fredag 1 april 2022

ใบตองแห้ง: นิติรังควาน, สองขั้วเลือกผู้ว่า


2022-03-29 21:45

26 มีนา 2563 ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ครบสองปียังไม่มีวี่แววจะเลิก ไม่ว่าโควิดหนักเบา มาตรการเข้มงวดหรือผ่อนคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นกฎหมายประจำถิ่น

ทำไมต้องฉุกเฉิน สำหรับประยุทธ์คือบริหารไม่เป็น ต้องสั่งการแบบ ม.44 สำหรับระบบราชการคือง่ายดี ใช้อำนาจเกินเลยไม่สามารถฟ้องศาลปกครอง ขณะที่ทางการเมืองก็ใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานม็อบสามนิ้ว ม็อบไล่รัฐบาล ศูนย์ทนายสิทธิรวบรวมว่าตั้งแต่ปี 63-65 ม็อบถูกฟ้อง 639 คดี 1,447 คน

แต่รู้ไหม ถ้าจำเลยไม่รับสารภาพ ก็ยังไม่โดนศาลตัดสินลงโทษสักคดี ตรงกันข้าม ศาลยกฟ้องไปแล้ว 7 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี โดยมีความเห็นในทิศทางคล้ายกัน เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมในที่โล่งกว้าง มีมาตรการป้องกัน ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หรือช่วงนั้นไม่ได้มีโควิดระบาดแล้ว ฯลฯ

มีเพียง 3 คดีถูกลงโทษ เพราะจำเลยสารภาพ เพราะเห็นว่าโทษแค่ปรับหรือรอลงอาญา ไม่อยากมีภาระขึ้นโรงขึ้นศาลเสียเวลาทำมาหากิน

การโดนคดีนั้นแม้กองทุนราษฎรประสงค์ออกเงินประกัน ศูนย์ทนายสิทธิว่าความให้ แต่ก็ต้องเสียเวลาเสียค่าเดินทางนัดสอบปากคำ นัดฟังคำสั่งตำรวจอัยการ นัดเช้ารอถึงเย็นย่ำ นัดแล้วตำรวจอัยการไม่พร้อม อุตส่าห์มาก็ดันเลื่อน ฯลฯ ถ้าทำงานประจำคงต้องออกจากงาน ออกมาขายน้ำปลาหวานตราราษฎรออนไลน์

ไม่รู้ใช้แท็กติกหรือเปล่า รู้แต่ว่าตำรวจตะบี้ตะบันออกหมายเรียกหมายจับ รู้ว่าเอาผิดได้ยากก็ตั้งข้อหารุงรังเอาไว้ เพิ่มข้อหาจำพวกขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน กีดขวางจราจร ใช้เครื่องขยายเสียงไม่ขออนุญาต ฯลฯ ให้ดูเป็นอาชญากรเข้าไว้ จะได้เป็นภาระสู้คดี

มาตรา 112, 116 แม้ศาลให้ประกัน แต่ก็ยังมีคนถูกดำเนินคดีถี่ยิบ โดยอ้างพสกนิกรแจ้งความ บางรายต้องเดินทางจากเชียงใหม่ไปนราธิวาส จากนราธิวาสไปสมุทรปราการ เพราะผู้แจ้งอ้างว่าพบเห็นการโพสต์ที่บ้านตนเอง

ล่าสุดก็มีคดี “พิมพ์ชนก” โดนหมายจับ 112 จากเชียงใหม่ ตำรวจจับขึ้นรถขับ 700 กิโลส่งถึงที่ แม้ได้ประกันก็ทำให้ไม่ได้สอบ TCAS ทั้งที่บอกกันดีๆ ก็ได้ ขอสอบก่อนแล้วนัดทนายไปมอบตัว ไม่ต้องเปลืองน้ำมันหลวง

112 แม้ยังไม่ติดคุกแต่ก็กระทบอนาคต อย่างที่พวกมินเนี่ยนขู่ รวิศรา หนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ได้ทุนรัฐบาลเยอรมันไปเรียนต่อ ยื่นขอศาล 5 ครั้ง มีคำยืนยันจากมหาลัย ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ

คดี 112 มีบางคดีศาลยกฟ้อง พร้อมคำพิพากษาที่ก้าวหน้าอย่างน่าทึ่ง เช่นศาลจันทบุรี (แต่เอาผิด พ.ร.บ.คอมพ์ รอลงอาญา 2 ปี) ขณะที่บางคดีเช่น “กู Kult” ศาลชั้นต้นชี้ผิดแต่ยังได้ประกัน

ขณะที่คดีเก่า หฤษฎ์ มหาทน “ได้รับความเป็นธรรม” หลังสู้คดีมา 6 ปี โดนขังฟรี 70 วัน จากที่โดนทหารจับข้อหาเป็น แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ เอาตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร แล้งอ้างว่าได้รหัสเปิดกล่องข้อความ ส่งข้อความ “หมิ่น” ให้กัน

ศาลยุติธรรมไม่เชื่อ จึงยกฟ้อง แต่ในคดีคล้ายกัน บุรินทร์ อินติน โดนจับจากกิจกรรม “ยืนเฉยๆ ต้าน คสช.” อ้างว่าแชร์โพสต์ผิด 112 เอาเข้าค่ายทหาร รีดรหัสเปิดกล่องข้อความ พบส่งข้อความให้แม่จ่านิว แค่ตอบว่า “จ้า” แม่จ่านิวก็โดนข้อหา 112 มาแล้ว

มีหลายคนกังขา ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน บุรินทร์จะติดคุก 6 ปีไหม

อีกคดีที่คั่งค้าง ศาลอาญาเพิ่งยกฟ้อง “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ กับเพื่อนอีก 5 คน ข้อหาร่วมกันวางแผนจ้างวานปาระเบิด เกี่ยวเนื่องกับระเบิดหน้าศาลอาญาเมื่อปี 58 เพราะเป็นการเอาตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร ไม่มีหลักฐานว่าการโอนเงินให้กันคือการจ้างวาน

ยกฟ้อง แต่ 2 ใน 6 คนถูกขังมาแล้ว 7 ปี คนหนึ่งจำใจรับสารภาพข้อหาอั้งยี่ รับโทษ 2 ปีแต่ติดคุกมาเกินแล้ว

คดีเหล่านี้แม้ศาลยกฟ้อง ก็ฟ้องกลับเอาผิดตำรวจทหารไม่ได้ นั่นแหละที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใจ ใช้อำนาจ “นิติรังควาน” กับม็อบ แกนนำ เอาใจอำนาจได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง รัฐบาลไหนมาก็แตะต้องไม่ได้

ฮึกเหิมกระทั่งออกหมายจับ รังสิมันต์ โรม ซึ่งปริญญา เทวานฤมิตรกุล ชี้ว่าออกหมายจับโดยมิชอบ ความผิดหมิ่นประมาทโทษจำคุกไม่ถึง 3 ปี คนเป็น ส.ส.เรื่องอะไรจะหลบหนี ขอหมายจับได้ไง อนุมัติได้ไง ตั้งคำถามทั้งนายกฯ และศาล แต่ไม่มีใครตอบ

การประจันหน้าระหว่างอำนาจอนุรักษ์กับพลังคนรุ่นใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่จบ เหมือนแค่หย่าศึกชั่วคราว ผู้มีอำนาจรู้ว่าการคุมขังไม่มีประโยชน์ มีแต่โลกประณามจึงปล่อยออกมาก่อน แล้วระหว่างนี้ก็ตั้งข้อหาเยอะๆ เข้าไว้จะได้เข็ดหลาบ ทั้งที่ควรรู้ว่าทำอย่างไรก็เอาชนะใจคนรุ่นใหม่ไม่ได้แล้ว

นิติรังควานเป็นการสร้างชนัก หวังควบคุม “บีบก็ตายคลายก็รอด” ให้อยู่เฉยๆ ไว้ แต่ประเด็นปฏิรูปของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ลอยหายไป มันแค่รอสถานการณ์ รอจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่จะปะทุกลับมา

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6962685

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในที่สุดก็เห็นหน้าค่าตา 8 ว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นตัวเก็งนำโด่ง ภาษาการเมืองเรียกว่า “นอนมา” แต่ไม่มีใครชอบคำนี้ กลัวมีพระนำ

ชัชชาตินำทุกโพลตั้งแต่ต้น ทั้งความสามารถ ภาพลักษณ์ เป็นที่รักที่นิยมของคนเลือกพรรคฝ่ายค้าน แม้แต่คนเลือกอนาคตใหม่ก้าวไกลไม่น้อยก็รักชัชชาติ แถมประกาศตัวก่อนคนอื่น ทำนโยบายมาสองปีครึ่ง สร้างกลุ่มเพื่อนลงถึงสภากาแฟ

แต่การที่อดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี หิ้วถุงแกงหาเสียงมาเกือบสามปี ไม่ได้เลือกตั้งสักที จนการเมืองเปลี่ยนหลายตลบ ก็น่าหวาดเสียวเหมือนกัน ว่าเงื้อง่านานเกิน พอลงสนามจริง ๆ คู่แข่งอาจสดใหม่กว่า

เลือกตั้งผู้ว่าถูกลากมา 3 ปี จนจะมีเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า ทำให้ทุกพรรคต้องส่งสมัครเพื่อรักษาพื้นที่ เพื่อให้กิจกรรมการเมืองต่อเนื่อง พูดง่าย ๆ ว่าปีหน้าคุณจะลง ส.ส. ถ้านั่งเฉยปล่อยให้พรรคอื่นมาหาเสียงผู้ว่า สก. รอบบ้าน จะรักษาฐานได้อย่างไร

ทุกพรรคจึงต้องส่ง โดยเพื่อไทยกับพลังประชารัฐส่งเพียง สก. ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย ส่งครบ แล้วยังมีทีมผู้ว่าอัศวิน รองผู้ว่าสกลธี บวกอดีต ส.ว.รสนาและพรรคพี่เต้ (ไปทุกงาน)

คะแนนเลือกตั้ง กทม.ปี 62 พรรคอนาคตใหม่ได้ 8 แสน พลังประชารัฐ 7.9 แสน เพื่อไทย 6 แสน ประชาธิปัตย์ 4.7 แสน คนเลือกพรรคอื่น 4.2 แสน โดยอนุมานได้ว่า ที่จริงเพื่อไทยมี 8-9 แสน แต่ติดไปกับอนาคตใหม่ในเขตไทยรักษาชาติถูกยุบ

แต่ 3 ปีการเมืองเปลี่ยนหลายตลบ ในซีกฝ่ายค้าน ก้าวไกลลงหลักปักฐานชิงคนรุ่นใหม่ “หญิงหน่อย” ก็แยกไปตั้งไทยสร้างไทย 30 ปีสุดารัตน์ ปักหลัก กทม.ฝั่งตะวันออก จะทิ้งฐานได้ไง

ซีกรัฐบาล พปชร.มี ส.ส.12 คน ปชป.กินไข่ โดย ส.ส.พปชร.หลายคนไปจาก สก.ปชป. รอบนี้ ปชป.หวังว่า พปชร.เสื่อมจะทำให้คนหวนเลือกสุชัชวีร์ แต่ ส.ส.พปชร. 12 คนก็ยอมไม่ได้ ไม่งั้นสมัยหน้าหมดอนาคต แม้พรรคไม่ส่งผู้ว่า ก็ต้องหนุนใครสักคน

ถึงขั้นไปดึง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. ลาออกมาเป็น ผอ.เลือกตั้ง จะหยวนยอมกันได้ไง

เลือกตั้งท้องถิ่นมี 2 ปัจจัยซ้อนกัน คือเลือกขั้วทางการเมือง กับเลือกตัวบุคคล ใน ตจว.ส่วนใหญ่เป็นอย่างหลัง “บ้านใหญ่” จึงกวาดเรียบ แต่ กทม.บางครั้งขั้วการเมืองชี้ขาดด้วยซ้ำ เช่น “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ทำให้ “ชายหมู” ชนะทั้งที่คนกรุงโคตรเบื่อ

เพียงแต่ครั้งนี้ พปชร.หลบกระแสตกต่ำ มีแต่ ปชป. กับผู้ว่า รองผู้ว่า ลงอิสระ แต่จะปฏิเสธความเป็นขั้วทางการเมืองได้อย่างไร ในความเป็นพรรคบอยคอตเลือกตั้ง ทิ้งสัญญาประชาคมร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจ หรือความเป็นผู้ว่า คสช.แต่งตั้ง เป็นรองผู้ว่า กปปส.เป่านกหวีดปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง

ในซีกฝ่ายค้าน ชัชชาติก็มาจากพลังการเมือง ในฐานะอดีตรัฐมนตรีผู้วาดฝัน กู้ 2 ล้านล้านสร้างอนาคตประเทศ กลับโดน “ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน” ตามด้วยรัฐประหารสืบทอดอำนาจ คนรักประชาธิปไตยจึงคุคั่ง อยากส่งชัชชาติถึงฝั่งฝัน เข้าไปแสดงฝีมือตบหน้ารัฐประหารตุลาการภิวัตน์

แต่ชัชชาติหวังดึงฐานเสียงที่กว้างกว่าเพื่อไทย จึงไม่ลงในนามพรรค หวังดึงคนเลือกฝ่ายค้านส่วนใหญ่ หวังคนกลาง ๆ หรือกระทั่งคนเลือกรัฐบาล จึงเสนอภาพลักษณ์คนทำงาน คนเก่งคนดีที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยขั้วการเมือง

ขณะที่สองปีครึ่งผ่านไป การเมืองยิ่งแหลมคม วิโรจน์ ก้าวไกล จึงบุกทะลวงโดยประกาศ “เข้าไปชน” ระบบราชการ เอาที่ทหารมาทำสวนสาธารณะ “ทวงคืนสนามหลวง”

คอยดูคนกรุงจะให้ความสำคัญด้านไหนมากกว่า ขั้วการเมือง หรือความสามารถ-นโยบาย

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/column/523038 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar