torsdag 31 december 2020

สถาบันกษัตริย์: ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2020

บีบีซีไทยชวนย้อนดูข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกในปีนี้ ทั้งเรื่องที่น่ายินดี ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาว และเรื่องน่าตกตะลึงที่จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์


สถาบันกษัตริย์: ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2020

 
 
2020 เป็นปีที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวที่สั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์ และเรื่องที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ติดตามข่าวในราชสำนัก บีบีซีไทยได้ประมวลข่าวน่าสนใจของราชวงศ์โลกในรอบปีนี้มาให้อ่านกัน

สหราชอาณาจักร

2020 เป็นปีที่เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายในราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ ซึ่งเปิดศักราชใหม่ด้วยข่าวที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ติดตามข่าวราชสำนักทั่วโลก โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา ประกาศลดบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง และมีพระประสงค์จะทำงานเลี้ยงชีพเยี่ยงสามัญชนทั่วไปเพื่อให้มีอิสระทางการเงิน

Prince Harry, Duke of Sussex and Meghan, Duchess of Sussex attend The Endeavour Fund Awards at Mansion House

เรื่องนี้ได้สร้างความเสียใจและผิดหวังให้สมาชิกราชวงศ์อังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะการประกาศดังกล่าวมีขึ้นโดยไม่มีการหารือเรื่องนี้กับพระบรมวงศ์พระองค์ใดมาก่อน

โดยหลังจากการประชุมของพระบรมวงศ์แห่งราชวงศ์อังกฤษก็ได้ข้อตกลงว่า ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ จะไม่ทรงดำรงพระยศ HRH (His/Her Royal Highness) ที่แสดงถึงความเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง และจะไม่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ออกปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการอีกต่อไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนในการดังกล่าว

ทั้งสองพระองค์ยังแสดงความประสงค์จะจ่ายคืนเงินจำนวน 2.4 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นค่าซ่อมแซมพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ ที่ประทับในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ หลังจากที่ทรงใช้งบประมาณของรัฐไปในการปรับปรุงพระตำหนักครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว โดยข้อตกลงเหล่านี้จะมีการทบทวนและหาบทสรุปอย่างเป็นทางการในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับอนาคตและบทบาทของคู่ขวัญราชวงศ์อังกฤษทั้งสองพระองค์นี้ในเดือน มี.ค. ปีหน้า

หลังออกจากสหราชอาณาจักร เจ้าชายแฮร์รี และพระชายาได้ย้ายไปประทับในแคนาดา ก่อนที่ปัจจุบันจะทรงปักหลักอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย บ้านเกิดของดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ และเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวว่าทั้งสองพระองค์ได้บรรลุข้อตกลงผลิตรายการต่าง ๆ ให้แก่เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งทั้งคู่อาจจะปรากฏพระองค์ในบางรายการด้วย โดยสัญญานี้กินระยะเวลาหลายปี ครอบคลุมการผลิตเนื้อหาทั้งภาพยนตร์สารคดี ซีรีส์ และรายการสำหรับเด็ก

ขณะที่เมื่อปลายเดือน พ.ย. ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ทรงเปิดเผยข่าวร้ายเรื่องการแท้งบุตรคนที่สองของพระองค์เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็น "ความทุกข์ใจที่ยากจะทานทน"

Prince Charles and Prince William

ท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนั้น เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ก็มีการเปิดเผยว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ทรงได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ทรงมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งในเวลาต่อมา พระองค์ได้เปิดเผยว่าทรงโชคดีที่รอดพ้นจากการประชวรรุนแรงมาได้ อย่างไรก็ตามทรงเผยว่า 3 เดือนหลังจากการติดเชื้อ ประสาทรับกลิ่นของพระองค์ยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ

เมื่อต้นเดือน พ.ย.มีแหล่งข่าวในราชสำนักเปิดเผยกับบีบีซีว่า เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 เมื่อประมาณเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พระบิดา คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงติดเชื้อ

เดอะซัน หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ชื่อดังที่เปิดเผยเรื่องนี้เป็นรายแรก ระบุว่า เจ้าชายวิลเลียมทรงเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับเพราะไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้คนในชาติ

แม้ในรอบปีนี้สมาชิกราชวงศ์วินเซอร์เผชิญกับเรื่องที่หนักหน่วง ทว่าก็ยังมีข่าวดีของพระธิดาสองพระองค์ในเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์กลางในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง นั่นคือเจ้าหญิงเบียทริซ ที่เข้าพิธีเสกสมรสกับนายเอ็ดโด แมเปลลี มอซซี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อกลางเดือน ก.ค. โดยงานจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ที่โบสถ์หลวงในเมืองวินด์เซอร์ ขณะที่เจ้าหญิงยูเชนี พระขนิษฐา ทรงประกาศข่าวการมีทายาทคนแรกกับนายแจ็ก บรูกส์แบงก์ พระสวามี และคาดว่าจะมีพระประสูติกาลในต้นปีหน้า

(Left to right) The Duke of Edinburgh, the Queen, Princess Beatrice and Edoardo Mapelli Mozzi outside the Royal Chapel of All Saints
คำบรรยายภาพ,

เจ้าหญิงเบียทริซ เข้าพิธีเสกสมรสกับนายเอ็ดโด แมเปลลี มอซซี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในพิธีที่จัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อกลางเดือน ก.ค.

สเปน

พระเกียรติภูมิของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสแห่งสเปน ต้องแปดเปื้อนเมื่อเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินอันน่าสงสัย และบันทึกบทสนทนาของอดีตคู่รักของพระองค์ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในประเทศ และถูกสื่อต่างประเทศนำไปรายงานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

Spain"s King Juan Carlos

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทางการสวิตเซอร์แลนด์และสเปนได้เปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการฟอกเงินของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ในโครงการรถไฟความเร็วสูงในซาอุดีอาระเบีย ที่กลุ่มบริษัทของสเปนได้รับสัมปทานในการสร้าง

ในเวลาต่อมา สำนักพระราชวังสเปนได้แถลงว่า อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส จะทรงย้ายไปพำนักในต่างประเทศ โดยในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสเปน ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ทรงระบุว่าพระองค์ตัดสินพระทัยครั้งนี้จาก "ปฏิกิริยาจากสังคมอันเกิดจากเหตุการณ์ในอดีตบางอย่างในชีวิตส่วนตัวของข้าพเจ้า" และด้วยความหวังที่จะทำให้พระราชโอรสของพระองค์สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ได้ "โดยสงบ"

"ด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในผลประโยชน์อันดีที่สุดสำหรับประชาชนชาวสเปน, สถาบันต่าง ๆ ของชาติ, และสำหรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์ ข้าพเจ้าขอกราบบังคมทูลเรื่องการตัดสินใจของข้าพเจ้าในการออกไปจากประเทศสเปน"

เมื่อต้นเดือน ส.ค. สื่อสเปนรายงานว่าอดีตกษัตริย์พระชนมายุ 82 พรรษาทรงปรากฏพระองค์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เบลเยียม

เบลเยียมเป็นอีกประเทศที่เผชิญเรื่องราวอื้อฉาวในราชสำนัก โดยเมื่อเดือน ม.ค. ศาลอุทธรณ์เบลเยียมมีคำตัดสินให้นางเดลฟีน โบเอล ศิลปิน วัย 52 ปี ชนะคดีที่อ้างว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 อดีตกษัตริย์เบลเยียม เป็นพระบิดาของเธอ หลังต่อสู้คดีในศาลมานานถึง 7 ปี

Belgium"s fomer king Albert II (L) in Gembloux, Belgium, 14 March 2017, and his daughter Delphine Boel (R)

ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้นางโบเอล ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์นอกสมรส มีสิทธิได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้าหญิงแห่งเบลเยียม" เช่นเดียวกับพระโอรสและพระธิดา 3 พระองค์ของอดีตกษัตริย์เบลเยียม อีกทั้งยังมีสิทธิ์เปลี่ยนไปใช้นามสกุล ซัคเซิน-โคบวร์ก ตามพระบิดา ส่วนลูกชายและลูกสาวของเธอก็จะได้รับพระยศด้วย

อดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ทรงปฏิเสธเรื่องบุตรนอกสมรสตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาอันอื้อฉาวที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งปี 2019 ศาลในกรุงบรัสเซลล์มีคำสั่งให้พระองค์เข้ารับการตรวจดีเอ็นเอ

ศาลได้กำหนดกรอบเวลา 3 เดือนให้ทรงมอบตัวอย่าง พระเขฬะ (น้ำลาย) เพื่อใช้ตรวจดีเอ็นเอ โดยชี้ว่าหากไม่มีการส่งมอบ ก็จะสามารถอนุมานได้ว่านางโบเอลเป็นพระธิดาของพระองค์และจะมีสิทธิในการรับมรดก

หลังจากศาลอุทธรณ์เบลเยียมมีคำตัดสินดังกล่าว ก็มีข่าวว่าทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

เนเธอร์แลนด์

แม้ที่ผ่านมา สมาชิกราชวงศ์เนเธอร์แลนด์จะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวดัตช์จำนวนไม่น้อย แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงกรณีที่สมาชิกราชวงศ์เสด็จประพาสกรีซในห้วงเวลาที่ประชาชนกำลังเผชิญความทุกข์ยากจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

Dutch King Willem-Alexander (L) and Queen Maxima look on during the recording of a personal video message in which the king discusses the cancellation of their holiday to Greece, in The Hague, The Netherlands, 21 October 2020.
คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์และสมเด็จพระราชินีแม็กซิออกวิดีโอแถลงการณ์ยาว 2 นาที ร่วมกัน

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมา เสด็จพระราชดำเนินไปกรีซ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. แต่เปลี่ยนพระทัยเสด็จกลับประเทศในวันถัดมา หลังเกิดกระแสวิจารณ์เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์แนะนำให้ประชาชนอยู่กับบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในพื้นที่บางส่วนของประเทศ

กรณีดังกล่าวส่งผลให้เมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ทรงแถลงผ่านวิดีโอว่า ทรงเสียพระทัยต่อกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าทั้งสองพระองค์ไม่ได้ทรงฝ่าฝืนกฎ แต่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ก็ตรัสว่า "รู้สึกเจ็บปวดที่ได้ทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีให้"

"เราหันกลับมาหาพวกท่านด้วยความเศร้าสลดที่เรามีในจิตใจ" สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ตรัสในแถลงการณ์ความยาว 2 นาที

"มันช่างเจ็บปวดมากที่ได้ทำลายความไว้วางใจที่ท่านมีให้เรา"

"แม้ว่าการเดินทางเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องฉลาดเลยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบจากมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่มีต่อสังคมเรา"

ขณะที่นายมาร์ก รัตเต นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวยอมรับเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่า เขา "ประเมินผิดพลาด" ที่ไม่ไปขัดขวางแผนการเสด็จประพาสของกษัตริย์และพระราชินี

line

ไทย

ข่าวของพระมหากษัตริย์ไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อมวลชนทั่วโลกในรอบปีนี้ ทั้งเรื่องการประทับในเยอรมนีที่กลายเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดใจทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี รวมถึงการที่กลุ่มผู้ประท้วงหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ร.10

ความสนใจของสื่อทั่วโลกต่อประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์ไทยครั้งใหม่ เริ่มขึ้นหลังจาก น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทน แนวร่วมธรรมศาสตร์การชุมนุมอ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อว่าด้วยการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อ 10 ส.ค. และตามมาด้วยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค. แล้วเผยแพร่ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย.

ประกาศนี้มีความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราแก่เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยให้ถือว่า ไม่เคยถูกถอดถอนฐานันดรศักดิ์กับตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและยศทหารและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรามาก่อน

ไม่ถึง 1 ปีก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2562 ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ พ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยนอกจากจะเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งใหม่ ยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงรวบเอาพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ไว้ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งเรื่องที่ไม่ประทับอยู่ในประเทศ และค่าใช้จ่ายที่ทรงใช้ในระหว่างที่ประทับอยู่ต่างแดน

ป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปซองจดหมายถึงกษัตริย์วชิราลงกรณ์
คำบรรยายภาพ,

"คณะราษฎร" ถือป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปซองจดหมายถึง "กษัตริย์วชิราลงกรณ์" เพื่อแสดงเจตจำนงให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.

ความไม่ชัดเจนกรณีการประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในประเทศเยอรมนี ได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดใจทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในรัฐสภาเยอรมนี ซึ่งนายฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ได้ตั้งกระทู้ถาม นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงกรณีที่กษัตริย์ไทยทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประทับอยู่ในรัฐบาวาเรีย

นายมาส ชี้แจงต่อคำถามนี้ว่า "เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี...หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นอน"

ในวันที่ 9 ต.ค. หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (FT) อ้างถ้อยแถลงของ น.ส.มาเรีย อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ที่ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า "การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี" และ "เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก"

Exterior view of a villa presumably belonging to Thailand"s King Maha Vajiralongkorn at Starnberg lake in Tutzing, Germany, 27 October 2020. Local media report that the Thai monarch, who was crowned Rama X in 2019, lives for much of his time with his household in the southern German state of Bavaria. EPA/PHILIPP GUELLAND
คำบรรยายภาพ,

วิลล่าหลังใหญ่ในเขตทุตซิงที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนเชื่อว่าเป็นพระตำหนักในรัฐบาวาเรีย

26 ต.ค. วันที่ผู้ชุมนุมในไทยเดินขบวนไปยื่นจดหมายที่สถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ นายไฮโก มาส แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า "รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยาวัตรของกษัตริย์ไทยในรัฐบาวาเรีย อย่างต่อเนื่อง และ "จะเกิดผลสืบเนื่องทันที หากเราประเมินแล้วว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย"

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีว่า ผู้แทนรัฐบาลเยอรมนีได้กล่าวบรรยายสรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับกษัตริย์ไทยให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรฟังว่า รัฐบาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับอนุญาตให้ตัดสินพระทัยเป็นครั้งคราว ตราบใดที่พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเยอรมนี

ต่อมา สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่า รัฐบาลเยอรมนีเผยว่าไม่พบหลักฐานว่า ในหลวง ร.10 ทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมายในเยอรมนี

นายมิเกล แบร์เกอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศตอบกระทู้ของ ส.ส. พรรคกรีนส์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า "จากข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลไทย การประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนีเป็นเรื่องส่วนพระองค์" ทางกระทรวงคาดว่า พระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ "เป็นการแทรกแซงระบบกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศ" ขณะทรงประทับอยู่บนแผ่นดินเยอรมนี

ล่าสุด เมื่อ 18 พ.ย. สำนักบริการวิชาการ (WD) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้นำเสนอรายงานสาธารณะ 15 หน้า ในหัวข้อ "ความเคลื่อนไหวของประมุขต่างชาติบนดินแดนเยอรมนี" ระบุว่ากษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนมขณะประทับในประเทศ แต่มีสิทธิ์เชิญออกนอกประเทศหากพบหลักฐานทำผิดกฎหมายเยอรมนี

น.ส. เซวีม ดาเดเลน ส.ส. จาก พรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE) และสมาชิกกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ของเยอรมนี เปิดเผยกับบีบีซีไทยเมื่อปลายเดือน พ.ย. ว่าเธอตัดสินใจร้องต่อสำนักบริการวิชาการ ให้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวออกมา เพราะสงสัยในข้อกฎหมาย ว่าประมุขต่างแดนสามารถบริหารราชการแผ่นดินขณะพำนักในเยอรมนีเป็นเวลานานได้หรือไม่

"กษัตริย์วชิราลงกรณ์ของไทยประทับอยู่ที่โรงแรมหรูในรัฐบาวาเรียเป็นเวลาหลายเดือน คงเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะเชื่อว่ากษัตริย์ของไทยไม่ทรงงานขณะพำนักอยู่ที่นี่ ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติงานแทนขณะไม่ได้พำนักในประเทศไทย แม้แต่รัฐบาลเยอรมนีก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา"

Exterior view of the Grand Hotel Sonnenbichl in Garmisch-Partenkirchen, Germany, 27 October 2020. According to media reports, the town"s Grand Hotel Sonnenbichl was chosen by Thai King Maha Vajiralongkorn and his entourage to spend their quarantine amid the ongoing coronavirus pandemic. Local media report that the Thai monarch, who was crowned Rama X in 2019, lives for much of his time with his household in the southern German state of Bavaria. EPA/PHILIPP GUELLAND
คำบรรยายภาพ,

โรงแรมที่สื่อเยอรมันรายงานว่าเป็นที่ประทับของกษัตริย์ไทย

น.ส.ดาเดเลน ระบุว่าจะผลักดันร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสภาผู้แทนฯ เพื่อกดดันรัฐบาลเยอรมนีไม่ให้การต้อนรับกษัตริย์ไทยอีกต่อไป และต้องผลักดันให้พักการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทย

"ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์จะเสด็จฯ กลับเยอรมนีเมื่อไร ถ้ามีหมายกำหนดการเสด็จฯ จริง พรรคฝ่ายซ้ายของเราจะเคลื่อนไหวกดดันไปที่รัฐบาลเยอรมนีเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประมุขของไทยได้รับความยินยอมให้ประทับในสำนักงานสาขาที่หรูหราของพระองค์ในเยอรมนี ในที่สุดแล้ว...พระองค์ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แน่นอนว่าเราจะทำงานร่วมกับพรรคกรีนส์และพรรคประชาธิปไตยอื่น ๆ ในการสร้างสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยร่วมกัน"

ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศไทยเคยชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น โดยเว็บไซต์วอลสตรีตเจอร์นัล รายงานคำชี้แจงเมื่อปลายเดือน ต.ค. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุขของประเทศ "ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" และทรงประกอบพระราชกรณียกิจในพิธีต่าง ๆ ของพระองค์ หากแต่ "ทรงไม่ยุ่งเกี่ยวในการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เคยออกมาชี้แจงเรื่องการประทับในเยอรมนีของในหลวง ร.10 ต่อประชาชนเลย

คำบรรยายวิดีโอ,

20 วินาทีอันยาวนานของ โจนาธาน มิลเลอร์ นักข่าวผู้สัมภาษณ์ ร.10

ส่วนอีกเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบคำถามสื่อต่างชาติเป็นครั้งแรกนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษ และสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปรายงานข่าวบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. และทำการสัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่เคยมีนักข่าวคนไหนเคยทำมาก่อนด้วยการ "ยื่นไมค์" ทูลถามระหว่างที่พระองค์ทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร

ทวิตเตอร์ของ Channel4 เผยแพร่คลิปขณะนายมิลเลอร์ทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าคนเหล่านี้จงรักภักดีต่อพระองค์ ทว่าพระองค์จะมีพระราชดำรัสอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาบนท้องถนนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกลับว่า ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเห็น เรารักพวกเขาเฉกเช่นเดียวกัน โดยตรัสคำดังกล่าวซ้ำ 3 ครั้ง

จากนั้นผู้สื่อข่าวทูลถามต่อว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการประนีประนอมกันเกิดขึ้น ซึ่งในหลวงได้ตรัสว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม จากนั้นจึงทรงพระดำเนินต่อไป

ในคลิปรายงานข่าวฉบับเต็มที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์ของ Channel 4 ในเวลาต่อมา ปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสอะไรบางอย่างกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ก่อนที่เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จะทรงพระดำเนินกลับมาที่นายมิลเลอร์อีกครั้งและตรัสกับเขาว่า "เรารักประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม และประเทศนี้มีความสงบสุข" และ "นี่เป็นความรักที่แท้จริง อย่างที่คุณเห็น"

หลายฝ่ายมองว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นสัญญาณอันดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย ทว่าในเวลาต่อมารัฐบาลได้ประกาศ "ใช้กฎหมายทุกมาตรา" กับผู้ชุมนุม ทำให้แกนนำของกลุ่ม "ราษฎร 2563" หลายคนถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

line

ญี่ปุ่น

ราชวงศ์ญี่ปุ่นมีข่าวดีอย่างต่อเนื่องหลังจากสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126 เมื่อปีที่แล้ว โดยเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงได้รับการประกาศให้เป็นองค์รัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ

เจ้าชายฟุมิฮิโตะเสด็จออกจากพระราชวังอิมพีเรียล
คำบรรยายภาพ,

พิธีแต่งตั้งองค์รัชทายาทของราชบัลลังก์ญี่ปุ่น ล่าช้ามา 7 เดือน เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงไม่มีพระราชโอรส ขณะที่พระราชธิดาของพระองค์ทรงไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์ แม้ว่ามีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปก็ตาม

กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นปี 1947 กำหนดให้ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ต่อมา ในปี 2004 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีสมเด็จพระจักรพรรดินี แต่ได้ระงับแผนการไป หลังจากพระชายาของเจ้าชายฟุมิฮิโตะ ประสูติพระโอรสคือ เจ้าชายฮิซาฮิโตะ

หากเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ทรงเจริญพระชันษาและไม่มีพระโอรส ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตการสืบทอดราชสมบัติขึ้นอีกครั้ง และอาจจะทำให้รัฐบาลต้องกลับมาสานต่อแผนในปี 2004 และแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ในปลายเดือนเดียวกัน เจ้าชายฟุมิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ได้พระราชทานพระอนุญาตให้เจ้าหญิงมาโกะ พระธิดาองค์โตเสกสมรสกับ นายเค โคะมุโระ พระคู่หมั้นซึ่งเป็นพระสหายสมัยทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว หลังจากได้เลื่อนการจัดพิธีเสกสมรสมาแล้วถึง 2 ปี จากกำหนดเดิมในปี 2018

มาโกะ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ และนายโคมุโระ ซึ่งมีอายุ 29 ปีเท่ากันจะมีขึ้นเมื่อใด ซึ่งเจ้าหญิงมาโกะจะต้องสละฐานันดรศักดิ์หลังจากเสกสมรสกับชายหนุ่มสามัญชนผู้นี้

ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังญี่ปุ่นได้ปฏิเสธว่า การเลื่อนพิธีเสกสมรสเกี่ยวข้องกับข่าวลือเรื่องปัญหาทางการเงินของมารดานายโคมุโระ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เจ้าชายฟุมิฮิโตะ เคยตรัสย้ำหลายครั้งว่าจะต้องจัดการประเด็นด้านการเงินก่อนเป็นอันดับแรกจึงจะจัดพิธีเสกสมรสได้

นี่คือเรื่องราวข่าวเด่นของราชวงศ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรอบปี 2020 ซึ่งบีบีซีไทยคัดสรรมาให้อ่านกัน ติดตามข่าวสารและสาระน่ารู้ที่เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้ทางเว็บไซต์ และ เฟซบุ๊ก ของบีบีซีไทย

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar