิ่งใหญ่ของ “ประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ” ทุกวันนี้แม้อำนาจล้นแต่ก็เหลือแค่อำนาจดิบ
16 ปีแห่งความหลัง มองย้อนไปสรุปบทเรียนไม่ง่าย เพราะไม่มีใครถูกทุกข้อ โดยเฉพาะยุคทักษิณ “UN ไม่ใช่พ่อ” เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้รักสิทธิเสรีภาพ แอมเนสตี้ HRW (ที่สลิ่มเกลียดชังในวันนี้) ภาคประชาชน NGO สื่อ ล้วนวิพากษ์วิจารณ์ “ฆ่าตัดตอน” กรือเซะ ตากใบ การจัดการกับม็อบ รวมไปถึง “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
มองย้อนไป วิจารณ์ถูกไหม ก็ถูกนะ รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้รัฐบาลมีอำนาจมาก มีแนวโน้มเป็นอำนาจนิยม แต่เพราะได้ความนิยมล้นหลามจากเลือกตั้ง 18 ล้านเสียง ส.ส. 377 คน ถ้าเทียบกับยุคนี้ รัฐบาลจาก 250 ส.ว. เหิมเกริมกว่าหลายเท่า
19 กันยา ผมอยู่ตรงไหน ตอบได้ชัดถ้อยชัดคำว่าก่อนนั้นก็อยู่ฝ่ายไล่ทักษิณ แม้ปี 44 เลือกไทยรักไทย ชื่นชม ปกป้อง ไฟต์แทน นโยบาย 30 บาท สนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน ที่ให้ประชาชนจัดการกันเอง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจ ตั้งแต่ทุบม็อบจะนะที่หาดใหญ่ (แม้รู้ว่าม็อบผิดข้อตกลง) หรือหินกรูด บ่อนอก ที่ท้ายสุด เจริญ วัดอักษร ถูกยิงตาย และเศร้าใจสุดๆ ที่ทนายสมชายถูกอุ้มหาย ความต้องการถ่วงคานอำนาจ ทำให้เลือกตั้ง 48 ทำคะแนนตกน้ำ เพราะเลือกพรรคซินตึ๊ง (สารภาพอย่างอายๆ)
บรรยากาศปลายปี 48 ต้นปี 49 นั้นพูดได้ว่า นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อ NGO พร้อมเพรียงกัน “ไล่ทักษิณ” แบบขุดเว็บประชาไท น่าจะยังเห็นรวมแถลงการณ์ภาคประชาชนไล่ทักษิณล้นหลาม มากกว่าไล่ประยุทธ์วันนี้ 2 เท่า (ที่น้อยกว่าเพราะวันนี้ภาคประชาชนตายแล้ว)
ไล่ทักษิณ ณ วันนั้นยังอยู่ในครรลองประชาธิปไตย ไล่รัฐบาล ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ไม่มีอะไรผิด แต่พอทักษิณยุบสภา ฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง พันธมิตร-นักวิชาการ เรียกหา “มาตรา 7” ตามมาด้วยตุลาการภิวัตน์ นั่นแหละจุดวิบัติ คนที่ตระหนักหลักการประชาธิปไตย แยกทางกับพันธมิตรกันมากมาย
อันที่จริง ก่อนนั้นก็มีกลิ่นไม่ชอบกล เช่นม็อบสวนลุม ปลุกเรื่องทำบุญวัดพระแก้ว ปฏิญญาฟินแลนด์ แต่มีการปรับเปลี่ยน เอา NGO เข้าไปร่วมแกนนำ จัดตั้งพันธมิตรประชาชน ทำให้ดูเหมือนจะดีขึ้น (ที่ไหนได้) พอชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ปม็อบก็ลุกฮือ “ขายชินขายชาติ” ให้ “สิงคโปร์โตก”
ใช้ภาษาสมัยนี้คือผมร้อง “อิหยังวะ” ทำไมขายดีแทคได้ ไม่ขายชาติ ไม่เสียภาษี ทำไมขายชินคอร์ปไม่ได้ ขายชาติ ต้องเสียภาษี
ผมแอนตี้รัฐบาลยุคนั้นด้วยทัศนะเสรีชน ไม่ใช่ชาตินิยมไม่เอาการปลุกเรื่องสถาบัน เพราะทำให้เราเจ็บปวดมาแล้วเมื่อ 6 ตุลา ไม่เอามาตรา 7 เพราะไม่ควรดึงสถาบันลงมาในความแตกแยก
เอานะ มีเลือกตั้ง ก็ดันบอยคอต อุตส่าห์ Vote No ก็ยังล้มเลือกตั้ง ผนึก 3 ศาลไล่บี้ กกต.ให้ลาออก “3 หนา” ไม่ยอมออก ก็โดนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก ไม่ได้ประกันต้องลาออกก่อนจึงได้ประกัน
รู้ว่าไม่ถูกต้องแต่น้ำท่วมปาก ทั้งอำนาจศาล ทั้งกระแสสังคม ยุคนั้นสมัยนั้นใครเห็นต่างคือพวกทักษิณ รับเงินทักษิณ เอาวะ ตั้ง กกต.ชุดใหม่ จะเลือกตั้งใหม่แล้ว
ที่ไหนได้ พันธมิตรนัดชุมนุม แล้วปั่นกระแสรัฐบาลจะจัดกำลังมาชนม็อบ ปุบปับ บิ๊กบังรัฐประหาร
19 กันยา ผมปิดต้นฉบับกลับบ้าน โดยลงภาพชามก๋วยเตี๋ยว เพราะก่อนหน้านั้นเขียนไว้ว่า ถ้าเกิดรัฐประหารจะไปเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า (หมดศรัทธากับสื่อยุคนั้นซึ่งคลั่งกันหมดเกือบทุกสำนัก)
หลังจากนั้น คือความวิบัติของสถาบันสื่อ สถาบันนักวิชาการ ภาคประชาชน ที่เคยเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ต่อมาก็ลามไปถึงความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม
19 กันยาไม่ใช่แค่การใช้ปืนปล้นอำนาจทักษิณ แต่กระบวนการปูทางไปสู่รัฐประหาร สร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร มันทำลายหลักการเหตุผลที่เคยยึดถือในสังคมไทยลงโดยสิ้นเชิง
“เผาบ้านไล่ทักษิณ” เอาเข้าจริงคือองค์กรสถาบันที่ สร้างความเชื่อถือมายาวนาน พากันเผาตัวเอง
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_7269066
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar