เปิดปูมโปรยงบฯเอาใจ ขรก. ฝากความหวังประคองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
16 ธ.ค. 2557
ทุกยุคสมัยไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่ "โปรยงบ-เอาใจ" ข้าราชการ ไม่ต่างกัน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ และ "ค่าครองชีพ-หนี้สิน" ที่ปรับตัวสูงขึ้นจนกลายเป็น "เงาตามตัว"
ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มอบ "ของขวัญปีใหม่" เป็นการส่งความสุขให้กับข้าราชการอย่างถ้วนหน้า จำนวนเกือบ 2 ล้านคน โดยใช้งบฯก้อนโต จำนวน 22,900 ล้านบาท
โดยการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การปรับบัญชีเงินเดือนและการแก้ไขกฎหมาย ขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของทุกระดับหรือทุกอันดับของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น 3 ขั้น สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบขั้น หรือประมาณร้อยละ 10 สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง
2. การปรับเงินเดือนข้าราชการ ให้ข้าราชการได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้นหรือร้อยละ 4 ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง
นอกจากนี้ ยังปรับเงินเดือนให้ข้าราชการเพิ่มอีก 6 ประเภท ได้แก่ 1. ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน 2.ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ น.3 ลงมา 3.ข้าราชการตำรวจ ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ ส.3 ลงมา
4.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่อันดับ คศ.2 ลงมา 5.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการซึ่งรับเงินเดือนตำแหน่งอาจารย์ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน และ 6.ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน
และ 3. การได้รับเงินเดือนกรณีข้าราชการได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง ให้ข้าราชการผู้ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง (เงินเดือนตัน) และได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึง ขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำค่าตอบแทนพิเศษตามผลการประเมินในรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2557 มารวมเป็นเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ในกรณีที่อัตราค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวรวมกับเงินเดือนแล้วมีเศษไม่ถึงสิบบาท ให้ปัดเป็นสิบบาท
เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เผชิญทั้งมรสุมเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะชะงักงัน-มรสุมการเมือง ที่จำศีลเพราะกฎอัยการศึก ดังนั้น ข้าราชการจึงเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนประเทศในภาวะที่ไม่ปกติ
อย่างไรก็ ดีนับตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึง "รัฐบาลน้องสาว"- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม "5 นายกฯ" มีการปรับเงินเดือนมาแล้วหลายวาระท่ามกลางบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป
เริ่มตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีการปรับเงินเดือน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2547 เป็นการออกพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งเป็นการปรับจากพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เป็นการปรับเงินเดือนของข้าราชการเข้าสู่โครงสร้างบัญชีเงินเดือนใหม่จากของเดิมปี 2538 โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตราสําหรับข้าราชการทุกประเภท
ต่อมาครั้งที่ 2 เป็นการปรับเพิ่มเงินของระดับตําแหน่งในแต่ละประเภท ออกตามพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 โดยให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนปี 2547 โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 5 เท่ากันทุกอัตราสำหรับข้าราชการทุกประเภท
การปรับขึ้นเงินเดือนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งที่ 2 ก็เพื่อการประคองรัฐนาวาที่อยู่ในช่วง "ขาลง" จากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อเหลือง-กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกยึดอำนาจในที่สุด
การปรับเงินเดือนครั้งถัดมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใน "รัฐบาลขิงแก่"-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยการพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 4 เท่ากันทุกอัตรา ซึ่งเป็นการขึ้นเงินเดือนในช่วงบ้านเมืองปกครองภายใต้สถานการณ์พิเศษ
ครั้งถัดมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ถือเป็นการปรับบัญชีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยมีการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงตาม
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยเปลี่ยนจากระบบ "ซี" เป็นระบบใหม่โดยให้พิจารณาตามผลงาน โดยมีการปรับขึ้นร้อยละ 5 เท่ากันทุกประเภท
มาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2554 มีการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการอีกครั้ง ตามพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 โดยเป็นการขึ้นเงินเดือนราชการในช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เตรียมที่จะยุบสภา เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งหน้า
ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการ "ปลอบใจข้าราชการ" เป็น "โบนัสประจำปี"ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นงบประมาณเหลือจ่ายในปีที่ผ่านๆ ในการให้โบนัสประจำปี 2554 และมีมติให้แนวทางในการจัดสรรไว้ในงบกลางมาเป็นเงินโบนัสประจำปีต่อๆ ไป หลังจากที่ไม่สามารถขึ้นเงินเดือนข้าราชการได้ 15,000 บาทได้ตามที่หาเสียงเลือกตั้งไว้ได้
การขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งเป็นการขึ้นเงินเดือนท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจทั้งใน-ต่างประเทศกำลังย่ำแย่ แน่นอนว่าคงต้องเกิดความ "น้อยเนื้อต่ำใจ" จากทั้งเกษตรกร-คนหาเช้ากินค่ำ ว่าเอาใจแต่ข้าราชการ-เป็นการเอาใจที่ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่
เพราะถึงแม้ว่าข้าราชการจะเป็น "ฟันเฟือง" หลักในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่าลืมว่าธรรมชาติของราชการ ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกกระตุ้นที่ไม่ใช่เงินเดือนขับเคลื่อนการทำงาน-ผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่ออกตัวช้าในขณะนี้ ก็คงไม่สามารถฟันฝ่ามรสุมรอบทิศไปได้ดั่งใจหวัง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar