tisdag 13 juli 2021

รัฐล้มละลาย ชีวิตล่มสลาย!

 รัฐล้มละลาย ชีวิตล่มสลาย! : สุรชาติ บำรุงสุข

28 มิถุนายน 2564

มติชนออนไลน์

สุรชาติ บำรุงสุข

ในวิชาความมั่นคงศึกษา เรามีคำเรียกสถานะของรัฐที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรง เช่น สถานการณ์สงครามกลางเมือง จนรัฐบาลหมดขีดความสามารถในการทำหน้าที่ของความเป็นรัฐ และไร้ความสามารถในการควบคุมพื้นที่และประชาชน และตามมาด้วยการทะลักของผู้คนออกจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาในสภาพของผู้อพยพไปยังรัฐเพื่อนบ้าน สภาวะเช่นนี้ถูกเรียกในเชิงภาพลักษณ์ว่า “รัฐล้มเหลว” (หรือ “failed state”) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงที่เห็นได้เสมอในข่าวต่างประเทศ

ในกรณีของสังคมไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกสามขยายตัวมากขึ้นอย่างน่ากังวล จนต้องถือว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น “อภิมหาวิกฤต” ที่สำคัญของสังคมในปี 2564 และกำลังเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาในด้านต่างๆ อย่างมาก รัฐไทยอาจจะไม่กลายเป็น “รัฐล้มเหลว” เช่นที่กล่าวในข้างต้น แต่อาจจะมีสภาพเป็น “รัฐล้มละลาย” (คือเป็น “bankrupt state”) กล่าวคือ รัฐไทยไม่ได้ “ล้มเหลว” ด้วยเงื่อนไขของสงครามกลางเมืองเช่นที่เกิดในมิติด้านความมั่นคง แต่กำลังก้าวไปสู่การล้มละลายจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ


ผลจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และการบริหารภาครัฐที่อ่อนด้อยในปัจจุบัน กำลังสะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “รัฐบาลล้มเหลว” และเป็นการล้มเหลวครั้งใหญ่ จนกำลังพารัฐไทยไปสู่ความ “ล้มละลาย” ในด้านต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้คนกำลังประสบปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คือ การล้มละลายของชีวิตผู้คนในสังคม โดยเฉพาะการล้มละลายของชีวิตในทางเศรษฐกิจ จนน่ากังวลอย่างมากว่า รัฐไทยกำลังเป็น “รัฐล้มละลาย” จากการขยายตัวของวิกฤตความมั่นคงด้านสาธารณสุข ที่ทำให้เกิดวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์ และตามมาด้วยปัญหาใหญ่คือ วิกฤตความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

การผสมผสานของปัญหาความมั่นคงในสามมติเช่นนี้ ก่อให้เกิด “อภิมหาวิกฤตไทย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นวิกฤตชุดใหญ่ที่สุดที่รัฐและสังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน เช่นที่หลายคนในยุโรปกล่าวไว้ว่า โรคระบาดโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ผลจากวิกฤตนี้ในอีกด้านหนึ่งเป็นดังทฤษฎีที่กล่าวเสมอว่า วิกฤตทุกประเภทคือ บททดสอบสำคัญต่อประสิทธิภาพและขีดความสามารถของรัฐบาล และทั้งยังเป็นบททดสอบที่จะชี้ถึงอนาคตของตัวผู้นำรัฐบาลโดยตรงด้วย ดังจะเห็นได้จากเสียงวิจารณ์นโยบายในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์ต่อนโยบายที่เพิ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จนผู้รับผลกระทบหลายฝ่ายรู้สึกตั้งตัวไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ไปจนถึงบรรดาพี่น้องคนงาน ที่สุดท้ายแล้ว พวกเขาตัดสินใจกลับไป “ตายดาบหน้า” ที่จังหวัดบ้านเกิด

แน่นอนว่า ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤต จะส่งผลให้สถานะของผู้นำรัฐบาลสูงเด่นขึ้น และจะทำให้เขาเป็นบุคคลที่ได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศ และอาจจะเป็นการจารึกในระดับโลกด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง เช่น ความสำเร็จของประธานาธิบดีเคนเนดี้ในการแก้ปัญหา “วิกฤตการณ์จรวด” ที่คิวบาในปี 2505 ซึ่งทุกครั้งที่กล่าวถึงความตึงเครียดทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น เราคงต้องกล่าวถึงความสำเร็จของประธานาธิบดีเคนเนดี้ในเรื่องนี้

ในทำนองเดียวกัน ความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตที่สังคมต้องเผชิญ จะส่งผลโดยตรงต่อการเป็นจุดจบอนาคตของผู้นำรัฐบาล และความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ “กระชากตัว” ผู้นำลงจากอำนาจได้ไม่ยากเลย และทั้งยังถูก “ประนาม” ด้วยบันทึกของประวัติศาสตร์ ที่ “ความล้มเหลวของรัฐบาล” อาจนำไปสู่ “ความล่มสลายของรัฐ” อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากความล้มเหลวของผู้นำรัฐบาลทั้งสามประเทศในอินโดจีนในปี 2518 คือปัจจัยที่นำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบการปกครองเก่าในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งตามมาด้วยการอพยพของผู้ลี้ภัยจำนวนมากมายังประเทศไทย

ดังนั้น ในทุกวิกฤต จึงเป็น “โอกาส” ให้ผู้นำรัฐบาลได้แสดงความสามารถ แต่ถ้าเมื่อใดรัฐบาลไร้ความสามารถแล้ว วิกฤตจะกลายเป็น “มหันตภัย” ต่อผู้นำและรัฐบาลเสมอ

ผู้นำรัฐบาลมี “โอกาส” ที่จะแสดงบทบาทในการแก้วิกฤตอย่างเต็มที่ในฐานะของการเป็น “ผู้กุมอำนาจรัฐ” และอาจสร้างบทบาทให้ตนเองเป็นเสมือนเป็น “อัศวิน” ผู้แก้ปัญหา แต่หากรัฐบาลล้มเหลว วิกฤตนั้นจะเป็นอันตรายอย่างมากและเป็นความน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะวิกฤตย่อมมีนัยถึงความรุนแรงของปัญหา และเป็นปัญหาที่ต้องการการตัดสินใจในกรอบระยะเวลาสั้นๆ การไร้ขีดความสามารถและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ย่อมทำให้วิกฤตดังกล่าวเป็น “ภัยคุกคามใหญ่” ต่อสถานะและอนาคตของผู้นำ และความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่ด้วย

ดังที่เรารับทราบกันดีว่า รัฐบาลในภาวะวิกฤตถูกทดสอบด้วยสถานการณ์จริง ที่มีอนาคตของผู้คนในสังคมเป็นเดิมพัน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวจึงมีชีวิตของคนจำนวนมากในสังคมเป็นผู้ต้องรับผลในอนาคต เพราะหากการแก้ปัญหาวิกฤตของรัฐบาลเกิดความล้มเหลว และนำสังคมไปสู่ล่มสลายของชีวิตในวันข้างหน้า สังคมโดยรวมย่อมเป็นผู้รับผลเช่นนั้น ดังเช่นที่เราเห็น “ความยากลำบาก” ที่เกิดกับชีวิตคนในประเทศที่รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

ในความล้มเหลวที่เกิดขึ้น บรรดาผู้นำรัฐบาลและครอบครัวของพวกเขาอาจจะอพยพออกจากประเทศได้ แต่ประชาชนผู้รับผลนั้น ย่อมจะต้องกลายเป็น “ผู้ต้องทนทุกข์” อยู่กับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น … ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่จะทิ้งประเทศ และพาครอบครัวไปอาศัยเสพสุขในประเทศอื่น อย่างเช่นที่ผู้นำสามารถทำได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ประชาชนก็ยังต้องคงอยู่ต่อไป … ชีวิตของประชาชนในยามวิกฤตไม่มีทางเลือกมากนัก แม้กระทั่งการหาวัคซีนทางเลือกก็ยังทำไม่ได้จริง จนเริ่มมีคำถามมากขึ้นว่า ประชาชนมีชีวิตอยู่ด้วยการรอความเมตตาจากผู้ปกครองเท่านั้นหรือ

วิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 3 ครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนกับการเดิมพันครั้งใหญ่ของสังคมไทย และในอีกด้านก็เป็นเดิมพันอนาคตของผู้นำรัฐบาลด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ ผลจากความล้มเหลวในการบริหารของรัฐบาล อาจพาพวกเราไปสู่ภาวะ “รัฐล้มละลาย” และความเป็น “สังคมยากจน” ในภูมิภาคได้ไม่ยากนัก

บางทีวันนี้ เราอาจจะต้องเริ่มคิดถึง “การบริหารภาครัฐใหม่” เพราะภาวะ “รัฐล้มละลายและสังคมยากจน” เช่นที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ทำลายศักยภาพของรัฐไทยทั้งหมด ภาวะเช่นนี้จึงเป็นคำถามโดยตรงว่า ถึงเวลาที่เราจะต้อง “ปลดปล่อย” รัฐไทยออกจากการควบคุมของบรรดาผู้นำทหารที่ไร้ความสามารถแล้วหรือไม่? …

รัฐไทยอยู่กับการบริหารที่ล้มเหลวของผู้นำทหารและพรรคพวกของเขามานานเพียงพอแล้วมิใช่หรือ!

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar