บีบีซีไทยติดต่อไปที่โฆษกกองทัพอากาศ เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
กองทัพอากาศจ้างการบินไทยปรับปรุงห้องที่ประทับในเครื่องบินพระที่นั่ง มูลค่า 750 ล้านบาท
เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระบุว่ากองทัพอากาศเลือกให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการนำเสนอราคาจ้างปรับปรุงสภาพห้องที่ประทับพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องของเครื่องบินพระที่นั่งแบบ โบอิง 737-800 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
ประกาศดังกล่าวลงนามโดย พล.อ.ท.ภานุวัชร์ เปี่ยมศรี เจ้ากรมช่างอากาศ และประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ
"ตามที่ กองทัพอากาศได้มีโครงการ จ้างปรับปรุงสภาพห้องที่ประทับพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องของ บ.พระที่นั่งแบบ โบอิง737-800 หมายเลข HS-MVS โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 1 งาน ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (ส่งออก, ขายส่ง, ขายปลีก, ให้บริการ, ผู้ผลิต) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 750 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวง"
นอกจากนี้ในเอกสารที่เกี่ยวข้อง "ตารางวงเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรและรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง" ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการคือ กรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ มีวงเงินประมาณที่ได้รับจัดสรร 112 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากราคากลางจาก บมจ. การบินไทย และผู้รับผิดชอบกำหนดราคากลางประกอบด้วย น.อ. ชณัฐ วงศ์ตลาดขวัญ น.อ. ชัชกวิน อ้นอิ่ม และน.อ. สมบูรณ์ ผลสุวรรณ์
บีบีซีไทยติดต่อไปที่โฆษกกองทัพอากาศ เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนรายงานถึงการเผยแพร่เอกสารราคากลางการใช้งบประมาณปรับปรุงห้องน้ำเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ วีวีไอพี A340-500 รหัส HS-TYV จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 54.43 ล้านบาทของกองทัพอากาศ ซึ่งสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต่อมากองทัพอากาศได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารจริง และเป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์กรมช่างอากาศ ที่ประกาศตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมระบุว่ามูลค่าการปรับปรุงห้องน้ำ 54.43 ล้านบาทถือว่าไม่ได้แพงไปกว่าราคาท้องตลาดและยังสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ดัดแปลงอากาศยานที่มีการเปรียบเทียบราคาไว้อย่างสมเหตุสมผลด้วย
"วิหคตองห้า"
จากข้อมูลเว็บไซต์ Jetphotos.com ระบุว่า เครื่องบินที่มีเลขทะเบียน HS-MVS มีอายุการใช้งานมาแล้ว 14 ปี 7 เดือน โดยครั้งแรกเครื่องบินลำนี้มีเลขทะเบียน HS-TYS ส่งมอบแก่กองทัพอากาศในเดือนเม.ย. 2550 ขณะที่รายงานของเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2559 ระบุว่า วันที่ 20 เม.ย. 2550 เครื่องบิน โบอิง737-800 หมายเลขเครื่อง 55-555 ของกองทัพอากาศที่จัดซื้อจากบริษัทโบอิงเดินทางมาจากเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตันถึงสนามบินกองบัญชาการกองทัพอากาศที่ดอนเมือง เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ไทยรัฐออนไลน์รายงานอีกว่า เครื่องบินพระที่นั่งลำนี้มีการกำหนดการติดตั้งอุปกรณ์ทุกชนิด เพื่อความถูกต้องในเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำ การสร้างและการใช้งานอย่างเหมาะสม กองทัพอากาศได้เรียนเชิญปรึกษาสมุหราชองครักษ์เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และความสมพระเกียรติ นอกจากนี้กองทัพอากาศยังได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทการบินไทยที่ช่วยดูแลเกี่ยวกับการกำหนดและเลือกอุปกรณ์ในส่วนของการบริการและการซ่อมบำรุงอีกด้วย
ต่อมาในวันที่ 1 พ.ย. 2560 เครื่องบินพระที่นั่งลำดังกล่าวได้เปลี่ยนเลขทะเบียนมาเป็น HS-MVS ทั้งนี้ เครื่องบินพระที่นั่งลำนี้เคยถูกเรียกขานอีกตามเลขเครื่องว่า "วิหคตองห้า"
ส่องแผนความต้องการ 10 ปี ทอ. งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 4.25%
เอกสารสมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์สู่สังคมและประชาชนไทย เพื่อให้เข้าใจว่า กองทัพอากาศวางแผนใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าอย่างไร รวมทั้งแนวความคิดความต้องการของกองทัพอากาศในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในอนาคต รวมไปจนถึงความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ
กองทัพอากาศระบุในส่วนสถานการณ์งบประมาณของกองทัพอากาศว่า ตั้งแต่ปี 2553 - 2563 งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี คิดเป็นเพียง 0.266% ต่อจีดีพี ส่วนในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 0.24% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้ว่ากองทัพอากาศจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่ละปีแต่แนวโน้มอัตราส่วนต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแผนความต้องการระยะ 10 ปีข้างหน้า (2564 -2573) กองทัพคาดการณ์งบประมาณเพิ่มขึ้น 4.25% ต่อปี โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมด้านงบประมาณ
ที่มา: เอกสารสมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ. 2563
เปิด 2 โครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ
ในรายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่าตามแผนความต้องการระยะ 10 ปี ได้กำหนดโครงการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ โดยมีอย่างน้อย 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งบุคคลสำคัญ 2 โครงการ คือ
1. งบประมาณประจำปี 2567: โครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ โดยจะจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะจำนวน 1 เครื่องพร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ ระบบส่งกำลังบำรุงและการฝึกอบรม โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2567 - 2569)
2. งบประมาณประจำปี 2569: โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งบุคคลสำคัญ โดยจะจัดหาเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะจำนวน 3 เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ ระบบส่งกำลังบำรุง และการฝึกอบรม ใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี (2569-2571)
ทั้งนี้ผลลัพธ์ของโครงการทั้งสองคือ คือ การรับ-ส่งเสด็จในขบวนพระราชดำเนินและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อย่างสมพระเกียรติ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar