ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย
.
ท่ามกลางความสับสนในการสื่อสารของรัฐบาลเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนโควิด-19
รวมทั้งการส่งมอบวัคซีนของแอสตราเซนเนก้า ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็น
“วัคซีนหลัก” ของไทยที่เลื่อนกำหนดออกไป
ส่งผลให้ศูนย์ฉีดวัคซีนจำนวนมากต้องผู้ลงทะเบียนรับวัคซีนว่าจำเป็นต้องเลื่อนนัดหมายออกไปก่อน
.
ปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเป้าหมายของรัฐบาลในปี 2564
ที่เริ่มต้นเมื่อ 7 มิ.ย. เหลือเวลาประมาณ 200 วัน แต่จากข้อมูล ณ วันที่
14 มิ.ย. ที่ผ่านมา คนไทยรับวัคซีนไปแล้ว 6,188,124 โดส คิดเป็น 8.84%
ของประชากร ขณะที่ค่าเฉลี่ยในรอบสัปดาห์สามารถทำได้เพียง 281,723 โดสต่อวัน
ต่ำกว่าอัตราฉีดที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายซึ่งต้องทำให้ได้ 460,490
โดสต่อวัน
บีบีซีไทย - BBC Thai
เมื่อ 11 มิ.ย. ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันให้สัมภาษณ์รายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งว่าอัตราการฉีดวัคซีนในไต้หวัน มีเพียง 3% ของประชากร และอัตราการติดเชื้อใหม่กำลังพุ่งขึ้น เนื่องจากวัคซีนที่สั่งไป ยังไม่มาถึงตามกำหนด "ปัญหาก็คือของที่สั่งไปให้ส่งเดือนมิถุนายน กลับยังมาไม่ถึง...ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรง พวกเขาเลยต้องให้ความสำคัญต่อประเทศไทยให้ได้ใช้วัคซีนก่อน"
โควิด-19 : แอสตร้าเซนเนก้ากับความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนในเอเชียและยุโรป
ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่โครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนต้องสะดุดเพราะการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ล่าช้า หลายประเทศและดินแดนในเอเชีย ก็เผชิญปัญหาคล้ายกันเพราะกำลังรอวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการปูพรมฉีดวัคซีนให้แก่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ซึ่งลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เกิดเหตุวัคซีนไม่มี-วัคซีนไม่พอในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มแพทย์ชนบทใช้คำว่า "สัปดาห์แห่งความโกลาหล"
ขัดข้องทางเทคนิค
"ความโกลาหล" เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดจากการรายงานข้อมูลที่ไม่ตรงกันในเรื่องตัวเลขการกระจายวัคซีน ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบในการกระจายวัคซีน รวมทั้งการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนไปในบางส่วน เป็นที่มาของการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างระหว่างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สธ. และ กทม. ในวันที่ 14 มิ.ย.
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า กทม. ต้องประกาศเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนของผู้ที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. เพราะไม่ได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อนวันที่ 14 มิ.ย. ตามที่ "คาดหวัง" เพราะ "อาจจะขัดข้องทางเทคนิคของผู้ที่จะส่งให้"
ย้อนไปเมื่อ 10 มิ.ย. ทั้ง น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุตรงกันว่าการรับมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าต้องเลื่อนออกไปอีก 2 วันจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 14 มิ.ย. โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าไม่ทราบสาเหตุ
อย่างไรก็ดี ในแถลงวันที่ 14 มิ.ย. พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. บอกว่า ภาพรวมของการส่งมอบวัคซีนในเดือน มิ.ย. ยังเป็นไปตามกำหนดการอยู่ "บริษัท (ผู้ส่งมอบวัคซีน) ก็ไม่ได้ผิดเงื่อนไขอะไร ก็ยังอยู่ในกรอบของเดือน มิ.ย."
นอกจากนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ยังย้ำอีกว่าการฉีดวัคซีนเดือน มิ.ย. ยังเป็นไปตามแผน โดยอธิบายเหตุผลประกอบว่า ด้วยธรรมชาติของการผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นชีววัตถุจะมีความไม่แน่นอนในการผลิตสูง ต่างกับยาที่ผลิตจากสารเคมีตั้งต้น ซึ่งควบคุมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพได้ดีกว่า
จากข้อมูลโดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ภายในเดือนนี้ ประชากรในไทยต้องได้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างน้อย 5.46 ล้านโดส ถึงจะสอดคล้องกับแผนกระจายวัคซีนในเดือน มิ.ย. โดยแบ่งแผนจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็น 2.04 ล้านโดสในสัปดาห์ที่ 1-2, 8.4 แสนโดสในสัปดาห์ที่ 3 และ 2.58 ล้านโดส ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน
6.96 ล้านโดสตลอดทั้งเดือน
สัปดาห์ที่ 1-2:3.54 ล้านโดส
- แอสตร้าเซนเนก้า:2.04 ล้านโดส
- ซิโนแวค:1.5 ล้านโดส
สัปดาห์ที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า:8.4 แสนโดส
สัปดาห์ที่ 4 แอสตร้าเซนเนก้า:2.58 ล้านโดส
ชาติในเอเชียที่เผชิญความล่าช้า
เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ทางการมาเลเซียและไต้หวันบอกว่า คาดว่าการจัดส่งวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะล่าช้าเช่นกัน
สำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า ความล่าช้านี้มาพร้อมกับความกังวลเรื่องการจัดส่งวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต้องพึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 200 ล้านโดสที่จะผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์
รอยเตอร์บอกว่า การตั้งคำถามใด ๆ ก็ตามว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะผลิตวัคซีนได้ตามเป้าหรือไม่ล้วนเป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นเจ้าของบริษัทแต่เพียงพระองค์เดียว และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอาชญากรรมที่อาจมีโทษจำคุกถึง 15 ปี
รอยเตอร์บอกว่า ก่อหน้านี้สยามไบโอไซเอนซ์ส่งมอบวัคซีนให้กับทางการไทย 1.8 ล้านโดสแล้ว แต่บอกว่าการจัดส่งไปประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มต้นเดือน ก.ค.
ที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์บอกกับรอยเตอร์ว่า การจัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งตกลงกันไว้ที่ 17 ล้านโดส ถูกลดจำนวนและเลื่อนออกไปหลายสัปดาห์
นอกจากนี้ นายเฉิน จี้ชุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน กล่าวเมื่อ 8 มิ.ย. ว่า วัคซีนที่สั่งจากสยามไบโอไซเอนซ์จะได้ล่าช้าหนึ่งเดือนเนื่องจากปัญหาการผลิตที่โรงงาน ไต้หวันสั่งวัคซีนโดยตรงจากสยามไบโอไซเอนซ์ 100 ล้านโดส แต่ถึงตอนนี้ได้กว่า 1 แสนโดสเท่านั้น
ต่อมาในวันที่ 9 มิ.ย. ไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรรวงวิทยาศาสตร์มาเลเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มาเลเซียซึ่งควรจะได้รับวัคซีน 6.1 แสนโดสในช่วงนี้ และอีก 1.6 ล้านโดสที่ผลิตที่สยามไบโอไซเอนซ์ภายในปีนี้ ก็น่าจะพบกับความล่าช้าเช่นกัน
เมื่อ 11 มิ.ย. ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันให้สัมภาษณ์รายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งว่าอัตราการฉีดวัคซีนในไต้หวัน มีเพียง 3% ของประชากร และอัตราการติดเชื้อใหม่กำลังพุ่งขึ้น เนื่องจากวัคซีนที่สั่งไป ยังไม่มาถึงตามกำหนด
"ปัญหาก็คือของที่สั่งไปให้ส่งเดือนมิถุนายน กลับยังมาไม่ถึง...ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรง พวกเขาเลยต้องให้ความสำคัญต่อประเทศไทยให้ได้ใช้วัคซีนก่อน"
ปัญหาในอินเดียและสหภาพยุโรป
ปัญหาการได้รับมอบสินค้าล่าช้า ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะผู้ผลิตจากไทย แต่การระบาดใหญ่ในอินเดีย มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียซึ่งผลิตวัคซีน 60% ของการผลิตทั้งโลก ในช่วงที่ไม่มีการระบาดใหญ่ ตอนนี้ ปริมาณวัคซีนที่เดิมจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำถูกตัดลดลง
ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงการโคแวกซ์ ด้วยซึ่งจะต้องส่งวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนและทำให้การกระจายวัคซีนทั่วโลกมีความสมดุล
นอกจากนี้ ข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างสหภาพยุโรปกับบริษัทยาระดับโลกก็เกิดจากการจัดส่งวัคซีนที่ล่าช้าเช่นกัน
เมื่อเดือน เม.ย. สหภาพยุโรป (อียู) ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฐานไม่รักษาสัญญาในการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 และไม่มีแผน "ที่ไว้วางใจได้" ในการจัดส่งของให้ได้ตามกรอบเวลา ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่า อียูไม่ได้มีมูลเหตุที่สมควรและจะต่อสู้ในศาลอย่างเต็มที่
ตามสัญญา บริษัทสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ ให้คำมั่นว่าจะ "พยายามอย่างดีที่สุดอย่างสมเหตุสมผล" ที่จะจัดส่งวัคซีน 180 ล้านโดสให้สหภาพยุโรปในไตรมาสแรกของปีนี้ จากจำนวนทั้งหมด 300 ล้านโดสที่จะจัดส่งระหว่าง ธ.ค. ถึง มิ.ย.
อย่างไรก็ดี แอสตร้าเซนเนก้าระบุผ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่าตั้งเป้าจะจัดส่งแค่ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. ซึ่งในจำนวนนั้น ราว 70 ล้านโดสจะถูกจัดส่งในไตรมาสที่ 2
หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น สหภาพยุโรปก็ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย การจัดส่งที่ล่าช้าทำให้โครงการฉีดวัคซีนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องสะดุด และในที่สุดพวกเขาก็หันไปพึ่งวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นหลักแทน
ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังกลายเป็นประเด็นพิพาทกับอดีตสมาชิกอียูอย่างสหราชอาณาจักรด้วย เจ้าหน้าที่ทางการสหภาพยุโรปบอกว่า แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ให้ส่งวัคซีนที่ผลิตในสหราชอาณาจักรไปชดเชยส่วนที่ขาดแคลนในยุโรป และตอนนี้ สหภาพยุโรปก็คัดค้านไม่ให้ส่งออกวัคซีนที่ผลิตในโรงงานในเนเธอร์แลนด์ไปยังสหราชอาณาจักรเช่นกัน
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทนายของฝ่ายสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้ศาลเบลเยียมสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเงิน 10 ยูโร หรือราว 38 บาท ต่อแต่ละโดส และจำนวนวันที่แอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนล่าช้ากว่าในสัญญา ซึ่งอาจกลายเป็นโทษปรับรวมสูงถึง 200 ล้านยูโร
ต่อมาในวันที่ 4 มิ.ย. ศาลเบลเยียมระบุในการไต่สวนว่าจะมีคำพิพากษาคดีนี้ภายในเดือนนี้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar