24 ธ.ค.2557 ประชาไทรายงานว่า หลังจากวันนี้ได้ปรากฏจดหมายที่จ่าหน้าซองส่งถึง ‘เว็บไซต์ประชาไทออนไลน์’ โดยผู้เขียนระบุชื่อของตนเอง อ้างเพียงว่าเป็น ‘หนึ่งในสมาชิกแห่งคณะนิติราษฏร์’ พร้อมระบุว่าเป็นนักวิชาการคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกความยาว 6 หน้ากระดาษ A4 ถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของ พล.อ.เปรม ในฐานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พร้อมทั้งพิจารณาตนเองถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฏร์ โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Sawatree Suksri’ ชี้แจงว่าคณะนิติราษฏร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจดหมายดังกล่าว
สาวตรี ระบุว่า ขณะนี้มีการแอบอ้างชื่อนิติราษฎร์ ส่งหนังสือไปยังองค์กรต่างๆ โดยไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ขอผู้จัดทำ โดยส่วนตัว และกลุ่มเอง ยังไม่มีใครได้อ่านฉบับเต็ม ได้เห็นแค่เนื้อหาบางส่วน ซึ่งส่งมาจากมิตรสหายท่านหนึ่ง
“แม้พวกเรานิติราษฎร์จะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเหมือนกัน เกลียดวิธีการยึดอำนาจเหมือนกัน เกลียดอะไรต่อมิอะไรที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยเหมือนกัน เหมือนกับ ใครบางคน ที่เป็นเจ้าของจดหมายฉบับนี้ แต่สิ่งที่เรานิติราษฎร์รังเกียจเช่นกัน และจะไม่มีวันทำเด็ดขาด คือ การแอบอ้างชื่อคนอื่น ทำอะไรในนามของคนอื่น เพราะ วิถีแบบนี้ นอกจากจะไม่เคารพ หรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นเขาแล้ว ยังเป็นวิถีอันขลาดเขลา และไม่เคารพตัวเอง หรือไม่เชื่อมั่นในความคิดของตัวท่านเองด้วย” สาวตรี กล่าว
เช่นเดียวกับ ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฏร์ ซึ่งได้โพสต์ภาพตัวอย่างจดหมายดังกล่าว พร้อมชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ธีระ สุธีวรางกูร’ ระบุด้วว่า ตอนนี้ มีผู้แอบอ้างว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ ส่งจดหมายให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของประธานองคมนตรี
“ผมขอเรียนสั้นๆ เพียงว่า จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ออกโดยสมาชิกนิติราษฎร์ และพวกเราทุกคน ก็ไม่มีใครเคยทำหรือเคยคิดที่จะทำจดหมายแบบนี้ครับ” ธีระ กล่าว
สำหรับจดหมายที่มีผู้แอบอ้างชื่อคณะนิติราษฏร์ดังกล่าว นอกจากกล่าวถึงปัญหาของการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ประเด็นหลักที่เขียนในจดหมายคือการเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม พิจารณาความเหมาะสมของตัวเองในการดำรงตำแหน่งประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ โดยให้เหตุผล 7 ประการด้วยกัน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar