โควิด-19: นับถอยหลังคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยติดท็อป 20 ของโลก

พนักงานในห้างสรรพสินค้าทำความสะอาดร้าน

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

พนักงานในห้างสรรพสินค้าทำความสะอาดร้านเตรียมกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.ย. นี้

นับถอยหลังสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือนในวันที่ 1 ก.ย. นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจที่อนุญาตให้กลับมาเปิดให้บริการบางส่วน เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านนวด รวมทั้งสายการบินเริ่มเตรียมความพร้อม ขณะที่หลายรายสะท้อนว่าจะทำตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนดได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนและการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อ

หากนับจากวันที่ 12 ก.ค. ที่ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 13 และ 29 จังหวัด ก็เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่คนใน "จังหวัดสีแดงเข้ม" ต้องอยู่กับการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว หลายคนจึงจับตาว่าการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างในครั้งนี้ โดยเฉพาะการเปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร การเปิดห้างสรรพสินค้า และการเดินทางออกนอกพื้นที่สีแดงเข้มจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างที่ ศบค. คาดหวังหรือไม่

บีบีซีไทยรวบรวมความเคลื่อนไหวและสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก่อนที่การผ่อนล็อกดาวน์จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ก.ย. นี้

ผู้ติดเชื้อสะสมติดอันดับท็อป 20 ของโลก

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันของไทยอยู่ที่ประมาณ 20,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตต่อวันอยู่ที่ราว 200-300 ราย แม้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงบ้างเล็กน้อยมาอยู่ที่ 15,972 ในวันนี้ (30 ส.ค.) แต่หากเทียบดูในระดับโลกแล้วสถานการณ์ของไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าวางใจนัก

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers.info ที่รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายประเทศ ไทยอยู่ในอันดับต่าง ๆ ดังนี้

  • จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม อันดับที่ 29 ของโลก (1,190,063 ราย)
  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน (วันที่ 29 ส.ค.) สูงเป็นอันดับที่ 11 รองจากอินเดีย สหรัฐฯ อังกฤษ อิหร่าน ญี่ปุ่น มาเลเซีย รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโกและตุรกี
  • จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ต่อวัน (วันที่ 29 ส.ค.) สูงเป็นอันดับที่ 10
  • จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม สูงเป็นอันดับที่ 46

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 15,972 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 15,681 ราย เรือนจำ 280 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,190,063 ราย หากนับเฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 1,161,200 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 185,200 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,154 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,082 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (3,771 ราย) สมุทรปราการ (1,055 ราย) สมุทรสาคร (966 ราย) ราชบุรี (779 ราย) และชลบุรี (747 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 256 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 79 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 11,399 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.96% และหากนับเฉพาะระลอกเดือน เม.ย. 2564 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.97%
  • ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. อยู่ที่ 30,954,477 โดส ซึ่งเป็นการฉีดเข็มแรกในประชาชน 23,018,371 ราย

เด็กเล็กติดโควิด-19 สะสมกว่า 3.1 หมื่นราย

นอกจากภาพรวมการแพร่ระบาดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนักที่ยังกดลงได้ไม่มากนัก ยังมีคลัสเตอร์การระบาดใหม่เกิดขึ้นด้วย

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าววันนี้ (30 ส.ค.) ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์ที่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลขึ่ง อ.เวียงสา จ.น่าน โดยการติดและแพร่ระบาดครั้งนี้มาจากผู้ดูแลเด็ก ซึ่งเบื้องต้นพบเด็กในศูนย์แห่งนี้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงกว่า 70 คน พบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก 11 คน อายุต่ำสุด 4 เดือน ทำให้ประเด็นการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบการระบาดในกลุ่มนี้มากขึ้น

จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 เด็กปฐมวัย อายุตั้งแต่ 0-5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึง ณ วันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา มีเด็กติดเชื้อ จำนวน 31,811 คน เป็นคนไทย 27,755 คน ต่างชาติ 4,056 คน เสียชีวิตรวม 9 คน โดยกรุงเทพมหานครพบมีการติดเชื้อสูงสุด 5,806 คน รองลงมาคือ สมุทรสาคร 2,324 คน และชลบุรี 1,993 คน

เด็กเรียนออนไลน์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

กรมอนามัยเปิดเผยสถิติด้วยว่า จากช่วงเวลาตั้งแต่ 14-21 ส.ค. หรือราว 1 สัปดาห์มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5,298 คน คิดเป็น 3.7% และเสียชีวิตเพิ่ม 4 คน

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า การติดและแพร่เชื้อในเด็กเล็กที่ผ่านมามักไม่ต่างไปจากการติดเชื้อในผู้ใหญ่ แต่เด็กอาจจะมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เบาหวาน หอบหืด หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาทในบางรายส่งผลให้อันตรายถึงชีวิต

สายการบินพร้อมรองรับการเดินทางข้ามจังหวัด

แม้ในการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ ศบค. จะอนุญาตให้ประชาชนใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เดินทางออกนอกพื้นที่ได้หรือข้ามจังหวัดได้ แต่ย้ำว่าให้เดินทางเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 ส.ค. อนุญาตให้สายการบินทำการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กพท. กำหนดมาตรการสำหรับจำนวนผู้โดยสารในเที่ยวบิน ให้มีผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 75 ของขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารของเครื่องบินที่ใช้ในเที่ยวบินนั้น ๆ และสายการบินจะจัดที่นั่งในเครื่องบิน โดยเว้นระยะห่าง แต่หากผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกัน สายการบินอาจให้นั่งใกล้กันได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ผู้โดยสารจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคของจังหวัดจุดหมายปลายทาง ที่ต้องการเดินทางไปอย่างเคร่งครัด โดยทาง กพท. ได้ระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ว่าสายการบินจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของมาตรการการเข้าออกจังหวัดพื้นที่ปลายทาง พร้อมระบุว่าผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง โดยสามารถตรวจสอบมาตรการของแต่ละจังหวัดได้จากเว็บไซต์ moicovid.com

ฉีดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด กพท. กำหนดเอาไว้ว่าต้องเตรียมเอกสารเพื่อใช้ประกอบการเดินทางซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด แต่เอกสารเบื้องต้นที่ทุกจังหวัดร้องขอให้แสดงต่อเจ้าหน้าที่สายการบินก่อนขึ้นเครื่องมีดังนี้

  • เอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ
  • เอกสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK) หรือ
  • เอกสารที่แสดงถึงการได้รับการยกเว้น ตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด เช่น ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 90 วัน ผู้ผ่านการกักตัวแล้ว หรือผู้โดยสารตามโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) เป็นต้น

สำหรับเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีน ให้แสดงผลการฉีดวัคซีนที่ได้รับจากโรงพยาบาลหรืออาจใช้หลักฐานจากแอปพลิเคชันหมอพร้อมเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้

บีบีซีไทยได้ตรวจสอบมาตรการเข้าจังหวัดในบางพื้นที่โดยพบว่าส่วนมากยังคงใช้มาตรการควบคุมเดิม และจะร้องขอให้ผู้เดินทางต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน (ซิโนแวค 2 เข็ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม) อย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง หรือมีผลตรวจเป็นลบ โดยแต่ละจังหวัดมีมาตรการที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • ภูเก็ต กำหนดให้ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดตามตัว และต้องแสดงใบรับรอบการปลอดเชื้อโควิด- 19 ในรูปแบบของ RT-PCR หรือ ATK ที่ตรวจคัดกรองโดยแพทย์เท่านั้น และใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือ เคยติดเชื้อไม่เกิน 90 วัน
  • ประจวบคีรีขันธ์ กำหนดให้ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นติดตามตัว และแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน ครบ 2 เข็ม หรือเคยติดเชื้อไม่เกิน 90 วัน
  • เชียงใหม่ กำหนดให้ต้องดาวโหลดแอปพลิเคชั่นติดตามตัว และแสดงใบรับรองฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และอาจจะมีการถูกตรวจการติดเชื้อที่ปลายทาง

องค์การเภสัชฯ เซ็นสัญญาซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด

หนึ่งในข้อกำหนดของ ศบค. สำหรับกิจการที่จะกลับมาให้บริการคือพนักงานจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์โดยใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็วหรือ ATK ทำให้คาดว่าความต้องการชุดตรวจ ATK จะเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากหลังผ่อนคลายมาตรการในวันที่ 1 ก.ย.

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วันนี้ (30 ส.ค.) ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดซื้อ ATK แบบตรวจด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลราชวิถี ภายหลังคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ของ สปสช. เห็นชอบราคาชุดตรวจตามที่ อภ. ได้เสนอ

ผอ. องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK ทั้งหมด บริษัทจะนำเข้ามา และจัดส่งให้หน่วยบริการกว่า 1,000 แห่ง ตามที่ สปสช.กำหนด ภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่ สปสช. กำหนดสถานที่จัดส่งที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ก่อนการจัดส่ง จะมีคณะกรรมการตรวจรับสินค้าตาม TOR โดยตรวจประเมินจากใบตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ หรือเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม TOR ของผู้สั่งซื้อ และการสุ่มตัวอย่างไปทดสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการของคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี นอกจากนี้ อภ. จะสุ่มตัวอย่างเพื่อเก็บตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์หลังจากการนำไปใช้งานควบคู่กันไป

เอกสารข่าวจากองค์การเภสัชกรรม ระบุด้วยว่า กรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภค บริษัทผู้จำหน่ายต้องสืบหาสาเหตุ และการป้องกัน กรณีที่มีปัญหาคุณภาพจนต้องเรียกคืนสินค้า บริษัทผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บคืน พร้อมชดใช้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และทำรายงานผลการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน ส่งให้องค์การฯ ทำการประเมินประสิทธิผลของการเรียกคืนทุกครั้ง

ด้าน นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล และเป็นผู้ชนะการประมูล กล่าวว่า ด้วยกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานจะสามารถผลิต ATK พร้อมส่งมอบทั้งหมดได้ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน โดย ATK ทั้งหมดจะจัดส่งทางเครื่องบินเช่าเหมาลำ

คาดว่าล็อตแรกจะจัดส่งมาในวันที่ 6 ก.ย. 2564 โดยภายใน 14 วัน หลังจากลงนามสัญญาจะทยอยส่งมอบและจัดส่งครบ 8.5 ล้านชุด ถึงหน่วยบริการกว่า 1,000 แห่ง ตามที่ อภ. และ สปสช.กำหนด

"บริษัทมีความมั่นใจในคุณภาพ ATK ของ Lepu ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยหลักฐานที่ชัดเจนสามารถพิสูจน์ได้ หากยังมีการด้อยค่าผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นธรรมกับบริษัททำให้มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทางบริษัทฯ จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการขั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด..." เอกสารข่าว อภ. อ้างคำพูดของนางศิริญา

ครม. อนุมัติงบ 4,745 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 9.9 ล้านโดส

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (30 ส.ค.) อนุมัติงบประมาณ 4,745 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 9,998,820 โดส

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าด้วยจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้ออีกเกือบ 10 ล้านโดสนี้ ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสภายในปี 2564

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ล็อตนี้มีจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุ 12 - 17 ปี, หญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า, กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง, ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย, ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศทั้งนักเรียนนักศึกษาหรือนักการทูต

วัคซีนไฟเซอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติจัดซื้อวัคซีนไปแล้วจำนวน 80 ล้านโดส วงเงิน 22,990 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย. นี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้โดยจำกัดจำนวน

สื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์ สังกัดละ 2 ทีม ทีมละ 2 คน หนังสือพิมพ์และสำนักข่าว สังกัดละ 2 คน

line

ผู้ประกอบการต้องทำ-ลูกค้าต้องรู้

เงื่อนไขสำหรับการเปิดกิจการบางประเภทในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. มีดังนี้

  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึงเวลา 20.00 น.
  • ร้านตัดผม-เสริมสวยเปิดบริการได้ เฉพาะให้บริการตัดผมไม่เกิน 1 ชม.
  • ร้านนวดให้เปิดเฉพาะบริการนวดฝ่าเท้า
  • คลินิกเสริมความงาม อนุญาตเฉพาะการซื้อสินค้า
  • สนามกีฬา เปิดได้ถึง 20.00 น.
  • ร้านอาหารนอกอาคาร เปิดโล่ง หรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานอาหารได้ 75% ของพื้นที่
  • ร้านอาหารแบบมีเครื่องปรับอากาศ และร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า นั่งรับประทานอาหารได้ 50% ของพื้นที่ร้าน
  • สถานศึกษายังไม่เปิดเรียน แต่ให้พิจารณาการใช้อาคารได้ โดยผ่อนผันได้เป็นกรณีไป
  • จัดซ้อมและแข่งกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนามได้ถึงเวลา 20.00 น. และต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเท่าที่จำเป็น
  • คงมาตรการงดเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ทั้งการทำงานที่บ้านและการห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปอีกอย่างน้อย 14 วัน
  • ประชาชนในจังหวัดสีแดงเข้มสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้หากมีเหตุจำเป็น
  • ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา ห้ามเดินทางด้วยตัวเอง ให้ประสานงานและเดินทางกับโครงการรับคนกลับบ้านเท่านั้น
  • ยกระดับมาตรการป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งหมายถึงการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาเสมือนว่าทุกคนรวมทั้งตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ และสนับสนุนให้สถานประกอบการต่าง ๆ เป็นพื้นที่ "ปลอดโควิด" (Covid-free setting) ซึ่งประกอบด้วยการรักษาสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศดี มีการเว้นระยะห่าง บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์และได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทุกสัปดาห์ ลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน
  • สำหรับกิจการและกิจกรรมที่ยังต้องปิดบริการต่อเนื่อง ได้แก่ สถาบันกวดวิชา สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องประชุมจัดเลี้ยง