söndag 24 oktober 2021

"ประเพณีประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้าง" : พิธีถวายบังคมฯจุฬากับการขึ้นสู่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล

"การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน..." เว็บไซต์หอประวัติจุฬาฯ ระบุ

"ประเพณีประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้าง" : พิธีถวายบังคมฯจุฬากับการขึ้นสู่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล goo.gl/yZPHCE

Bild 

พิธีถวายบังคมพระบรมรูป ร.5-6 ของจุฬา เป็น "ประเพณีประดิษฐ์" (invented tradition ศัพท์ของนักวิชาการฝรั่ง หมายถึง ไม่ใช่อะไรที่เก่าแก่มากมาย - ไม่ใช่ "ประเพณี" จริงๆ - แต่เป็นอะไรที่ถูก "ประดิษฐ์" ขึ้น invented ขึ้นมา ให้มีลักษณะเหมือนเป็น "ประเพณี")

เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2540 ภายใต้ปริบททางประวัติศาสตร์ของช่วงที่มีปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า The Rise of King Bhumibol (การขึ้นสู่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล) ซึ่งมีช่วง "พีค" จากกลางทศวรรษ 2530 ถึงกลางทศวรรษ 2540 นี่เป็นอะไรที่ "ใหม่" ซึ่งต้องการการศึกษาโดยละเอียดต่อไป เสียดายนักวิชาการหลายคน ยังนับเวลาการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกกันวา hyper-royalism กลับไปที่ 14 ตุลา - ความจริง สถานะของในหลวงภูมิพลและสถาบันกษัตริย์ และลักษณะรอยัลลิสม์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองที่มีพื้นฐานจากลูกหลานคนจีน เป็นอะไรที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลานับ 20 ปี ปัจจัยสำคัญมากที่ยังดำรงอยู่จนถึงกลางทศวรรษ 2520 คือขบวนการและวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายแบบ พคท. และการที่สังคมยังมีลักษณะทางวัฒนธรรมค่านิยมแบบแบ่ง "คนจีน-คนไทย" (ลูกหลานจีนยังไม่ถูกนับเป็น "คนไทย" เต็มที่) และเศรษฐกิจไทยยังไม่ก้าวกระโดดเข้าสู่ความเป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมเต็มตัวซึ่งเพิ่งเริ่มในช่วงสิ้นสุดทศวรรษ 2520

ข้อเสนอของผมคือ หลังจากสูญหายไปของขบวนการและวัฒนธรรมแบบฝ่ายซ้าย (ทั้งในทางสากลและในประเทศ) และการผสมกลมกลืนของอดีตลูกหลานจีนเหล่านี้ จนถูกถือว่าเป็น "คนไทย" (ความเป็นลูกจีน ไม่ใช่ "ปมด้อย" อีกต่อไป อันที่จริง กลายเป็น "ปมเด่น" ด้วยซ้ำ - ดูที่ความนิยมหน้าตาดาราหรือคนในวงการบันเทิง ที่เปลี่ยนจากแบบ "ไทยๆ" กลายมาเป็นแบบ "ตี๋ๆหมวยๆ" เป็นต้น)

แต่ชนชั้นกลางลูกหลานจีนเหล่านี้ เป็นคนที่ "ไม่มีราก" ไม่มีเอกลักษณ์รวมหมู่ (collective identity) ของตัวเอง คือจะใช้วัฒนธรรมหรือเอกลัษณ์แบบจีนของบรรพบุรุษก็ไม่ได้ เพราะห่างไกลเกินไป จึงหันไป adopt หรือ "รับ" วัฒนธรรมแบบเจ้า #หรือแบบที่คิดว่าเป็นแบบเจ้า นี่คือความหมายของ "ประเพณีประดิษฐ์" เช่นกรณีพิธีถวายบังคมฯจุฬา คือ เป็นอะไรที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ให้ความรู้สึกราวกับว่าเป็นอะไรที่มีมาช้านาน "เป็นประเพณี"

ดังที่ผมเคยเสนอไปแล้วว่า ในหลวงภูมิพลจึงเป็นเสมือน "เอกลักษณ์ทดแทน" (substitute identity) "ความเป็นชาติหรือชาตินิยมทดแทน" (substitute nationalism) กระทั่งเป็นเสมือนพุทธศาสนาทดแทน หรือ พระพุทธเจ้าทดแทน (substitute Bhudhism, substitute Budha) ของชนชั้นในเมืองอดีตลูกหลานจีนเหล่านี้

ภาพสไลด์ประกอบกระทู้ ซึ่งแน่นอน มีข้อจำกัดไม่สามารถใส่ข้อมูลได้มาก ทำขึ้นเพียงเพื่อแสดงให้เห็นปริบทของการเกิด "ประเพณี" อย่างพิธีถวายบังคมฯดังกล่าว ในท่ามกลางกระบวนการ "ขึ้นสู่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล"

2535 - ในหลวงภูมิพลออกมา "ห้ามทัพ" ระหว่างสุจินดากับจำลองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ภาพนี้ได้กลายเป็น "ไอคอน" ของการเป็น "ผู้แก้วิกฤติ" เป็น "ศูนย์รวมทางจิตใจ" ของในหลวงภูมิพล ซึ่งในสมัย 14 ตุลา ไม่เคยมี (คนยุคหลังมักจะ "ฉายภาพย้อนหลัง" หรือ project ภาพ "ห้ามทัพ" ปี 2535 นี้ ย้อนกลับไปที่ 14 ตุลา ซึ่งต่างกันมาก - เคยมีอีเมล์ฉบับหนึ่งในปี 2549 เขียนลักษณะนี้)

2538 - ในหลวงภูมิพลออกมาพูดวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในขณะนั้น ในเรื่องการจัดการจราจร กับ การจัดการน้ำ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่กษัตริย์จะออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาล

2537-2547 - การปรากฏตัวของในหลวงภูมิพลในฐานะ "นักเขียน" หรือ author (และโดยนัยยะคือเป็น "นักคิด" "นักปรัชญา") ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้านั้นหลายสิบปี เคยมีแต่การยกย่องในฐานะนักแต่งเพลง, วาดภาพ, นักกีฬา, ถ่ายภาพ

2540 - ในหลวงภูมิพลในฐานะผู้เสนอแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ("ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" - ซึ่งต่อมาถูกบรรจุไว้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่จะมีการเสนอว่า กษัตริย์เป็น "ผู้นำความคิด" หรือชี้นำวิถีชีวิตของสังคมในลักษณะนี้)

"การปฏิรูปการเมือง" ที่นำไปสู่ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540" ก็เริ่มต้นโดยอาศัยการอ้างอิงพระราชอำนาจในหลวงภูมิพล (ซึ่งตอนนั้นได้รับการเชียร์จากนักวิชาการอย่างเป็นเอกฉันท์)

2540s - "ตลาด" หรือ mass market เต็มไปด้วย "สินค้า" (mass products) ในหลวงภูมิพล

.........................

แน่นอน ดังที่เห็นกัน อำนาจนำของในหลวงภูมิพลที่ปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530-2540 นี้ ได้เริ่มแตกสลายลงในทศวรรษที่ผ่านมาพร้อมๆกับวิกฤติการเมืองปัจจุบัน และตอนนี้ในหลวงภูมิพลก็ไม่อยู่แล้ว และลูกชายที่เป็นกษัตริย์ขณะนี้ ก็ไม่มีวี่แววจะสามารถเข้าแทนที่เป็น "เอกลักษณ์รวมหมู่" ของชนชั้นกลางในเมืองได้

ปัญหาอย่างกรณีพิธีถวายบังคมฯจุฬา เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นอีกว่า จะสร้างเอกลักษณ์รวมหมู่ใหม่ ฉันทามติใหม่ ระบบคุณค่าแบบใหม่ อะไรมาแทนที่ และอย่างไร.....
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar