torsdag 24 december 2020

กษัตริย์อดีตภิกษุ เฒ่าหัวงู ผู้ไม่อิ่มในกามคุณ ( ทวดของรัชกาลองค์ปัจจุบัน )


รัชกาลที่ ๔ กษัตริย์อดีตภิกษุ เฒ่าหัวงู ผู้ไม่อิ่มในกามคุณ

รัชกาลที่ ๔ ทวดของรัชกาลองค์ปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีประวัติโลดโผนมาก ก่อนเป็นกษัตริย์เคยบวชมานานและมีสาวกมาก เพราะเป็นผู้ริเริ่มเทศน์แบบปาฐกถา ซึ่งเร้าอารมณ์ ไม่ใช้การแสดงธรรมตามธรรมเนียมแบบเก่าตามคัมภีร์ซึ่งไม่มีชีวิตชีวา
 
(๑) นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่รู้จักหาเสียงด้วยวิธีที่แหวกแนว โดยมีบรรดาสาวกคอยช่วยเหลือ เผยแพร่การโฆษณาอันเป็นเท็จ เช่น กระพือข่าวว่า ขณะที่เป็นสงฆ์นั้นเพียงแค่พระองค์ขอพระธาตุจากพระปฐมเจดีย์ในปี จศ.๑๑๙๓ พระบรมธาตุก็แสดงปาฏิหาริย์ตาม “เสด็จ” ถึงกรุงเทพฯ พอถึงปีจุลศักราช ๑๑๙๕ ภิกษุฟ้ามงกุฏุธุดงค์ไปถึงชัยนาท ก็มี “จระเข้ใหญ่ลอยขึ้นเหนือน้ำชื่นชมบารมี” ครั้นนั่งวอไปสวรรคโลก ก็พบเสือร้ายใหญ่เท่าโค นอนกระดิกหางชื่นชมบารมีห่างจาก “ทางเสด็จ” เพียง ๘ ศอก ครั้นไปถึงแก่งหลวง เมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นหน้าแล้งไม่เคยมีปลามาก่อน ก็บังเกิดมีปลาตะเพียนใหญามากมายเหลือประมาณ กระโดดขึ้นริมตลิ่ง ชื่นชมพระบารมี และพอพระองค์เล่าให้ญาติโยมที่เมืองสุโขทัยฟังว่า เมื่อคืนนี้ได้ฝันว่ามีชาวเมืองสุโขทัยมากมายมาขอให้อยู่ที่สุโขทัยนานๆหน่อยเท่านั้นเอง ก็ปรากฏว่ามีฝนตกใหญ่ จนน้ำท่วมแผ่นดินถึง ๒ วันซ้อนในฤดูแล้ง เป็นปาฏิหาริย์
 
(๒)นอกจากนี้ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ยังรู้จักวิธีการที่จะทำให้ประชาชนศรัทธาตนด้วยวิธีการแปลกๆไม่ต่างจากที่กล่าวไปแล้ว พระองค์ถึงกับหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็น “ภิกษุยิ่งกว่าภิกษุอื่น” ด้วยการบวชซ้ำบวชซากถึง ๖ ครั้ง ทั้งที่ตามพุทธบัญญัตินั้น ทรงอนุญาตให้ทำอุปสมบทกรรมด้วยญัตติจตตุถกรรมวาจาเพียงคราวเดียว
 
(๓) ก็สำเร็จเป็นสงฆ์ ภาษิตไทยที่ว่าชายสามโบสถ์นั้นคบไม่ได้ แต่พระองค์เป็นถึงชาย ๖ โบสถ์จะน่าคบหาสมาคมด้วยเพียงใด ท่านผู้อ่านก็ลองใช้สติปัญญาตรองดูเอาเถิด
โดยพื้นฐานแล้ว ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎอยากเป็นกษัตริย์มากกว่าเป็นพระ ตามสิทธิแห่งการเป็นโอรสของราชินี และตามความปรารถนาของบิดา ซึ่งพระยาตรังรัตนกวีแห่งรัตนโกสินทร์ตอนต้น บอกให้เรารู้ว่ารัชกาลที่ ๒ นั้นประกาศตั้งแต่ยังไม่สวรรคตว่า จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นกษัตริย์
 
(๔) แต่ด้วยสติปัญญาของเจ้าฟ้ามงกุฎเองก็รู้ว่า ถ้าตนสึกเมื่อใด ก็หัวขาดเมื่อนั้น จึงทนอดเปรี้ยวไว้กินหวานเพื่อสะสมกำลัง โดยหวังที่จะเอาอย่างบุตรของพระเอกาทศรถผู้หนึ่ง ซึ่งบวชจนได้เป็นพระพิมลธรรมและมีญาติโยมมากกระทั่งสามารถยกกำลังเข้าไปในวัง และจับกษัตริย์ศรีเสาวภาคปลงพระชนม์ แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าทรงธรรมสมัยอยุธยา
 
การสะสมกำลังของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น ใช้วิธีการที่น่าเกลียดไม่แพ้รัชกาลที่ ๑ ปู่ของตนเอง ซึ่งใส่ร้ายป้ายสีพระภิกษุทั่วทั้งแผ่นดิน ดังจะเห็นได้ว่า พอพระองค์บวชอยู่ที่วัดมหาธาตุได้ไม่ถึงปี ก็วิจารณ์พระภิกษุไทยว่า “สมณะเหล่านั้น ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากเหง้าอันเน่าผุพัง” ครั้นไปถามปัญหาต่างๆกับท่านที่เป็นอาจารย์ “ก็งุบงิบอ้อมแอ้ม ไม่อธิบายให้กระจ่างสว่างได้” จึงต้องไปศึกษาพระธรรมวินัยกับภิกษุมอญ
 
(๕) หลังจากนั้นอีก ๕ ปี ก็ใส่ไคล้ว่าสงฆ์หลายร้อยรูปในวัดมหาธาตุที่สถิตย์ของพระสังฆราช อุปัชฌาย์ของพระองค์เอง เต็มไปด้วยภิกษุลามกอลัชชี
 
(๖) จึงหนีไปตั้งธรรมยุตินิกายที่วัดสมอราย
 
(๗)การที่ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคุยเขื่องถึงเพียงนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าตลกมาก เพราะเมื่อพระองค์บวชไม่ถึง ๑๒ เดือน ยังเป็นนวภิกขุ แปลบาลีก็ไม่ได้ กลับเพ้อเจ้อว่าพระมอญรู้วินัยดีกว่าพระไทย และยังมีสติปัญญาแก่กล้าถึงขนาดที่ถามปัญหาธรรม ไล่ต้อนจนอาจารย์จนแต้มได้ พึงทราบว่าอุปัชฌาย์ของพระองค์ สมเด็จพระสังฆราช(ต่วน) ธรรมดานั้น ภิกษุใหม่มีปัญหาอะไร ย่อมต้องศึกษาหาความรู้กับอุปัชฌาย์ ในกรณีของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎนี้เป็นไปได้หรือที่ พระสังฆราชประมุขของสงฆ์ทั่วราชอาณา ถึงกับจนแต้มศิษย์น้อยจอมกระล่อนที่บวชพระได้ไม่ถึงปี? ถ้าไม่เรียกว่าเป็นการโป้ปดมดเท็จแล้วจะเรียกว่าอะไร?
 
แน่นอนการที่ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ยกตนข่มครูโดยปราศจากความเคารพด้วยการอุตริมนุสธรรมเช่นนี้ ก็เพื่อเหตุผลประการเดียว คือการโฆษณาหาเสียง สร้างความนิยมในหมู่สาวก เพื่อเตรียมการเป็นกษัตริย์ในวันหน้า
 
การดึงเอาพระศาสนามาแปดเปื้อนการเมืองของภิกษุมงกุฎนั้น มิใช่จะไม่มีผู้ใดจับได้ไล่ทัน คุณ ส.ธรรมยศ นักปรัชญาคนสำคัญวิจารณ์ว่า ธรรมยุติและมหานิกายมีวัตรปฏิบัติต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น วิธีการครองผ้า วิธีสวดมนต์ และวิธีลงอุโบสถสังฆกรรม ซึ่งเป็นความแตกต่างเพียงเศษหนึ่งแห่งเสี้ยวธุลีดิน ไม่เหมือนกับนิกายแคทอลิคและโปรแตสแตนในคริสต์ศาสนา ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ วัด คัมภีร์ ชีวิตของพระและการแต่งกาย จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่พระองค์จะแยกธรรมยุติเป็นอีกนิกายหนึ่งต่างหากจากมหานิกาย เหมือนกับที่โปรแตสแตนแยกตัวออกจากแคธอลิค
 
(๘)หากจะกล่าวถึงสาเหตุที่ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ แยกตนมาตั้งธรรมยุตินิกาย และรังเกียจไม่ให้คณะมหานิกายซึ่งเป็นสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศร่วมสังฆกรรมกับตน โดยไม่ยอมรับว่าการอุปสมบถกรรมของฝ่ายมหานิกายบริสุทธิ์พอ คือไม่ถือว่าคณะภิกษุฝ่ายมหานิกายเสื่อมถอยไปเสียจากพระธรรมวินัย จึงยังไม่นับว่ามีเหตุผล เพราะใครจะกล้าอวดอ้างว่า โดยพื้นฐานแล้วมหานิกายตกต่ำกว่าธรรมยุติ ดูเอาแต่ประมุขของแต่ละคณะเถิด ใครจะกล้ายืนยันว่าสมเด็จปาวัดโพธิ์พระสังฆราชองค์ก่อนฝ่ายมหานิกาย มีวัตรปฏิบัติอ่อนด้อยกว่าสมเด็จวัดมงกุฎ สังฆราชองค์ก่อนหน้าท่าน และอ่อนด้อยกว่าสมเด็จวัดราชบพิธ สังฆราชองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุตินิกาย หากย้อนไปสู่อดีตใครเลยจะกล้ารับรองว่าภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ มีศีลบริสุทธิ์และสันโดษเสมอด้วยพระเถระฝ่ายมหานิกาย ซึ่งมีอยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกับพระองค์ เช่น สมเด็จพุฒาจารย์(โต)และสมเด็จพระสังฆราช(สุก) ซึ่งเชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระจนทำให้ไก่ป่าเชื่องได้
 
ด้วยเหตุนี้ คุณ ส.ธรรมยศ จึงวิจารณ์ว่า การที่ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎตั้งนิกายธรรมยุตินั้น “ไม่ใช่เนื่องจากแต่ความเสื่อมโทรมของศาสนา กล่าวให้ชัดก็คือ ทรงตั้งธรรมยุติกะขึ้นมาในนามของพระพุทธศาสนา เพื่อการเมือง คือเอาพระพุทธศาสนามาเป็นโล่ เป็นเครื่องมือของพระองค์เพื่อชิงเอาราชสมบัติ”
 
(๙)ในที่สุดเจ้าฟ้ามงกุฎก็เล่นการเมืองเต็มที่ ด้วยการคบหากับขุนนางตระกูลบุนนาคขณะที่ยังอยู่ในสมณเพศ เพื่อสร้างหนทางทอดไปสู่ความเป็นกษัตริย์ สำหรับจุดเริ่มต้นแห่งสัมพันธภาพดังกล่าวนั้น กรมฯดำรงราชานุภาพเล่าไว้ในหนังสือประวัติเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า เมื่อจวนสิ้นรัชกาลที่ ๓ นั้นพวกบุนนาคอยากให้ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นกษัตริย์ จึงปฏิสังขรณ์วัดบุปผารามเป็นวัดธรรมยุติ จนสามารถสนิทสนมกับพระองค์ตั้งแต่คราวนั้น
 
(๑๐)ในที่สุดพอถึงปลายรัชกาลที่ ๓ ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎก็กำลังกล้าแข็งมาก ในวันอังคารเดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เป็นวันที่รัชกาลที่ ๓ มีอาการทรุดหนัก สุดวิสัยที่จะรักษาได้ ในวันพุธ เดือน ๔ แปดค่ำเจ้าพระยาพระคลัง หัวหน้าพวกบุนนาคจึงเชิญภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งที่รัชกาลที่ ๓ ยังมาสวรรคต
 
(๑๑)ในคราวที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคตนั้น ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเที่ยวถามใครต่อใคร เช่น น้าชายของตนเอง และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ควรสึกเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับสมบัติหรือไม่ จนได้ข้อสรุปว่าไม่ควรสึก แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงคราวรัชกาลที่ ๓ จะสิ้นแล้ว พระองค์ไม่พักต้องไปถามใครทั้งสิ้น ยินยอมตกลงตามข้อเสนอของเจ้าพระยาพระคลังด้วยความยินดี โดยไม่ได้อาลัยอาวรณ์ผ้ากาสาวพัสตร์และตำแหน่งประมุขแห่งธรรมยุตินิกายแม้แต่น้อย
 
ในที่สุดภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้เป็นกษัตริย์ ทั้งที่รัชกาลที่ ๓ ไม่ได้ปรารถนาที่จะให้เป็นเช่นนี้เลย เซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์สมัยรัชกาลที่ ๔ เขียนจดหมายเหตุเล่าว่า รัชกาลที่ ๓ อยากให้ราชสมบัติตกอยู่กับลูกชายตนเอง
 
(๑๒) ซึ่งก็ได้แก่พระองค์เจ้าอรรณพ เพราะพระองค์เคยมอบแหวนและเครื่องประคำของรัชกาลที่ ๑ อันเป็นของสำหรับกษัตริย์ ให้แก่ลูกชายคนนี้ก่อนสวรรคต
 
(๑๓) แต่โชคร้ายที่พระองค์เจ้าอรรณพไม่ได้สิ่งของดังกล่าวตามสิทธิ
 
(๑๔) เพราะถูกกีดกันจากฝ่ายภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาเป็นรัชกาลที่ ๔ และได้มอบประคำและแหวนดังกล่าวให้แก่รัชกาลที่ ๕ ต่อไป
 
(๑๕) ในภายหลังไม่มีใครรู้เรื่องราวของพระองค์เจ้าอรรณพอีกเลย
 
(๑๖) สำหรับภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นพอเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็หลงใหลปลาบปลื้มอยู่กับกามารมณ์ไม่รู้สร่าง พวกขุนนางที่รู้ว่ากษัตริย์พอใจในเรื่องพรรค์นี้ ได้กวาดต้อนเอาผู้หญิงมาบำรุงบำเรอเจ้าชีวิตของตนเต็มที่ เหมือนกับที่สุนทรภู่สะท้อนภาพศักดินาใหญ่ไว้ในกาพย์พระไชยสุริยาว่า
“อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา”
 
บางคนถึงกับฉุดคร่าตัวเด็กสาวๆจากบิดา มารดามา”กราบ”รัชกาลที่ ๔ อดีตสมภารนักการเมือง “ต้นตระกูลกิตติวุฒโท” แห่งจิตตภาวันในปัจจุบัน เช่น ในกรณีของพระยาพิพิธฤทธิเดช เจ้าเมืองตราด คร่ากุมเอาลูกสาวชาวบ้าน ๓ คนไป “ถวายตัวให้กษัตริย์” เมื่อพ่อแม่เด็กยื่นถวายฎีกา รัชกาลที่ ๔ ที่มัวเมาโมหะกลับหาว่าพระยาพิพิธฤทธิเดชไม่ผิด ผู้ที่ผิดคือพ่อแม่เด็กที่ “เป็นคนนอกกรุง ไม่รู้อะไรจะงาม ไม่งาม” แถมยกย่องว่าพระยาพิพิธฤทธิเดช “ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา อยู่ในพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ควรเห็นว่าเป็นอันเหมือนขนทรายเข้าวัด มิใช่เกาะกรองเร่งรัดลงเอาเบี้ยหอยเงินทองอะไรฤา จะเอาไปถวายเจ้าอื่นนายอื่น ประจบประแจงผู้ใดก็หาไม่ ไม่ควรจะเอาโทษ”
 
(๑๗) การที่รัชกาลที่ ๔ สะสมนางในไว้ในฮาเร็มมากมายนั้น ถึงกับทำให้ข้าราชการฝ่ายในกับวังจน แทบไม่มีที่อยู่ที่กิน พระองค์เองก็หลงๆลืมๆจำชื่อคนเหล่านั้นไม่ได้หมด
 
(๑๘) ภายในระยะเวลาเพียงสิบกว่าปี แม้ว่าพระองค์จะเฒ่าชะแลแก่ชราเต็มที ก็ยังสามารถผลิตลูกได้ถึง ๘๒ คน
 
(๑๙) เพราะหมกมุ่นอยู่กับอิสตรีไม่มีวันหน่าย ซึ่งนับว่าไม่มีกษัตริย์อื่นใดในกรุงรัตนโกสินทร์จะสู้ได้ เพราะรัชกาลที่ ๕ แชมป์ลูกดกอันดับที่ ๒ ก็ยังมีลูกเพียง ๗๖ คน เมื่อกล่าวถึงความมีเมียมากของรัชกาลที่ ๔ แล้ว ก็อดพูดถึงชีวิตของบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามของกษัตริย์ไม่ได้ว่ามีชีวิตที่น่าเวทนาเพียงใด เพราะนางสนมทั้งหมดเพิ่งจะพ้นจากวัยเด็ก ไม่ทันพบกับความสดชื่นของชีวิตในวัยสาว ก็ต้องตกไปอยู่ในมือของโคแก่กระหายสวาท
 
ผู้ที่น่าสงสารที่สุดคือ เจ้าจอมทับทิม เด็กสาวที่มีอายุเพียง ๑๕ ปี ถูกพ่อ “กราบ” เป็นนางบำเรอรัชกาลที่ ๔ อายุ ๖๐ ปี ฟันฟางหักหมดปากตั้งแต่ขณะที่เป็นสงฆ์
(๒๐) เหมือนโฉมหน้าท้าวสันนุราช(เฒ่าราคะ)ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องคาวีที่ว่า
“…หน้าพระทนต์บนล่างห่างหัก ดวงพระพักตร์เหี่ยวเห็นเส้นสาย…”
 
เจ้าจอมทับทิมนั้นชอบพอกับพระครูปลัดใบฎีกา ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช(สา)อยู่แล้ว ย่อมไม่ยอมทนอยู่กับตาเฒ่าฟันฟางหักหมดปาก จึงหนีไปกับคู่รัก แต่หนีไม่พ้น ถูกรัชกาลที่ ๔ จับฆ่าทั้งคู่ เหตุการณ์นี้นางแอนนา เลียวโนเวนส์เขียนเอาไว้ มีคนจำนวนมากไม่เชื่อว่าจริง แต่ก็ไม่เห็นมีใครยกหลักฐานมาพิสูจน์ว่าไม่จริงอย่างไร ส. ธรรมยศ นักคิดที่สำคัญคนหนึ่งวิจารณ์ว่า นางแอนนาเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระจอมเกล้าไว้ ๘๐,๐๐๐ กว่าคำ แต่ผู้คัดค้านทั้งหลายเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ถึง ๒,๐๐๐ คำ ทั้งไม่มีสาระเพียงพอที่จะลบล้างถ้อยคำของนางเลียวโนแวนส์เลย
 
ความจริงแล้วมีนางสนมกำนัลเอาใจออกห่างจากกษัตริย์ตลอดมามากมาย ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๔ เอง ก็มีการฆ่าฟันเจ้าจอมที่เป็นชู้ รวมทั้งชายชู้อีกหลายครั้ง เช่น ในกรณีของพระยากลาโหมราชเสนา(ทองอิน) เป็นชู้กับเจ้าจอมวันทา ของวังหน้ารัชกาลที่ ๑
 
(๒๑) หรือกรณีของบุตรชายเสนาบดีผู้ใหญ่แห่งตระกูลบุนนาคในรัชกาลที่ ๓ และกรณีของพระอินทรอภัย ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนในช่วงหลังรัชกาลที่ ๔ นั้น การฆ่าสตรีในวังก็ยังไม่หมดไป เพียงแต่คราวนี้ผู้ตายมิใช่สนม หากเป็นพระองค์หญิงเยาวลักษณ์ธิดาองค์โตของพระองค์ เพราะไปรักใคร่กับสามเณรรูปหนึ่งของวัดราชประดิษฐ์ 
 
(๒๒) ชื่อโต ทำให้ฝ่ายชายต้องถูกประหารชีวิต และฝ่ายหญิงถูกเผาทั้งที่ยังไม่ทันตายสนิท ก็ถูกเผาทั้งเป็นเสียแล้ว
เหตุที่นางสนมมีชู้กันมากเช่นนี้ ก็เพราะไม่อาจทนมีชีวิตอยู่ในวังหลวงหรือฮาเร็มของกษัตริย์ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่กดดัน ไม่มีเสรีภาพ จะไปไหนมาไหนโดยอิสระก็ไม่ได้ แม้กระทั่งนางกำนัลของพระสนม ถ้าหนีออกจากวังจะต้องได้รับโทษอย่างหนัก
 
(๒๓) นอกจากนี้ยังต้องตกอยู่ในภาวะที่เก็บกดในเรื่องเพศ ซึ่งปุถุชนทั่วไปจะต้องมีอีก นางสนมกำนัลจำนวนมากต้อง “เล่นเพื่อน” เพื่อระบายอารมณ์ ดังจะศึกษาได้จากวรรณกรรมเรื่องหม่อมเบ็ดสวรรค์ ที่แต่งโดยคุณสุวรรณ์ กวีหญิงผู้โด่งดังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งได้สะท้อนภาพของราชสำนักแห่งจักรีวงศ์ อันน่าเกลียดออกมาให้ประชาชนเห็นอย่างกะจะแจ้ง
น่าสังเกตว่าการ “เล่นเพื่อน” ในวังมีมากจนรัชกาลที่ ๔ ก็กลัวว่าลูกสาวของตนจะเล่นเพื่อน ทั้งนี้น่าจะเพราะรู้ดีว่า สตรีชั้นสูงในวังมักไม่มีผัว ด้วยสตรีสูงศักดิ์จะแต่งงานกับชายที่ต่ำศักดิ์กว่าไม่ได้ 
(๒๔) จึงถึงกับอุตส่าห์เขียนจดหมายสั่งลูกสาวทุกคนไม่ให้”เล่นเพื่อน”
 
เมื่อกล่าวถึงเพียงนี้ ขอย้อนถามผู้ที่ปกป้องรัชกาลที่ ๔ จนเกินขอบเขตว่า ก็ในเมื่อมีการฆ่าเจ้าจอมที่เอาใจออกห่างกษัตริย์แก่ ตลอดมาเช่นนี้แล้ว ทำไมการฆ่าเจ้าจอมทับทิมจะเกิดขึ้นไม่ได้เล่า
เมื่อกล่าวถึงบรรดาสนมนางกำนัลรุ่นเด็กแล้ว ไม่กล่าวถึงบรรดาเจ้าจอมที่มีอายุมากบ้างก็จะมองดูชีวิตแต่งงานของรัชกาลที่ ๔ ไม่ครบทุกด้าน ปกติแล้วเจ้าจอมที่มีอายุมากของพระองค์นั้นจะถูกมองเป็นของเก่าแก่ ที่เขรอะไปด้วยสนิม ต้องถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง จึงมีความรู้สึกเก็บกดไม่ต่างไปจากเจ้าจอมวัยรุ่นทั้งหลาย ชีวิตของเจ้าจอมมารดาน้อยที่อยู่กินกับรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ขณะที่มิได้บวชเป็นพระ นับเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ การที่เจ้าจอมมารดาน้อยเห็นรัชกาลที่ ๔ หมกมุ่นอยู่เฉพาะกับเจ้าจอมหม่อมห้ามสาวๆ ทำให้เจ้าจอมมารดาน้อยได้รับความขมขื่นและน้อยอกน้อยใจมาก ดังนั้น วันหนึ่งเจ้าจอมมารดาน้อยจึงลงเรือเก๋งสั่งให้นายท้ายเรือ พายเรือไปเทียบกับเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๔ หน้าวัดเขมา นนทบุรี จนได้เห็นพระองค์ห้อมล้อมไปด้วยนางสนมเด็กเสนอหน้าราวดอกเห็ด ก็เลยให้ข้าหลวงที่ไปด้วย หัวเราะฮาๆเย้ยหยัน รัชกาลที่ ๔ กลับโกรธ หาว่าเจ้าจอมมารดาน้อย “ตามมาล้อต่อหน้านางสนมใหม่ๆสาวๆ”
(๒๖) จึงให้จับเอาตัวไปขังไว้ในวังหลวง เจ้าจอมมารดาน้อยอ้างว่า “จะตามไปกรุงเก่าด้วย”
 
(๒๗) พระองค์ไม่ฟังเสียง กลับนึก อยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน…”
(๒๘) (เจ้าจอมมารดาน้อยเป็นหลานพระเจ้าตากสิน) จึงไม่ยอมยกโทษให้ เจ้าจอมมารดาน้อยผู้นั้นต้องติดคุกสนมจนตาย แล้วถูกนำศพไปเผาที่วัดตรีทศเทพ ไม่ได้เข้าเมรุกลางกรุงเหมือนเขา
 
(๒๙) ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะที่รัชกาลที่ ๔ บวชอยู่ ไร้อำนาจ เจ้าจอมมารดาน้อยเป็นผู้อุปัฏฐากส่งสำรับเช้าเพลด้วยความซื่อสัตย์ แม้ว่าทั้งตัวเองและลูกๆถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยศักดินาที่เป็นศัตรูของรัชกาลที่ ๔ อย่างไรก็ยอมทน(๓๐) พระองค์กลับไม่ยอมคิดถึงคุณงามความดีเลย
ด้วยเหตุนี้คุณกี ฐานิสสร อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงแต่งหนังสือวิจารณ์รัชกาลที่ ๔ ว่า “มิใช่ลักษณะบุรุษอาชาไนยหรือนารายณ์อวตารแบ่งภาคมาเกิด… ความจริงเป็นบุคลิกลักษณะของทศกรรฐ์อวตารแบ่งภาคมาเกิด หรือเป็นพระเจ้าเสือทีเดียว อันที่จริงละม้ายคล้ายจมื่นราชามาตย์ เผาวังทั้งเป็นเพื่อปรุงเป็นอาหาร สุนทรภู่ (ความจริงพระมหามนตรี (ทรัพย์)-ผู้แต่ง) แต่งกลอนเยาะเย้ยว่า มีบุญเหมือนเจ้าคุณราชามาตย์ ร้ายกาจเหมือนยักษ์มักกะสัน ฉะนั้น” (๓๑)
 
บางท่านอาจเห็นว่าคุณกี ฐานิสสร พูดจารุนแรงเกินไป แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่รุนแรงเลย ท่านผู้นี้เคยถูกพนักงานสอบสวนฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการวิจารณ์ดังกล่าว แต่ศาลก็ยกฟ้อง แสดงว่าทัศนะของคุณกี ฐานิสสรถูกเป้า ตรงประเด็น เป็นความจริงทุกอย่าง แม้แต่ศาลก็ไม่เห็นผิด
 
ผู้ที่มองเห็นเบื้องหลังของรัชกาลที่ ๔ อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ได้มีเฉพาะคนอย่างคุณกี ฐานิสสร ซึ่งมีชีวิตในยุคหลังเท่านั้น แม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) แห่งวัดระฆังยอดสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ในรัชกาลที่ ๔ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความมักน้อย(สมถะ) ก็ยังเคยเดินถือไต้ดวงใหญ่ เข้าวังหลวงในเวลาเที่ยงวัน ปากก็บ่นว่า “…มืดนัก….ในนี้มืดนัก มืดนัก…”
 
(๓๒)เมื่อพูดถึงรัชกาลที่ ๔ แล้ว ถ้าไม่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับพระปิ่นเกล้าน้องชายเลย ย่อมไม่อาจจะเห็นภาพของราชสำนักที่เต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่นได้ ปรากฏความตามจดหมายของรัชกาลที่ ๕ ถึงเจ้าฟ้าวชิรุณหิศเล่าว่า รัชกาลที่ ๔ กับพระปิ่นเกล้าไม่ค่อยจะกินเส้นกันเท่าใดนัก เพราะพระองค์ระแวงที่พระปิ่นเกล้ามีผู้นิยมมาก ทั้งพระปิ่นเกล้าเองก็มักจะกระทำการที่มองดูเกินเลยมาก
 
(๓๓)พระปิ่นเกล้าไม่ค่อยยำเกรงรัชกาลที่ ๔ กรมดำรงฯเล่าว่า พระปิ่นเกล้ามักจะล้อรัชกาลที่ ๔ ว่า “พี่หิตบ้าง พี่เถรบ้างและตรัสค่อนว่า แก่วัด” (๓๔) ส่วนรัชกาลที่ ๔ เองแม้ไม่อยากยกน้องชายขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ แต่ก็จำเป็นต้องทำ ทั้งนี้เพราะรู้ดีว่า มีผู้ยำเกรงพระปิ่นเกล้ากันมากว่าเป็นผู้มีวิชา มีลิ้นดำเหมือนพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ มิหนำซ้ำยังเหยียบเรือรบฝรั่งเอียง นอกจากนี้ยังมีทหารในกำมือมาก
 
(๓๕) และพระองค์รู้ดีว่า น้องชายก็อยากเป็นกษัตริย์เพราะว่า ขณะเมื่อรัชกาลที่ ๓ ป่วยหนักนั้น พระปิ่นเกล้าได้เข้าหาพี่ชายถามว่า “พี่เถร จะเอาสมบัติหรือไม่เอา ถ้าเอาก็รีบสึกไปเถอะ ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะเอา…”
(๓๖) พระองค์จึงตั้งพระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ เพื่อระงับความทะเยอทะยานของน้องชาย
แต่นานวันความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องทั้งสองคนก็ห่างเหินกันมากขึ้นทุกที รัชกาลที่ ๔ นั้นไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่มีเสียงเล่าลือไปในหมู่คนไทย ลาว อังกฤษ ว่าตนเองเป็นผู้ที่ “…ชรา คร่ำเคร่ง ผอมโซ เอาราชการไม่ได้ ไม่แข็งแรง โง่เขลา”
(๓๗) จนกษัตริย์ทนฟังไม่ได้ ต้องออกกฎหมาย ห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์พระกายของกษัตริย์ว่า อ้วน ว่าผอม ว่าดำ ว่าขาว ห้ามว่างามหรือไม่งาม
(๓๘) ในขณะที่มีเสียงเล่าลือเกี่ยวกับพระปิ่นเกล้าในทางตรงข้าม เช่น มีผู้เล่าลือกันทั่วไปว่า “…วังหน้าหนุ่มแข็งแรง…..ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี….”
(๓๙) ข้อที่สร้างความชอกช้ำระกำใจให้กับพระองค์ที่สุดคือการที่พระปิ่นเกล้าไปไหนก็ “ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที” แต่พระองค์มิเป็นเช่นนั้นเลย จึงริษยาและบ่นเอากับคนที่ไว้ใจว่า “…ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่า ชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแพลงรัง….”
(๔๐)ต่อมาพระปิ่นเกล้าก็สวรรคต แต่การสวรรคตของพระปิ่นเกล้ามีเบื้องหลังมาก ส.ธรรมยศ เขียนไว้ว่า
“ที่พระปิ่นเกล้าทรงสวรรคตด้วยยาพิษโดยพระเจ้ากรุงสยาม (รัชกาลที่ ๔) ทรงจ้างหมอให้ทำ….. ส.ธรรมยศอ้างหนังสือ An English Governor and the Siamese Court ที่เขียนโดยมิสซิสแอนนาเลขานุการของรัชกาลที่ ๔ ว่า เป็นพฤติการณ์ที่รู้เห็นกันทั่วไป และนางใช้คำว่า พระเจ้ากรุงสยามเป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายชั่วช้ามาก และที่ร้ายแรงกว่าความชั่วช้าคือ ความผูกอาฆาต พยาบาทอย่างรุนแรง และทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระนิสัยอิจฉาริษยาอย่างมาก โดยยกตัวอย่างไว้มากมาย” (พระเจ้ากรุงสยาม, หน้า ๘๑, ๑๗๘)
และหลังจากที่พระปิ่นเกล้าสวรรคต รัชกาลที่ ๔ ก็ได้แก้แค้นคนทั้งปวงที่นิยมพระปิ่นเกล้า ด้วยการบังคับให้พระนางสุนาถวิสมิตรา ลูกสาวของเจ้าชายแห่งเมืองเชียงใหม่มเหสีของพระปิ่นเกล้า ให้มาเป็นเจ้าจอมของตน แต่พระนางสุนาถวิสมิตราไม่ยอม จึงถูกจับกุมขังไว้ในวังหลวง แต่โชคดีที่หนีไปเมืองพม่าได้ในภายหลัง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar