พ.ร.บ. งบประมาณ 2565: ส.ส. ก้าวไกลทิ้งทวนอภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์ ก่อนสภาฯ โหวตผ่านวาระ 3

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทย ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร อ.เมือง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2563

สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาทั้งหมด 4 วันในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ก่อนจะลงมติเห็นชอบให้บังคับใช้เป็นกฎหมายในเวลาราว 1 นาฬิกาของวันที่ 22 ส.ค.

จากเดิมที่กำหนดว่าจะพิจารณาและลงมติเสร็จสิ้นภายใน 3 วันระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค. สภาฯ ต้องขยายเวลาการประชุมต่ออีก 1 วันเต็ม ๆ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรบอกว่าแม้จะพยายามคุมเวลาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศเคอร์ฟิวที่ทำให้ต้องปิดการประชุมในเวลา 20.00 น. แทนที่จะลากยาวถึงดึกดื่นเที่ยงคืนได้เหมือนในสถานการณ์ปกติ ทำให้เวลาการอภิปรายหายไปราววันละ 5 ชม. จึงจำเป็นต้องต่อเวลามาจนถึงวันเสาร์

วันแรกของการประชุมมีการพิจารณาไปได้ 8 มาตราจากทั้งหมด 42 มาตรา มีประเด็นที่สังคมให้ความสนใจคืองบกลางและงบประมาณของกระทรวงกลาโหม วันที่ 2 พิจารณาได้เพิ่มอีก 9 มาตรา เข้าสู่วันที่ 3 ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นวันสุดท้ายแต่ที่ประชุมก็พิจารณาได้ถึงแค่มาตรา 24 เท่านั้น จึงนัดประชุมต่อในวันที่ 21 ส.ค.

วันที่ 4 ของการอภิปราย เริ่มต้นที่มาตรา 25 งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข การอภิปรายในวันนี้เริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงดึกเมื่อเข้าสู่มาตรา 36 งบส่วนราชการในพระองค์ ซึ่ง 4 ส.ส. พรรคก้าวไกลเข้าคิวลุกขึ้นอภิปรายตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผล ความโปร่งใสและเสนอให้ตัดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ ทำให้ประธานต้องเตือนเป็นระยะ ๆ ว่าให้หลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์โดยไม่จำเป็น

จากนั้นก็มีการอภิปรายต่อเนื่องมาจนถึงมาตราที่ 42 เป็นมาตราสุดท้ายก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2562 ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงคะแนน 257 เสียง ไม่เห็นด้วย 189 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง และมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการงบประมาณฯ

ขั้นตอนต่อไป สภาฯ จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณา เมื่อผ่านคนความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ก็จะส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

บีบีซีไทยรวบรวมเนื้อหาและประเด็นที่น่าสนใจในช่วง 4 วันของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565

รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ไฮไลต์อภิปรายงบ 2565

  • ฝ่ายค้านซักงบกลาโหม 4 ชั่วโมง

ฝ่ายค้านใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงในการอภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหม แม้ก่อนหน้านี้จะมีการชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว แต่ฝ่ายค้านเห็นว่ายังไม่เพียงพอเพราะยังมีโครงการเกี่ยวข้องอื่น ๆ อีก เช่น โครงการจัดซื้อโดรนขนาดใหญ่ของกองทัพเรือมูลค่า 4.1 พันล้านบาท

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติปรับลดงบเป็น 26,733 ล้านบาท เนื่องจากกองทัพไม่ควรจัดซื้ออาวุธ ในวันที่ประชาชนล้มตาย และไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ในวันที่ประชาชนต้องการวัคซีน

"แม้กองทัพเรือได้ถอนเรือดำน้ำออกจากงบประมาณปี 2565 ไปแล้ว แต่ยังมีงบสิ่งก่อสร้าง และยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และอาวุธใหญ่อีกจำนวนมาก ทั้งท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บตอปิโด เรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบก และระบบสื่อสารของเรือดำน้ำและโครงการจัดหาโดรนไร้คนขับ ซึ่งเป็นงบผูกพันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท" นายพิธากล่าว

หนึ่งในโครงการที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลยกตัวอย่างในการอภิปรายเพื่อขอตัดงบคืน คือ โครงการโดรนขนาดใหญ่ของกองทัพเรือมูลค่า 4.1 พันล้านบาท โดยให้เหตุผล 3 ประการที่ต้องสงวนคำแปรญัตติประกอบด้วย

1. เหตุผลทางความปลอดภัยจากสถิติของเกิดอุบัติเหตุระหว่างการใช้งาน เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพอินเดีย เริ่มพิจารณาลดการโดรนขนาดใหญ่ลง นายพิธาอ้างว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุในปี 2001 - 2014 ที่สูงมาก เมื่อดูตัวเลขโดรนเหล่านี้ที่ถูกซื้อมา 100 ลำ ตกถึง 48 ลำ

2.เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ เนื่องจากโดรนไร้คนขับ ต้องใช้ดาวเทียมในการควบคุม ซึ่งการปล่อยให้ต่างชาติสามารถควบคุมโดรนผ่านดาวเทียมได้ ย่อมนำข้อมูลของเราไปให้ต่างประเทศได้

3.เหตุผลด้านงบประมาณ มีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศ ว่าการใช้โดรนไร้คนขับแบบนี้ไม่ได้ช่วยประหยัดเมื่อเปรียบเทียบกับการลาดตระเวนด้วยเครื่องบินปกติ

นายพิธา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

"แม้กองทัพเรือได้ถอนเรือดำน้ำออกจากงบประมาณปี 2565 ไปแล้ว แต่ยังมีงบสิ่งก่อสร้าง และยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และอาวุธใหญ่อีกจำนวนมาก" นายพิธากล่าว

  • "วิโรจน์" ชี้ ทบ.ซื้อชุดเครื่องสนามแพงกว่าปกติ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในส่วนของงบกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อชุดเครื่องสนามของกองทัพบก ซึ่งประกอบด้วย 12 รายการที่ตั้งราคาไว้ชุดละ 14,858 บาท โดยจะจัดซื้อทั้งหมด ถึง 2,429 ชุด และตั้งงบประมาณทั้งหมด 36 ล้านบาท

ส.ส. รายนี้ได้เปรียบเทียบราคาของรายการต่าง ๆ จากเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์พบว่า ราคากลางในตลาดที่ตั้งไว้คือชุดละ 6,775 บาท ถ้าซื้อตามจำนวนที่กองทัพต้องการจัดซื้อจะทำให้ต้องใช้งบประมาณทั้งหมดราว 16,456,475 บาทเท่านั้น จึงขอให้ปรับลดงบประมาณดังกล่าวลง

"ผมคิดว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุดในวันนี้คือ สามัญสำนึกในการใช้จ่ายงบประมาณจากกองทัพ และกระทรวงกลาโหม ซึ่งวันนี้ประชาชนไม่ได้เห็นตรงนั้นเลย อย่าเอางบประชาชนไปผลาญ" นายวิโรจน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบงบประมาณกระทรวงกลาโหมในวาระ 2 ด้วยคะแนน 226 เสียง ไม่เห็นชอบ 123 เสียง โดยปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 3,226 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 95,980 ล้านบาท

  • เครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

ในระหว่างการพิจารณางบประมาณในวันแรก (18 ส.ค.) มีเหตุการณ์วุ่นวายเล็กน้อยเมื่อในการนำเสนอสไลด์ของ ส.ส. พรรคก้าวไกลถูกปรับสีเป็นขาวดำและเบลอภาพ ในกรณีนำภาพ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประกอบการอภิปรายและภาพภาพศูนย์ฝึกศึกษาบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานทหาร อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และกรณีที่ไม่อนุญาตให้นำภาพขึ้นฉายบนจอ ขณะที่อภิปรายเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง โดยอ้างว่ากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขัดข้อบังคับการประชุมสภา

น.ส. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบประมาณที่สิ้นเปลืองของสำนักนายกรัฐมนตรีในส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

ส.ส. พรรคก้าวไกลระบุว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณ 4,001 ล้านบาท แต่เป็นการตั้งค่าใช้จ่ายมากเกินจริง สามารถปรับลดลงได้อีกโดยไม่กระทบกับการทำงานเป็นจำนวนอย่างน้อย 400 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

"ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ที่มีงบประมาณในปี 2565 ทั้งสิ้นราว 1,557 ล้านบาท เฉพาะรายการนี้รายการเดียวก็เกิน 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด" น.ส.ณธีภัสร์กล่าว

  • ไล่บี้ "ดีอีเอส" เสนอตัดงบ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ทั้งหมด

การอภิปรายในวันที่ 2 มีการอภิปรายเข้มข้นในช่วงของงบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ขอปรับลดงบของกระทรวงดีอีเอส ร้อยละ 10 โดยเฉพาะในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งตั้งงบประมาณ 1.1 พันล้านบาท โดยมองว่ากรมอุตุฯ บริหารงานล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพ สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน เช่น โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระดับตำบลและอำเภอให้เป็นระบบอัตโนมัติที่มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว 615 ล้านบาทแต่ดำเนินการล่าช้า ยังร่างทีโออาร์ไม่สำเร็จ

ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอตัดงบกระทรวงดีอีเอส ในโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม โดยขอตัดทิ้งทั้งโครงการจำนวนเงิน 79,997,000 บาท โดยระบุว่า สาเหตุที่เราไม่ควรให้งบประมาณกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพราะโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามวิสัยทัศน์และมาตรฐานที่เคยได้ให้ไว้ตั้งแต่ที่จัดตั้งขึ้น

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่าการดำเนินงานของศูนย์การต่อต้านข่าวปลอมมีปัญหาตั้งแต่นิยามของคำว่า "ข่าวปลอม" หรือ "เฟกนิวส์" อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นกลาง ซึ่ง ส.ส. ก้าวไกลมองว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกที่จะตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อนโยบายรัฐบาลเท่านั้น เพราะเมื่อมีข่าวปลอมที่เป็นผลบวกกับรัฐบาล ที่แม้ได้รับการยืนยันจากองค์กรนานาชาติว่าเป็นข่าวปลอม ก็ไม่มีการตรวจสอบ

"ศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะปกป้องรัฐบาลหรือฝากฝ่ายการเมืองใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นตราบใดที่หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐโดยตรงไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาลเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกครหาหรือไม่ถูกครหาด้านความเป็นกลาง"

คำบรรยายวิดีโอ,

ข่าวปลอมในมุมมอง รมว.ดีอีเอส

นายปกรณ์วุฒิระบุว่า ปัญหาข่าวปลอมเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข แต่การไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และการที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนี้เป็นหน่วยงานเดียวที่ถืออำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับประชาชน หากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมสร้างข่าวปลอมเสียเองใครจะเป็นคนดำเนินคดี

เขาเสนอว่าองค์กรลักษณะนี้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน เป็นอิสระจากภาคการเมืองและมีความเป็นกลาง เขาจึงเห็นว่าจึงไม่ควรจัดสรรงบประมาณรัฐแม้แต่บาทเดียวให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

  • "ยิ่งลักษณ์" กับ "จำนำข้าว" โผล่ระหว่างอภิปรายงบกระทรวงพาณิชย์

ระหว่างการอภิปรายมาตรา 19 งบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ 3,601,805,300 บาท นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการงบประมาณฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทยตั้งคำถามถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่าตามที่ประกาศจะประกันรายได้ข้าวหอมมะลิที่ตันละ 18,000 บาท ข้าวขาวตันละ 12,000 บาท แต่ขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรจึงสงสัยว่าตกลงประกันราคาข้าวอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ ได้ไปของบประมาณจากนายกรัฐมนตรีแล้วหรือยัง หรือจะใช้เงินส่วนใดในการประกันราคา

นายวรวัจน์ยังได้อ้างถึงความสำเร็จของโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าสามารถพยุงราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 20,000 บาท ข้าวขาวตันละ 15,000 บาท และ "จ่ายเงินผ่าน ธกส. ทุกบาทถึงมือเกษตรกร เกิดการหมุนเวียน ไม่ลำบากเหมือนวันนี้ วันนี้ไม่มีโครงการจำนำข้าวแล้ว ประชาชนทั้งประเทศลำบากหมด เศรษฐกิจซบเซา"

"ยังมีความเดือนร้อนของชาวสวนลำไย ตอนนี้ลำบากมาก เพราะราคาตกต่ำ อยากถามว่ากระทรวงพาณิชย์มีแผนรับมืออย่างไร ตอนนี้ผมไม่เห็นกรมการค้าภายในมีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือเกษตรกร 500 ล้านบาท ถามว่าเงินส่วนนี้อยู่ที่ไหน พี่น้องฟันต้นลำไยหมดแล้ว ผมจึงคิดว่าจะขอปรับลดเงินส่วนนี้ 500 ล้านบาทให้หมด ถ้ายังบริหารจัดการแบบนี้" นายวรวัจน์กล่าว

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้เวทีอภิปรายงบฯ กระทรวงพาณิชย์โจมตีการประกันราคาข้าวของรัฐบาล

"คุณแอนตี้พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการรับจำนำข้าว วันนี้คุณมีอำนาจบอกทำประกันราคา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถามจริง ๆ ประกันราคา ไปเจาะดี ๆ ใครได้ประโยชน์ มันไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นพ่อค้าที่ชอบ กระบวนการเวียนข้าว ฝากข้าวไปให้ประกันคนไหนไม่มีข้าว ก็ให้เอามาประกัน ถ้าไม่รับจำนำก็ต้องประกัน คิดได้แค่นี้หรือ ทำไมไม่คิดวิธีอื่นบ้าง" นายครูมานิตย์กล่าว

  • 4 ส.ส. ก้าวไกลอภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์ 8.7 พันล้านบาท

ช่วงดึกของวันเสาร์ที่ 21 ส.ค. ที่ประชุมพิจารณามาถึงมาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์วงเงิน 8,761 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการงบประมาณไม่มีการแก้ไข แต่มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็นและมีผู้แปรญัตติของสงวนคำแปรญัตติ คือ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ นายรังสิมันต์ โรม น.ส. เบญจา แสงจันทร์ และน.ส. สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ทั้งหมดจากพรรคก้าวไกล

ก่อนจะเข้าสู่การอภิปราย ทั้งนายพิจารณ์และนายรังสิมันต์ขอให้นายศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในขณะนั้นทบทวนคำวินิจฉัยที่ไม่อนุญาตแสดงสไลด์ประกอบการอภิปราย โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลงบประมาณย้อนหลังที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณที่สาธารณะเข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่นายศุภชัยยืนยันคำวินิจฉัยเดิมโดยให้เหตุผลว่ามีการใส่ภาพประกอบที่อาจจะมีความหมิ่นเหม่

ในการอภิปราย ส.ส. ก้าวไกลทั้ง 4 คนเสนอให้มีการตัดงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ลงระหว่าง 15-40% แม้ว่างบในปีนี้จะลดลงจากปีงบประมาณที่แล้ว 220 ล้านบาทก็ตาม

นายพิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่างบประมาณของส่วนราชการในพระองค์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากปี 2560 ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ เพื่อรวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไว้ด้วยกัน

นายพิจารณ์กล่าวว่าในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ เขาไม่เคยได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณซึ่งเป็นผู้แทนในการตอบคำถามแทนส่วนราชการในพระองค์ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลโดยเฉพาะในปีนี้ที่สถานการณ์ทางการเงินการคลังของประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติจากการระบาดของโควิด-19 และการเก็บภาษีที่คาดว่าจะไม่ได้ตามเป้าหมาย การใช้งบประมาณทุกบาทจึงต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส

"สำนักงบประมาณชี้แจงโดยให้ข้อมูลปากเปล่าว่าส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากร 14,275 อัตราและใช้งบประมาณด้านบุคลากร 8,098 ล้านบาทหรือคิดเป็น 92% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด...นั่นแปลว่าส่วนราชการในพระองค์จะเหลืองบประมาณเพื่อใช้จ่ายในการปฏิบัติงานเพียงแค่ 663 ล้านบาท ซึ่งไม่สมเหตุสมผล"

นายพิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ สำนักงบประมาณจะมีการแจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณชัดเจน แต่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมากลับแสดงข้อมูลรายละเอียดแค่เพียงบรรทัดเดียว เมื่อถูกซักถามในชั้นกรรมาธิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณก็ตอบคำถามด้วยวาจาเพียงสั้น ๆ

นายพิจารณ์สรุปว่าเมื่อสำนักงบประมาณไม่สามารถชี้แจงด้วยเอกสารถึงที่มาที่ไปของการตั้งงบประมาณได้ เขาจึงเสนอให้ตัดงบประมาณลง 1,500 ล้านบาท โดยคำนวณจากงบประมาณปี 2563 หลังจาก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์มีผลบังคับใช้

รัชกาลที่ 10

ที่มาของภาพ, AFP

นายรังสิมันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอให้ตัดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ลงเป็นจำนวนเงิน 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72% โดยให้เหตุผลว่างบที่ตั้งไว้เป็นจำนวนเงินที่สูงและยังพบว่าที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายเกินจริงสูงถึง 27-52% ซึ่งหากนับจากปี 2561 ถึงปี 2564 ส่วนราชการในพระองค์มีการใช้งบประมาณไปแล้ว 32,000 ล้านบาท

น.ส. เบญจา ส.ส. บัญชีรายชื่อ เสนอให้ปรับลดงบประมาณลง 15% เป็นจำนวนเงิน 1,314 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่างบประมาณของส่วนราชการในพระองค์นั้นนับวันจะยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ "จนน่าตกใจมาก"

"ถึงแม้ว่างบของปี 2565 ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จะลดลงจากปีก่อนประมาณ 2.4% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลดน้อยลงกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณในปีนี้ที่ลดลงไปทั้งหมด 5.6% และถ้าเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตั้งงบประมาณให้กับส่วนราชการในพระองค์ พบว่าในปี 2565 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 108% ภายในเวลา 4 ปี" น.ส.เบญจาอภิปราย

"เงินงบประมาณจำนวน 8,761 ล้านบาทที่ส่วนราชการในพระองค์ได้รับในปี 2565 มากกว่างบประมาณของกระทรวงอื่นถึง 7 กระทรวง เช่น มากเป็น 2 เท่าของงบประมาณกระทรวงอุตสาหกรรม และมากเป็น 3 เท่าของกระทรวงพลังงาน นอกจากนี้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ยังได้กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐต้องตั้งงบประมาณหลายส่วนเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง"

น.ส. เบญจาตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนบุคลากรของส่วนราชการในพระองค์ซึ่งสำนักงบประมาณอ้างว่ามีอยู่มากถึงกว่า 14,000 คน และต้องใช้งบประมาณถึง 8,098 ล้านบาทว่า "เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เพราะเท่ากับว่าส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากรมากกว่าข้าราชการประจำนับสิบกระทรวง" พร้อมกับยกตัวอย่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีข้าราชการเพียงหลักพันคนเท่านั้น

"ถ้าสิ่งที่สำนักงบประมาณชี้แจงมาเป็นความจริง นี่คือเรื่องที่น่าตกใจ และเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลมาก ดิฉันไม่เข้าใจว่าเหตุใดส่วนราชการในพระองค์ที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระองค์...ทำไมจึงจำเป็นต้องมีบุคลากรมากถึงเพียงนั้น" ส.ส. ก้าวไกลตั้งคำถาม

น.ส.เบญจากล่าวต่ออีกว่าเธอทราบดีว่าสภาผู้แทนฯ "กระอักกระอ่วนใจ" ในการพิจารณางบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะงบส่วนราชการในพระองค์ เพราะ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ระบุว่าการบริหารราชการในส่วนนี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ทำให้สภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณในส่วนนี้ได้อย่างปกติเหมือนส่วนราชการอื่น ๆ

"ความจงรักภักดีไม่ได้วัดกันที่จำนวนหน่วยถวายรักษาความปลอดภัย จำนวนข้าราชบริพาร จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หรือการใช้ (มาตรา) 112 แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนเอง" ส.ส. ก้าวไกลกล่าวทิ้งท้าย

น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม พรรคก้าวไกลอภิปรายในมาตรานี้เป็นคนสุดท้าย โดยเปรียบเทียบว่างบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยเทียบต่อจีดีพีนั้นสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น สหราชอาณาจักร

เธอย้ำเรื่องการเบิกจ่ายเกินงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการเบิกจ่ายเกินทั้งที่งบประมาณทั้งหมดไม่มีงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายประจำที่ต้องมีการวางแผนใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา

ที่มาของภาพ, TPchannel

คำบรรยายภาพ,

"การทำให้หน่วยรับงบนี้ (ส่วนราชการในพระองค์) มีความพิเศษ ยิ่งทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามมากเป็นพิเศษเช่นกัน" น.ส. สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม พรรคก้าวไกลกล่าว

"นอกจากนี้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ยังระบุว่า รายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน หมายความว่า เมื่อสภาผ่านงบไปแล้ว ต่อให้ใช้ไม่หมดก็ไม่จำเป็นต้องส่งคืนคลัง" น.ส. สุทธวรรณกล่าว "ที่สำคัญไปกว่านั้น ส่วนราชการในพระองค์ไม่จำเป็นต้องรายงานเอกสารงบการเงินให้สภาได้รับทราบ ดังนั้นสภาจึงไม่อาจรู้ว่าสุดท้ายแล้วมีเงินคงเหลือสำหรับใช้เป็นเงินนอกงบประมาณเท่าไหร่"

ส.ส. นครปฐม พรรคก้าวไกลสรุปว่างบประมาณของส่วนราชการในพระองค์มีปัญหาหลักอยู่ 4 ประการ คือ1) งบสูงเกินไป 2) งบสูงแล้วยังมีการเบิกจ่ายเกิน 3)ถ้าใช้งบไม่หมดไม่ต้องคืนคลัง และ 4) ไม่ต้องรายงานงบการเงินและรายงานประจำปี

"การทำให้หน่วยรับงบนี้ (ส่วนราชการในพระองค์) มีความพิเศษ ยิ่งทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามมากเป็นพิเศษเช่นกัน"