ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี
ตามสมมติฐานที่คาดการณ์ประมาณ 70% ของประชากรจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1
เข็มภายในสิ้นปี 2564 และจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในกลางปี 2565
วัคซีนโควิด-19: ธนาคารโลกชี้วิกฤตโควิด-19 และการฉีดวัคซีนล่าช้าถ่วงการเติบโตเศรษฐกิจไทย
ธนาคารโลกประจำประเทศไทยปรับตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลดลงมาที่ 2.2% จากเดิม 3.4% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง ในขณะที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมาก
การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2564: เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ซึ่งธนาคารโลกเผยแพร่ในวันนี้ (15 ก.ค.) และยังได้ระบุถึงปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
นางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าโดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกถือว่าฟื้นตัวแล้วทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และจะทำให้การส่งออกจะกลายเป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลกระบุว่า ยังคงมี 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย
1) การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ
2) มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้าย ซึ่งส่งผลลบต่อการบริโภคและการดำเนินธุรกิจนับตั้งแต่การระบาดระลอกเดือน เม.ย.
3) การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ล่าช้า รวมทั้งการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อการกระจายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
วัคซีนคือหัวใจสำคัญ
รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
"วัคซีนเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้ รวมถึงการกระตุ้นการบริโภคภาคบริการในประเทศ" นายเกียรติพงศ์กล่าวย้ำ
ธนาคารโลกคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่กลับไปอยู่ในระดับก่อนการระบาดจนถึงปี 2565 และการฟื้นตัวก็น่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่สม่ำเสมอ ในขณะที่ความน่าจะเป็นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามายังคงอยู่ในระดับต่ำมากจนถึงสิ้นปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเพียง 6 แสนคนเท่านั้น จากเดิมที่คาดการณ์เมื่อเดือน มี.ค. ว่าจะมีประมาณ 4-6 ล้านคน
"ตัวเลขคาดการณ์นี้ได้รวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านโครงการพิเศษของรัฐ เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และโครงการอื่น ๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวก็ต้องขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนในแต่ละพื้นที่นำร่องในไทย และการรับวัคซีนของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายด้วย" นายเกียรติพงศ์อธิบายเพิ่ม
ไทยยังฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้ามาก
รายงานธนาคารโลกฉบับนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีนของรัฐบาลไทย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศไว้ว่า ภายในสิ้นปีคนไทยจะต้องได้รับวัคซีนครบโดสไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ครอบคลุม 70% ของประชากร
ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าเป้าหมายดังกล่าวอาจทำไม่ได้จริงเมื่อพิจารณาจากอัตราการฉีดในปัจจุบัน
โดยตัวเลข ณ สิ้นเดือน พ.ค. สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสมีเพียง 1.6% ของประชากร แต่อัตราการฉีดวัคซีนเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มิ.ย. โดยฉีดได้ 200,000 - 300,000 คนต่อวัน และคาดว่าภายในสิ้นเดือนมิ.ย. จะอยู่ที่ราว 4% ของประชากร
"ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี ตามสมมติฐานที่คาดการณ์ประมาณ 70% ของประชากรจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มภายในสิ้นปี 2564 และจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในกลางปี 2565"" รายงานดังกล่าวระบุ และคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลทางลบต่อการเดินทางภายในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยว
คาดไทยฟื้นตัวในปีหน้า
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยน่าจะเห็นในปี 2565 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% โดยจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศ 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นทั้งโลกเพียงพอที่จะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศสามารถฟื้นตัวได้บางส่วน และ 3) การใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เพิ่งผ่านการอนุมัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบโดยเฉพาะอัตราความยากจน
การจำลองสถานการณ์ของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าหากปราศจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล อัตราความยากจนจะเพิ่มจาก 6.2% ในปี 2562 เป็น 7.4% ในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 700,000 คน ก่อนที่จะลดลงเป็น 7% ในปีนี้
นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลยังเห็นชอบกับการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนช่วยเหลือครัวเรือนต่อไปอีกและอาจจะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นางแฮนเซิลแนะนำว่า รัฐบาลไทยควรใช้นโยบายเยียวยาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะทรัพยากรทางการคลังก็เริ่มมีจำกัดมากขึ้นเช่นกัน
น.ส. รานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกอธิบายว่า ในปีนี้ไทยจะมีเพดานหนี้สาธารณะเป็น 59.3% ของจีดีพี หลังจากใช้ พ.ร.บ.เงินกู้มาแล้วถึงสองครั้ง และคาดว่าในปีหน้าหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 62.1% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
ในวันนี้ (15 ก.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าได้จับมือสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติออกมาตรการพักชำระหนี้ (เงินต้น-ดอกบี้ย) 2 เดือน ช่วยเหลือลูกหนี้ SME-รายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ เริ่มตั้งแต่งวดก.ค. นี้ โดยลูกหนี้แจ้งความจำนงกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่ 19 ก.ค.นี้
นายกฯ เตรียมต้อนรับ นทท. ทัวร์สมุย
เย็นวันเดียวกัน (15 ก.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานเปิดเกาะสมุยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้โครงการ "สมุยพลัสโมเดล" โดยเปิดพื้นที่นำร่อง 3 เกาะใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัวอยู่แต่ในโรงแรม
โครงการสมุยพลัสโมเดล เป็นหนึ่งในแผนเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาล และถือเป็นภาคต่อของโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่เข้ามาในสมุยวันนี้ นำคณะสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวน 5 คน ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญมาทดสอบระบบ จากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และเกาะฮ่องกง และนักท่องเที่ยวทั่วไปอีก 4 คน เข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินอื่น ๆ ที่บินไปสมุยในวันดีเดย์ รวมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันแรก 9 คน
อย่างไรก็ตามสมุยพลัสมีทั้งความเหมือนและแตกต่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สิ่งที่เหมือนกันคือนักท่องเที่ยวต้องตรวจหาเชื้อโควิด-ๅต ทั้งหมด 3 ครั้งสำหรับการพักอยู่ 14 วัน ซึ่งกรณีภูเก็ต หากผลเป็นลบ สามารถออกท่องเที่ยวได้ทั่วเกาะ ขณะที่กรณีสมุย จะออกจากโรงแรมได้ก็ในวันที่ 4 เป็นต้นไป โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
- วันที่ 1 นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้อง
- วันที่ 2-3 ออกจากห้องพัก แต่พักผ่อนได้แค่ภายในบริเวณโรงแรม (Area Quarantine)
- วันที่ 4-7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route)
- วันที่ 8-14 สามารถเที่ยวได้ทั่วเกาะสมุย หรือข้ามไปเที่ยวเกาะพะงัน เกาะเต่าได้
ขณะที่ภาพรวมของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หลังครบ 2 สัปดาห์ มีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาที่ภูเก็ตแล้ว 5,473 คน โดยทุกวันจะมีเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้ามา 2-5 เที่ยวบิน และมียอดจองโรงแรมผ่านโครงการสะสม 196,766 รูมไนท์
วันนี้ยังเป็นวันที่นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางเข้าภูเก็ตตั้งแต่ 1 ก.ค. สามารถออกนอกพื้นที่ จ.ภูเก็ตได้ด้วย บีบีซีไทยได้ติดต่อโรงแรมในพื้นที่บางแห่งพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกเดินทางกลับประเทศหลังครบ 14 วัน แต่มีบางส่วนเลือกเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ และมีบางรายที่เดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานเพื่อพบปะสมาชิกครอบครัว
ศูนย์ข้อมูลโควิด จ.ภูเก็ต รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (1-14 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันรายใหม่ 72 ราย แบ่งเป็นคนในพื้นที่ 62 ราย และนักท่องเที่ยวจากโครงการ 10 ราย โดยทางจังหวัดยืนยันว่ายังไม่พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แต่อย่างใด
โฆษกรัฐบาลระบุว่า วัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้ทั้ง 3 ยี่ห้อ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก อย่าง ซิโนแวคมีใช้ใน 37 ประเทศ และซิโนฟาร์มมีการใช้ 56 ประเทศทั่วโลก
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar