måndag 14 juni 2021

ไขความจริง 5 ข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

ทีมงานตรวจสอบความจริงของบีบีซี ตรวจสอบข่าวลือ 5 เรื่องของวัคซีนต้านโควิด จากปนเปื้อนเนื้อหมูสู่เซลล์ตัวอ่อนจากการทำแท้ง

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ประชาชน แต่ยังคงมีข้อมูลเท็จที่สร้างความเข้าใจผิด และความลังเลใจในการฉีดวัคซีนแพร่สะพัดไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความพยายามหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้

ทีมงานตรวจสอบความจริง (Reality Check) ของบีบีซี ได้ตรวจสอบข่าวลือ 5 ข้อที่ถูกเผยแพร่เป็นวงกว้าง และหาคำตอบมาหักล้างว่าทำไมคำกล่าวอ้างเหล่านี้จึงเป็นข้อมูลที่ผิด

เรื่องเท็จ 1: วัคซีนมีอุปกรณ์ติดตามหรือไมโครชิป

ทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนี้ ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นเพียงการปกปิดแผนการที่จะฝังไมโครชิปที่สามารถแกะรอยได้ในมนุษย์ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังแผนการนี้คือ บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์

ไม่มี "ไมโครชิป" ในวัคซีน และไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่า บิล เกตส์ กำลังวางแผนทำเรื่องนี้ในอนาคตด้วย

มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ระบุกับบีบีซีว่า ข้อกล่าวอ้างนี้ "ไม่เป็นความจริง"

ข่าวลือเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. เมื่อนายเกตส์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า สุดท้ายแล้ว "เราจะมีการรับรองทางดิจิทัลบางอย่าง" ซึ่งจะแสดงว่าใครหายป่วยแล้ว ใครได้รับการตรวจแล้ว และสุดท้ายคือใครได้รับวัคซีนแล้ว โดยเขาไม่ได้เอ่ยถึงไมโครชิปเลย

เรื่องนี้ได้นำไปสู่การส่งต่อบทความที่มีชื่อเรื่องว่า "บิล เกตส์ จะใช้การฝังไมโครชิปเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา"

บทความนี้ได้อ้างถึงการศึกษา ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์ ในเทคโนโลยีที่อาจจะเก็บข้อมูลการรับวัคซีนของคนไว้ได้ในหมึกพิเศษที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายคนพร้อมกับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม อานา จาเกลเนก นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ไมโครชิป และน่าจะเหมือนกับรอยสักที่มองไม่เห็นมากกว่า ยังไม่มีการใช้งานเทคโนโลยีนี้ และจะไม่มีการอนุญาตให้แกะรอยคน และข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำเข้าสู่ฐานข้อมูล

เรื่องเท็จ 2: วัคซีนมีส่วนผสมของเนื้อหมูหรือเนื้อวัว

ข่าวลือนี้สร้างความกังวลให้คนในบางศาสนา อย่างไรก็ตาม วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์, โมเดอร์นา และอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซเนก้า ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์ผสมอยู่

จริงอยู่ แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำเจลาตินจากหมูมาช่วยในการคงรูปวัคซีนชนิดอื่น ๆ ขณะจัดเก็บ แต่ในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่มีการนำส่วนประกอบดังกล่าวมาใช้

เรื่องเท็จ 3: วัคซีนจะเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของฉัน

คำกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน และเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่เราพบเห็นทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด

บีบีซี ได้สอบถามนักวิทยาศาสตร์อิสระ 3 คน เกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาบอกว่า วัคซีนต้านโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์

วัคซีนที่เพิ่งผลิตขึ้นมาใหม่บางส่วน รวมถึงวัคซีนที่ได้รับการรับรองในสหราชอาณาจักร ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ได้ใช้เศษชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัส หรือที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA หรือ mRNA)

"การฉีดอาร์เอ็นเอเข้าไปในคนไม่ได้ส่งผลอะไรต่อดีเอ็นเอของเซลล์มนุษย์" ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ อัลมอนด์ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว

มันทำงานด้วยการสั่งให้ร่างกายมนุษย์ผลิตโปรตีนที่อยู่บนไวรัสโคโรนา

จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันก็จะจดจำและผลิตสารแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนนี้ขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในอนาคต

เรื่องเท็จ 4: วัคซีนมีส่วนประกอบจากเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์จากการแท้ง

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าไม่มีเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์อยู่ในวัคซีนใด ๆ ในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

ดร.ไมเคิล เฮด จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน บอกว่า "ไม่มีเซลล์ของทารกในครรภ์ในกระบวนการผลิตวัคซีนใด ๆ"

ก่อนหน้านี้มีคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งที่ถูกโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กที่ต่อต้านวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดเพจหนึ่ง ได้อ้างถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งซึ่งตามการบรรยายระบุว่า เป็นหลักฐานว่ามีอะไรในวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แต่การตีความของผู้บรรยายไม่ถูกต้อง การศึกษาที่กำลังพูดถึงนั้นสำรวจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อวัคซีนถูกนำเข้าสู่เซลล์มนุษย์ในห้องปฏิบัติการ

เรื่องที่สร้างความสับสนเพิ่มขึ้นอาจจะเป็นเพราะว่ามีขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาวัคซีนที่ใช้เซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมาจากเซลล์ตัวอ่อนที่หากไม่นำมาใช้ก็จะถูกทำลายทิ้ง เทคนิคนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 และไม่มีการทำแท้งทารกในครรภ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยนี้

ดร.เดวิด แมตธิวส์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล อธิบายว่า วัคซีนหลายชนิดถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการนี้ โดยร่องรอยใด ๆ ของเซลล์จะถูกกำจัดออกจากวัคซีนทั้งหมดตาม "มาตรฐานระดับสูงเป็นพิเศษ"

ผู้พัฒนาวัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า พวกเขาใช้เซลล์ที่ถูกโคลนขึ้นมา แต่เซลล์เหล่านี้ "ไม่ใช่เซลล์ที่มาจากทารกในครรภ์ที่แท้ง"

หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร บอกบีบีซีว่า "ไม่มีส่วนประกอบตัวอ่อนมนุษย์อยู่ในวัคซีนขั้นสุดท้าย มันได้ถูกขจัดออกไปในขั้นตอนการผลิต และนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการทำวัคซีนต่าง ๆ"

เรื่องเท็จ 5: วัคซีนทำให้ผู้หญิงเป็นหมัน

ไม่มีข้อมูลการศึกษาใดที่บ่งชี้ว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะผลเสียต่อการเจริญพันธุ์ของสตรี

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า "ไม่มีกลไกความเป็นไปได้ในทางชีววิทยาที่วัคซีนในปัจจุบันจะส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง"

ดังนั้นเมื่อคุณได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องค้นหาข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือ หรือองค์การอนามัยโลก อยู่เสมอ

บีบีซีไทย -BBC Thai
10 tim

"ทีแรกเราก็คาดหวังว่าวัคซีนจะได้มาก่อนวันที่ 14 แต่ ปรากฏว่า อาจจะขัดข้องทางเทคนิคของผู้ที่จะส่งให้" ผู้ว่า ฯ กทม.กล่าว


 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar