สมบัติ ทองย้อย วัย 52 ปี เป็นคนแรกที่ตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์จากการโพสต์พระราชดำรัส "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ทางโซเชียลมีเดีย
ม.112: การ์ด "ราษฎร" ตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันฯ จากการโพสต์ข้อความ "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"
- กุลธิดา สามะพุทธิ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
พระราชดำรัส "กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับชายไทยคนหนึ่งที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ กลับกลายเป็นข้อความที่ทำให้ชายไทยอีกคนหนึ่งตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
นายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ด "คนเสื้อแดง" ที่อาสาทำหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ช่วงปี 2563 พร้อมด้วยทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยเดินทางมารับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการตามนัดหมายเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) หลังจากเลื่อนนัดฟังคำสั่งมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งนี้อัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายสมบัติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่าหลังศาลรับฟ้องคดี นายสมบัติถูกส่งตัวต่อไปยังห้องเวรชี้ระหว่างรอให้ทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล อัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว
ต่อมานายอาคม นิตยากรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาตามกำหนดนัดของศาลหรือคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด และได้กำหนดนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานสำหรับคดีนี้ในวันที่ 19 ก.ค. เวลา 09.00 น.
คดี "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ของนายสมบัติเป็นคดี ม.112 ที่น่าจับตาอีกคดีหนึ่งเนื่องจากนายสมบัติเป็นคนแรกที่ตกเป็นจำเลยคดี ม.112 จากการโพสต์พระราชดำรัสดังกล่าว ซึ่งเป็นวลีที่มีผู้นำมาโพสต์ในโซเชียลมีเดียและถูกนำมาใช้ในที่ชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" อย่างแพร่หลาย
นอกจากนายสมบัติแล้ว น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ "ทราย" นักแสดงสาวที่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกแจ้งข้อหา ม.112 โดยหนึ่งในพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนหยิบยกมาประกอบการแจ้งข้อหา น.ส.อินทิราคือการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เช่น "ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ" และ "กล้ามาก เลย นะเธอ" ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่าการนำถ้อยคำว่า "กล้ามาก" อันเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10 มาพูดซ้ำในเชิงล้อเลียน เสียดสี เป็นการล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์และทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ แต่อัยการยังไม่นัดหมายฟังคำสั่งคดี
"กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"
วันที่ 23 ต.ค. 2563 ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ บริเวณหน้ากองทัพภาคที่ 1 ถ.ราชดำเนินนอก
ระหว่างนั้น พระราชินีทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งในหมู่พสกนิกรสวมเสื้อสีเหลืองที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชายคนดังกล่าว ทราบภายหลังชื่อนายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ยืนชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัวระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ที่ย่านปิ่นเกล้าเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563
- ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
- ร.10 : "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ปฏิกิริยา 2 ฝ่ายหลังพระราชดำรัสในหลวง
- อิสระ ชูศรี มองขบวนการ “ราษฎร” ผ่านคำหยาบ ราชาศัพท์ และการกลับมาของคดี ม. 112
- ควิดระบาดในคุกจะจัดการได้ด้วยวิธีไหน ถอดประสบการณ์หมอคุมระบาดในห้องกัก ตม.
ต่อมานายฐิติวัฒน์ได้เผยแพร่คลิปเหตุการณ์ที่พระราชินีและในหลวงมีพระราชปฏิสันถารกับเขา โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะบนเฟซบุ๊ก พร้อมคำบรรยายว่า "ผมจะเป็นลมครับ พระองค์ท่านจำผมได้"
ในคลิปดังกล่าว พระราชินีตรัสว่า "คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมาก ๆ"
จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้พระดัชนีไปที่เขาแล้วทรงถามว่า "ใช่ไหม คนนี้" เมื่อพระราชินีตรัสตอบว่าเขาเป็นคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ต่อหน้ากลุ่มผู้ชุมนุม พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสกับนายฐิติวัฒน์ว่า "กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"
จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายฐิติวัฒน์อีกเล็กน้อย ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะตรัสอีกครั้งว่า "กล้ามาก ขอบใจมาก"
หลังจากคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากนำพระราชดำรัสของพระองค์มาเผยแพร่ซ้ำในบริบทต่าง ๆ กันและในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นข้อความในภาพหรือแฮชแท็ก อีกทั้งยังกลายเป็นวลีที่นำมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เช่น ในการปราศรัยบนเวที เขียนบนป้ายผ้าขนาดใหญ่ หรือเขียนบนอุปกรณ์ที่นำมาประกอบการชุมนุม
นอกจากนี้ประชาชนกลุ่มที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการอ้างถึงพระราชดำรัสนี้ด้วย เช่น นายฐิติวัฒน์ยังได้สักวลีดังกล่าวลงบนท่อนแขนขวาของเขาด้วย
สมบัติ ทองย้อย
นายสมบัติ ทองย้อย อายุ 52 ปี ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าเขาเป็นอดีตการ์ดของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 เมื่อเยาวชนจัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 เขาได้เข้าร่วมชุมนุมหลายครั้ง โดยมักจะเป็นอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมด้วย แต่ไม่เคยขึ้นเวทีหรือปราศรัยใด ๆ ทั้งสิ้น
วันที่ 14 ธ.ค. 2563 นายสมบัติได้รับหมายเรียกจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ ให้เดินทางมารับทราบข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระราชดำรัสและการเสด็จเยี่ยมประชาชนของกษัตริย์รัชกาลที่ 10
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีของนายสมบัติดังนี้
- ผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายสมบัติคือนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แจ้งความเอาผิดผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร 3 คน ในข้อหาร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามมาตรา 110 จากกรณี "ขัดขวางขบวนเสด็จ"
- นายศรายุทธกล่าวหานายสมบัติว่าโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กที่เป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์ บิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายใส่ความต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งหมด 3 ข้อความ หนึ่งในนั้นคือข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ว่า "#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ" ส่วนอีกสองข้อความมีเนื้อหาที่เข้าใจได้ว่ากล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรของในหลวงรัชกาลที่ 10
- พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ออกหมายเรียกนายสมบัติให้มารับทราบข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งนายสมบัติได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 แต่ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
- นายสมบัติได้รับการปล่อยตัวหลังรับทราบข้อกล่าวหา
นายสมบัติบอกกับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้ว่าเขาไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง จึงรู้สึกตกใจเล็กน้อยเมื่อได้รับหมายเรียก แต่ก็เผื่อใจไว้บ้างเนื่องจากเคยถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มราษฎรช่วงเดือน ก.ค.- ต.ค. มาแล้ว
"ผมเชื่อมั่นว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นก็เป็นข้อความที่คนใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้แต่พนักงานสอบสวนยังบอกผมในทำนองเดียวกันนี้ แต่เขาอ้างว่าเหตุที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเพราะหากไม่ดำเนินคดีจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายสมบัติเชื่อว่าคดีของเขาน่าจะเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู"
ล่าสุดวันนี้ (20 พ.ค.) นายสมบัติซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยหลังตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันฯ ว่าเขาพร้อมที่จะต่อสู้คดีและขอบคุณศูนย์ทนายฯ ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งดำเนินการเรื่องเงินประกันตัวซึ่งมาจาก "กองทุนราษฎรประสงค์" ที่ระดมเงินบริจาคสำหรับยื่นประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
"เงินมากขนาดนี้ ผมและครอบครัวคงไม่รู้ว่าจะหามาจากไหน" เขาบอกและให้ความเห็นว่าเขาอาจไม่ได้รับการประกันตัวและต้องถูกส่งเข้าเรือนจำเหมือนจำเลยคดี 112 คนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ถ้าหากว่าไม่มีเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงในเรือนจำ
นายสมบัติคาดว่าคดีของเขาอาจเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างพระราชดำรัส "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูว่าประชาชนจำนวนมากที่เผยแพร่ข้อความนี้จะถูกดำเนินคดีทั้งหมดหรือไม่ ทั้งฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยและฝ่ายปกป้องสถาบันฯ
ไม่มีองค์ประกอบความผิด
น.ส.คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่าคดีนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนแม้ไม่มีองค์ประกอบความผิด และการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ มองว่าการโพสต์วลี "เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ" ไม่มีองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งว่าด้วยการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ เพราะไม่ได้เป็นวลีที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายบุคคลที่ระบุในตัวบทกฎหมาย
น.ส.คอรีเยาะกล่าวเพิ่มเติมว่าในคดีอาญา ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด "จะตีความตามอำเภอใจไม่ได้"
"หลายคดีที่ผ่านมา อัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งที่มีเพียงแค่มีหลักฐานพอฟังได้ว่าได้กระทำความผิด ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะการที่จะฟ้องบุคคลใดให้ได้รับโทษทางอาญาต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขาได้กระทำความผิดจริง คดีอาญาต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่สามารถใช้ความรู้สึกส่วนตัวว่าคำพูดนี้ทำให้เสียหายดูหมิ่นเกลียดชัง" น.ส.คอรีเยาะกล่าว
เธอเห็นว่าหากอัยการสั่งฟ้องนายสมบัติจากการโพสต์วลีดังกล่าว ก็ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ว่าข้อความนี้ทำให้บุคคลที่อยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 112 ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายอย่างไร และมีความน่ากังวลว่าบุคคลอื่น ๆ ที่เคยนำวลีดังกล่าวมาใช้ก็อาจจะเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้ได้
เธอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าคนจำนวนมากนำวลีดังกล่าวมาใช้ในเชิงเสียดสี ซึ่งถือเป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบหนึ่งในสังคมที่ "พูดความจริงกันตรง ๆ ไม่ได้"
"เรื่องนี้จึงสะท้อนว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะให้คนถกเถียงในเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะได้โดยตรง คนจึงเลี่ยงไปใช้การเสียดสี และรัฐเองก็ใช้จุดอ่อนตรงนี้ย้อนกลับมาเล่นงานประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล" นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ กล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar