48 ปี 14 ตุลา ดูเหมือนไม่คึกคักเท่า 45 ปี 6 ตุลา ซึ่งคนรุ่นใหม่มีอารมณ์ร่วมกว่า ซ้ำกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา อดีต ส.ว.สรรหา แสดงความไม่พอใจป้าย “ทะลุฟ้า”
เป็นธรรมดา 48 ปีความคิดคนเปลี่ยนไป หรือไม่เปลี่ยนแต่ตกยุคสมัย กระนั้น คนตุลาที่หนุนคนรุ่นใหม่ก็เยอะไป การที่คนรุ่นนั้นมีความคิดต่างหลากหลาย ไม่ได้ลดคุณค่าความหมาย 14 ตุลา
14 ตุลาเป็นวันยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตยไทย แม้มองกันว่าประชาชนถูกปล้นชิงอำนาจ จนอีก 3 ปีให้หลังเกิด 6 ตุลา เผด็จการหอย แล้วถอยกลับมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จนกลายเป็นประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ
แต่ 14 ตุลาก็ไม่ได้มีความหมายแค่ไล่ถนอมประภาส หากมีความหมายในด้านจิตสำนึกประชาธิปไตยเบ่งบาน การเรียกร้องสิทธิ ทวงความเป็นธรรม ของนักเรียนนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ความตื่นตัวของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดวัฒนธรรม ส่งผลให้หลัง 6 ตุลาก็ยังต้องคืนประชาธิปไตยครึ่งใบ สืบต่อมาจนรัฐประหาร รสช. สืบทอดอำนาจไม่ได้ เกิดพฤษภา 35 และรัฐธรรมนูญ 2540
จนกระทั่งรัฐประหาร 2549 นำเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง
14 ตุลามีความหมายยิ่งใหญ่ถัดจาก 24 มิถุนา 2475 “อภิวัฒน์สยาม” ซึ่งวางรากฐานได้เพียง 15 ปี ก็ถูกโค่นโดยรัฐประหาร 2490 “ฟื้นอำนาจเก่า” แล้วสฤษดิ์ทำรัฐประหาร 2500 ประเทศตกอยู่ใต้เผด็จการยาวนาน จนระเบิดออกมาเป็นพลังนักศึกษาประชาชนมหาศาล ซึ่งแม้ประชาชนไม่สามารถยึดอำนาจ ก็ส่งผลสะเทือนกว้างขวาง เสมือนการอภิวัฒน์อีกครั้ง
แล้วเราจะมีครั้งที่สามไหม หลังจากรัฐประหาร 2557 ประยุทธ์ครองอำนาจมา 7 ปี จนเกิดคณะราษฎร 2563 ชูสามนิ้ว ซึ่งนัดเคลื่อนไหวอีกครั้ง 31 ตุลาคมนี้
เข้าใจกันก่อนนะ ครั้งที่สาม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนองเลือดอีกครั้ง หรือเกิดการโค่นล้มอะไรอีกครั้ง แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อปลดพันธนาการประชาธิปไตย ให้เดินไปข้างหน้าอีกครั้ง
เพราะสถานการณ์ขณะนี้ คือประชาธิปไตยถอยหลัง ถูกทำลาย จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจใหญ่โตมหึมา ซึ่งเสื่อมไปทุกองคาพยพ ตำรวจ ทหาร รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ
ไม่ใช่แค่ตัวประยุทธ์ แต่ที่ไล่ประยุทธ์ไม่ได้ ประยุทธ์ไม่ยอมไป ก็เพราะประยุทธ์คือสัญลักษณ์ตัวแทนอำนาจรัฐ ที่ทำตัวเป็นนายเหนือประชาชน ผู้มีพระคุณ ผู้อบรมสั่งสอน ดุด่า ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ มีปัญหาก็โทษประชาชน ล้มเหลวโควิดก็ยังเอาบุญคุณว่าเป็นผู้สั่งเปิดประเทศ
ประยุทธ์เป็นตัวแทนเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ที่พยายามเหนี่ยวรั้งอำนาจไว้กับตัวเอง รัฐราชการมหึมาจึงออกมาปกป้องประยุทธ์ ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมไปถึงระบบสาธารณสุข
ประยุทธ์ (หรือประวิตร) เดินทางไปที่ไหน ตำรวจทหารคุมกำลังอารักขา ประชาชนประท้วงไม่ได้ ไล่ไม่ได้ ถูกจับถูกตั้งข้อหา นี่เป็นนายกรัฐมนตรีจากเลือกตั้งหรืออัครมหาเสนาบดีกันแน่
อำนาจใหญ่โตมหึมาดูน่ากลัว จับกุมคุมขังแกนนำ สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตากระสุนยาง ใช้ความรุนแรงยิ่งกว่า Squid Game เพราะนี่คือของจริง พยายามสยบการต่อต้าน ด้วยความรุนแรงในนามกฎหมาย ด้วยความอยุติธรรมในนามกระบวนการยุติธรรม แต่นี่สะท้อนอะไร
มันสะท้อนว่าอำนาจอนุรักษนิยมหมดพลังทางอุดมการณ์ที่เคยโน้มนำสังคมไทย หมดพลัง Soft Power ที่เคยใช้ความเคารพศรัทธาเป็นข้ออ้าง ค้ำอำนาจไม่ชอบธรรม ค้ำอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ “คนดีปกครองบ้านเมือง”
พูดกันง่ายๆ ข้ออ้างประยุทธ์เป็นคนดี จึงต้องให้รัฐประหารสืบทอดอำนาจ ใช้ 250 ส.ว.เลือกตู่ ผสมพันธุ์นักการเมืองยี้ มันฟังไม่ขึ้นแล้ว ข้ออ้างประยุทธ์เป็นเสาค้ำความมั่นคง ค้ำอุดมการณ์แห่งชาติ อุดมการณ์นั้นก็หมดพลังแล้ว
จึงเหลือแต่อำนาจดิบๆ ที่ไม่มีความชอบธรรม และไม่มีพลังศรัทธาอีก เหลือแต่อำนาจใช้กำลังและจับขังคุกเท่านั้น อำนาจดิบนี้จะทานการเปลี่ยนแปลงได้นานเท่าไร
นับตั้งแต่ 2475 รัฐธรรมนูญไทยมีการเปลี่ยนแปลงความหมายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างมีนัยสำคัญ 2 ครั้ง คือปี 2490 (โค่นคณะราษฎร) กับ 2560 ที่ทำให้ความหมายประชาธิปไตยถอยหลัง
รัฐประหาร 2557 เกิดในยุคสิ้นสุด Consensus เดิม แล้วไม่สามารถสร้าง Consensus ใหม่ สร้างได้เฉพาะในอำนาจรัฐอันใหญ่โต แล้วใช้อำนาจรัฐบีบคั้นประชาชนให้ยอมรับการขีดเส้นจำกัดความหมายประชาธิปไตย ให้เหลือน้อยลงแคบลง
อำนาจรัฐปัจจุบันกำลังใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา พยายามสร้างอาณาจักรแห่งความกลัว กำราบปราบปรามคนรุ่นใหม่ให้กลัว ให้เงียบ ด้วยการออกหมายเรียกหมายจับ ให้ประกัน ไม่ให้ประกัน จับกุมคุมขังเป็นรายๆ หวังให้คนที่เหลือถอย หลบ ไปใช้ชีวิตของตัวเองในพื้นที่ที่จำกัดให้
แต่ด้วยความล้าหลังไร้ประสิทธิภาพ รัฐล้มเหลวในการบริหารประเทศ และด้วยความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่ ที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เรียกว่า “เผ่าพันธุ์แห่งความหวัง” เรียนรู้ที่จะพ่ายแพ้และสู้ใหม่ การสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวจึงไม่สำเร็จ จะสร้างยุคสมัยแห่งความกลัวแต่ประยุทธ์กลายเป็นตัวตลก อำนาจทุกระดับถูกเย้ยหยัน
ปัจจัยต่างๆ เห็นชัดว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย กำลังจะมาถึง เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดขึ้นแบบไหนอย่างไร
รู้แต่ว่าเกิดขึ้นแน่ๆ และเป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่าย
โดยเฉพาะฝ่ายอำนาจ ที่จะต้องไม่ให้เกิดความสูญเสียความรุนแรง
เพราะยิ่งรุนแรงยิ่งเปลี่ยนแปลงแรง
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ /www.khaosod.co.th/politics/news_6679164
สํานักพุทธฯ ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลการถอดถอน 3 เจ้าคณะจังหวัดต่อสาธารณชน บอกเพียงว่าเป็นไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.สงฆ์ ที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 และกฎมหาเถรสมาคม 2563 มูลเหตุหลักฐานที่นำไปสู่การถอดถอนและแต่งตั้งใหม่ ได้กราบเรียนเจ้าคณะหน เจ้าคณะใหญ่ รับทราบแล้ว
พูดราวกับการแต่งตั้งถอดถอนพระเป็นเรื่องของระบบราชการ (ลับอีกต่างหาก) ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน ที่จะมาเข้าชื่อกัน 50,000 คน 100,000 คน อ้าว คณะสงฆ์ไม่ใช่ดำรงอยู่บนความเคารพศรัทธาของประชาชนหรือ
ใช่เลย พระสังฆาธิการ พระที่มีสมณศักดิ์ ได้เงินนิตยภัตจากรัฐ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ใต้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายแบบปลัดนายอำเภอ พระอยู่บนความเคารพนับถือ พูดง่ายๆ คืออยู่ที่ชาวบ้านใส่บาตรใส่ซองทำบุญ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ฯลฯ ก็ล้วนมาจากพระที่ศิษยานุศิษย์จำนวนมากสนับสนุน
แต่วันนี้ ศาสนาอยู่ใต้รัฐ ทำราวกับพระเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแผนกอบรมสั่งสอนประชาชน ให้เชื่อฟังรัฐ อยู่ในโอวาท สวดมนต์ไล่น้ำท่วม ฯลฯ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม การเมือง รัฐบาล ผู้มีอำนาจ ทั้งที่ พระบิณฑบาตข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านทุกวัน แต่ห้าม ยุ่งเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน
พระมหาสมปองร่ำไห้ถูกจ้องจับสึก รัฐมนตรีก็ว่าดราม่า ทำให้สังคมแบ่งฝักฝ่าย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเสาหลักของชาติ ต้องปกป้องดูแลอย่าให้เกิดความแตกแยก
“เสาหลัก” เป็นเรื่องของความเคารพศรัทธา ไม่ใช่เรื่องอำนาจบังคับ พระมหาสมปอง พระมหาไพรวัลย์ มีผู้ติดตามรับฟังเป็นแสนๆ ถ้าใช้อำนาจคณะสงฆ์จับสึก เพราะไม่พอใจที่พาดพิงรัฐ ถามว่าใครเสื่อม
การปลดเจ้าคณะจังหวัดก็เช่นกัน แม้เรื่องคงเงียบไป แต่ไม่จบในแง่ความเคารพศรัทธาของประชาชน ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับประเทศ ถามหน่อยใครทำให้แตกแยก
พ.ร.บ.สงฆ์ 2561 ก็คงมีคนไปอ่านทบทวนไม่รู้กี่รอบ แม้ตอนแรกอาจไม่เข้าใจหรือไม่กล้าคัดค้าน แต่สังคมจะเริ่มเห็นว่า การเอาคณะสงฆ์ไปอยู่ใต้อำนาจรัฐตั้งแต่ปี 2505 (และยิ่งกระชับในปี 2561) มีผลอย่างไรต่อศาสนา
คนไทยโดยทั่วไปไม่เข้าใจไม่ยอมรับหลักการแยกศาสนาออกจากรัฐ เพราะโตมากับคาถา “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ทั้งที่ความเคารพรักต้องมาจากความเลื่อมใสโดยอิสระ และอันที่จริง คนไทยทุกวันนี้ก็มีอิสระ คือเลื่อมใสวัดไหนก็ไปวัดนั้น ไม่ศรัทธาเลยก็ไม่ไป แค่ใช้วัดเป็นสถานฌาปนกิจ แต่ถ้าจะกรอกบัตรประชาชนว่า “ไม่นับถือศาสนา” เดี๋ยวจะโดนเขม่น โดนมองหน้า เอาวะ ใส่พุทธก็แล้วกัน
ไม่ต้องการให้แยกศาสนาออกจากรัฐ แต่พอเห็นตาลิบัน ก็ด่ารัฐศาสนา พอเห็นรัฐให้เงินเดือนโต๊ะอิหม่ามก็ด่ารัฐบาล ทั้งที่หลักการเดียวกัน เมื่อให้เงินนิตยภัตกับพระ รัฐต้องอุปถัมภ์ทุกศาสนา ก็ต้องให้ทุกศาสนา
ไม่ให้ทั้งหมดเลยสิดีกว่า ศาสนาเป็นเรื่องของความเคารพศรัทธา พระที่ประชาชนเลื่อมใส ท่านไม่ต้องพึ่งเงินนิตยภัตหรอก ซ้ำร้าย เงินอุดหนุนจากรัฐยังถูกทำให้เป็นคดีความได้ เช่น “เงินทอนวัด” ทั้งที่หลายคดีพระไม่ได้เอาเงินเข้าพกเข้าห่อ แค่โดนข้อหาเอาเงินอุดหนุนไปใช้ผิดประเภท เช่น เอาเงินศึกษาปริยัติธรรมไปสร้างโบสถ์ ก็โดนทั้ง 157 ฟอกเงิน เพราะพอรับเงินนิตยภัตแล้วถือว่าพระเป็นเจ้าพนักงาน
หลายประเทศในยุโรป แยกศาสนาออกจากรัฐอย่างชัดเจน รัฐไม่อุปถัมภ์ใดๆ ทั้งสิ้น ศาสนิกชนต้องลงทะเบียนเพื่อให้นำเงินภาษีของตนไปบริจาค เหมือนบริจาคพรรคการเมือง
ฟังเหมือนรับไม่ได้ แต่นั่นแหละศาสนาบริสุทธิ์ ถ้าเมืองไทยเมืองพุทธใช้หลักอย่างนั้นแล้วกลัวพระอดตาย? เป็นไปไม่ได้หรอก ทุกวันนี้วัดใหญ่ๆ มีเงินบริจาคล้นวัด วัดเล็กๆ ชาวบ้านก็ช่วยกัน ในทางตรงข้าม รัฐก็จะมายุ่งเกี่ยวอะไรกับสงฆ์ไม่ได้ พระดีปฏิบัติดี ก็เป็นที่เคารพนับถือ ดูแลกันด้วยพระธรรม พระวินัย ไม่ใช่กฎเกณฑ์ของรัฐ
พูดให้ถึงที่สุดคือเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งความคิดเก่ายอมรับไม่ได้ เช่นไม่นับถือศาสนาถูกมองว่ามีพิษมีภัย ทั้งที่คนไม่นับถือศาสนามีมากมายในโลกนี้ คนไม่นับถือศาสนาก็เป็นคนดีเยอะไป ไม่บริจาคเงินให้วัดก็บริจาคให้สาธารณะ ขณะที่คนนับถือศาสนาแบบยึดติด งมงาย ไม่เข้าถึงแก่นปรัชญา ฆ่ากันตายมากมาย
อ๊ะอ๊ะ อย่าไปว่าศาสนาอื่น เมืองไทยเมืองพุทธนี่ไง ฆ่าคนตายอย่างโหดร้าย ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 มาถึงพฤษภา 2553 กระทั่งปลุกความเกลียดชังม็อบสามนิ้วในปัจจุบัน
เราอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เรียกร้องต้องการเสรีภาพในความเคารพเชื่อถือศรัทธา ในโลกยุคสื่อสารที่ พส.เทศน์จับใจมีคนดูเป็นแสนชั่วข้ามคืน
ความเคารพหรือไม่เคารพ ไม่สามารถบังคับกันได้ ไม่สามารถใช้อำนาจสกัดกั้นได้ ยิ่งใช้อำนาจยิ่งพังทลาย
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_6677925
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar