ทันทีที่เสร็จสิ้นการแถลงข่าว โลกโซเชียลก็เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ ตั้งแต่เรื่องการพันธนาการผู้ต้องหาที่ใช้เพียงวัสดุเป็นเส้นสีดำมัดข้อมือไว้หลวม ๆ ไปจนถึงการที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อ้างว่า "ไม่ทันได้ดู" ป้ายทะเบียนรถที่นำตัวผู้ต้องหามาส่ง
คนเผยแพร่คลิปจะเป็นอย่างไร-ใครพา "ผู้กำกับโจ้" มาส่ง? กับอีกหลายคำถามหลัง ตร. แถลงข่าว
การแถลงข่าวใหญ่เรื่องการมอบตัวของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้" อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วยการทรมาน ที่กองบังคับการปราบปรามคืนวานนี้ (26 ส.ค.) ดูเหมือนจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถูกตั้งคำถามมากกว่าจะได้รับความชื่นชมที่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 7 คนได้ครบในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังถูกออกหมายจับ
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีอาญาร่วมกับผู้ต้องหาอีกรวม 7 คน ใน 3 ข้อหาหลักคือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย หลังจากถูกร้องเรียนว่าทำร้ายร่างกายโดยการทรมานนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ วัย 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกเงินจำนวน 2 ล้านบาท ด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนผู้ต้องหาเสียชีวิต เหตุเกิดที่ สภ. เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และ ร.ต.ท. ธรณินทร์ มาศวรรณา อดีตรองสารวัตรปราบปราม (รอง สวป.) สภ.เมืองนครสวรรค์ คือผู้ต้องหา 2 คนสุดท้ายที่เข้ามอบตัวและถูกจับกุมเมื่อวานนี้ ตร. จึงเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
หลังจากนั้น พ.ต.อ. ธิติสรรค์ก็ถูกควบคุมตัวไปที่ จ. นครสวรรค์ โดยไปถึงราว 01.30 น. เขาตอบคำถามสื่อมวลชนสั้น ๆ 2 ครั้ง ในระหว่างเดินเข้าและออก สภ. เมืองนครสวรรค์เพื่อเข้ารับการสอบปากคำ
ครั้งแรก ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่แถลงไปเป็นเรื่องจริงหรือโกหก พ.ต.อ. ธิติสรรค์ตอบว่า "คือความจริงทุกอย่างครับ"
ครั้งที่สอง ผู้สื่อข่าวถามว่ามีอะไรอยากบอกกับคนที่ปล่อยคลิปหรือไม่เขากล่าวว่า "ไม่เป็นไร ผมอโหสิกรรมให้ครับ"
ขณะที่ ร.ต.ท. ธรณินทร์ กล่าวกับสื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "ขอความเป็นธรรมครับ" และ "นายสั่งครับ"
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้คุมตัว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และ ร.ต.ท. ธรณินทร์ ไปสอบปากคำต่อภายในกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์
เวลา 06.50 น. วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนถูกคุมตัวไปชี้จุดเกิดเหตุประกอบคำให้การ บริเวณห้องปฏิบัติการสืบสวนยาเสพติดในเซฟเฮาส์ที่ถูกเรียกว่า "บ้านกาแฟ" ด้านหลังที่ทำการ สภ. เมืองนครสวรรค์ ใช้เวลาราว 10 นาที ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกนำตัวกลับมาสอบปากคำเพิ่มเติม
เวลา 10.30 น. ตำรวจเรียกพยานรายอื่น ๆ มาสอบปากคำ อาทิ พ่อ แม่ และแฟนสาวของผู้เสียชีวิต โดยแยกสอบทีละราย
เวลา 13.30 น. ตำรวจได้นำตัว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และ ร.ต.ท. ธรณินทร์ ไปศาลจังหวัดนครสวรรค์เพื่อขออำนาจฝากขังเป็นเวลา 12 วัน หรือตั้งแต่ 27 ส.ค.-7 ก.ย. เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมคัดค้านกันประกันตัว โดยอนุญาตตามนั้น
คำถามที่ตามมาหลังการแถลงข่าว
ทันทีที่เสร็จสิ้นการแถลงข่าวในเวลาประมาณ 22.00 น. โลกโซเชียลก็เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ การตั้งคำถามและการวิเคราะห์ถึงทิศทางคดี ตั้งแต่เรื่องการพันธนาการผู้ต้องหาที่ใช้เพียงวัสดุเป็นเส้นสีดำมัดข้อมือไว้หลวม ๆ การเปิดโอกาสให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์แก้ต่างและขอความเห็นใจต่อสาธารณะ การที่นายตำรวจที่ไปรับตัวไม่สามารถตอบได้ว่าใครเป็นคนมาส่งตัว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ไปจนถึงการที่ผู้สื่อข่าวถูกตัดบทเมื่อถามคำถามที่อยู่ในความสนใจของสังคม
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อกำจัดการซ้อมทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง เป็นคนหนึ่งที่ติดตามคดีนี้จนมาถึงการแถลงข่าวเมื่อคืนนี้ เธอให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงข้อสังเกตและคำถามที่เกิดขึ้นมากมายจากปฏิบัติการของตำรวจในคดี "ผู้กำกับโจ้" ดังนี้
ผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจกับผู้ต้องหาที่เป็นประชาชน
นางอังคณากล่าวว่าตั้งแต่การจับกุมถึงการแถลงข่าวมีหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาที่เป็นตำรวจกับผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นประชาชน เช่น
- การพันธนาการโดยใช้สายเคเบิลสีดำที่พันข้อมือไว้หลวม ๆ ด้านหน้า ต่างจากผู้ต้องหาทั่วไปที่มักจะถูกมัดมือไพล่หลังและใส่กุญแจมืออย่างแน่นหนา จะอ้างว่า พ.ต.อ. ธิติสรรค์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงคือเขาหลบหนีมาแล้วถึง 2 วัน
- ก่อนแถลงข่าว พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ฟังอย่างชัดเจนว่าเขามีสิทธิที่จะไม่พูดเพราะอาจถูกใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ย้ำว่าเขามีทนายความที่ไว้วางใจอยู่ด้วย และถามความสมัครใจว่ายินดีตอบคำถามผู้สื่อข่าวหรือไม่ ต่างจากผู้ต้องหาอื่น ๆ ที่แม้ไม่เต็มใจจะแถลงข่าวแต่ตำรวจก็เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม "การแจ้งสิทธิแบบนี้ไม่ค่อยเห็นในกรณีผู้ต้องหารที่เป็นคนธรรมดาคนทั่วไป" นางอังคณาตั้งข้อสังเกต
- ในการแถลงข่าว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ได้รับโอกาสในการแก้ต่างให้ตัวเองและขอความเห็นใจจากสังคม ซึ่งต่างจากผู้ต้องหาทั่วไป
คำถามที่ตำรวจต้องตอบ
ในความเห็นของนางอังคณา คดีนี้มีประเด็นสำคัญที่ตำรวจต้องตอบสังคมให้ได้อยู่อย่างน้อย 2 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก-จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่บันทึกและนำคลิปที่เป็นหลักฐานสำคัญของการทรมานผู้ต้องหามาเผยแพร่
"ขณะนี้เรายังไม่เห็นตำรวจออกมาขอบคุณหรือรับประกันความปลอดภัยของคนที่นำคลิปมาเผยแพร่ ซึ่งมีรายงานว่าเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ทั้งที่บุคคลนี้ถือว่ามีคุณูปการอย่างมากเพราะหากไม่มีคลิปนี้ ผู้เสียชีวิตคงจะกลายเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด แต่เมื่อนักข่าวถามถึงผู้ที่เผยแพร่คลิปในการแถลงข่าว รองฯ สุชาติ (พล.ต.อ. สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.) ก็ตัดบทขึ้นมาทันทีและมีท่าทีโกรธโดยไม่มีเหตุผล ประชาชนอยากได้ความมั่นใจว่าตำรวจที่เผยแพร่คลิปนี้จะได้รับความคุ้มครอง และครอบครัวเขาจะต้องไม่ถูกคุกคาม" อดีตกรรมการสิทธิฯ ให้ความเห็น
ประเด็นที่สอง-ใครคือผู้ที่พา พ.ต.อ. ธิติสรรค์มามอบตัวที่ สภ. เมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
ในการแถลงข่าว พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งเป็นคนที่ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.อ. ธิติสรรค์ให้ไปรับเขาที่ สภ. เมืองแสนสุข ช่วงเย็นวันที่ 26 ส.ค. กล่าวว่าเมื่อไปถึงที่นัดหมาย เขายืนรออยู่ 15 นาที ก็เห็นรถยนต์สีขาวมาจอดและ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ก็ลงมาจากรถ
"เขาเดินมาหาแล้วก็บอกว่า 'พี่ครับ ผมโจ้' ...พอหันมาอีกทีรถคันนั้นก็วิ่งไปแล้วก็เลยไม่ได้ดูเลขทะเบียน" พล.ต.ต. เอกรักษ์กล่าว
นางอังคณามองว่าสิ่งที่ รอง ผบช.ภ. 6 พูดนั้นเท่ากับเป็นการตัดตอนทำให้ไม่สามารถสาวไปถึงผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในการหลบหนี
"ตำรวจระดับสูงที่ไปรับตัวผู้กำกับโจ้บอกว่ามีรถสีขาวมาส่ง แต่ไม่ทันมองว่าทะเบียนอะไร อันนี้คือการตัดตอนไปเลย ทำให้เราไม่รู้ว่าใครให้ความช่วยเหลือในการหลบหนีและหลบซ่อน ถ้าจะกันตัวเป็นพยานอะไรก็ต้องระบุให้ชัดเจน แต่ตำรวจระดับสูงไม่ควรพูดแบบนี้ เป็นไปได้ยังไงที่จะไม่ทันสังเกตทะเบียนรถ"
คดี "ผู้กำกับโจ้" เท่ากับเป็นการยืนยันว่าการซ้อมทรมานมีจริง
แม้ว่าคดีทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตที่ สภ. เมืองนครสวรรค์ จะยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสิ้นสุดที่คำพิพากษาของศาล แต่นางอังคณามองว่า ณ จุดนี้ ก็สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การควบคุมตัวประชาชนตามอำเภอใจ และการทรมานระหว่างควบคุมตัว
นางอังคณาให้ความเห็นว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ปรากฏว่า นายจิระพงศ์ ผู้เสียชีวิตนั้นถูกควบคุมตัวโดยไม่มีบันทึกการจับกุมนั้นเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจควบคุมบุคคลตามอำเภอใจ ซึ่งขัดหลักสิทธิมนุษยชน
เธออธิบายต่อว่า การทำบันทึกการจับกุมเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะปกป้องทั้งผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ตำรวจ การไม่มีบันทึกการจับกุมทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิหรือแม้แต่การทำให้สูญหาย
กรณี "ผู้กำกับโจ้" ยังเป็นเหตุการณ์ที่ยืนยันว่าการทรมานขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นการพิสูจน์ว่าคำพูดของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกควบคุมตัวหลายร้อยหลายพันคนที่เคยบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานนั้นเป็นจริง
"กรณีนี้เป็นเหมือนจุดยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ให้เราเห็น แต่คำถามก็คือมันมีอีกกี่ร้อยกี่พันคนที่โดนกระทำแบบนี้ บางคนรอดชีวิตหรือออกมาแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ ร้องเรียนหรือฟ้องร้องอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน หรือมีบางคนตายไปหรือถูกทำให้เป็นคนสูญหายไปเลยอย่างเช่นกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร"
"คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแบบนี้มักจะตกอยู่ในสภาพที่ต้องยอมจำนน เขาจะถูกจับมัด ใส่กุญแจมือ เอาถุงครอบหัว ทำอะไรก็แล้วแต่ ในสถานการณ์นั้น หลักนิติธรรมทั้งหลายหรือหลักรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติกับเขาต่อเขาเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ หรือเขามีสิทธิไม่ให้การ หรือมีสิทธิพบทนายความ ฯลฯ มันไม่เกิดขึ้นเลย" นางอังคณากล่าว
เล็งโอนสำนวนให้กองปราบรับผิดชอบ
สองนายตำรวจใหญ่ ทั้ง พล.ต.อ. สุวัฒน์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ. สุชาติ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ออกมาระบุตรงกันว่าเตรียมโอนสำนวนมาให้ส่วนกลางทำคดีนี้ โดย ผบ.ตร. กล่าวว่าจะให้กองบังคับการปราบปรามเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากที่ผ่านมากองปราบได้เข้าร่วมปฏิบัติการกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และ จ.นครสวรรค์ มาโดยตลอด จึงมีความเข้าใจ และมีความคล่องตัวในการขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ขณะที่ พล.ต.อ. สุชาติกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และไม่ให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย อีกสักระยะหนึ่งก็จะต้องโอนสำนวนไปที่ส่วนกลาง แต่การดำเนินคดีหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก็ต้องส่งสำนวนไปศาลประพฤติมิชอบและทุจริตกลางด้วย
ในระหว่างตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน พล.ต.อ. สุชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ตร. ให้เป็นผู้ให้ข่าวแต่เพียงผู้เดียว ถูกถามหารายละเอียดเพิ่มเติมหลังสาธารณชนมีโอกาสฟังคำให้การผ่านสื่อมวลชนของผู้กำกับโจ้ โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
- ผกก.โจ้ อ้างว่าไม่เคยเรียกรับเงินล้าน: ไม่ทราบว่าที่สื่อเอามาเสนอมีพยานให้ 1 ล้าน พยานปากไหน แต่ว่าในทางสอบสวนยังไม่พบ "ในคลิปท่านได้ยินคำพูดนี้หรือเปล่าล่ะ ได้ยินไหม ถ้าไม่ได้ยินท่านอย่า รับฟังเหตุผล ต้องยึดถือหลักด้วยว่าข้อเท็จจริงมันปรากฏหรือไม่ อย่าฟังจากการให้ความคิดเห็นของคนทั่วไป" ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบแล้วยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่ามีการพูดเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงการสอบพยานก็ยังไม่พบประเด็นนี้ สิ่งที่ตรวจสอบในคลิป ก็ไม่แตกต่างจากที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะขยายผล เพราะเป็นประเด็นที่ค้างคาใจอยู่ แต่ในข้อเท็จจริง จะไปกล่าวหาหรือยัดเยียดข้อกล่าวหาไม่ได้
- ผกก.โจ้ อ้างว่าลูกน้องห้ามแล้ว และขอรับผิดคนเดียว: จากการตรวจสอบในคลิป เสียงช่วงดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการห้ามจะช่วยบรรเทาโทษได้
- ผกก.โจ้ อ้างว่าไม่ได้ตั้งใจทำให้เสียชีวิต: เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในลักษณะเดียวกันว่าห้ามนำถุงมาครอบศีรษะ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผล
- ผกก.โจ้ ยอมรับว่าทรมานผู้ต้องหาจริง แต่พลั้งมือ ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำเช่นนี้ตลอดหรือไม่: อย่าเอาพฤติกรรมของคนเดียวไปยึดถือเป็นพฤติการณ์การกระทำของตำรวจทั้งประเทศ มันไม่เป็นธรรม อันนี้ทุกท่านต้องใช้ดุลพินิจของสื่อและประชาชนแต่ละคนให้ความเป็นธรรมด้วย
ที่มา: บีบีซีไทยสรุปจากการรายงานข่าวของข่าวสด, ไทยพีบีเอส, ช่อง 8, ช่อง 3
รอง ผบ.ตร. ยังกล่าวด้วยว่า ตำรวจมีข้อมูลรถทุกคันที่ปรากฏเข้ามาเกี่ยวข้องในคดี ขณะนี้ทราบข้อมูลแล้ว อยู่ระหว่างติดตามเพื่อสอบสวนขยายผลว่าเกี่ยวข้องอย่างไร และเข้าข่ายช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือไม่ พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
"ไม่มีเหตุอะไรจะให้เบา อย่างน้อยจากคลิป โอกาสจะเบาลงไม่มีอยู่แล้ว เพราะมันฟ้องด้วยภาพ และภรรยาของผู้ตายก็ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี" รอง ผบ.ตร. กล่าวหลังผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าดูเหมือน ตร. พยายามจะทำให้คดีเบาลง
นอกจากการเค้นสอบปากคำ 7 นายตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ยังมีประเด็นข้างเคียงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มอบหมายให้สำนักตรวจทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้กำกับโจ้ว่าเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ หลังปรากฏเป็นข่าวว่ามีทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar