อธิบายโต้แย้ง "ทฤษฎี" "เอาเข้ากรุ-ดอง" กรณีตั้งดาว์พงษ์-ธีรชัย-ไพบูลย์ เป็นองคมนตรี: ตั้งไปทำหน้าที่อะไร
ปกติผมไม่อภิปรายโต้แย้งเรื่องที่คุณ "สู้" Chanin Klayklung เขียนความเห็นทางการเมือง เพราะบอกตรงๆว่า ส่วนใหญ่ที่สุด (มากๆประมาณ 99% ของเรื่องการเมืองที่เขาเขียน) เป็นอะไรที่ amature หรือ "มือใหม่-อ่อนหัด" มากๆ หรือไม่ก็ไม่มีสาระอะไร (เรื่องข้าว กับเรื่องแฟนไชส์ก๊่วยเตี๋ยวของเขา ผมไม่นับเป็นเรื่องการเมืองนะครับ สองอันนั้น น่าสนใจจริง)
กระทู้นี้ของเขาเรื่องตั้งองคมนตรี (ดูภาพประกอบ) ความจริง ที่ยกมา ก็ไม่เชิงเป็นการอภิปรายกระทู้เขาโดยตรง คือยกมาเพราะเป็น "ตัวอย่าง" หรือตัวแทนของคนที่อธิบายเรื่องการตั้ง ดาว์พงษ์-ธีรชัย-ไพบูลย์ เป็นองคมนตรีของในหลวงวชิราลงกรณ์แบบนี้ จริงๆยังมีอีกหลายคนที่เสนอทำนองนี้ ผมยกของคุณ "สู้" มาเพื่อเป็นตัวอย่าง (และอยากให้เข้าไปอ่านคอมเม้นท์ของคนที่มาเชียร์ด้วยครับ น่าสนใจในการที่บทจะเชียร์ก็เชียร์กันแหลก - หมายถึงเชียร์กษัตริย์ใหม่น่ะ กระทู้อยู่ที่นี่ goo.gl/6qkGkD)
สรุปสั้นๆคือ พวกนี้เห็นว่า เป็นเรื่องการ "เอาเข้ากรุ" "ขึ้นหิ้ง" "ดอง" คือทำให้หมดตำแหน่งรัฐมนตรี ("ปลดจาก รมต เนียนๆ" ตามคำคุณ "สู้") และยุ่งการเมืองอะไรไม่ได้อีก (บางคนถึงกับยกรัฐธรรมนูญมาแสดงว่า ตาม รธน องคมนตรียุ่งการเมืองไม่ได้ ราวกับว่า ข้อกำหนดนั้นใน รธน เคยห้ามได้ยังงั้น) หรือเพื่อเบรคการปราบธรรมกาย (ของไพบูลย์) หรือบางทีก็พูดทำนอง "เอาศัตรูเข้ามาไว้ใกล้ๆเพื่อควบคุม"
ผมเห็นมิตรสหายจำนวนมาก ล้อเลียนพวกนี้ ที่เรียกกันว่า "สายมโน" (มุกล้อเลียนบางอันก็จี้ดีนะครับ ประเภท "ถ้าเขายิงมรึงตาย ก็อธิบายว่า เพื่อช่วยให้ได้ไปสวรรค์" อะไรทำนองนั้น) แต่ผมเห็นว่า ลำพังการล้อเลียน หรือบอกว่า พวกนั้น "มโน" ไม่เพียงพอ คือต้องพยายามอธิบายอย่างเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมการตั้ง 3 คนนั้นเป็นองคมนตรี จึงไมใช่อย่างที่พวกนั้นว่ามา และการตั้ง 3 คนนั้น เป็นองคมนตรี มีความหมายอะไรกันแน่ (พูดอีกอย่าง ผมกำลัง take seriously สิ่งที่พวกที่เรียกว่า "มโน" เสนอ อันที่จริง ผม take seriously ความเห็นต่างเสมอ ว่าสามารถหักล้างด้วยเหตุผลข้อมูลได้หรือไม่อย่างไร แน่นอน ถ้าความเห็นต่างใด "อ่อนหัด" มาก - เช่นส่วนใหญ่ของเรื่องการเมืองที่คุณ "สู้" เขียน ที่กล่าวข้างต้น - ผมก็ไม่เสียเวลาเขียนโต้ ก็ปล่อยไป)
แต่เฉพาะเรื่องนี้ ผมเห็นว่า ควรอธิบายความหมายของการตั้ง ดาว์พงษ์-ธีรชัย-ไพบูลย์ ด้วยว่า ทำไม ไม่เป็นไปตาม "ทฤษฎี" ของ "สายมโน" และความจริง เป็นอย่างไร
...............
อันที่จริง ถ้า "สายมโน "จะใช้ความคิดเล็กน้อย ก็ควรเห็นไม่ยากว่า "ทฤษฎี" "เอาเข้ากรุ" "ปลดจาก รมต เนียนๆ" ฯลฯ มันอ่อนเพียงใด (น่าสนใจว่า ในคนที่ไปเขียนคอมเม้นท์ในกระทู้คุณ "สู้" มีท่านหนึ่งที่จับประเด็นนี้ได้ แม้เขาจะไม่ได้อภิปรายขยายความอย่างที่ผมทำนี้)
ดาว์พงษ์ นั้นเป็นเพียง รมต.ศึกษา ไม่มีอำนาจอะไร จะไปเสียเวลา "ปลดจาก รมต เนียนๆ" ทำไม? ธีรชัยเองไม่ได้เป็น รมต ด้วยซ้ำ เป็นเพียง สนช มีเพียงไพบูลย์คนเดียวที่เป็น รมต ยุติธรรม แม้จะเป็นตำแหน่งที่พอมีความสำคัญ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มากมายใหญ่โตในคณะรัฐบาล (รมต ยุติธรรม ไม่ได้คุมศาล - เดี๋ยวผมจะพูดเรื่อง องคมนตรี กับศาล ข้างล่าง) แน่นอน สิ่งเดียวที "สายมโน" มีการพูดกันเรื่องไพบูลย์ "ถูกปลดจาก รมต" (ด้วยการเป็นองคมนตรี) คือเรื่องวัดธรรมกาย แต่กรณีธรรมกายนั้น ถ้าตามข่าวดีๆ จะเห็นว่า ไม่ใช่มีไพบูลย์คนเดียวที่ทำเรื่องนี้ ที่จริงเป็นระดับนโยบายของ รบ.ประยุทธ ไม่มีไพบูลย์ คนอื่นก็ทำได้
และถ้าถือตาม "ทฤษฎี" ที่ว่านี้ คือกษัตริย์ใหม่ ต้องการจะริบอำนาจคนของ คสช ด้วยการ "เตะโด่ง" หรือ "เอาเข้ากรุ" ด้วยการตั้งเป็นองคมนตรีแบบนี้ ทำไมไม่ตั้งประวิตร วงศ์สุวรรณ ไปเลยล่ะ? (ช่วงนึง มีข่าวด้วยซ้ำว่า ประวิตร อาจจะหมายตาตำแหน่งองคมนตรี - ไม่มีใครคิดว่า ตำแหน่งองคมนตรีไม่มีอำนาจ) ไปเอาดาว์พงษ์-ธีรชัย หรือกระทั่งไพบูลย์ ที่ไม่ใช่ตำแหน่ง รมต สำคัญ หรือไม่ใช่ รมต เลยทำไม
.............
ถ้าเช่นนั้น การตั้ง 3 คนนี้ของกษัตริย์ใหม่ มีความหมายอะไร?
ดาว์พงษ์นั้นเป็นนายทหารเสนาธิการ เขาคือคนที่เป็น "สถาปนิก" ของการล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 (การวางแผน เอาทหารมหึมา 5 หมื่นคนมาล้อมเสื้อแดง เป็นผลงานสำคัญของเขา อันที่จริง กรณีเก็บ เสธ.แดง ซึ่งส่งสัญญาณเริ่มการล้อมปราบ และสะท้อนวิธีคิดแบบทหาร - "เก็บ" คนทีคิดว่าเป็นหัวหน้าคุมกำลังของ "ฝ่ายตรงข้าม" ก่อนจะลงมือปราบใหญ่ - เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ดาว์พงษ์จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและวางแผน) ธีรชัยกับไพบูลย์เป็นทหารกุมกำลัง ธีรชัยเพิ่งพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. ส่วนไพบูลย์เคยเกือบจะได้เป็น และกรณีไพบูลย์นั้น หลังๆเขามีความสนิท และมี "กิตติพงษ์" เป็นที่ปรึกษา "กิตติพงษ์" คือคนที่มีความใกล้ชิด "คุณภา" (ผมเคยพูดไปแล้วว่าเขาน่าจะมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษากษัตริย์ใหม่ หรือเป็น "ทีมพระบรม" คนหนึ่งตั้งแต่ก่อนการสวรรคตของในหลวงภูมิพล) เป็นไปได้ว่า ถ้ากษัตริย์ใหม่ คิดจะใช้ใครเป็นหูตา-เชื่อมต่อ-ประสานกับกองทัพ "กิตติพงษ์" จะเสนอไพบูลย์คนหนึ่ง
ประเด็นเรื่อง "เป็นหูตา-เชื่อมประสานกับกองทัพ" ที่เพิ่งพูดนี่แหละ คือความหมายแท้จริงของการตั้ง 3 คนนี้เป็นองคมนตรี
หน้าที่หรืออำนาจขององค์กรองคมนตรีคืออะไร?
กล่าวอย่างสั้นๆ คือ #เป็นตัวเชื่อมต่อประสานระหว่างกษัตริย์กับองค์กรรัฐส่วนอื่นๆ ตั้งแต่นักการเมือง (ในสมัยมีรัฐบาล-รัฐสภาเลือกตั้ง - การ "สกรีน" กฎหมายและประกาศคำสั่งต่างๆที่ 2 ส่วนนี้เสนอมา เป็นหน้าที่ประจำอย่างหนึ่งขององคมนตรี), ไปถึงกองทัพ, ศาล และกลไกรัฐอื่นๆอีกมาก
คือกษัตริย์คนเดียว ทำเองไม่ได้หมดอยู่แล้ว ก็มีองคมนตรีเป็นแขนขา เป็นหูเป็นตา ในการเชื่อมต่อประสานกับองค์กรและกลไกรัฐต่างๆพวกนี้ให้
เช่นเรื่องการ "สกรีน" กฎหมายที่ผมเพิ่งพูด รวมถึง "รายชื่อ" หรือ "โผ" การตั้งแต่งสำคัญๆ เช่น "โผทหาร" และ "โผศาล"
จากสมัยในหลวงภูมิพล ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาล ก็คงเป็นหน้าที่หลักของบรรดาอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาในคณะองคมนตรี แต่องคมนตรีคนอื่นๆ ก็สามารถมีอำนาจและหน้าที่ในการร่วมคัดกรองคนได้ด้วย (จะให้กษัตริย์แต่งตั้งใคร โปรโมตใคร)
อันที่จริง ผมเคยเขียนมาตั้งแต่ก่อนครองราชย์ของในหลวงองค์ใหม่ว่า เรื่องหนึ่งที่น่าจับตา คือจะทรงเอาใครเป็นตัวประสาน-เชื่อมต่อกองทัพ คือจะตั้งใครเป็นองคมนตรีที่ทำหน้าที่ประสาน-เชื่อมต่อ เป็นหูเป็นตาเรื่องกองทัพให้พระองค์ ประวิตร ผมก็เคยคิด แต่คิดว่า คงแก่(และสุขภาพไม่ดี) เกินไป กรณี "คนเก่า" คือเปรม ก็แก่ไปแล้ว สุรยุทธ์เอง ก็ออกจากกองทัพมานานแล้ว
ผมว่า ตอนนี้เราได้คำตอบแล้ว (ยกเว้นแต่อาจจะมีการตั้งทหารคนอื่นขึ้นมาอีก เพราะยังเหลือโควต้าองคมนตรีให้ตั้งได้อีก) เห็นได้ชัดว่า ในหลวงใหม่จะให้ ดาว์พงษ์-ธีรชัย-ไพบูลย์ นี่แหละ เป็นตัวเชื่อมต่อ-ประสานกับกองทัพ
นี่คือความหมายแท้จริงของการตั้ง 3 คนนี้เป็นองคมนตรี (อย่างที่บอกว่า อาจจะมีการตั้งคนอื่นที่เป็นทหารอีก แต่ผมยังมองไม่เห็นตอนนี้)
..................
"จุดเริ่มต้น" หรือ premise ของ "สายมโน" และ "ทฤษฎี" เรื่อง "เอาเข้ากรุ" ก็คือการ assume หรือเชื่อโดยไม่มีมูลอะไรว่า พระบรมฯกับ คสช และกองทัพขัดแย้งกัน หรือเป็นศัตรูกัน (นัยยะที่คุณ "สู้" เขียนว่า พระบรมฯทรง "วางแผน" คือใช้การ "กำจัด ศัตรู" ด้วยวิธีนี้ คนอื่นๆที่สนับสนุน "ทฤษฎี" นี้ก็เช่นกัน)
แต่ "จุดเริ่มต้น" นี้เป็นอะไรที่ไม่มีมูลฐานรองรับแต่แรก - ขอให้ดูกระทู้ที่ผมโพสต์ไปก่อนหน้านี้ ทีว่า ความขัดแย้งระหว่างวังกับกองทัพ รวมทั้งกับพวก คสช หรือพวก "3 ป." แท้จริงแล้ว ไมได้เป็นอย่างที่ "สายมโน" คิดแต่แรกเลย
ความขัดแย้ง 3
ลักษณะ (ภายในวัง, วังกับกองทัพ,
ภายในกองทัพ) ไม่เคยมีลักษณะรุนแรงถึงขนาดเป็นความขัดแย้งที่มีการจัดตั้ง http://goo.gl/sFcPwg
Somsak Jeamteerasakul updated his status.
ความขัดแย้งภายในวัง (พ่อ-ลูก, พี่-น้อง, องคมนตรี-ลูก)
ความขัดแย้งระหว่างวังกับทหาร
ความขัดแย้งภายในทหารด้วยกันเอง
#ไม่เคยมีลักษณะรุนแรงถึงขนาดเป็นความขัดแย้งที่มีการจัดตั้ง คือแบ่งเป็นก๊กเป็นพวกที่ชัดเจน (organized faction) มาแต่ไหนแต่ไร อย่างมากที่สุด เป็นเพียงเรื่องของการเข้าหน้ากันไม่สนิท คาแรกเตอร์ไม่ค่อยลงรอยกันในระดับตัวบุคคล ซึ่งโดยภาพรวมก็น้อย ไม่ได้มีมากอะไร
โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา (คือร่วม 30 ปีแล้ว) การที่ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2520 มีร่องรอยหรือการแสดงออกของความขัดแย้งใน 3 ลักษณะนั้นมาก (ในวัง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ภายในครอบครัวมีความ "ระหองระแหง" มากที่สุด หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรแล้ว ในกองทัพ มีการพยายามทำรัฐประหารหลายครั้ง) ที่สำคัญส่วนหนึ่ง เป็นผลสะเทือนมาจากการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลา กล่าวคือการลุกขึ้นสู้ของประชาชนครั้งนั้น ได้ทำให้ "เกิดรอยร้าว" ในองคาพยพส่วนสำคัญๆของรัฐ เช่นการเกิด "ยังเติร์ก" หรือนายทหารชั้นผู้น้อย ที่ไม่ยอมขึ้นต่อการบัญชาการระดับบน แต่นั่นเป็นเพียงประวัติศาตร์ช่วงสั้นที่ผ่านมานานแล้ว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar