ลูกชายเล่าว่า เมื่อทนายความถามถึงอาการป่วย เฮียซ้งไม่มีเรี่ยวแรงแม้แต่จะตอบรับ เพื่อนผู้ต้องขังจึงตอบแทนว่า "เฮียซ้งอาการไม่ดีมา 6-7 วันแล้ว แจ้งเจ้าหน้าที่่ไป แต่ก็ไม่มีใครสนใจ แล้วบอกว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น โดยให้ยาพาราฯ มากิน"
โควิด-19: โควิดระบาดในคุกจะจัดการได้ด้วยวิธีไหน ถอดประสบการณ์หมอคุมระบาดในห้องกัก ตม.
- ธันยพร บัวทอง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เพียงไม่กี่วันในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2564 คลัสเตอร์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำกว่า 10 แห่งในหลายจังหวัด มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 10,000 ราย โดยสถานการณ์หนักสุดอยู่ที่เรือนจำและทัณฑสถานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือนจำขนาดใหญ่อย่างที่ จ.เชียงใหม่
จากผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบในการระบาดสองระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้กรมราชทัณฑ์ต้องรับมือกับจำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเป็นหลักหมื่น เริ่มต้นจากผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกที่พบไม่ถึงร้อยคนในแดนเด็ดขาด เรือนจำแห่งหนึ่งช่วงต้นเดือน เม.ย. ต่อด้วยการพบกลุ่มก้อนใหญ่หลักหมื่นจากการตรวจเชิงรุก 100% ในช่วงต้นเดือน พ.ค. แม้ทางกรมราชทัณฑ์จะได้มีการขยายช่วงเวลากักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่จาก 14 วัน เป็น 21 วันแล้วก็ตาม
สถานการณ์เช่นนี้อธิบายได้ว่า หากไม่มีการค้นหาเชิงรุกก็จะไม่พบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้ (19 พ.ค.) กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ตัองขังติดเชื้อเพิ่ม 1,117 ราย รวมยอดสะสม 12,767 ราย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พบการติดเชื้อกลุ่มใหญ่ในเขตคุมขังของเรือนจำในการระบาดระลอกล่าสุด แต่เคยมีกรณีพบผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ติดเชื้อกลุ่มใหญ่จำนวน 120 คนมาแล้วในเรือนจำนราธิวาสเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ภายในศูนย์กักที่คุมขังบุคคลลักลอบเข้าเมืองของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็พบการระบาดกลุ่มใหญ่ เช่นที่ ตม.บางเขน และปีที่แล้ว ที่ห้องกัก ตม.สะเดา จ.สงขลา
"ผมคิดว่าอัตราติดเชื้อมันสูงอยู่แล้ว ด้วยสภาพที่แออัด ด้วยลักษณะทางกายภาพของเรือนจำ ถ้าเราตรวจก็เจออยู่แล้ว" นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ที่ผ่านประสบการณ์ควบคุมการระบาดและรักษาผู้ป่วยโควิดที่ห้องกัก ตม.สะเดา เมื่อเดือน เม.ย. 2563 ระบุ
จะดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนหลายร้อยหลายพันคนในนั้นได้อย่างไร ในทัศนะของนายแพทย์จากสงขลารายนี้มองว่า "ยิ่งมากยิ่งง่าย" และเห็นว่า "เปอร์เซ็นต์ (ผู้ติดเชื้อ) เยอะ ๆ สามารถซีล (จำกัดพื้นที่) ได้เลยและจะทำให้จัดการได้เร็ว" แต่มีข้อพึงระวังคือ ต้องดึงผู้ป่วยกลุ่มพิเศษแยกออกมาต่างหาก
"เราซีลข้างในเอาอยู่ แต่จัดระบบโลจิสติกส์ (การขนส่งและจัดการอุปกรณ์) ให้พร้อม จัดระบบการดูแลบุคคลเปราะบาง และจัดการทางการแพทย์ดูแลคนกลุ่มนี้ เช่น มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ กลุ่มตั้งครรภ์ และจัดให้ออกมาอยู่อีกบริเวณที่กักกันชัดเจนในเรือนจำ รวมทั้งดูคนป่วยที่มีอาการ"
จากประสบการณ์รับมือการติดเชื้อในห้องกัก ตม.เมื่อปีที่แล้ว นพ.สุวัฒน์ยังมีข้อเสนออะไรอีกบ้างในการควบคุมการระบาดในเรือนจำและรักษาผู้ต้องขังที่ติดเชื้อในเรือนจำที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้
บทเรียนจากห้องกัก ตม.
ย้อนกลับไปปีที่แล้ว การระบาดภายในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สะเดา จ.สงขลาในครั้งแรกพบผู้ต้องกักติดเชื้อ 42 ราย ผ่านไปอีก 2 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 18 ราย
นพ.สุวัฒน์เล่าว่า วิธีการจัดการในเวลานั้นคือการแยกผู้ที่ติดเชื้อออกไปรักษาในโคฮอร์ทวอร์ด (cohort ward - หอผู้ป่วยแยกโรค) 2 แห่ง
"ตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้มากพอ เราก็พยายามแยกผลลบออกไป แต่ปรากฏว่าพอเราติดตามสักระยะหนึ่ง คนที่ผลลบพอสว็อบ (เก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ) ใหม่ก็กลายเป็นบวก บอกได้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่เชื้อจะฟักตัวหลังจากตรวจรอบแรก"
นพ.สุวัฒน์เล่าว่าเมื่อแยกผู้ต้องกักที่ยังไม่ติดเชื้อออกไปอยู่อีกที่และตรวจหาเชื้อซ้ำในอีก 7 และ 14 วันต่อมา พบว่าผลตรวจเป็นบวก เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มีการแยกกลุ่มผู้ต้องขัง เนื่องจากโดยลักษณะการอยู่ร่วมกันในห้องกักมีการติดเชื้ออยู่แล้ว ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยสามารถอยู่รวมกันได้และจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เกิดขึ้น
ส่วนการดูแลผู้ติดเชื้อในเรือนจำในขณะนี้ กรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมโรค ใช้วิธีการ "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า (Bubble and seal)" และตอนนี้มีความพยายามในการแยกแดนผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ผลตรวจยังเป็นลบ
"เราพยายามให้เกิดการแยกแดนที่ชัดเจน ว่าแดนนี้เป็นการติดเชื้อ ตอนนี้ก็เริ่มทำในหลายพื้นที่" นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุในรายการของ ศบค. วานนี้ (18 พ.ค.)
แยกผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง
นพ.สุวัฒน์ระบุว่า สภาพการณ์ในเรือนจำที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ๆ ขณะนี้ไม่น่าจะต่างกับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องกัก ตม. เมื่อปีที่แล้วมากนัก แต่จุดสำคัญคือการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
"ตอนนั้นด้วยข้อจำกัดของสถานที่ แม้กระทั่งออกซิเจนยังยากที่จะเอาเข้าไป ก็มีการตกลงกัน โดยให้ไปประเมินก่อน ปอดบวม ขออนุญาตไม่ให้อยู่เลยข้างใน ให้ไปรักษานอกศูนย์กักฯ ติดต่อ รพ. ให้เข้าไปแอดมิท หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีความเสี่ยง เอาออกไปอยู่อื่นก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์เรียบร้อยค่อยย้ายกลับมา"
วิธีนี้ถูกนำมาใช้ในการรับมือการระบาดในเรือนจำในขณะนี้แล้วเช่นกัน โดยรองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้แยกผู้ติดเชื้อที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตออกมาเพื่อตรวจรักษาทันที
นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อผู้ป่วย "กลุ่มสีเหลือง" หรือกลุ่มที่มีอาการแต่ไม่รุนแรงและมีปัจจัยเสี่ยงอาการหนัก และจัดให้มีพื้นที่รักษาพยาบาลภายในเรือนจำโดยประสานให้หน่วยการแพทย์เข้าไปจัดตั้ง รพ.สนามรองรับ และกรมการแพทย์เข้าไปดูแลการรักษา เช่น การให้ยาต้านไวรัส
"ซูเปอร์สเปรดเดอร์" อาจไม่ใช่ผู้ต้องขัง
นพ.สุวัฒน์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรยกระดับการเฝ้าระวังรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเข้าออกในหลาย ๆ แดน อาจนำความเสี่ยงเข้าไปได้
"บางทีเราพบว่าเราระวังในส่วนของผู้ต้องขัง แต่เราลืมไปว่าต้องระวังในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้วย" นพ.สุวัฒน์กล่าว
"เจ้าหน้าที่อาจจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่นำเชื้อจากแดนหนึ่งไปยังอีกแดนหนึ่งก็ได้ เพราะนั้นต้องยกระดับการดูแลเรื่องอนามัยส่วนบุคคลให้เต็มที่เลย การสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกัน การระวัง การเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยอื่น ๆ ต้องเข้มงวดมาก"
จากประสบการณ์ที่ศูนย์กักสงขลา นพ.สุวัฒน์ เล่าว่า ผู้กำกับการ ตม. เข้มงวดเรื่องเจ้าหน้าที่สูงมาก เจ้าหน้าที่ทุกคนที่จะเข้าไปอยู่ในเวรยามในขณะนั้น ต้องมีรายงานในกูเกิลฟอร์มเป็นประจำ เช้านี้มีอาการอย่างไร วัดไข้ เป็นหวัดหรือไม่ ถ้าเป็นหวัดให้หยุดงาน หาคนทำงานแทน นอกจากนี้ยังกำหนดวันทำงาน 14 วัน แล้วหยุด 14 วัน เพื่อให้ปลอดภัย
"อันนี้เป็นการจัดระบบภายในองค์กร ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องยกระดับการดูแลอนามัยส่วนบุคคล การสวมใส่ชุดอุปกรณ์ที่ถูกต้อง และเข้าไปในจุดที่มีโอกาสสัมผัส เพราะบอกตรง ๆ ว่า หมอพยาบาลเข้าไปน้อยมาก เพราะมีเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ ด้วย แต่ถ้าจำเป็นเราก็เข้าไป"
สำหรับข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ติดเชื้อแล้ว 36 ราย ในเรือนจำ 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แห่งละ 6 คน
ความท้าทายในระยะแรกของทีมแพทย์สาธารณสุข
ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี บอกว่า ความท้าทายในช่วงแรก ในบทบาทของแพทย์และทีมสาธารณสุข เมื่อต้องเข้าไปรักษาคนในแดนกักเมื่อปีที่แล้ว คือ การไม่รู้โครงสร้างภายใน
"ตอนนั้นผมหลับตาผมนึกไม่ออกว่าหน้าตาของศูนย์กักเป็นยังไง มีกี่ห้อง ถ้าแออัดมาก ผมจะย้ายห้องได้ไหม เทียบกับสภาพเรือนจำ สมมติว่าเป็นแดนที่มีผู้ต้องขังหรือนักโทษที่มีความเสี่ยงสูงทั้งในแง่ของคดี หรือความมั่นคง มันมีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่ตามมา อันนี้ต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างทีมแพทย์สาธารณสุขกับทีมของเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์"
ในมุมมองทางการแพทย์มีข้อเสนอแบบนี้ ทางฝ่ายศูนย์กักทำได้แค่ไหน ต้องแลกเปลี่ยน
"ผมแลกเปลี่ยน (กับเจ้าหน้าที่ ตม.) ตลอด เช่น ผมว่าห้องนี้มันแน่นไปนะ ขยับได้ไหม เกลี่ยห้องได้ไหม ทำให้มันแออัดน้อยลงได้ไหม หรือมีที่อื่นที่จะกักตัวได้ไหม เขาก็ต้องฟังเรา ก็คุยกัน เจ้าหน้าที่ก็เคลียร์ห้องที่เป็นห้องเก็บของเดิมมาให้ ต้องใช้ความร่วมมือกันมาก ๆ"
หมอสุวัฒน์ย้อนการทำงานให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้นต้องมีการระดมคนเข้าไป ทั้งทีมที่เข้าไปจัดระบบสุขาภิบาล ซึ่งตอนดำเนินการที่ศูนย์กัก ตม.สะเดา มีปัญหาเรื่องการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี ก็มีกลุ่มวิศวกรอาสาเข้ามาติดตั้งพัดลมดูดอากาศ นอกจากนี้ต้องมีทีมเอ็กซเรย์เข้าไปเอ็กซเรย์ปอดว่ามีการติดเชื้อลงไปที่ปอดหรือไม่ และเตรียม "คน" ซึ่งก็คือ ตำรวจ ตม. ถ้าเทียบกับเรือนจำ นพ.สุวัฒน์ เห็นว่า ต้องเข้าไปเตรียมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเป็นคนหลักที่จะดูแลผู้ป่วย
"และที่สำคัญกว่านั้น เราต้องเตรียมคนที่เป็นอาสาสมัครที่พวกเขา (ผู้ต้องขัง) จะดูแลกันเอง ที่ศูนย์กักเรามีอาสาต่างด้าว ผมเชื่อว่าในเรือนจำมีอาสาสมัครอยู่แล้ว คนเหล่านี้มีบทบาทคือไปให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด"
ต้องเร่งฉีดวัคซีน
ความสำคัญของวัคซีนน่าจะเป็นคำตอบของการควบคุมการระบาดในเรือนจำในขณะนี้ได้ ทั้งในส่วนของผู้ต้องขังและคนที่ทำงานในเรือนจำ
ในส่วนของบุคลากรเจ้าหน้าที่เรือนจำ นพ.สุวัฒน์ เห็นความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่น้อยไปกว่าหมอพยาบาล จึงควรจะมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและเร็วที่สุด
ส่วนในกลุ่มผู้ต้องขังก็มีการรณรงค์จากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน อย่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่เปิดรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เสนอข้อเรียกร้องเร่งด่วนให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ ต้องจัดให้ผู้ต้องขัง นักโทษ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรือนจำอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ให้ได้ฉีดวัคซีนก่อน และได้รับโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ลดความแออัดด้วยมาตรการพักโทษ รวมถึงหยุดเอาคนเข้าไปเพิ่มในเรือนจำ
กรณีการเร่งฉีดวัคซีน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าเขาได้เตรียมเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังและผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อในทุกเรือนจำ ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน
คุกจะรับมือได้อีกแค่ไหน
นพ. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (รท.) ฝ่ายปฎิบัติการ บอกว่าปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้เลยของ รท. คือการที่ยังต้องรับผู้ต้องขังรายใหม่
"ถ้าเรือนจำยังรับผู้ขังรายใหม่ เราจะบริหารจัดการด้วยความยากลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเอาผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไปแยกกักไว้ในส่วนใด ต้องเพิ่มพื้นที่การกักขึ้นไปอีก" รองอธิบดี รท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการให้ข้อมูลวันที่ 18 พ.ค. เขาบอกว่า ในสภาพปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ยังมีพื้นที่เพียงพอ แต่ยังติดในเรื่องการจัดเตรียม
"ตอนนี้งบประมาณ ทางราชทัณฑ์ได้ของบกลางไปกับรัฐบาลด้วยส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งเป็นงบภายในของราชทัณฑ์ เพื่อใช้จัดซื้อยาที่จำเป็น ทั้งยาในบัญชีและนอกบัญชียาหลักเพื่อรองรับกรณีที่ผู้ป่วยยกระดับอาการเป็นสีเหลือง"
นอกจากนี้รองอธิบดี รท. บอกว่ามีความพยายามในการลดจำนวนผู้ต้องขังลง โดยประสานให้ศาลชะลอการพิจารณาคดี ซึ่งมีการเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น ให้เปลี่ยนมาใช้การพิจารณาผ่านทางออนไลน์ เช่น ซูม หรือระบบคอนเฟอเร็นซ์ รวมทั้งหากผู้ต้องขัง/ผู้ต้องหาติดเชื้อแล้วในเรือนจำให้เลื่อนออกไป รวมทั้งเรื่องประกันตัว ก็จะให้ลดหลักทรัพย์ หรือยกเลิกหลักทรัพย์ในกรณีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ ถ้าเคสนั้นผลเป็นลบ
พื้นที่ที่ไม่สามารถขยายออกไปได้อีกแล้วในเรือนจำ มีข้อเสนอจากไอลอว์ว่า หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ควบคุมตัวบุคคลใดควรจัดหาสถานที่อื่นในการควบคุมตัวเพื่อคัดกรองและกักตัวเป็นการชั่วคราว เช่น ค่ายทหาร หรือสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานราชการที่ภาวะปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน
คาดตัวเลขติดเชื้อคงที่ แต่สถานการณ์เครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฎิบัติการ ระบุว่าใน 4 เรือนจำของพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่มีการตรวจคัดกรอง 100% แล้ว มีการระบาดในหลัก 25% 30% จนถึง 50%
นพ.วีระกิตติ์บอกด้วยว่า ส่วนของ รพ.ราชทัณฑ์ มีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2 ราย
สำหรับการดูแลผู้ป่วยสีแดง มีแผนจัดตั้งส่วนของการดูแลผู้ป่วยหนักหรือหน่วยไอซียูเคลื่อนที่ (โมบายไอซียู) ให้เร็วที่สุด แต่ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ เนื่องจากขณะนี้ รพ. ราชทัณฑ์มีอยู่เพียง 5-6 เครื่อง แต่เร็ว ๆ นี้ได้รับพระราชทานแบ่งมาให้ เนื่องจาก รพ.ราชทัณฑ์ หาได้ยากมาก "จะจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่มี ถ้าบริหารจัดการได้ จะรองรับผู้ป่วยได้ 10-15 ราย"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar