7 ปีรัฐประหาร: ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการ “ยึด-ผ่อน-รวบอำนาจ”

เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 คือจุดเริ่มต้นในการเข้ายึดครองอำนาจสูงสุดของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

ผู้นำรัฐบาลรายนี้อยู่กับคนไทยมาแล้ว 7 ปี และอาจอยู่ต่ออีก 2 ปี หากดำรงตำแหน่งครบวาระในปี 2566

จากเคยฮัมเพลง "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน" มาวันนี้ ผู้ถือครองอำนาจร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ อย่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และอดีตรองหัวหน้า คสช. บอกว่า "รัฐบาลอยู่มา 2 ปี ไม่ใช่ 7 ปี" และ "คสช. ก็ คสช. สิ นี่รัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญ"

จากวันนั้นถึงวันนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

จากยุค "ยึดอำนาจ" ถึงยุค "ผ่อนอำนาจ" ก่อน "รวบอำนาจ" อีกครั้งเมื่อเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เครือข่าย พล.อ. ประยุทธ์ปรับตัวอย่างไร

บีบีซีไทยรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้

7 ปี ใช้งบแผ่นดิน 20.8 ล้านล้านบาท

ไม่ว่ายุครัฐบาลหลังรัฐประหาร หรือหลังเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ต้องปรากฏตัวกลางรัฐสภาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อขอความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี ด้วยเพราะ "เงิน" คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน "งาน"

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ต่อสภา เมื่อ มิ.ย. 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ต่อสภา เมื่อ มิ.ย. 2563

พล.อ. ประยุทธ์จัดทำงบประมาณมาแล้ว 7 ครั้ง วงเงินรวม 20,428,000 ล้านบาท และเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท วาระ 1 ต่อสภาผู้แทนราษฎร สิ้นเดือน พ.ค. นี้

  • งบปี 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท
  • งบปี 2559 จำนวน 2,720,000 ล้านบาท
  • งบปี 2560 จำนวน 2,733,000 ล้านบาท
  • งบปี 2561 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท
  • งบปี 2562 จำนวน 3,000,000 ล้านบาท
  • งบปี 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท
  • งบปี 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ยังจัดทำ "งบกลางปี" เพิ่มเติม 3 ครั้งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการตรา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ วงเงินรวม 396,000 ล้านบาท

  • งบกลางปี 2559 จำนวน 56,000 ล้านบาท
  • งบกลางปี 2560 จำนวน 190,000 ล้านบาท
  • งบกลางปี 2561 จำนวน 150,000 ล้านบาท
money

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

หากนำงบประมาณแผ่นดินทั้งสองก้อนมารวมกัน คิดเป็นวงเงินรวม 20,824,000 ล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ใช้บริหารประเทศในห้วง 7 ปีที่ผ่านมา

7 ปี กู้เงินทะลุ 4.9 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณารายละเอียดในการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน พบว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้ขอกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณระหว่างปีงบประมาณ 2558-2564 เป็นวงเงินรวม 3,285,279.8 ล้านบาท และยังเตรียมขอกู้อีก 700,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแต่ละปี ต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณปีนั้น ๆ

  • ปี 2558 จำนวน 250,000 ล้านบาท คิดเป็น 9.7% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2559 จำนวน 390,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2560 จำนวน 552,921.7 ล้านบาท คิดเป็น 18.9% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2561 จำนวน 550,358.1 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2562 จำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท คิดเป็น 14.7% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ปี 2564 จำนวน 623,000 ล้านบาท คิดเป็น 18.9% ของงบประมาณทั้งหมด

นอกเหนือจากเงินกู้ที่อยู่ในกฎหมายงบประมาณปกติ รัฐบาลยังออกกฎหมายพิเศษคือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 18 พ.ค. ยังเห็นชอบให้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มอีกวงเงินไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาโควิดระบาดระลอกใหม่ หลังมีรายงานว่าเงินกู้ก้อนเดิมเหลือเพียง 16,525 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากได้อนุมัติแผนงาน/โครงการภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับแรกไปแล้ว 833,475 ล้านบาท (19 เม.ย. 2563-11 พ.ค. 2564) และยังกันไว้ใช้เยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในการระบาดระลอก 3 อีก 150,000 ล้านบาท

pm

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลา 50 นาทีในการนำเสนอหลักการของ พ.ร.ก.กู้เงิน ต่อสภาเมื่อ 27 พ.ค. 2563 โดยย้ำว่า "เป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" และ "เป็นทางเลือกสุดท้าย" ของรัฐบาล"

หากนำเงินกู้ทั้งตาม พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.ก.กู้เงิน มารวมกัน คิดเป็นวงเงินรวม 4,985,279.8 ล้านบาท

นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยนำประวัติการชำระหนี้เงินต้นของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มาคิดคำนวณ พบว่าชำระหนี้ได้เฉลี่ย 58,435 ล้านบาท/ปี นั่นเท่ากับว่าต้องใช้เวลาถึง 70 ปี จึงชำระหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาทที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ก่อไว้คืนได้หมด จึงไม่แปลกหากพรรคร่วมฝ่ายค้านจะพากันตั้งสารพัดฉายาให้ พล.อ. ประยุทธ์ อาทิ "นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา" หรือ "ผู้นำแห่งการก่อหนี้"

อย่างไรก็ตาม ประมุขฝ่ายบริหารไม่ได้ตอบโต้ใด ๆ ในระหว่างชี้แจงหลักการของกฎหมายงบประมาณต่อสภา เมื่อ ก.ค. 2563 โดยบอกเพียงว่า "ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ไม่อยากไปตั้งฉายาท่านใครก็แล้วแต่"

7 ปี เลือกใช้ 5 รมต. หน้าเดิม

ถึงขณะนี้ พล.อ. ประยุทธ์บริหารประเทศมากว่า 2,500 วันแล้ว ซึ่งนอกจาก "นายกฯ หน้าเดิม" ยังมีนักการเมืองอีก 5 คนที่เป็น "รัฐมนตรีหน้าเดิม" ที่อยู่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ถึง "ประยุทธ์ 2"

แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรค แต่รัฐมนตรีของ ครม. ประยุทธ์ 2/1 มาจากพรรคการเมืองเพียง 6 พรรค

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรค แต่รัฐมนตรีของ ครม. ประยุทธ์ 2/1 มาจากพรรคการเมืองเพียง 6 พรรค

แม้มีตัวหาร-ส่วนแบ่งอำนาจมากมายหลังการเลือกตั้ง 2562 เมื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคอันดับสองในสภา ต้องรวบรวมเสียงแข่งเพื่อชิงการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนปิดยอดรัฐบาลผสม 19 พรรค แต่ก็มีรัฐมนตรี 5 คนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ ได้กลับมาร่วมวงฝ่ายบริหารอีกครั้งภายใต้สัดส่วน พปชร. ทว่ากินโควต้ากลางของนายกฯ

ไม่ว่าในยุครัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ที่มีการปรับ ครม. 4 ครั้ง หรือ "ประยุทธ์ 2" ที่มีการปรับ ครม. ไปแล้ว 3 ครั้ง แต่รัฐมนตรีกลุ่มนี้ก็ยังเหนียวแน่นบนเก้าอี้ตัวเดิม เพื่อยึดกุมงานในกระทรวงความมั่นคง ต่างประเทศ และงานกฎหมาย

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ารั้งเก้าอี้ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตั้งแต่วันแรกและอยู่จนสิ้นอายุรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" (31 ส.ค. 2557-10 ก.ค. 2562) จากนั้นเหลือเพียงเก้าอี้รองนายกฯ รองก้นในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ ขอควบ รมว.กลาโหมเอง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 2,400 วัน ทั้งนี้เมื่อปี 2563 พล.อ. ประวิตรได้ขยายฐานอำนาจเข้าปกครองพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเต็มตัวในฐานะหัวหน้า พปชร. และเป็นรัฐมนตรีโควต้า "ลุงตู่ขอมา" เพียงคนเดียวที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

นายวิษณุ เครืองาม เป็น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 2,400 วัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย แรกเริ่มเดิมทีเข้ามาในตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ในรัฐบาล "ประยุทธ์ 1/1" ก่อนขยับชั้นเป็น รมว. ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 1/3" และได้เป็น รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 2,400 วัน

Cabinet

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC Thai

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น รมว.มหาดไทย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 2,400 วัน

พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เข้าดำรงตำแหน่ง รมช.กลาโหม ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 1/5" (23 พ.ย. 2560-10 ก.ค. 2562) และได้ไปต่อกับรัฐบาลภาค 2 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 1,200 วัน

7 ปี ของเส้นทางการเมือง-แรงต่อต้าน

การยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลายเป็นชายผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศในฐานะ "รัฏฐาธิปัตย์" เขาออกประกาศหัวหน้า คสช./คำสั่งหัวหน้า คสช./คำสั่ง คสช. หลายฉบับเพื่อควบคุม บังคับ สั่งการ และจัดการทางการเมืองในนามของการ "ปฏิรูป" แต่ถึงกระนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับ-ยอมตามผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร จึงปรากฏภาพการต่อต้านเป็นระยะ ๆ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเปิดเผยเมื่อ พ.ค. 2562 ว่าหัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศ/คำสั่ง รวม 456 ฉบับ โดย 246 ฉบับถูกยกเลิกหรือสิ้นผลหลังเสร็จภารกิจ และ 66 ฉบับถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 นั่นหมายความว่ามี 144 ฉบับที่มีผลบังคับใช้ จนกว่ารัฐสภาจะเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของมันหรือให้ยกเลิกไป

CG

ในแต่ละปีที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์วางโรดแมปการเมืองไว้อย่างไร และต้องเผชิญกับปัญหาและแรงต้านทางการเมืองอย่างไรบ้าง

2557

ภารกิจการเมือง:

  • กวาดล้างการเมือง "ขั้วอำนาจเก่า" ผ่านการออกคำสั่งเรียกรายงานตัวและห้ามทำกิจกรรมการเมือง, เรียกประชาชนฝ่ายเห็นต่างไป "ปรับทัศนคติ" รวมถึงไปเยี่ยมบ้าน/ที่ทำงาน จับกุม คุมขัง ตั้งข้อหา ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการในนามของการ "รักษาความสงบเรียบร้อย"
  • สร้างฐานอำนาจใหม่ผ่านเครือข่าย "แม่น้ำห้าสาย" ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ต่อมาตั้งชุดใหม่เป็น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ต่อมาตั้งชุดใหม่เป็น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.)
  • ประกาศโรดแมปปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดอง

แรงต้านทางการเมือง:

  • นักศึกษาและประชาชนบางส่วนแสดงออกในเชิงต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรก ๆ โดยครั้งหนึ่งนักศึกษากลุ่ม "ดาวดิน" ได้ "ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหาร" ต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ระหว่างลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 19 พ.ย. 2557 ซึ่งนายกฯ ควบหัวหน้า คสช. ตอบรับสิ่งที่เกิดขึ้นทันควันว่านึกว่าเป็นการแสดง "กระตั้วแทงเสือ" เพื่อต้อนรับตัวเขา
pm

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้นำเหล่าทัพ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สโมสรกองทัพบก สถานที่ที่ใช้พูดคุยปรองดองก่อนทหารจะประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557

2558

ภารกิจการเมือง:

  • จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทว่าหลังยกร่างจนแล้วเสร็จ กลับถูก สปช. ลงมติ "คว่ำกลางสภา" ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 ทิ้งวาทะ "เขาอยากอยู่ยาว" บอกใบ้จุดจบของร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้หัวหน้า คสช. ต้องเชื้อเชิญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนญ (กรธ.) ฉบับใหม่ "เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน"

แรงต้านทางการเมือง:

  • แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไปไม่ถึงชั้นประชามติ แต่ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ คสช. ในระหว่างทางว่าพยายาม "สืบทอดอำนาจ" ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ปิดกั้นการมีนายกฯ คนนอก และกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)
  • การตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของภาคประชาชนและสื่อมวลชน โดยที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ในฐานะประธานจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ก็เคยออกมายอมรับว่า "มีบุคคลแอบอ้างและการเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวจากโรงหล่อ" ทว่าหนึ่งปีหลังจากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับมีมติ "เอกฉันท์" ว่า "การดำเนินโครงการถูกต้องตามระเบียบทุกประการ ไม่พบอะไรผิดปกติ"

2559

ภารกิจการเมือง:

  • ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยในชั้นประชามติ 7 ส.ค. 2559 โดยอาศัยกลไกรัฐสื่อสารแต่ "ข้อดี" ของร่างรัฐธรรมนูญ
ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และอาสาสมัคร ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และอาสาสมัคร ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559

แรงต้านทางการเมือง:

  • การรณรงค์ "โหวตโน" ของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน และแกนนำ นปช. เช่นเดียวกับสองพรรคใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติด้วยคะแนน 61.35%

2560

ภารกิจการเมือง:

  • ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 และจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) รวม 10 ฉบับเพื่อเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง
  • ฟื้นการประชุม ครม. สัญจร และเดินสายพบปะประชาชนจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหยั่งกระแสนิยมของ "ลุงตู่"

แรงต้านทางการเมือง:

  • เกิดกระแสวิจารณ์และขุดคุ้ยบัญชีทรัพย์สินฯ ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปม "แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน" หลังรองนายกฯ รายนี้ยกมือขึ้นมาป้องแดดระหว่างรอถ่ายภาพหมู่ ครม.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 จึงเผยให้เห็นนาฬิกาหรูยี่ห้อริชาร์ดมิลล์ที่ข้อแขน ทว่าไม่ปรากฏในรายการทรัพย์สินฯ ที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ทั้งนี้ ป.ป.ช. ใช้เวลาตรวจสอบเป็นปี ๆ ก่อนสรุปว่า "เป็นการยืมคงรูป ไม่ใช่หนี้สินตามที่ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินฯ"
การถ่ายภาพหมู่ ครม. "ประยุทธ์ 5" เมื่อ 4 ธ.ค. 2560 นำมาสู่ปมร้อน "แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

การถ่ายภาพหมู่ ครม. "ประยุทธ์ 5" เมื่อ 4 ธ.ค. 2560 นำมาสู่ปมร้อน "แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

2561

ภารกิจการเมือง:

  • ใช้ "อำนาจพิเศษ" ตามมาตรา 44 จัดลู่ปูทางสู่การเลือกตั้ง ทั้งออกคำสั่งให้ทุกพรรคการเมืองยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคใหม่หมด ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ "ทุบฐานเสียง" ของพรรคการเมืองเก่า, ออกคำสั่ง "เซ็ตซีโร่ กกต."
  • ส่งรัฐมนตรีกลุ่ม "4 กุมาร" ในรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ไปเป็นหัวหอกในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อม ๆ กับเปิดปฏิบัติการ "ดูด ส.ส." จากพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมงาน
  • เตรียมวางฐานอำนาจในรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการคัดเลือก "ส.ว. เฉพาะกาล" 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.

แรงต้านทางการเมือง:

  • การชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารและเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งมีมากขึ้นหลังหัวหน้า คสช. เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมา 5 ครั้ง หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง"
  • เกิดพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งประกาศ "ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร"
ประชาชนร่วมกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ที่ลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน กทม. เมื่อ 27 ม.ค. 2561

ที่มาของภาพ, Jiraporn Kuhakan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนร่วมกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ที่ลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน กทม. เมื่อ 27 ม.ค. 2561

2562

ภารกิจการเมือง:

  • เก็บชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปให้ได้มากที่สุด และช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" โดย พปชร. สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 19 พรรคการเมือง สร้างสถิติใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แรงต้านทางการเมือง:

  • เกิดความขัดแย้งในการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองทั้งใน พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่เก้าอี้ ครม., เลขานุการ/ที่ปรึกษา รมต. และประธาน กมธ. ในสภา
  • ถูกตรวจสอบโดยฝ่ายค้านในสภาเป็นครั้งแรก ทั้งในการแถลงนโยบายของรัฐบาล, เสนอกฎหมายงบประมาณประจำปี, เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ปมนำ ครม. กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ท่ามกลางภาวะ "เสียงปริ่มน้ำ" ในสภา
elect

ที่มาของภาพ, NurPhoto via Getty Images

2563

ภารกิจการเมือง:

  • ดูดดึง ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ให้ย้ายมาอยู่ขั้วรัฐบาล หลังถูกยุบพรรคโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหา "เสียงปริ่มน้ำในสภา" ควบคู่กับการฝากเลี้ยง "งูเห่า" ในพรรคการเมืองอื่น ๆ
  • ทำทีสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาประชาชนบางส่วน ด้วยการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่าผ่านมาถึงปัจจุบัน รัฐสภายังไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสักฉบับ
  • รับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หวังใช้อำนาจตามกฎหมายออกมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งต่ออายุมาแล้ว 11 ครั้ง

แรงต้านทางการเมือง:

  • ถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรก ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน แต่ในที่สุดนายกฯ และ รมต. รวม 6 คน ก็รอดศึกซักฟอกไปได้ด้วยคะแนนโหวต "ไว้วางใจ" จากเสียงส่วนใหญ่ในสภา
  • มีการชุมนุมในรูปแบบ "แฟลชม็อบ" ของนักเรียนนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ลามไปต่างจังหวัด ก่อนพัฒนาเป็นขบวนการ "คณะราษฎร/ราษฎร" โดยชู 3 ข้อเรียกร้องร่วมกัน ได้แก่ 1) ให้ พล.อ. ประยุทธ์ และองคาพยพ ลาออก 2) รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
  • เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ทั้งความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการเศรษฐิกิจไม่ตรงจุด
mob

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิพร้อมใจกันเปิดไฟจากสมาร์ทโฟนเพื่อขับไล่นายกฯ โดยบรรยายว่าเป็นการทำความมืดมิดให้หมดไปจากสังคมไทย เมื่อ 18 ต.ค. 2563

2564

ภารกิจการเมือง:

  • รับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองและระลอกสาม โดย พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ริบอำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายรวม 31 ฉบับมาไว้ในมือตัวเอง หวังสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลยอมรับว่า "ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ จึงต้องใช้อำนาจพิเศษ" และเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม

แรงต้านทางการเมือง:

  • ถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไว้วางใจเป็นครั้งที่สอง ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน แต่ในที่สุดนายกฯ และ รมต. รวม 10 คน ก็ได้รับคะแนน "ไว้วางใจ" จากเสียงส่วนใหญ่ในสภาไปตามคาด
  • มีการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" อย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี ก่อนที่แกนนำ/แนวร่วม "ราษฎร" จะทยอยถูกจับกุมคุมขัง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมอย่างหนักที่ไม่ให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลยคดี 112 ในระหว่างการต่อสู้คดี
  • เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ทั้งการปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และการบริหารจัดการวัคซีนต้านโควิดที่นโยบายไม่ชัดเจนและกลับไปกลับมา จนทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น
covid

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

7 ปี หลุด 3 คดีในศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากความเคลื่อนไหวนอกสภา พล.อ. ประยุทธ์ยังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากทั้ง "ฝ่ายค้าน" และ "นักร้อง" ในการทำหน้าที่นายกฯ สมัยที่ 2 ตั้งแต่เรื่องคำพูด ตำแหน่ง ยันบ้านพัก

ทว่าทุกคดีที่ไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ศาลสั่งยกคำร้อง ก็ตีความว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ด้วยมติ "เอกฉันท์" ทุกคดี

11 ก.ย. 2562 จบ "คดีถวายสัตย์"

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ "ไม่รับคำร้อง" ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า "ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์"

court

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คดีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี พล.อ. ประยุทธ์นำ ครม. กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อ 16 ก.ค. 2562 ไม่ครบถ้วน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่

18 ก.ย. 2562 หลุด "คดีเจ้าหน้าที่รัฐ"

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

คดีนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ. ประยุทธ์ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่

2 ธ.ค. 2563 หลุด "คดีพักบ้านหลวง"

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว หรือที่รู้จักในชื่อ "คดีพักบ้านหลวง" เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)

cg

คดีนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่