"ฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ติดนะครับ มันติดแต่มันติดยาก" คือสิ่งที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. ยุติธรรมกล่าวกับผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษมีนบุรีซึ่งเป็นเรือนจำนำร่องที่ผู้ต้องขังได้รับการฉีดวัคซีนซีโนแวคเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
สถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน 3 แห่ง ในเขตบางแค พบผู้ติดเชื้อแล้ว 23 ราย โดยเป็นการติดเชื้อจากผู้ดูแล
โควิด-19: สถานดูแลผู้สูงอายุ 3 แห่ง คลัสเตอร์ระบาดใหม่ของ กทม. พบติดเชื้อแล้ว 23 ราย
สถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน 3 แห่งในเขตบางแค กลายมาเป็นหนึ่งในกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยรายใหม่แล้ว 23 ราย ตามการรายงานสถานการณ์ประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) วันนี้ (24 พ.ค.)
คลัสเตอร์ของสถานดูแลผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 32 คลัสเตอร์ของ กทม. จากการพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนใน 26 เขต นอกเหนือจากคลัสเตอร์ในสถานที่ เช่น ตลาดสด แคมป์คนงานก่อสร้าง และสถานประกอบการคอลเซ็นเตอร์
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษก ศบค. ระบุว่าวันที่ 24 พ.ค. กรุงเทพฯ พบเพิ่มอีก 2 คลัสเตอร์ คือ พื้นที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเขตทุ่งครุ และสถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน 3 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องติดตามเป็นพิเศษด้วยเป็นผู้ป่วยเสี่ยงสูง
"การสอบสวนโรคพบว่าเริ่มต้นติดที่ผู้ดูแล 3 ท่าน หลังจากนั้นพอมาดูแลผู้สูงอายุก็ทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้สูงอายุทั้ง 3 แห่ง" พญ.อภิสมัยระบุ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าในวันพรุ่งนี้จะมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้
ผู้ช่วย โฆษก ศบค. ระบุว่ากรณีสถานดูแลผู้สูงอายุ ทาง ศบค. เน้นย้ำมาโดยตลอดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถึงการดูแลมาตรการภายในสถานที่
"ถ้าท่านเปิดกิจการดูแลผู้สูงอายุขอให้ทบทวนมาตรการอย่างเร่งด่วนและดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและอาจจะเกิดการเสียชีวิต"
นอกจากนี้รายงานของ ศบค. ยังระบุถึงคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด ได้แก่ คลัสเตอร์โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ที่ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรวมของจังหวัดสูงถึง 669 ราย (24 พ.ค.) ทำให้ตัวเลขสะสมสูงเป็นอันดับสอง รองจาก กทม.
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง ประจำวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,713 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ราย
กรุงเทพฯ พบใหม่ 2 คลัสเตอร์ เน้นย้ำการจัดการแคมป์ก่อสร้าง
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่การระบาดสูงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล พญ.อภิสมัย กล่าวว่า "ยังคงน่าหนักใจ" ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในพื้นที่จะมีการเดินทางข้ามเขตจังหวัดกันอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้เร็ว
จากข้อมูลเฉพาะในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังถึง 26 เขต 32 คลัสเตอร์ โดยวันนี้พบเพิ่มอีก 2 คลัสเตอร์ คือโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นลักษณะทาวน์โฮม และสถานดูแลผู้สูงอายุเอกชน 3 แห่ง ในเขตบางแค
สำหรับมาตรการในการจัดการที่สถานดูแลผู้สูงอายุ ได้สั่งการให้มีการตรวจเชิงรุกในผู้ที่อยู่ในสถานที่ดูแลทุกคน และให้แยกผู้ติดเชื้อที่รอไปโรงพยาบาลไว้คนละชั้นกับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ รวมทั้งห้ามการเข้าเยี่ยมของญาติ และกักตัวผู้ดูแลไม่ให้ออกนอกพื้นที่
ส่วนแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ได้มีการขอความร่วมมือบริษัทที่ดูแลการก่อสร้าง จัดการที่พักอาศัย โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ได้แก่ ห้องน้ำ ห้องสุขา จุดรับประทานอาหาร และการดูแลไซต์งานให้มีการจัดการเว้นระยะและจัดการพื้นที่รับประทานอาหารให้ปลอดภัย
คลัสเตอร์ใหญ่หลายจังหวัด
พญ.อภิสมัยกล่าวถึงผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่าตามข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค. ยังคงมีหลายคลัสเตอร์ที่ต้องติดตาม
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้รายงานข้อมูลของ จ.เพชรบุรี ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ในโรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 644 ราย ทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติ และยังมีการกระจายใน 8 อำเภอ
สถานการณ์ใน จ.สมุทรปราการ พบผู้ป่วยรายใหม่ 81 ราย ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมเดียวกัน ซึ่งวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) จะมีรายงานอย่างละเอียดต่อไป นอกจากนี้ยังมีรายงานคลัสเตอร์อื่น ๆ ดังนี้
- ชลบุรี พบผู้ป่วย 80 ราย จากโรงงานผลิตสายไฟ
- ปทุมธานี พบผู้ป่วย 14 ราย จากตลาดสี่มุมเมือง
- สมุทรปราการ พบผู้ป่วย 21 ราย จากโรงงาน 3 แห่ง
- ระนอง พบผู้ป่วย 30 ราย จากตลาดค้าอาหารทะเล
รายงานประจำวัน ติดเชื้อเพิ่ม 2,713 ราย เสียชีวิต 30 ราย
สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้
- พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,713 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,458 ราย เรือนจำ 206 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 49 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 132,213 ราย
- หากนับเฉพาะระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 103,350 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,311 ราย
- ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 45,307 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,169 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 406 ราย
- จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (951 ราย) เพชรบุรี (669 ราย) สมุทรปราการ (180 ราย) ชลบุรี (106 ราย) และนนทบุรี (92 ราย)
- ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 806 ราย คิดเป็น 0.61%
รายละอียดผู้เสียชีวิต 30 ราย
- กรุงเทพฯ 11 ราย, นครราชสีมา ราชบุรี จังหวัดละ 3 ราย, สมุทรปราการ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย, ปทุมธานี สกลนคร ตาก อยุธยา เชียงใหม่ สุรินทร์ ชัยภูมิ นนทบุรี ชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย
- ค่ากลาง อายุ 67 ปี (28-105 ปี)
- ปัจจัยเสี่ยง/โรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไต ผู้ป่วยติดเตียง ลมชัก
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 ราย ที่เสียชีวิตในสัปดาห์แรกของการรักษา เนื่องจากไม่ทราบว่าติดเชื้อและเข้ารักษาตัวในขณะที่มีอาการรุนแรงแล้ว
นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในผู้ติดเชื้อที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีประวัติสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามีความผิดปกติของปอดและมีจำนวนมากเกิด "ภาวะปอดแฟบ" ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต หรือต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน
นายกฯ ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2
วันนี้ (24 พ.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 2 ซึ่งห่างจากเข็มแรกที่นายกฯ ฉีดไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ประมาณ 70 วัน
นายกฯ เดินทางมาถึงสถาบันบำราศนราดูรเวลา 08.00 น. วัดความดันได้ 166/90 มิลลิเมตร พยาบาลเตรียมวัคซีนปริมาณ 0.5 ซีซี โดยมีนพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ฉีดให้
หลังจากฉีดเสร็จ นายกฯ มีอาการปกติดีและให้สัมภาษณ์ระหว่างนั่งพักดูอาการว่าเขามีความมั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนและอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นเช่นกัน จากนั้นอธิบดีกรมควบคุมโรคมอบ "วัคซีนพาสปอร์ต" ให้นายกฯ
"ผมมาฉีดเพราะผมไว้ใจในการตรวจสอบ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย มันอาจจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิต" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมทั้งอธิบายถึงแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลว่าจะต้องมีการปรับอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป ทั้งจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามา ผลการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ และสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ทำให้ต้องจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงก่อน
นายกฯ ยืนยันว่า "ทุกคนได้ฉีดแน่ ๆ" แต่พื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือมีวัคซีนน้อยก็ "ขอให้เข้มงวดกับตัวเอง" เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากมีอาการป่วยก็ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่าปกปิด-ปิดบัง พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเขาเข้าใจว่าหมอทุกคนหวังดี แต่ "ขอให้ฟังคำชี้แจงจากหมอในระบบ"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar