ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 แกนนำพันธมิตรฯ คดีชุมนุมดาวกระจายขับไล่รัฐบาลสมัครปี 2551

แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา 3 คน (จากซ้ายไปขวา) อมร อมรรัตนานนท์ เทิดภูมิ ใจดี และไชยวัฒน์ สินสุวงศ์

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 3 คนในคดีชุมนุม "ดาวกระจาย" ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 ส่วนจำเลยอีก 6 คน เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุลและ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดเดียวกับในคดีอื่นที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงนำมาฟ้องซ้ำอีกไม่ได้

วันนี้ (31 ส.ค.) ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมปิดถนนแบบ "ดาวกระจาย" เมื่อปี 2551 เพื่อขับไล่นายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยในคดีมีจำเลยเป็นแกนนำ พธม. ทั้งหมด 9 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี เป็นจำเลยที่ 1-9

คดีนี้อัยการฟ้องว่าจำเลยทั้ง 9 คนมีความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , 215 , 216

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เนื่องจากเป็นการฟ้องจำเลยซ้ำกับคดี พธม. บุกรุกทำเนียบรัฐบาล หมายเลขดำ อ.4925/2555 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อเดือน ก.พ. 2562 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลา 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ดังนั้นอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องซ้ำ

ส่วนจำเลยที่ 7-9 คือ นายไชยวัฒน์ นายอมรหรือนายรัชต์ยุตม์ และนายเทิดภูมินั้น ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 7-9 ไว้ก่อนมีกำหนด 2 ปี

นายสนธิพูดคุยกับ พล.ต. จำลอง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายสนธิพูดคุยกับ พล.ต. จำลอง ช่วงที่ทั้งสองคนร่วมเป็นแกนนำ พธม.

ต่อมาในวันที่ 30 ม.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ ยกฟ้องจำเลยทั้ง 9 คน โดยให้เหตุผลว่าจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 7-9 ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดเนื่องจากการชุมนุมกลุ่ม พธม. เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามสิทธิรัฐธรรมนูญ อัยการโจทก์จึงยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย

วันนี้ (31 ส.ค.) ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาโดยจำเลยทั้ง 9 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 เพราะเป็นการฟ้องซ้ำในคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดไปแล้ว แต่ในส่วนของจำเลยที่ 7-9 นั้น ศาลเห็นว่าได้ขึ้นปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล นอกจากนี้จำเลยยังเดินทางไปชุมนุมปิดถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา และนำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 7-9 มีความผิดฐานมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 66 ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกคนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา