โควิด-19 : ประกาศห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม ทั่วประเทศ สกัดการระบาด

Thai pro-democracy activist leader Parit "Penguin" Chiwarak (C) flash the three-finger salute as they march to the Government House in Bangkok, Thailand, 02 July 2021.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ประกาศห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 6 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศดังกล่าวออกมา ไม่กี่ชั่วโมงหลัง พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค. เตรียมพิจารณาเพิ่มการปิดกิจการบางประเภท และปรับมาตรการให้เข้มขึ้น หลังบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ไป 5 วัน ในพื้นที่ 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่พบว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

ด้าน กลุ่มเยาวชนปลดแอก โพสต์ประกาศทางเฟซบุ๊กนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และภายหลังจากมีข่าวประกาศห้ามการชุมนุมออกมา ทางกลุ่มยังคงโพสต์เชิญชวนประชาชนออกไปร่วมทำกิจกรรมต่อไป โดยใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง หมวกคลุม เฟซชิลด์ และการใส่ชุดกันฝน เพื่อป้องกันเชื้อและป้องกันฝน รวมทั้งการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตรขณะทำกิจกรรม

A anti-government protest wearing a protective face mask with "Prayut get out" message during they rally near the Government House in Bangkok, Thailand, 02 July 2021

ที่มาของภาพ, EPA

ประกาศที่ลงนามโดยพลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง มีเนื้อหาดังนี้

1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

2. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร

3. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สำหรับการจัดกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์จัดเลี้ยงหรืองานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสม และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร ห้ามการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

4. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับใหม่ ให้ประกาศฉบับนี้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฉบับใหม่ดังกล่าว