มองบนมองล่าง ตั้งแต่คดีโรงพักร้างถึงคดีแตงโม เราเห็นอะไร
เห็นความไม่เชื่อมั่นไม่เชื่อถือต่อระบบกฎหมาย ต่อความยุติธรรม ตั้งแต่คดีสำคัญทางการเมือง จนกระทั่งคดีดาราดราม่า ที่คนติดตามกันทุกบ้าน
โรงพักร้าง 396 แห่ง รัฐเสียหาย 5 พันกว่าล้าน ไม่เจอคนทุจริต ไม่มีคนติดคุก เป็นไปได้ไง แต่เป็นไปแล้ว ขณะที่ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุก 16 เดือนไม่รอลงอาญา ค
คดีโรงพักร้างเป็นไปได้ว่า ป.ป.ช. สำนวนอ่อน ขนาดอัยการไม่สั่งฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยต่อความเสียหาย (ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ไม่ยักตามสอบเรื่องฮั้วประมูลที่ DSI ทำไว้) คนอดเปรียบเทียบไม่ได้ กับยิ่งลักษณ์ คุก 5 ปี ฐานปล่อยปละละเลยคดีทุจริตระบายข้าว
เสียบบัตรแทนกัน ผิดแหง แต่ร้ายแรงแค่ไหน เพราะไม่ได้เปลี่ยนเจตนาเจ้าของบัตรไม่เปลี่ยนผลโหวต น่าจะเหมือนแค่นักเรียนผิดวินัย นั่นคือประเด็นถกเถียงกัน
ความไม่เชื่อมั่นยุติธรรมที่ทับถม จะมีผลรุนแรงต่อการเมืองที่กำลังจะเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาพิเรนทร์ 180 วันอันตราย ส.ส. พรรคการเมือง ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ ช่วยงานศพงานแต่งไม่ได้ แต่รัฐมนตรีเอางบประมาณลงพื้นที่ได้ โฆษณาผลงานได้
ความไม่เชื่อมั่นไม่เชื่อถือ กกต. จะส่งผลร้ายต่อการเลือกตั้งที่หวังว่าจะแก้ปัญหาประเทศ แก้ปัญหาการเมืองเศรษฐกิจ เพราะ กกต.มีอำนาจจับผิด จนเปลี่ยนผลการเลือกตั้งของประชาชนได้ ตั้งแต่แจกใบเหลืองใบแดง ด้วยเรื่องมโนสาเร่ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ผิด ไปจนส่งศาลยุบพรรคตัดสิทธิ ทำให้ ส.ส.หายหลายสิบคน อย่างยุบพรรคอนาคตใหม่จนเปลี่ยนเสียงคู่คี่สูสีระหว่างฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล
เรื่องตลกทั้งทางกฎหมาย ทางจริยธรรม คือองค์กรอิสระเอาเป็นเอาตายกับ ส.ส. พรรคการเมือง ตั้งมาตรฐานสะอาดบริสุทธิ์ แต่ไปยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งทุกคนยอมรับว่าหาเสียงแบบใหม่ ทำการเมืองใหม่ ไม่ใช้เงินไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ ยุบแล้วเกิด การดูด ส.ส. ดูดด้วยอะไรก็รู้กัน
การเลือกตั้ง 62 กกต.ตกต่ำย่ำแย่ เพราะบริหารไม่เป็น เลือกตั้งล่วงหน้าเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นับคะแนน สับสนไปหมดจนโดนมองว่าโกง โดนเข้าชื่อไล่ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ Change.org ประเทศไทย เลยไม่กล้าแจกใบเหลืองใบแดง แต่ครั้งหน้าเป็นไปได้ว่า กกต.จะสวมบทศักดิ์สิทธิ์ เคร่งครัด เหมือนทำกับเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ผลเลือกตั้งวิบัติกันไปใหญ่
กติกาการเมืองตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งขึ้นบนความเชื่อของคนชั้นกลางในเมือง ว่านักการเมืองเลว (แบบยี้ห้อยร้อยยี่สิบ) ต้องเขียนกฎหมายยาแรง ให้อำนาจองค์กรเทวดา เช่น กกต. 5 คน 7 คน แจกใบเหลืองใบแดง เปลี่ยนผลเลือกตั้งจากคะแนนนิยมของประชาชน ให้อำนาจ ป.ป.ช.กล่าวหานักการเมือง ส่งฟ้องศาลฎีกา ชั้นเดียวเบ็ดเสร็จ โดยพลิกระบบยุติธรรม ให้ศาลยึดตาม ป.ป.ช.ว่าจำเลยผิดไว้ก่อน จำเลยต้องแก้ต่างให้ตัวเองพ้นมลทิน ไม่งั้นติดคุก
รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ยิ่งกลายเป็นเครื่องมือของ เครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ที่มุ่งเล่นงานนักการเมือง ส่งคนไป “ล่อซื้อ” กรรรมการบริหารพรรค แจกใบแดง ผิดคนเดียวยุบ ทั้งพรรค เปลี่ยนรัฐบาล จนเกิดการลุกฮือนองเลือด รัฐประหาร 2557 จึงต้องอยู่ยาวและสืบทอดอำนาจ กระทั่งสร้างศัตรูใหม่ คือจากทักษิณเสื้อแดงเพื่อไทย ก็เกิดอนาคตใหม่คนรุ่นใหม่ ทะลุเพดาน
โครงสร้างกลไกเช่นนี้ จะทำให้ประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้ง เพราะองค์กรอิสระทั้ง กกต. ป.ป.ช. มีไว้จ้องจับผิดนักการเมืองจากเลือกตั้ง ด้วยมาตรฐานที่ค้านสายตาประชาชน เช่นถวายเงินพระสองพันแจกใบส้ม แต่ชาวบ้านรู้กันทั้งประเทศว่าซื้อเสียงโจ๋งครึ่มจับไม่ได้ นักการเมืองติดคุก ส่วนใหญ่ไม่ได้เจอเส้นทางการเงิน แต่เอาผิดด้วยการเล่นแง่กฎหมาย เช่นตีความ 157 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พวกเขี้ยวลากก็รอดไป
นักการเมืองชนะเลือกตั้งก็เปลี่ยนโครงสร้างเหล่านี้ ไม่ได้มีแต่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ขณะที่อำนาจรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วตั้ง สนช. กรธ. 250 ส.ว. ส่งคนเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ นี่คือเสาหลักปักรากอยุติธรรม
โครงสร้างที่รัฐประหาร 2 ครั้งวางไว้ แก้ไม่ได้ด้วยการ เลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นเพียงแสดงพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คงถูกขัดขวางทุกวิถีทาง จากรัฐราชการองค์กรอิสระที่ต้องการคุมอำนาจไว้ในมือ
เลือกตั้งไม่พอ ต้องลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกันในวันเลือกตั้ง ซึ่งแม้ยังไม่สามารถแก้ไขทันที ก็มีผลเท่ากับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ “ฉีกรัฐธรรมนูญรัฐประหาร 2560” ให้เป็นเพียงรัฐธรรมนูญที่ใช้ชั่วคราวก่อนยกร่างฉบับประชาชน
เลือกตั้งไม่ใช่เลือกรัฐบาลใหม่แล้วจบ เลือกตั้งคือ การแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนประเทศ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7282225
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar