วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนอันเฉียบคม เปี่ยมด้วยสาระของ "แม่ลูกจันทร์" ที่เขียนด้วยสำนวนแดกดันเชิงวิเคราะห์ตามสไตล์ว่า...
"นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.คนดัง ออกมาเปิดเผยประเด็นร้อนๆ ให้ลวกปากลวกคอตัวเองเล่นแก้เซ็ง
นายสมชัยเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เตรียมยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่มีส่วนทำให้การเลือกตั้งใหญ่ (2 ก.พ.57) ต้องล้มกลางคัน
เพื่อไม่ให้เงินภาษีประชาชนที่ใช้จัดเลือกตั้งสามพันล้านบาทต้องสูญฟรี ฯลฯ แต่...แต่ระวังคดีนี้จะจบแบบหักมุม?
หักมุมให้โจทก์กลายเป็นจำเลย?
..ด้วยเหตุผล..กกต.เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐบาล ถ้า กกต.ไม่ยอมจัดเลือกตั้ง รัฐบาลย่อมไม่สามารถสั่งให้ กกต.จัดเลือกตั้งตามอำเภอใจ แต่ข้อเท็จจริงคือ กกต.มีมติยืนยันจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม และเลือกตั้งก็เสร็จไปแล้ว 85 เปอร์เซ็นต์
โดยมีผู้ไปใช้สิทธิกว่า 20 ล้าน แสดงว่าการเลือกตั้ง 20 ก.พ.57 อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต.เต็มเปา อีกทั้ง กกต.รู้ล่วงหน้าว่าจะมีม็อบไปขัดขวาง แต่กลับไม่ขอกำลังทหารตำรวจไปดูแล
นี่จึงเป็นความผิดพลาดบกพร่องของ กกต.เพิ่มอีกกระทง
"แม่ลูกจันทร์" เสริมต่อไปว่า มีหลักฐานเป็นคำแถลงการณ์ของนายศุภชัย สมเจริญ ปธ.กกต. ขอบคุณประชาชนที่ไปเลือกตั้ง (2 ก.พ.57) ซึ่งมีผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนน 89.813 หน่วย หรือคิดเป็น 89.2 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
แถม กกต.ยังเบิกงบเลือกตั้งไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ถามว่านายสมชัยควรฟ้องเรียกค่าเสียหายจากใคร?
ตอบว่านายสมชัยต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากตัวเอง?
เพราะว่านายสมชัยเป็น กกต.ฝ่ายจัดเลือกตั้งโดยตรง
การนี้ส่งผลให้นักกฎหมายมึนเป็นไก่ตาแตก และเกิดประเด็นปัญหาต่อไปว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสมชัยเป็น กกต.ฝ่ายจัดเลือกตั้งโดยตรง มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดแจ้ง ดังนี้...
ทำให้ผู้คนในสังคมพากันอยากถามฝ่ายอัยการผู้เป็นทนายแผ่นดินว่า แท้จริงแล้วนายสมชัยและคณะ กกต.จะมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 หรือไม่?บางคนเห็นว่ากรณีเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย น่าจะเป็นหน้าที่ของศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดหากเกิดเป็นคดีขึ้นมา
ทว่าหากมองในแง่มุมของ "หลักกฎหมาย" ผู้เขียนเห็นว่าสมควรนำเอาแนวฎีกาเก่ามาศึกษาเทียบเคียงประกอบการพิจารณาในเชิงวิชาการ เพื่อเป็นความรู้และอาจตอบโจทย์ข้อสงสัยในบางประเด็น ของผู้คนในสังคมดังกล่าวข้างต้น
อาทิ ฎีกาที่ 3215/2538 "แม้จำเลยเป็นปลัดอำเภอ ไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับมอบงานเพราะมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับการจ้าง แต่เมื่อนายอำเภอได้แต่งตั้งให้จำเลยทำการตรวจผลงานดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ต้องตรวจสอบผลงานตามที่ได้รับมอบหมาย แล้วรายงานให้นายอำเภอทราบ การที่จำเลยทำรายงานเท็จจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้นายอำเภอได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ.157" และ
ตัวอย่างฎีกาที่ 999/2527 "จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ในกรณีที่มีผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แม้ในที่รโหฐาน จำเลยก็มีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีทั้งหมายจับและหมายค้น ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปในห้องเล่นการพนัน พบผู้เล่นการพนันเอาทรัพย์สินแล้วไม่ทำการจับกุม ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการกรมตำรวจ ผิดตาม 157"
อย่างไรก็ตาม นัยยะสำคัญของมาตรา 157 ใน ป.อาญาดังกล่าว ผู้กระทำผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานแล้วยังต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นเองโดยตรงอีกด้วย ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้น ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 นี้
การจะเข้าองค์ประกอบความผิดมาตรานี้ ต้องแบ่งองค์ประกอบออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรกต้องเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และกรณีที่สองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และที่สำคัญองค์ประกอบของการเป็นเจ้าพนักงานนั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายทั่วไปให้เป็นเจ้าพนักงาน
ดังนั้น ข้อคิดเห็นของแม่ลูกจันทร์ที่เขียนเตือนว่า "ระวังคดีนี้จะจบแบบหักมุม" จึงแหลมคมและมีนัยยะอันจักต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตาดู ว่าในที่สุดใครจะเป็นผู้รับผิดชอบที่ผลาญเงินภาษีของประชาชนสามพันล้านแต่...ที่แน่ๆ คือ...การใช้กลยุทธ์ "ขี้ราดโทษร่อง" คงไม่ประสบผล
สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า "ทุกอย่างในเรื่องการประพฤติปฏิบัติได้สอนไว้แล้ว แต่ปวงเราทั้งหลายยังไม่ได้ปฏิบัติกัน หรือไม่ก็ปฏิบัติแต่ปากเท่านั้น หลักของพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่การจะมาพูดกันเฉยๆ หรือการคิดเอาเอง สิ่งที่แท้จริงคือความรู้เท่าความจริงนั่นเอง ถ้ารู้เท่าตามความเป็นจริงนี้แล้ว การสอนก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่รู้ถึงความเป็นจริงอันนี้ แม้จะฟังคำสอนเท่าใดก็เหมือนกับไม่ได้ฟัง
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ เราสมมุติขึ้นมาเองทั้งสิ้น มันเป็นทิฐิ มันเป็นมานะ" (จาก "สมบัติธรรม" ของ ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์)
ท้ายสุดแล้ว...งานนี้ "จะหักมุมตอนจบ" สะใจคอการเมืองตามบทวิเคราะห์ของ "แม่ลูกจันทร์" หรือไม่?กาลเวลาเท่านั้นจะทำหน้าที่พิสูจน์ความจริง!
ไพรัช วรปาณิ
เนติบัณฑิตไทย
(ที่มา:มติชนรายวัน 29 ธันวาคม 2557)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar