Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
23h ·
[ ความรับผิดของรัฐ : ถ้ารัฐไม่ดูแลประชาชน จะมีรัฐไปทำไม? ]
.
จากกรณีเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จนสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบ ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถแก๊สระเบิดครั้งใหญ่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ น้ำมันรั่ว จ.ระยอง
.
คำถามต่อมาคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด อุบัติเหตุ จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่อะไรบ้าง? ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่ตามมา?
.
ในหลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อมและความรับผิดของรัฐ มีประเด็นเรื่อง “ความรับผิดอย่างอื่น” คือ ประชาชนสามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ รัฐก็ต้องรับผิด แม้ไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โดย “ความรับผิดโดยปราศจากความผิด” ฐานคิดมาจาก 3 เรื่องใหญ่คือ
.
1. ความเสี่ยงภัย หมายถึง ปัจเจกบุคคลอาจอยู่ในสถานะที่เสี่ยงภัยกว่าคนอื่น และเมื่อเกิดความเสียหาย รัฐต้องมาชดเชยเยียวยาให้
2. ความไม่เสมอภาคในการรับภาระจากการดำเนินนโยบายสาธารณะ ฐานคิดนี้มาจากการที่รัฐมีหน้าที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อรัฐตัดสินใจทำอะไรก็ตามเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม อาจส่งผลให้ประชาชนหรือเอกชนรายใดรายหนึ่งเสียหายกว่าคนอื่น เมื่อไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับภาระอย่างเท่าเทียมกัน รัฐก็ต้องไปช่วย
3. ความสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนร่วมชาติ หลักการคือเงินภาษีที่คนทั้งประเทศช่วยกันจ่ายมา ต้องนำมาช่วยบุคคลที่ได้รับความเสียหายกว่าคนอื่น
.
ประเทศไทยไม่มีระบบชดเชยเยียวยาที่ดีเพียงพอ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต จึงออกมาในรูปแบบของการบริจาค ประชาชนรวมกลุ่มช่วยกันเอง เอาตัวเองให้รอด รัฐก็ทำตัวเหมือนไม่มีหน้าที่ ทั้งๆ ที่มนุษย์ยอมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยอมให้รัฐมีอำนาจเหนือตนเอง ยอมจ่ายภาษี ก็เพื่อให้รัฐทำหน้าที่อภิบาลดูแลประชาชน
.
หากออกแบบระบบได้สมบูรณ์จริง สิ่งที่ตามมาคือสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน ทุกอย่างจะตั้งจากหลักการเหล่านี้ว่าสิทธิเรียกร้องของประชาชนคืออะไร รัฐมีหน้าที่ต้องกระทำอะไรให้ประชาชน โดยไม่มีใครมีบุญคุณต่อกันทั้งสิ้น
.
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาคือประเทศไทยควรออกแบบกฎหมายให้เป็นระบบ เพื่อรองรับการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โรคระบาด ควรต้องมีการตั้งกองทุนเข้าไปเยียวยาแยกสำหรับแต่ละกรณี นอกจากนี้รัฐควรจะต้องรับเป็นเจ้าภาพในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เพราะความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มนุษยชาติต้องรับผิดชอบร่วมกัน
.
นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการผลักดันปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ประเทศไทยควรควบคุมมาตรฐานโรงงานให้มากกว่านี้ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการประชาพิจารณ์และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่จะต้องทำให้จบไปเท่านั้น
.
อ่านบทความทั้งหมด : https://progressivemovement.in.th/article/4723/
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar