“ถึงเวลาที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องปกป้องผู้ที่ท่านรักด้วยตัวของท่านเอง” นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลง
โควิด-19 : ศบค. เผยยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ทะลุหมื่น เสียชีวิต 141 ราย หมอโอภาสชี้หากไม่ยกระดับมาตรการตัวเลขจะสูงไปอีก 3-4 เดือน
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ของไทยประจำวันที่ 17 ก.ค. ทุบสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ของไทย ด้วยยอดผู้ติดเชื้อทะลุหมื่น และผู้เสียชีวิตทะลุร้อย โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 1.1 แสนรายที่รักษาตัวใน รพ. หรือ รพ. สนาม
ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามการรายงานของ ศบค. ในวันนี้ จำนวน 10,082 ราย แบ่งเป็น เป็นการติดเชื้อในโลกภายนอก 9,955 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 127 ราย
พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในรอบ 24 ชม. ยังคงเป็นกรุงเทพฯ 2,302 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมเฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย. เป็นต้นมาที่ 110,628 ราย
เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตจำนวน 141 ราย ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด 71 ราย ส่วน 5 จังหวัดปริมณฑลซึ่งถูกจัดเป็นจังหวัด "สีแดงเข้ม" มีผู้เสียชีวิตรวมกัน 37 ราย
ในการประชุม ศบค. วาระพิเศษ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานเมื่อ 16 ก.ค. เพิ่งส่งสัญญาณว่าเตรียมยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังพบว่าประชาชนบางส่วนไม่ร่วมมือในมาตรการจำกัดการเดินทาง นับจากประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดระบาดหนัก (สีแดงเข้ม) ตั้งแต่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา
"ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความจำเป็นที่อาจต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และอาจจะทำให้ได้รับผลกระทบความไม่สะดวกในหลาย ๆ อย่าง แต่ขอให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า ทุกมาตรการที่ออกมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าหากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันเต็มที่ ประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้โดยเร็วที่สุด และรัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนจากทุก ๆ แหล่งให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด โดยไม่เคยปิดกั้นการจัดหาวัคซีนทางเลือกจากภาคเอกชน" พล.อ. ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กหัวค่ำวานนี้
หากไม่ยกระดับ มตก. ยอดป่วย-ตายจะสูงไปอีก 3-4 เดือน
นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า ขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาถูกพบแล้วใน 111 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงในประเทศไทยซึ่งพบผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเป็นวงกว้างในระดับสูงมาก จนกระทบขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเกิน 70% เป็นผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการระบาดในระลอกนี้แตกต่างจากระลอกก่อน ๆ มาก เพราะว่าพบการระบาดแพร่เชื้อในครอบครัง คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ติดไปถึงผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้
"ถึงเวลาที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องปกป้องผู้ที่ท่านรักด้วยตัวของท่านเอง" และ "เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องผู้สูงอายุ/ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้านเรา หากพบการติดเชื้อจะได้ป้องกันอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องพาผู้สูงอายุ/ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังไปฉีดวัคซีน" นพ. โอภาสกล่าว
เขายังขอความร่วมมือของทุกฝ่ายให้ร่วมกันงดออกจากบ้านให้มากสุด, ทำงานที่บ้าน (WFH), เวลาอยู่บ้าน ต้องสวมหน้ากากตลอดเมื่อพูดคุยกับสมาชิก ทานอาหารแยกกัน ทำความสะอาดอุปกรณ์/สิ่งที่จับร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะอาหาร ราวบันได้ ลูกบิดประตู
อธิบดีกรมควบคุมโรคยังชี้แจงสถานการณ์โรคในพื้นที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ
- ภาคกลางและภาคตะวันออก พบการระบาดในโรงงาน/สถานประกอบการต่าง ๆ >> ต้องมีมาตรการเคร่งครัดที่เรียกว่า "บับเบิล แอนด์ ซีล" คืออยู่ในสถานประกอบการกับที่พักเท่านั้น ไม่แวะที่ต่าง ๆ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ พบผู้ติดเชื้อเดินที่ทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมาก >> ต้องขอความร่วมมือทุกคนงดเดินทางข้ามจังหวัด
นพ. โอภาสกล่าวต่อไปว่า "จากสถานการณ์ขณะนี้คาดการณ์ว่าหากยังไม่ทำมาตรการอะไรที่เพิ่มกว่านี้ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการยกระดับควบคุมโรค โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทางซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของโรค" นอกจากนี้ทุกท่านต้องเคร่งครัดเรื่องมาตรการส่วนบุคคล และเร่งรัดความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพื่อลดการเสียชีวิตและป่วยหนักในกลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง"
อย่างไรก็ตามทางอธิบดีกรมควบคุมโรคยังไม่ได้ระบุรายละเอียดของมาตรการที่แน่ชัด โดยบอกเพียงว่าทาง สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวจะมีมาตรการเพิ่มเติมและจะแถลงต่อไป
สถานการณ์ในรอบ 24 ชม.
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชม. จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญ ดังนี้
- ผู้ป่วยรายใหม่ 10,082 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,913 ราย, ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 127 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 42 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมนับจากปี 2563 อยู่ที่ 391,989 ราย หายป่วยสะสม 278,184 ราย
- ผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. มีจำนวน 363,126 ราย หายป่วยแล้ว 250,758 ราย
- ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 141 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 3,240 ราย คิดเป็น 0.83%
- ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ./รพ. สนาม 110,565 ราย โดยมี 3,454 รายที่อาการหนัก และ 839 รายที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
- พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่สูงสุด 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,302 ราย, สมุทรปราการ 849 ราย, สมุทรสาคร 680 ราย, ชลบุรี 659 ราย และนนทบุรี 471 ราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั้งสิ้น 190,296,856 ราย และเสียชีวิตสะสม 4,091,909 ราย โดยไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 55 ของโลก
ผู้เสียชีวิตกลุ่มล่าสุด
ขณะที่ผู้เสียชีวิตล่าสุด ราย ศบค. ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้
- เพศชาย 73 ราย หญิง 68 ราย
- อยู่ใน 25 จังหวัด และครบทั้ง 4 ภาค แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 108 ราย, ภาคอีสาน 17 ราย, 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 ราย และภาคตะวันออก 7 ราย
- ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 82 ราย, เบาหวาน 63 ราย, โรคไต 31 ราย ส่วนที่เหลือเป็นโรคอื่น ๆ และมีสตรีตั้งครรภ์ด้วย 1 ราย โดยมีอยู่ 14 รายที่ถูกระบุว่าไม่มีโรคประจำตัว
- มีปัจจัยเสี่ยงจากการอาศัย/เดินทางเข้าพื้นที่ระบาด 44 ราย, สัมผัสสมาชิกในครอบครัว 34 ราย, สัมผัสคนอื่น ๆ เช่น เพื่อน, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนร่วมงาน 32 ราย ไปสถานที่แออัดพลุกพล่าน 14 ราย, อาชีพเสี่ยง 1 ราย และระบุไม่ได้ 16 ราย
- ค่ามัธยฐานของอายุคือ 64 ปี (อายุระหว่าง 24-96 ปี)
- ค่ามัธยฐานระยะเวลานับจากทราบผลติดเชื้อถึงเสียชีวิตคือ 8 วัน
- มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย อยู่ใน จ.นนทบุรี และปราจีนบุรี โดยทราบผลติดเชื้อหลังจากเสียชีวิตลงแล้ว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar