รมว.คลัง ระบุการกู้เงินครั้งนี้จะยังทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 58.56% ยังอยู่ในกรอบเพดานกรอบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60%
รัฐบาลชี้แจงเหตุจำเป็นต้องผ่าน พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 เยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระบุวงเงินกู้ก่อนหน้านี้ 1 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายครบถ้วนแล้วและเบิกจ่ายไปกว่า 80%
วันนี้ (25 พ.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในพ.ร.ก. ฉบับนี้ประกอบด้วย 9 มาตรา โดยสาระสำคัญคือเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.
รายละเอียดแผนงานและโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมมีดังนี้
- แผนงาน/โครงการแก้ปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 โดยมีกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมาย มูลค่า 30,000 ล้านบาท
- แผนงาน/โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย มูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท
- แผนงาน/โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย มูลค่า 170,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบายว่าเหตุผลของการกู้เงินเพิ่มเติมในครั้งนี้เพื่อที่จะรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก
พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน เบิกจ่ายไปแล้วราว 80%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้อธิบายถึงรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมาว่ามีการอนุมัติตามแผนงานและมีการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 79.88%
ทั้งนี้เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงการออก พ.ร.ก. เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาทแยกออกเป็น 3 กลุ่ม แบ่งเป็นแผนงาน/โครงการสาธารณสุขวงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานด้านเยียวยาประชาชนวงเงิน 550,000 ล้านบาท แผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท
ทว่าในช่วงที่ผ่านมาหลังจากดำเนินการได้ระยะหนึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีการโอนวงเงินกู้จากส่วนแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาที่มีการระบาด วงเงินของ พ.ร.ก. จะอยู่ที่แผนงานโครงการสาธารณสุขวงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานโครงการด้านเยียวยาประชาชนวงเงิน 685,000 ล้านบาท และกลุ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ 270,000 ล้านบาท
1. กลุ่มโครงการสาธารณสุข มีวงเงินอนุมัติไปแล้ว 25,825 ล้านบาท รองรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เรื่องการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดทำห้องความดันลบเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ การเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล มีวงเงินคงเหลืออยู่ 19,174 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอโครงการเพิ่มเติมสำหรับวงเงินที่เหลือแล้ว รวมทั้งการจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติม และอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค
2. แผนงานโครงการด้านเยียวยาประชาชน มีการปรับวงเงินแล้ว 685,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้วทั้งหมด 666,243 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเราไม่ทิ้งกันในปีที่ผ่านมา แผนงานช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มเปราะบาง และมีการอนุมัติแผนงานเพิ่มเติมเมื่อต้นปี 210,000 ล้านบาท โดยมีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 40 กว่าล้านคน
3. แผนงานกลุ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 270,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 125,000 ล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้านบาท อนุมัติไปแล้วกว่า 200 โครงการที่ลงไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยภาพรวมจากวงเงินคงเหลือ 144,846 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและการช่วยเหลือเยียวยากระตุ้นกำลังซื้อ รวม 4 โครงการ ที่จะดำเนินการในช่วง ก.ค. - ธ.ค.
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. กู้เงินฉบับที่ 2 เป็นไปตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ในการออกกฎหมายที่นอกจาก พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ สามารถออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมาได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน เป็นความต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตประเทศ ไม่อาจจะตั้งงบประมาณประจำปีได้ทัน
คาดกระตุ้นเศรษฐกิจใน 2 ปี ได้ 1.5%
สภาพัฒน์คาดการณ์อัตราการเติบโตสภาวะเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ระหว่าง 1.5- 2.5% ปรับลงมาตามผลกระทบของโควิด-19 ระลอกล่าสุด จากการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคโควิด-19 นี้ ทางรัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
"คาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น 1.5% จากกรณีฐานภายใน 2 ปีนี้ จากเงินกู้เพิ่มเติมที่เข้ามา"
นายอาคมระบุและว่า การกู้เงินดังกล่าวจะยังทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 58.56% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเพดานกรอบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60%
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar