iLaw
13h ·
เครือข่ายนักวิชาการ เดินขบวนเรียกร้อง ‘คืนสิทธิประกันตัว’ ให้ผู้ต้องหาคดีการเมือง
19 ตุลาคม 2564 เวลา 17.00 น. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้จัดกิจกรรม “จากธรรมศาสตร์ สู่ศาลฎีกา เดินหาความยุติธรรม” โดยเริ่มออกเดินจากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ทางฝั่งประตูสนามหลวง มาสิ้นสุดที่บริเวณหน้าศาลฎีกา เพื่อมากับสมทบกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดเป็นประจำต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 64 วันแล้ว
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่จัดกิจกรรมในวันนี้ว่า ต้องการย้ำเตือนสังคมไม่ให้ลืมว่ายังมีนักกิจกรรมเยาวชนถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘สิทธิประกันตัว’ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกคนพึงมี
“จนถึงวันนี้ ประเทศไทยยังมีนักโทษการเมืองโดยเฉพาะที่เป็นเยาวชน เป็นนิสิตนักศึกษา ถูกขังอยู่ในเรือนจำจำนวนมาก อย่าง ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ หรือ เพนกวิน อยู่ในเรือนจำมาแล้ว 70 กว่าวัน นอกจากนั้น ‘เบนจา อะปัญ’ ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน ล่าสุดถูกขังอยู่ในเรือนจำทั้งที่คดียังไม่ถูกสั่งฟ้องจากอัยการ”
“จริงๆทุกคนที่ติดคุกอยู่ตอนนี้ไม่ได้รับการประกันตัวเลย แม้ว่าในทางคดีจะยังไม่มีคดีใดมีคำตัดสินหรือคำพิพากษายังไม่มีการตัดสินแม้ในศาลชั้นต้น บางคดียังไม่เริ่มไต่สวนในศาลด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไปทุกคนในฐานะพลเมืองไทย เป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดีอย่างเป็นธรรม ขนาดผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ฆ่าข่มขืนหรือรุมทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ก็ยังได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดี”
“..ในอดีต คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหลาย ตั้งแต่เสื้อเหลืองมาจนถึง กปปส. แกนนำล้วนแต่ได้รับการประกันตัวทั้งสิ้นในระหว่างการต่อสู้คดี ไม่ต้องไปถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ และการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองบางคดีนั้นใช้เวลายาวนานเป็น 10 ปีกว่าจะมีคำตัดสินที่ศาลชั้นต้น ดังนั้น ลองนึกภาพว่าประชาชนที่ออกไปเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้รับการประกันตัวทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสิน นั่นแปลว่าเขาถูกจำคุกฟรี สมมติว่าผ่านไป 10 ปี ศาลตัดสินให้ไม่มีความผิด ชีวิตของเขาที่สูญหายไป 10 ปี ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ?”
นอกจากนี้ ประจักษ์ยังกล่าวว่า ‘สิทธิ์ในการวิพากษ์’ ย่อมสามารถทำได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในฐานะเครื่องมือการตรวจสอบของประชาชน รวมทั้งกฎหมายต้องไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
“เพนกวิน ไผ่-ดาวดิน อานนท์ เบนจา หรือเยาวชนอีกหลายคน เขาไม่ได้ไปทำร้ายใครเลย เขาไม่ได้ไปใช้ความรุนแรงอุกฉกรรจ์ใดๆ ทั้งสิ้น ความผิดประการเดียวที่พวกเขาทำคือ ‘แสดงความคิดเห็น’ ใช้สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีอำนาจ การเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย”
“ฉะนั้น สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรเป็นสิทธิ์ที่ได้รับการประกันและประยุกต์ใช้กับผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่ม ศาลและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องไม่ใช้อคติ แนวคิดอุดมการณ์ หรือจุดยืนทางการเมืองของตนเอง มาใช้ในการตัดสิน ศาลต้องเป็นกลางและมีความยุติธรรม สังคมจึงจะสงบสุข เราไม่อยากเห็นการที่กฎหมายถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพียงเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาล หรือป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ บุคคลสาธารณะหรือผู้มีอำนาจทุกคนที่ใช้งบประมาณสาธารณแผ่นดิน ย่อมไม่อยู่เหนือการตรวจสอบจากประชาชน ผมคิดว่านี่เป็นหลักการพื้นฐาน”
ในด้านภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย ประจักษ์เชื่อว่าการเลือกไม่รับฟังปัญหาและคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลลบต่อสถานะของประเทศไทยในสายตาของประชาคมโลก
“ทุกวันนี้ ‘เมียนมา’ ซึ่งเป็นเผด็จการมากกว่าเราด้วยซ้ำ ยังปล่อยนักโทษทางการเมืองออกมามากกว่า 5,000 คนเพราะถูกอาเซียนบอยคอต เมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) และพลเอกประยุทธ์กำลังจะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย ถามว่าเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีจะอยู่ที่ตรงไหน? หากเข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐบาลที่ยังขังนักโทษทางการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก หรือจับนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างสันติไปอยู่ในคุกและไม่ให้แม้แต่สิทธิประกันตัว ถ้าเป็นเช่นนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จะมีภาพลักษณ์ไม่ต่างจากนายพล มิน อ่อง หล่าย จากเมียนมา ดังนั้นอาเซียนควรจะร่วมกันกดดันให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ด้วย..”
“ในความเป็นจริง ชุมชนนานาชาติจับตาดูรัฐบาลไทยอยู่ตลอดในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้สูญเสียสถานะและเกียรติภูมิของชาติไปมากแล้วจากการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐานและในตอนนี้ได้มีนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมากอยู่ในคุก โดยเฉพาะยิ่งเป็นเยาวชน ผมคิดว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำอย่างยิ่งของรัฐบาลไทย”
ในขณะที่พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองอีกท่าน กล่าวว่า รัฐบาลควรรับฟังเสียงของเยาวชนแทนที่การใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่ามีประชาชนจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุนนักกิจกรรมเหล่านี้
“จุดมุ่งหมายในวันนี้เพื่อที่จะบอกกับรัฐบาล ผู้มีอำนาจว่าเราจะไม่ลืมเยาวชนของเราที่ถูกขังอยู่ ไม่ว่าท่านจะขังแค่ไหนเราก็ไม่ลืม และคนที่อยู่ข้างนอกก็จะติดตามเฝ้ามองด้วยความโกรธแค้น ไม่มีประเทศไหนหรอกที่เจริญได้ด้วยการเอาเยาวชนที่มีความปรารถนาดีกับประเทศชาติไปขังคุกจำนวนมากขนาดนี้ ถ้าเปรียบประเทศนี้เป็นบ้าน มันก็เป็นบ้านที่ใหญ่โตเท่านั้นเอง แต่เสาที่ค้ำบ้านนี้อยู่ข้างในมันผุกร่อน มันกลวง เพราะเยาวชนที่กำลังเติบโตและจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ในอนาคตอันใกล้ เขาถูกกด ถูกปราบ ถูกลิดรอนเสรีภาพ”
“คุณไม่สามารถหยุดความคิดเห็นของเขาได้ ถ้าท่านไม่ฟังเยาวชน ยังมุ่งหวังที่จะปราบปรามและจับกุมเขา บ้านหลังใหญ่หลังนี้นับวันจะมีแต่พังทลาย ฉะนั้น ถึงเวลาที่ท่านต้องรับฟังเยาวชน ยกเลิกปราบปรามเสรีภาพของเขาเสียทีอยากจะเตือนไปถึงผู้มีอำนาจ เราเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากพร้อมที่จะสนับสนุนเยาวชนที่ถูกคุมขังอยู่”
ทั้งนี้ ประจักษ์ได้ทิ้งท้ายถึงปัญหา ‘การขาดสอบ’ ของนักกิจกรรมเยาวชนว่า ในเบื้องต้นจะพยายามติดต่อเพื่อเข้าเยี่ยมนักศึกษาที่ราชทัณฑ์ รวมทั้งประสานให้มีการนำข้อสอบและเอกสารประกอบการสอบอื่นๆ เข้าไปให้พวกเขาสามารถทำข้อสอบจากข้างในเรือนจำได้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar