“โชคดีที่ในสภามีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ถ้าพูดข้างนอกมีปัญหาเหมือนกันล่ะ ผมเอาข้อเท็จจริงมาสู้ ไม่ได้เอาเรื่องโกหกบิดเบือนมาสู้ ผมพูดไม่ได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้วว่าจะไม่พูดโกหก...” พล.อ. ประยุทธ์ ฉุนขาดหลังฟังการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในสภานาน 10 ชม.
ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา
ประชุมสภา: ประยุทธ์ลั่น “ไม่โง่กู้ถึง 60% โดยผิดกฎหมาย” ส่วน ภท. ชี้ต้อง “กู้หน้านายกฯ-กู้ความเชื่อมั่น” ขณะถก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้าน
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นายกรัฐมนตรีตอบโต้อย่างดุเดือดหลัง "ถูกถล่มตั้งแต่เช้า" ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยืนยัน "ไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่มันผิดกฎหมายหรอก"
นี่ถือเป็นกฎหมายกู้เงินฉบับที่ 2 ที่รัฐบาลตราขึ้นในรูปแบบ พ.ร.ก. ซึ่งใช้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกกฎหมายไปก่อน แล้วค่อยมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในภายหลัง และเป็นอีกครั้งที่ตัวแทนฝ่ายบริหารใช้วาทะ "เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล"
ในช่วงเช้าจนถึงเย็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากติดภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล แต่มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาของ พ.ร.ก. ซึ่งมีเนื้อหา 9 มาตรา ทำให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เสนอให้นับองค์ประชุม 2 ครั้ง ในเวลา 15.54 น. และ 18.30 น. โดยให้เหตุผลว่านายกฯ และรัฐบาลไม่สนใจเข้าห้องประชุมสภาทั้งที่เป็นวาระสำคัญ
ต่อมาเวลา 19.05 น. พล.อ. ประยุทธ์ลุกขึ้นชี้แจงตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ด้วยน้ำเสียงอันดังและท่าทีไม่สบอารมณ์นัก โดยใช้เวลา 30 นาที โดยระบุว่าได้ติดตามการอภิปรายตั้งแต่เช้า พร้อมยืนยันว่าให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา ให้เกียรติทุกคนเสมอ แต่ก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย วันนี้ก็กลับมาตอบคำถามเดิม ๆ ตอบคำถามเก่า ๆ ชี้แจงไปแล้วก็ไม่ฟัง
"โชคดีที่ในสภามีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ถ้าพูดข้างนอกมีปัญหาเหมือนกันล่ะ ผมเอาข้อเท็จจริงมาสู้ ไม่ได้เอาเรื่องโกหกบิดเบือนมาสู้ ผมพูดไม่ได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้วว่าจะไม่พูดโกหก เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั่นคือผม" พล.อ. ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่ง
พล.อ. ประยทธ์ได้แจกแจงข้อกล่าวหา/ข้อทักทวงของ ส.ส. เป็นข้อ ๆ โดยบอกว่า "จำเป็นต้องพูดบ้าง เพราะถูกถล่มมาตั้งแต่เช้า" และ "เมื่อเช้าก็ไล่ผมเป็นหมูเป็นหมา การจะให้คนอื่นให้เกียรติ ก็ต้องรู้จักให้เกียรติคนอื่นเสียบ้าง"
- การเบิกจ่าย : "พยายามเร่งอย่างเต็มที่ ไม่ใช่อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ววันรุ่งขึ้นเบิก มะรืนจ่าย เป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างมีอีกเท่าไร ท่านไม่เคยทำหรืออย่างไร" และ "พอประชุมทบทวนก็หาว่าช้า ไม่ทบทวนก็บอกทุจริต ขอให้ไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรมแล้วกัน"
- จีดีพีหดตัว : "มีประเทศไหนไม่หดบ้าง สถานการณ์แบบนี้ก็หดลงทุกประเทศ เราจึงต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มีรายได้ในอนาคต รู้จักคำว่าอนาคตไหม"
- งบสาธารณสุข : "อนุมัติงบเงินกู้ไปแล้ว 4.4 หมื่นล้านบาท มีค่าวัคซีนด้วย ไม่ต้องกลัว ไม่ว่าจะตั้งงบประมาณไว้ที่ไหนก็แล้วแต่ รัฐบาลหาให้ได้เสมอ"
- อย่าเอาวัคซีนเป็นการเมือง : "ไม่เคยมองการเมืองเป็นเรื่องการทำงาน ผมให้เกียรติท่าน แต่บางครั้งการทำการเมืองอย่างเดียวมาก ๆ มันไปไม่ได้หรอก ผมเคารพนะ"
ผู้นำรัฐบาลยังบอกด้วยว่า พอนายกฯ ไม่อยู่ ก็บอกว่าไม่ฟัง แต่เวลานายกฯ พูด ก็ไม่อยู่กัน "พูดแล้วพูดอีกคำเดิม จำได้เข้ามานี่ จีดีพีลดลง ไอ้นี่ลดลง ไอ้นั่นลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ก็เพิ่มขึ้นตามเงินกู้ ถามว่า 5 แสนล้านบาทกู้ทีเดียวไหม ทยอยกู้ใช่ไหม มีกฎหมายทุกตัว ผมไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่มันผิดกฎหมายหรอก"
"ทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล" อีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงในรอบ 100 ปี และยังไม่สามารถคาดการณ์เวลาสิ้นสุดได้ ส่งกระทบต่อประชาชน และทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 23 ปีนับจากวิกฤต 2540 แม้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยใช้งบกลาง และ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอ
"ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาและและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่อาจดำเนินการได้ตามงบปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล" นายอาคมกล่าว
สำหรับคำว่า "เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล" เป็นคำอธิบายที่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวไว้ในการขอความเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงนปี 2563
ในบัญชีท้าย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ระบุถึงวัตถุประสงค์ของแผนงาน/โครงการ เอาไว้แบบเดียวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
ขุนคลังโชว์ยอดหนี้ไทยเทียบชาติมหาอำนาจ
รมว.คลังกล่าวว่า การตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 หดตัว 6.1% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะหดตัว 8% พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลตระหนักถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง ความคุ้มค่า และความโปร่งใสของการใช้เงินกู้
นายอาคมยังบอกด้วยว่า รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการการคลังเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่าระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.76 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 หรือเพิ่ม 300 ล้านล้านบาทจากปี 2563 อาทิ ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าหนี้ภาครัฐจะอยู่ที่ 256.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี), อังกฤษ 107.1% ต่อจีดีพี, อินเดีย 86.6% ต่อจีดีพี และจีน 69.6% ต่อจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 อยู่ที่ 50.69% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่จำกัดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี
ก้าวไกลข้องใจอนุมัติโครงการโป้งเดียว ก่อน พ.ร.ก.กู้เงินฉบับ 2 เข้าสภา
เอกสารประกอบการพิจารณาของสภาที่มีเพียง 5 หน้า ทำให้ ส.ส. หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" และตั้งคำถามต่อฝีมือของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ในการบริหารจัดการเงินกู้ก้อนแรก ซึ่งพบว่า "เบิกจ่ายล่าช้า" "ผิดวัตถุประสงค์" "ลำดับความสำคัญของปัญหาไม่ได้" "ไม่เกิดประสิทธิภาพ"
ชุดข้อมูลที่ รมว.คลังรายงานต่อสภา แตกต่างจากชุดข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ ThaiMe ของ สศช. ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ ส.ส. หยิบยกมาอภิปราย
นายอาคมอ้างข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย. ระบุว่า ครม. อนุมัติโครงการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไปแล้ว 298 โครงการ รวมวงเงิน 9.8 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท จึงเหลือวงเงินอีกเพียง 1.6 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไป
- งบการแพทย์และสาธารณสุข อนุมัติ 298 โครงการ วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท
- งบเยียวยาประชาชน อนุมัติ 15 โครงการ วงเงิน 6.9 แสนล้านบาท
- งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติ 237 โครงการ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท
ขณะที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ค. ประกอบการอภิปราย
- งบการแพทย์และสาธารณสุข อนุมัติ 2.58 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 57.4%) เบิกจ่ายได้ 9.54 พันล้านบาท (คิดเป็น 21.21%)
- งบเยียวยาประชาชน อนุมัติ 6.66 แสนล้านบาท (คิดเป็น 97.26%) เบิกจ่ายได้ 6.07 แสนล้านบาท (คิดเป็น 88.64%)
- งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติ 1.25 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 7.02 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 26.03%)
นพ. วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เอ่ยชื่อโครงการของคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ในงบการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งพบว่าการเบิกจ่ายงบเป็น 0%
"สภาให้เงินไปแล้ว ท่านเอาไปดองไว้เฉย ๆ ให้ดอกเบี้ยมันงอกงาม ไม่เอามาใช้ ผ่านไป 1 ปี จะมาขอกู้เงินอีก 5 แสนล้าน ท่านก็เลยรีบใช้ เพราะกลัวว่าสภาจะมาพูดแบบนี้ เลยอนุมัติเมื่อวาน (8 มิ.ย.) โป้งเลยอีก 43% ที่เหลือ และเบิกจ่ายไป 1.1 หมื่นล้านบาท จาก 4.5 หมื่นล้านบาท" นพ. วาโยกล่าว
ส่วนโครงการในงบฟื้นฟูฯ เมื่อตรวจสอบรายละเอียดพบทั้งโครงการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี, โครงการส่งเสริมการท่อผ้าซอโอริ, โครงการทำน้ำเต้าเงินน้ำเต้าทอง ซึ่งของบหลักแสนบาท ทำให้ นพ. วาโยตั้งคำถามว่า "เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่"
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคเดียวกัน อภิปรายตั้งข้อสังเกตเรื่องการเบิกจ่ายงบล่าช้าเช่นกัน อย่างโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่กว่า 3 พันล้านบาท เบิกจ่ายไปได้แค่ 15% เช่นเดียวกับโครงการโคก หนอง นา โมเดลกว่า 4 พันล้าน เบิกจ่ายไปได้แค่ 17% ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของ ส.ส. รายนี้พบว่าเป็นเพียงการตั้งศูนย์การเรียนรู้ในค่ายทหาร 157 แห่ง
"แบบนี้ใครฟื้น ใครฟู สรุปแล้วโครงการการเงินกู้ 1 ล้านล้านฟื้นฟูตรงไหน มีแต่ศูนย์การเรียนรู้เฟื่องฟูในค่ายทหาร แล้วแบบนี้จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตรงไหน" นายณัฐชากล่าว
ภท. ชี้ต้อง "กู้หน้านายกฯ-กู้ความเชื่อมั่น" ก่อนกู้เงิน
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งสมาชิกร่วมอภิปรายชี้ปัญหาในการบริหารเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการแจกเงินให้แก่ประชาชน
ภท. ในฐานะที่หัวหน้าพรรคเป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงความไม่พอใจที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีเลขาธิการ สศช. เป็นประธาน มีมติเมื่อ 25 พ.ค. 2564 ให้ชะลอโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) แต่โชคดีที่นายกฯ ยังฟังคำท้วงติงจาก รมว.สธ. และรมช.สธ.
ส.ส. ของพรรคอย่างน้อย 3 คนร่วมอภิปรายงบสาธารณสุขรวม 7.5 หมื่นล้านบาท ที่ปรากฏใน พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ อย่างนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา วิจารณ์การจัดสรรเงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่าป็นการ "ซื้อเหล้าพ่วงเบียร์" คือใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทบังหน้าเพื่อแก้ปัญหาโควิด แต่เอาเงิน 4.7 แสนล้านบาทไปดำเนินการเรื่องอื่น
ส่วนนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. เรียกร้องให้รัฐบาล "จริงจังกับการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข" พร้อมเผยความรู้สึกหลังเห็นการกู้เงิน 2 ครั้งว่า "เหมือนเอางบสาธารณสุขบังหน้า เป็นข้ออ้างในการกู้เงิน" เพราะงบสาธารณสุขในเงินกู้ครั้งแรกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.5% และเงินกู้ครั้งที่ 2 คิดเป็นสัดส่วน 6%
ส.ส. หนุ่มรายนี้ยังเรียกร้องรัฐบาลให้หยุดเยียวยาประชาชนด้วยด้วยการแจกเงิน แต่ให้สร้างงาน สร้างรายได้ เพราะถ้าการทำแบบเดิมได้ผลจริง วันนี้คงไม่ต้องมากู้เงินอีกรอบ
"การกู้เงินนาทีนี้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือท่านต้องกู้หน้านายกฯ กู้หน้ารัฐบาล และต้องกู้ความเชื่อมั่น เพราะถ้ากู้ความเชื่อมั่นไม่ได้ ต่อให้ให้กู้เงินอีกกี่ล้านล้าน ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้" นายกรวีร์กล่าว
ปชป. แนะใช้ "หนี้ก้อนสุดท้ายก่อนชนเพดาน" ฉีดวัคซีนให้ ปชช.
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามว่าประชาชนและประเทศชาติได้อะไรจากการกู้ครั้งนี้
ในฐานะ กมธ. ติดตามตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เขาเห็นว่าสิ่งที่สภาพูดไว้เมื่อปีที่แล้วเป็นจริงคือ หลายโครงการที่เสนอมาไม่มีคุณภาพ, ต้องปรับลดเป้าหมายของโครงการลง, ต้องยกเลิกหรือขอเปลี่ยนแปลงโครงการ ทั้งนี้ในเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถูกใช้ไปกับการเยียวยา 8 แสนล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงเพียง 2 แสนล้านบาท เมื่อมาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่า "มันไปไม่ได้"
เขาเห็นว่าคำตอบสุดท้ายที่จะสร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ อยู่ที่วัคซีน พร้อมเสนอให้ใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เขาบอกว่าเป็น "หนี้ก้อนสุดท้ายก่อนชนเพดาน" ไปกับการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส ไม่ต้องนำไปทำ "โครงการไร้ประสิทธิภาพ" หรือ "เยียวยาโดยการแจกอย่างเดียว"
นายสาทิตย์ยังเรียกร้องว่า อย่าเอาการเมืองมาบริหารวัคซีน อย่าเอาการเมืองนำการแพทย์ ต้องเอาการแพทย์นำการเมือง และต้องไม่มีโควต้าพรรคการเมืองที่เอาคนไปฉีดวัคซีนก่อนได้ หรือการซื้อขายคิวฉีดวัคซีน
"บางพรรคการเมืองได้โควต้าไปฉีด มันหนาหูมาก แล้วไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวด้วย ผมไม่ทราบเรื่องนี้เท็จจริงอย่างไร ประชาธิปัตย์ไม่มี รัฐบาลต้องสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ อย่าเอาเรื่องวัคซีนไปทำฐานการเมือง มันต้องฉีดตามหลักระบาดวิทยา ใครควรได้ก่อน ได้ไป" ส.ส.ปชป. กล่าวและว่า หากใช้เงินกู้จัดฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนทางเลือก และวัคซีนทางเลือกจะมีได้ก็ต่อเมื่อวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนธรรมดามีเพียงพอ แต่ถ้าวัคซีนหลักยังไม่พอแล้วไปสร้างวัคซีนทางเลือก จะกลายเป็นการสร้างเรื่องของชนชั้นอภิสิทธิ์ชนขึ้นมาในประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรทำ
ส.ส. ถาม รมต. ยังไม่ตอบ
ตลอดทั้งวันมี ส.ส. ตั้งคำถามต่อรัฐบาล เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่มาขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ปรากฏรายละเอียดใด ๆ ชัดเจน
- รัฐบาลเริ่มกู้เงิน 5 แสนล้านบาทไปแล้วหรือยัง หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 พ.ค. นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- รัฐบาลมีแผนกู้เงินจากแหล่งใด
- รัฐบาลวางแผนชำระหนี้คืนอย่างไร
จนถึงเวลา 20.30 น. ยังไม่มีตัวแทน ครม. ชี้แจงหรือตอบข้อสงสัยของสภาในประเด็นเหล่านี้
นายกฯ ถามฉีก พ.ร.ก. ควรเกิดขึ้นกลางสภาไหม
นักการเมืองฝ่ายค้านประกาศ "ไม่เห็นชอบ" พ.รก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้ฉีก พ.ร.ก. ฉบับนี้กลางสภาหลังอภิปรายจบ โดยให้เหตุผลว่า ในกระดาษ 5 แผ่นนี้ ไม่มีความรู้สึกทุกข์ร้อนของประชาชน ทั้ง ๆ ที่นอกสภามีความอด ความหิว ความตายของประชาชน อีกทั้งยังตั้งฉายาว่าเป็น "พ.ร.ก. ฉบับลับ ๆ ล่อ ๆ" ผ่าน ครม. ในการประชุมลับ ตอนแรกมีกระแสข่าวขอกู้ 7 แสนล้านบาท แต่ต่อมาเปลี่ยนใหม่เป็น 5 แสนล้าน
การกระทำของ ส.ส. ฝ่ายค้านรายนี้ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ตั้งคำถามว่า "มันควรเกิดขึ้นในสภาไหม... ผมไม่เคยเห็น"
เสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลที่เหนือกว่า ทำให้โอกาสตีตกกฎหมายการเงินเป็นเรื่องยาก แต่ถึงกระนั้นบรรดา ส.ส. ก็ยังฝากข้อเสนอไว้กลางสภา
- ส.ส. ฝ่ายค้าน เรียกร้องสภาโหวตคว่ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แล้วให้รัฐบาลจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มาเสนอต่อสภาแทน เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
- ส.ส. ภท. เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ รวบรวมข้อมูลการอภิปรายของสภาทั้งหมดมาแก้ไข เพื่อใช้ภาษีประชาชนให้คุ้มค่า
- ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไทย เสนอให้กระจายอำนาจการตัดสินใจเชิงงบประมาณโครงการต่าง ๆ ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ชุมชน ซึ่งรู้ปัญหาของพื้นที่เป็นอย่างดี แทนที่จะรวมศูนย์ไว้ที่ สศช.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar