ช่วงเวลานี้เมื่อ 10 ปีก่อน หลายคนอาจกำลังตักทรายใส่กระสอบมาวางเรียงหน้าประตู สู้กับฝูงแมลงสาบที่หนีน้ำเข้ามาในบ้าน หรือเครียดอยู่กับการหาที่พักพิงชั่วคราวให้พ่อแม่และคนชราในครอบครัว
แกลเลอรี: 10 ปี มหาอุทกภัยปี 2554 ประเทศไทยจมบาดาล
ที่มาของภาพ, AFP
คำบรรยายภาพ,
ห้าแยกลาดพร้าวที่เคยคึกคักด้วยรถยนต์ กลายสภาพมาเป็นคลองสายใหญ่
ช่วงเวลานี้ของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลายคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจกำลังวุ่นวายกับการขนของขึ้นที่สูง ขับรถฝ่าน้ำท่วมบนท้องถนน ขนกระสอบทรายมากันน้ำ จัดการกับฝูงแมลงสาบที่หนีน้ำมาอยู่ในห้อง นั่งจ้องระดับน้ำที่เอ่อล้นขึ้นมาจากโถส้วม และเครียดกับการหาที่อยู่ให้พ่อแม่และคนชราในครอบครัว
รถบรรทุก รถลำเลียงกำลังพลของทหาร ถูกนำมาให้บริการขนส่งมวลชนในพื้นที่น้ำท่วมของกรุงเทพฯ เพราะเป็นรถชนิดเดียวที่วิ่งฝ่าระดับน้ำสูงบนท้องถนนได้ โดยมีประชาชนผู้ประสบภัยยืนเบียดกันแน่น พื้นถนนตรงไหนที่น้ำท่วมไม่ถึงก็จะถูกใช้เป็นจุดตั้งเต็นท์พยาบาลและแจกจ่ายสิ่งของให้ผู้ประสบภัย
ปี 2554 เป็นปีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดตลอดทั้งปี โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่ถูกบันทึกไว้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2485
เหตุการณ์น้ำท่วมที่ค่อนข้างรุนแรงในปีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงครบรอบ 10 ปี ของมหาอุทกภัยปี 2554 พอดี ทำให้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง พร้อมกับคำถามยอดฮิต "น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54 หรือไม่" ซึ่งนักวิชาการและหลายหน่วยงานได้ออกมาบอกแล้วว่าอุทกภัยในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือน 10 ปีที่แล้วเพราะมีหลายปัจจัยที่ต่างกัน
เกิดอะไรขึ้นในอุทกภัยเมื่อปี 2554?
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
องค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สรุปสาเหตุและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับมหาอุทกภัยปี 2554 ไว้ ดังนี้
3 ปัจจัยเกิดอุทกภัยปี 54
ปัจจัยธรรมชาติ:
ฝน-มาเร็วกว่าปกติและปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนม.ค.- ต.ค. 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% เนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติคือตั้งแต่เดือนมี.ค. และมีปริมาณมากกว่าปกติเกือบทุกเดือน
พายุ-ปี 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เริ่มจากพายุไหหม่าที่พัดถล่มภาคเหนือและภาคอีสานในเดือน มิ.ย. น้ำยังระบายไม่ทันหมด พายุนกเตนก็ถล่มซ้ำพื้นที่เดิมในช่วงปลายเดือน ก.ค. เดือน ก.ย. ภาคอีสานถูกพายุเนสาดเล่นงานต่อ ปิดท้ายด้วยพายุนาลแก ที่ทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกช่วงเดือน ต.ค.
น้ำในเขื่อน-ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบายน้ำทำไม่ได้เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม
น้ำทะเลหนุน-ช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน พ.ย. เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า
ปัจจัยทางกายภาพ:
- พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติลดลง
- โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการน้ำไม่สามารถรับมือกับปริมาณฝนที่มีปริมาณมาก
- ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลงจากการทรุดตัวของพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป
- ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีปัญหา คือ ศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์
- สะพานหลายแห่งที่มีตอม่อขนาดใหญ่ขัดขวางทางน้ำ
- สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำขัดขวางการระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว
ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ:
- พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่าง เช่น บึงบอระเพ็ด (จ.นครสวรรค์) บึงสีไฟ (จ.พิจิตร) ขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุน้ำลดลง
- การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ
- น้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (จ.ลพบุรี) และไหลมายังเขื่อนพระรามหก (จ.พระนครศรีอยุธยา) ไม่ถูกผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา
- คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้
- ปัญหาการบริหารการระบายผ่านพื้นที่และระบบบริหารจัดการน้ำที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
- ประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นสร้างพนังและคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเอง ทำให้การระบายในภาพรวมไม่สามารถทำได้
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย. 2554 มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อนกว่า 4 ล้านครัวเรือนหรือราว 13.4 ล้านคน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.2 ล้านไร่
ในวิดีโอสารคดีเรื่อง "น(า)ทีวิปโยค : 10 ปีมหาอุทกภัย" ที่พรรคเพื่อไทยผลิตและเผยแพร่ทางช่องยูทิวบ์ของพรรคเมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในช่วงที่เกิดอุทกภัย สรุปเหตุการณ์ไว้ว่า "ปีนั้นมีพายุ 5 ลูก 2 ลูกแรกเกิดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 3 ลูกหลังเกิดในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ลูกแรกทำให้น้ำในเขื่อนเต็มไปแล้ว 70-80% ...เดือน พ.ย. น้ำทะเลก็ขึ้นสูงสุด...สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.30 เมตร...แทบจะระบายลงไม่ได้เลย"
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยพอดีว่า "ณ วันนั้น ยอมรับค่ะว่า มันเยอะจริง ๆ ระดมมาเลย เรียกว่ายิ่งกว่ารับน้องอีก ไม่อยากจะจินตนาการเลยวันนั้น ไม่อยากได้อุทกภัยแบบนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว...พอแล้วค่ะ"
และต่อไปนี้ คือ ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่บีบีซีไทยนำมารวบรวมไว้ในโอกาสครบรอบ 10 ปี
ที่มาของภาพ, AFP
เรือกลายเป็นพาหนะจำเป็นในช่วงหลายเดือนที่น้ำท่วมขัง แม้จะมีการขึ้นราคาสูงเป็นหลายพันบาท แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยอมจ่าย
ที่มาของภาพ, Getty Images
รถบรรทุกคันใหญ่กลายมาเป็นพาหนะสำคัญในช่วงนั้น
ที่มาของภาพ, AFP
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการนำช้างมารับส่งคน
ที่มาของภาพ, AFP
ชีวิตภายในบ้านของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่มาของภาพ, Getty Images
โรงภาพยนตร์บนย่านรังสิต จ.ปทุมธานี
ที่มาของภาพ, AFP
ถนนเยาวราชได้รับผลกระทบเช่นกัน
ที่มาของภาพ, AFP
สภาพบริเวณแยกอรุณอัมรินทร์
ที่มาของภาพ, Getty Images
ทหารนำรถหุ้มเกราะออกมาใช้
ที่มาของภาพ, AFP
แม้น้ำจะท่วมหนัก แต่รถโดยสารสาธารณะยังคงวิ่งรับส่งประชาชน
ที่มาของภาพ, AFP
น้ำท่วมครั้งนั้นทำให้เราเห็นหลายสิ่งแปลกตาเกิดขึ้นบนท้องถนน อย่างเช่นเรือยนต์ในภาพนี้
ที่มาของภาพ, Getty Images
โรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบ ในภาพนี้คือโรงงานรถยนต์แห่งหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคารถ
ที่มาของภาพ, Getty Images
คำบรรยายภาพ,
สนามบินดอนเมืองเป็นอีกสถานที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ที่มาของภาพ, Getty Images
คำบรรยายภาพ,
น้ำท่วมครั้งนั้นรุนแรงและยาวนานจนไปถึงช่วงเทศกาลลอยกระทงในเดือน
พ.ย. 2554 ผู้คนจึงถือโอกาสออกมาลอยกระทงบนท้องถนนที่กลายเป็นคลองชั่วคราว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar