ราษฎร: อานนท์-ภาณุพงศ์-ชูเกียรติ ได้ประกันตัว หลังถูกขังกว่า 2 เดือนและติดโควิดในเรือนจำ

ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายชูเกียรติ แสงวงค์ แกนนำและแนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" ที่ตกเป็นจำเลยและผู้ต้องหาในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์และยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นายอานนท์และนายภาณุพงศ์หรือ "ไมค์" ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ส่วนนายชูเกียรติหรือ "จัสติน" ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่านายอานนท์และนายภาณุพงศ์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 113 วัน และ 86 วันตามลำดับ ส่วนนายชูเกียรติถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนนาน 71 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ (1 มิ.ย.)

ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทั้งหมดถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 ในเรือนจำ

เวลา 09.00 น. วันนี้ (1 มิ.ย.) ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จาก รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ที่ทั้งสองอยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยโควิด-19

นายอานนท์ตรวจพบการติดเชื้อเมื่อวันที่ 5 พ.ค. กรมราชทัณฑ์สันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อจากนายชูเกียรติ ที่ตรวจพบเชื้อเมื่อ 23 เม.ย. หลังจากนั้นราวหนึ่งสัปดาห์ กรมราชทัณฑ์ได้แถลงข่าวยืนยันเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่านายภาณุพงศ์ติดโควิด-19 ขณะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ญาติและเพื่อนของจำเลยเดินทางมาฟังคำสั่งศาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นางมาลัย นำภา (ที่สองจากซ้าย) เดินทางมาฟังการไต่สวนและฟังคำสั่งคำร้องขอปล่อยตัวนายอานนท์ โดยมีนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ (ขวาสุด) นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์และแม่ของนายไชยอมรมาให้กำลังใจ

ในบรรดาจำเลย 7 คนในคดีชุมนุม 19 กันยาฯ นายอานนท์และนายภาณุพงศ์เป็นจำเลย 2 คนสุดท้ายที่ได้รับการประกันตัว

ก่อนหน้านี้จำเลย 5 คน ได้แก่ นายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง" และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยทั้งหมดต้องวางเงินเป็นหลักประกัน พร้อมกับยอมรับชุดเงื่อนไข เช่น ห้ามกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

เวลา 14.50 น. ไอลอว์รายงานว่าศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์ ห้ามร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ​โดยไม่ได้รับอนุญาตและให้มาศาลทุกนัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับจำเลยคดี ม.112 รายก่อนหน้า

ลำดับเหตุการณ์ประกันตัว 7 แกนนำ "ราษฎร" คดีชุมนุม 19 กันยา

แกนนำและผู้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม "ราษฎร" ที่ตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 มีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

หลังจากยื่นขอประกันตัวคนละหลาย ๆ ครั้ง มีคนที่ได้รับการประกันตัวแล้วทั้งหมด 5 คน เหลือเพียงนายอานนท์และนายภาณุพงษ์เป็น 2 คนสุดท้าย

บีบีซีไทยบันทึกการเข้า-ออกเรือนจำของทั้ง 7 คน หลังจากอัยการสั่งฟ้องในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564

  • 9 ก.พ. อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาชุดแรก 4 คน คือ สมยศ อานนท์ พริษฐ์และปฏิวัฒน์ ในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. โบราณสถาน ศาลประทับรับฟ้องและมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า "หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก" ทั้ง 4 คนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
  • 8 มี.ค. อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาชุดสอง 3 คน คือ จตุภัทร์ ปนัสยาและภาณุพงศ์ ศาลไม่ให้ประกันตัวเช่นกัน ปนัสยาถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนภาณุพงษ์และจตุภัทร์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีก่อนจะถูกย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำร้องของทนายจำเลย
  • 15 มี.ค. พริษฐ์ประกาศอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว
  • 30 มี.ค. ปนัสยาประกาศร่วมอดอาหารร่วมกับพริษฐ์ เริ่มจากการค่อย ๆ ลดอาหารลงจนเหลือแต่ดื่มเครื่องดื่มและเกลือแร่
  • 9 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวปติวัฒน์หรือหมอลำแบงค์ รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว และนับเป็นจำเลยคนแรกใน 7 คนที่ได้รับการประกันตัว
  • 23 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวสมยศและจตุภัทร์ รวมระยะเวลาที่สมยศและจตุภัทร์ถูกคุมขังในเรือนจำ 73 วันและ 46 ตามลำดับ
  • 30 เม.ย. หลังจากอดอาหารมานาน 45 วัน พริษฐ์อ่อนเพลียมากและถ่ายมีเลือดปน กรมราชทัณฑ์จึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี
  • 5 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ตรวจพบว่าอานนท์ติดโควิด-19 สันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อจากนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ "จัสติน" ที่ตรวจพบเชื้อเมื่อ 23 เม.ย. อานนท์ถูกนำไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
ภาณุพงศ์ จาดนอก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์" เดินทางมาฟังการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564

  • 6 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวปนัสยา รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว
  • 11 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวพริษฐ์ ซึ่งยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 10 และไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือ "แอมมี่" ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รวมระยะเวลาที่พริษฐ์ถูกคุมขัง 91 วัน และสิ้นสุดการอดอาหารประท้วงนาน 57 วัน
  • 12 พ.ค. ปนัสยาแจ้งต่อสาธารณะว่าติดโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ. ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ขณะที่กรมราชทัณฑ์ยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กว่า 2 พันราย
  • 13 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าภาณุพงศ์ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับการตรวจพบว่าติดโควิด-19 ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
  • 1 มิ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอานนท์และนายภาณุพงศ์