tisdag 9 juli 2019

เกร็ดความรู้ "ระบอบ ปชต.อันมีกษัตริย์รีโมทคอนโทรลเป็นประมุข" (updated )



ในหลวงวชิราลงกรณ์ ("พระบรมฯ") กับประชาธิปไตย
แก่นหรือหัวใจของประชาธิปไตยคือ ประชาชน (สาธารณะ, สังคม) สามารถควบคุม ตรวจสอบ เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ และกำหนดทิศทางของรัฐและบุคคลากรผู้มีอำนาจรัฐได้
ปัญหาอำนาจทางการเมือง-กฎหมาย และทางวัฒนธรรม ของสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหาใจกลางของประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอด ก็เพราะอำนาจทุกด้านดังกล่าว เป็นสุดยอดสมบูรณ์ ของการ #ไม่สามารถ ควบคุม ตรวจสอบ เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะได้เลย

องค์กรอำนาจรัฐส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ ข้าราชการประจำ ฯลฯ ที่มีอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ได้ ล้วนแต่อิงหรือขึ้นต่อ การมีสถานะที่ไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ของสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น
อันที่จริง แม้แต่นักการเมือง ก็ได้ประโยชน์จากสถานะควบคุม ตรวจสอบ เอาผิดไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ดังกล่าว
ประเด็นที่ "คนรักเจ้า-เกลียดนักการเมือง" ไม่เคยเข้าใจเลยคือ ถ้าไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด สถาบันกษัตริย์และส่วนอื่นๆของอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯได้ ก็ไม่มีทางจะตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด นักการเมืองได้เช่นกัน เพราะประชาชนที่สนับสนุนนักการเมืองไม่มีวันยอมให้มีการเอาผิด ตรวจสอบ ควบคุม ฝ่ายเดียว

(แม้แต่ข้ออ้างเรื่อง "กษัตริย์ทำงานหนัก" และ "ความจงรักภักดีของประชาชน" ถ้าไม่ผ่านให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์แบบเดียวกับที่ทำได้กับนักการเมือง แต่ใช้วิธีโปรแกรมฝังหัวทั้งทางระบบการศึกษาและทางสังคมวงกว้างอื่นๆ ก็ไม่มีทางจะอ้างได้ว่า เป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมและสามารถทำให้ได้รับการยอมรับโดยแท้จริงทั้งสังคมได้)

วิกฤติไทยสิบปีที่ผ่านมา รวมศูนย์ใจกลางอยู่ที่ปัญหานี้
พูดแบบง่ายๆคือ คุณไม่มีทางเอาผิดชินวัตรโดยปกติสงบสุขได้ ถ้าคุณไม่ยอมให้มีการเอาผิดสถาบันกษัตริย์และกองทัพ ฯลฯ การพยายามดันทุรังเอาผิดฝ่ายเดียว ยกสถานะฝ่ายเดียวให้อยู่นอกเหนือการควบคุมตรวจสอบเอาผิด ("สองมาตรฐาน") ก็นำไปสู่ทางตัน ความไม่สงบสุขอย่างยืดเยื้อที่เห็นกัน
ทีนี้ มาถึงกรณีพระบรมฯหรือ "ในหลวงวชิราลงกรณ์" กษัตริย์องค์ใหม่

มีแนวโน้มหรือสัญญาณอะไรที่ส่อให้เห็นว่ากษัตริย์องค์ใหม่จะเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันฯ ให้ไปในทางที่ตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ได้?
ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าเป็นศูนย์เลย หรือติดลบด้วยซ้ำ

เอาง่ายๆ พระบรมฯมีแนวโน้มจะเปิดให้มีการควบคุมตรวจสอบเอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ การใช้จ่ายเงินสาธารณะจำนวนมหาศาลเพื่อซัพพอร์ตหรือสนับสนุน "ไลฟ์สไตล์" ของพระองค์ในหลายปีที่ผ่านมาหรือ? หรือให้ตรวจสอบกรณีการกวาดล้างบุคคลใกล้ชิดเช่นกรณีหมอหยอง (ที่มีคนตาย 3 ศพในระหว่างการคุมตัว) หรือ? ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างรูปธรรม"เล็กๆ" ความจริง ยิ่งถ้าพูดไปให้ไกลถึงเรื่องสำนักงานทรัพย์สิน เรื่องกฎหมาย 112 เรื่องการยกเลิกการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสถาบันฯ (ต่อพระราชบิดาที่สิ้นพระชนม์ ซึ่งพระองค์ได้ประโยชน์ และต่อพระองค์เองโดยตรงด้วย) ที่ทำอย่างระดับซึมลึกถึงอนุบาล ฯลฯ ยิ่งไม่มีวี่แววเลยแม้แต่น้อย (ติดลบด้วยซ้ำเช่นกัน)

กระแส "เชียร์พระบรมฯ" ที่เกิดขึ้นในหมู่คนที่คิดว่ากำลังต้องการต่อสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" จึงเป็นอะไรที่ถ้าไม่ชวนให้เศร้า ก็ชวนให้ตลก และเป็นเพียงภาพสะท้อนว่า ความเข้าใจเรื่อง อะไรคือ ประชาธิปไตย ของพวกเขา มีข้อจำกัดอย่างมาก

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสมมุติว่าประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์ที่ผ่านการปฏิรูป สมมุติว่าวันที่ประยุทธ์ประกาศรัฐประหาร กษัตริย์ไทยออกมาประกาศปฏิเสธการรัฐประหารนั้น
บทความของ The Economist (https://goo.gl/QQjK72) เรื่อง "ถ้าสมมุติประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์ที่ผ่านการปฏิรูป : ประเทศไทยเปลี่ยนตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง" (If Thailand had a reformed monarchy: Turning itself into a proper democracy) หัวรอง "ผลตอบแทน - รวมทั้งต่อสถาบันกษัตริย์เองในระยะยาว - จะมหาศาลมาก" (The benefits - including, in the long run, for the monarchy itself would be huge)
ได้ลองบรรยายสร้างเรื่องหรือซีนาริโอสมมุติขึ้น โดยสมมุติว่าวันที่ประยุทธ์กับพวกออกทีวีประกาศยึออำนาจ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้เกิดขึ้น คือ กษัตริย์ไทยออกทีวีมาประกาศว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องการการปกป้องจากกองทัพในลักษณะนี้ และในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ายึดมั่นต่อประชาธิปไตยและสิทธิของประชาชน
หลังจากนั้น The Economist ก็บรรยายต่อถึงเรื่องสมมุตินี้ว่า เกิดอะไรตามมา - รัฐประหารล้มเหลว ประยุทธ์กับพวกถูกนำตัวเข้าคุก, สื่อต่างๆมีปฏิกิริยาอย่างไร (เขายกตัวอย่าง เดอะเนชั่น กับ มติชน) วงการทูต มีท่าทีอย่างไร, มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินฯถูกเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบ* และการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ในที่สุดนำไปสู่การทบทวนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ ปัญหา "ความเป็นไทย" ได้รับการทบทวน ประวัติศาสตร์ที่เคยได้รับการสอนกันมาถูกเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
ก็ลองกันอ่านดูนะครับ (ขออภัยผมไม่มีเวลาแปลโดยละเอียดกว่านี้) ประเด็นสำคัญจริงๆของเรื่องสมมุตินี้อยู่ตอนท้าย ที่ว่า ณ ปัจจุบัน ฉากสมมุติที่ว่านี้ ดูเหมือนจะยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้นกว่าช่วงไหนๆในประวัติศาสตร์ เพราะกษัตริย์วชิราลงกรณ์ยิ่งดูเหมือนสนใจจะเพิ่มอำนาจตัวเองมากขึ้น แทนที่จะลดลง แต่ The Economist เสนอว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นทุกวันนี้ เป็นผลผลิตของยุคสงครามเย็นที่พ้นสมัยไปแล้ว ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สถาบันกษัตริย์จะ "ซอฟต์แลนดิ้ง" หรือ "ฮาร์ดแลนดิ้ง" คือยังไงก็ต้องเปลี่ยนจนได้ จะรักษาไว้แบบนี้ไปตลอดไม่ได้ อยู่แค่ว่า จะลงเอยแบบ "ฮาร์ด" หรือ "ซอฟต์" เท่านั้น
หลังรัฐประหารผมเองเขียนทำนองว่า "อนาคตของสถาบันกษัตริย์มีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ ไม่เปลี่ยนป็นแบบอังกฤษ-ยุโรป ก็ล้มไปเลย เป็นรีพับบลิค ไม่มีทางเลือกที่สาม คือรักษาแบบปัจจุบันไปไม่มีที่สิ้นสุด" (ซึ่งคุณฟูลเลอร์แห่ง นิวยอร์ค ไทมส์ เคยเอาไปโค้ต)

กรณีวชิราลงกรณ์นั้น ตั้งแต่เดือนแรกๆหลังจากผมมาปารีส มีเพื่อนคนไทยคนหนึ่ง เคยถามว่า เป็นไปได้ไหมที่วันดีคืนดี เขาจะออกมาประกาศว่า ต่อไปนี้ ไม่เอาสถานะสถาบันกษัตริย์แบบเดิมแล้ว ฯลฯ (ตอนนั้น ในหลวงภูมิพลยังมีชีวิต แต่เห็นได้ชัดว่าคงอีกไม่นานก็ต้องเปลี่ยนรัชกาล) ผมก็ตอบทำนองว่า ความจริง "โดยทางทฤษฎีสมมุติ" ก็พูดได้ว่า เป็นไปได้ที่กษัตริย์ใหม่จะออกมาทำแบบนั้น (วันดีคืนดี ออกมาประกาศทางทีวีว่า ต่อไปนี้ จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ฯลฯ) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เขาก็จะทำประโยชน์มหาศาลทางประวัติศาสตร์ต่อประเทศไทย และสถานะของเขาก็จะกลายเป็นฮีโร่ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครลบล้างได้ ... แต่โอกาสเป็นเช่นนั้น คงยากมาก เพราะวชิราลงกรณ์ทั้งไม่ฉลาดพอ มองการณ์ไกลไม่พอ และไม่กล้าหาญพอ .. จนทุกวันนี้ บางครั้งที่มีการคุยเรื่องนี้กันในหมู่คนไทยที่นี่ ผมก็ยังคิดแบบนี้
..............
* ไหนๆพูดเรื่อง สนง.ทรัพย์สินฯ ในซีนาริโอสมมุติของ The Economist ผมเลยขอถือโอกาสบอกข่าวหนึ่งให้ฟัง เมื่อสัปดาห์ก่อน มีการพูดในหมู่นักข่าวที่ทำข่าวสภาว่า กษัตริย์ใหม่ได้ส่ง พรบ.ว่าด้วยทรัพย์สินฯฉบับใหม่ เข้าไปพิจารณาลับใน สนช. ผมเช็ควาระการประชุม สนช.วันนั้นแล้ว ไม่มีวาระที่ว่าอยู่ แต่แวดวงนักข่าว เขาบอกมาเช่นนั้นจริงๆ
เรื่องกษัตริย์ส่งกฎหมายเข้าไปเป็นวาระพิเศษ แล้ว สนช.พิจารณาผ่านโดยการประชุมลับ เป็นไปได้ (เหมือนคราว พรบ.ราชการในพระองค์) เพียงแต่ว่าครั้งนี้ จะจริงหรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้ ถ้าจริง อีกไม่นาน ก็คงมีการประกาศออกมาทางราชกิจจาฯ (ล่าสุด ผมเพิ่งเช็ค ยังไม่มี)
ถ้ามีการเปลี่ยน พรบ.ทรัพย์สินกษัตริย์ ก็นับว่าสำคัญและน่าสนใจมาก พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ที่ใช้กันทุกวันนี้น่าจะเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์หลัง 2475 ที่ไม่เคยมีการแตะต้องหรือแก้ไขเลย (กฎหมายอย่าง อัยการศึก แม้จะออกตั้งแต่ก่อน 2475 แต่มีการแก้ไข)
ก็คอยติดตามกันดูว่า เรื่องนี้จะเป็นเพียงเรื่องลือ หรือจะกลายมาเป็นจริง โดยส่วนตัว ผมยัง 50-50 เพราะนึกไม่ออกว่า กษัตริย์ใหม่ยังจะมีอะไรที่ต้องการให้แก้ พรบ.ทรัพย์สินฯอีก เพราะเท่าที่เป็นอยู่ กฎหมายดังกล่าวก็ให้อำนาจในการควบคุมทรัพย์สินฯ ในมือกษัตริย์อย่างเต็มที่อยู่แล้ว

No photo description available.


ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า จะแทนที่ระบอบ คสช หรือการเมืองแบบกษัตริย์นิยม-ทหารนิยม ด้วยอะไร? - "การเมืองแบบทักษิณ"?
ผู้ที่เรียกกันว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" คงตอบทำนองว่า ก็แทนที่ด้วย "ประชาธิปไตย"
แต่ "ประชาธิปไตย" ในหมู่คนที่คัดค้านรัฐประหาร คัดค้านระบอบ คสช มีความแตกต่างกันไม่น้อย และจริงๆแล้วก็เป็นอะไรที่นามธรรมเกินไป ปัญหายังอยู่ที่ว่าในทางรูปธรรม "ประชาธิปไตย" ที่ต้องการให้มาแทนที่ มีลักษณะหรือความหมายอย่างไรบ้าง?
หลายคนคงตอบเพิ่มเติมว่า ก็ให้มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลเลือกตั้งมีอำนาจนำ
แต่อันนี้ ก็มีปัญหาต่อว่า - ยังไง? เหมือนก่อน 2549 ใช่หรือไม่? พูดอีกอย่างคือ เหมือนสมัยยุคทักษิณ นันคือแทนที่ด้วยการเมืองแบบสมัยทักษิณ?
แต่การเมืองแบบก่อน 2549 หรือ "การเมืองแบบทักษิณ" (ผมจงใจหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" แต่ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า การเมืองช่วงนั้น มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่กำลังจะกล่าว ที่มีคาแร็กเตอร์สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับทักษิณ-ไทยรักไทย จริง)
มีลักษณะบางอย่างที่ควรตั้งคำถามว่า สมควรกลับไปจริงหรือ?
"การเมืองแบบทักษิณ-ไทยรักไทย ก่อน 2549" (ที่แม้แต่ช่วงยิ่งลักษณ์หรือปัจจุบัน ก็ยังมีลักษณะดังกล่าวบางอย่างอยู่) เป็นการเมืองแบบที่ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมกลไกต่างๆได้ในระดับที่การถ่วงดุลย์-ตรวจสอบ ไม่อาจมีประสิทธิภาพอะไร (ทีสำคัญคือคุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง ... แม้แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง) ผลคือ ในทีสุด เมื่อระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ ตามระบบมีปัญหา ฝ่ายที่ต่อต้านเลย "จุดชนวน" หรือ "เปิดสวิช" activate ให้กลไกส่วนอื่นๆ ออกมาทำการ "ควบคุม" หรือจริงๆคือ "ล้ม" เลย
(อันนี้ ยังไม่พูดถึงว่า เอาเข้าจริง การเมืองแบบทักษิณก่อน 2549 ไม่ได้แตะต้องหมวดกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ไม่แตะต้อง 112 ไม่แตะต้องเรื่องทรัพย์สินฯ เป็นต้น ไม่ได้แตะต้องบรรดาระบบการอบรมเรื่องสถาบันฯ ฯลฯ)
ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารใหญ่ทีสุด คือ พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ยังคงตั้งเป้าหมายอยู่ที่การแทนที่ระบอบ คสช ด้วย "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" (เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนลงไป ที่ไม่สามารถอภิปรายละเอียดในที่นี้ คือในหมู่ผู้สนับสนุน ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง นั้น มีส่วนที่เพียงต้องการกลับไปที่ "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" ที่ไม่แตะเรื่องสถาบันฯ - ที่ผมเขียนในวงเล็บย่อหน้าก่อน - กับพวกทีเรียกว่า "เปลี่ยนระบอบ" คือต้องการให้จัดการเรื่องสถาบันฯด้วย #แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วม #ตรงที่ยังไงก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเสนออะไรที่ไกลเกินกว่าการเมืองแบบทักษิณ คือการเมืองที่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล คือพรรคทักษิณ ยังอยู่ในการควบคุมของทักษิณ-ครอบครัว ในลักษณะที่ผมเรียกว่า "บริษัทชินวัตรการเมืองจำกัด" อยู่ และในระดับกลไกรัฐส่วนกลาง ไม่มีการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ที่มีประสิทธิภาพ)
ในความเห็นผม ที่เคยเข้าไปเถียงกับพวก "ใต้ดิน" หลายครั้งว่า ตราบใดที่พวกเขาและผู้สนับสนุนทักษิณ-เพื่อไทย ("เสื้อแดง") ในวงกว้างออกไป ยังมีเป้าหมายเพียงแค่กลับไปสู่การเมืองแบบทักษิณ (ก) โอกาสที่จะ "ชนะ" เป็นไปได้ยากมากๆ และ (ข) สมมุติว่า เกิด "ชนะ" ขึ้นมาจริงๆ #ก็เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ปล. และถึงจุดนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ฝ่ายต้านระบอบ คสช ที่เรียกกันว่า "เสรีนิยม" หน่อย - คือไม่ใช่ฝ่ายที่เชียร์ทักษิณ-เพื่อไทยโดยตรง - ซึ่งเป็นกำลังรองมากๆในกำลังต่อต้าน คสช มีข้อเสนออะไรชัดเจนว่า ต้องการเอาอะไรมาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเหมือนกัน กลุ่มที่ว่านี้ ซึ่งมีนักวิชาการและแอ๊คติวิสต์ปัญญาชนหลายคน ควรจะสามารถ "ทำการบ้าน" หรือมีข้อเสนอเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้


** "ระบอบ ปชต.อันมีกษัตริย์รีโมทคอนโทรลเป็นประมุข" 9 เดือนครึ่งนี้ วชิราลงกรณ์ใช้เวลาอยู่ในเยอรมัน 4 เดือน 3 สัปดาห์ goo.gl/1NE4V9


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar