onsdag 30 september 2015

แผนชิงอำนาจต่อโรดแมป"คสช." ชำแหละ 6 กลุ่ม ล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับเรือแป๊ะ

-prachachat -รายงานพิเศษ
แผนชิงอำนาจต่อโรดแมป"คสช." ชำแหละ 6 กลุ่ม ล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับเรือแป๊ะ



หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 135 เสียง โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ 2 สัปดาห์

"วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไม สปช.ถึงตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากคณะทำงานว่า สปช.ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะอย่างไรก็ไม่ชอบ

กลุ่มหนึ่งอาจมีเหตุผลทางวิชาการ ที่ไม่ชอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น ไม่ชอบนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่ชอบคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หรือเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง

อีกกลุ่มหนึ่ง ชอบทั้งหมด เพียงแต่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่อยากให้รอไปก่อนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น และเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดก็จะนำผลรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป

แต่เบื้องหลังการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเคลื่อนเกม-เขี่ยบอลมิใช่จำแนกอยู่แค่กลุ่มคนใน สปช. แค่ 3 ประเภท แต่เป็นขบวนการที่แยกกันเดิน ร่วมกันตี สู่จุดเดียวกันคือล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ




แต่เรื่องที่เปิดเผยภายหลังจากชะตากรรมร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ขาดกลางสภา พบว่า ในขบวนการคว่ำร่างมีมากถึง 6 กลุ่ม



กลุ่มแรก คือ กลุ่ม สปช.ที่เคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเป็นพวกแรกๆ คือคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยมี "วันชัย สอนศิริ" สปช. เป็นตัวเปิดหน้า ปล่อยข่าวเรื่องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ รับคำบัญชาจากหน่วยเหนือที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กลุ่มสอง ผู้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญใน สปช. เชื่อว่าเป็น "หน่วยเหนือ" ของ "วันชัย" ซึ่งมาจากแผนการชิงอำนาจกันเองภายในแม่น้ำห้าสาย

ย้อนความไปก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ ในวงประชุมแม่น้ำ 5 สายมีการตกลงเพียงเรื่องการปลดล็อกการทำประชามติ และเรื่องการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อองค์รัชทายาทได้เท่านั้น แต่พอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เผยโฉมขึ้นมา กลับหั่นวาระของ สปช.ทิ้งไป

ด้วยเหตุผลที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ผ่านการลงมติของ สปช. จะต้องให้ประธาน สปช. นำความขึ้นกราบบังคมทูล และรับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อไม่ต้องการให้ประธาน สปช.ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการนั่นจึงทำให้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจำเป็นต้องตัด สปช.ทิ้งไปทั้งยวง

นอกจากนี้ ยังเขียนเรื่องการนับคะแนนเสียงการทำประชามติในมาตรา 37/1 ในลักษณะที่ "กำกวม" ว่า หากจะผ่านประชามติ "จะต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ประชามติ" จนเกิดปัญหาการตีความกันวุ่นวายในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันโหวตรัฐธรรมนูญ อาจเป็นแผนหนึ่งที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำในสภา

เพราะก่อน สนช.พิจารณารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 3 วาระรวดนั้น ทาง สนช.ได้รับแจ้งปัญหาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วว่าการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะ "กำกวม" เช่นนี้จะเกิดปัญหา แต่มิได้รับการแก้ไข แล้วในที่สุดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกลับผ่านที่ประชุม สนช.ไปแบบราบรื่น ด้วยเสียงเอกฉันท์ 203 เสียง ท่ามกลางข่าวที่สะพัดออกมาว่า คนที่เป็น Conductor ใหญ่ของขบวนการกลุ่มนี้ มีชื่ออยู่ในแกนหลักอำนาจฝ่าย สนช.

เหตุผลเพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำ โรดแมปอำนาจของ คสช.ก็จะขยายเวลาออกไป สนช. จะได้เกาะขบวนอยู่ในดงอำนาจแบบยาวๆ ตาม คสช.ไปด้วย

แล้วเมื่อถึงช่วงเช้าของวันโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ "วันชัย" ให้เหตุผลชัดเจนว่า "มันวางยากันมา" พร้อม ๆ กับเหตุการณ์ที่ 36 อรหันต์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องใจหาย เพราะได้รับสัญญาณร้าย เมื่อมีคนพยายามต่อสายหาวิษณุ เพื่อเช็กสัญญาณครั้งสุดท้ายว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ แต่ไม่สามารถติดต่อปลายสายได้




กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบางคนจึงกระซิบกันเงียบ ๆ ว่า "เตรียมตัวไปเลี้ยงหลาน"



กลุ่มสาม สปช.สายรับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 105 คน ได้จับสัญญาณพิรุธจาก สปช.บางกลุ่ม บางคน ว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยให้เดินเกม ปั่นกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในกระแสข่าวลือว่า "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" พบปะกับ สปช. ร่วมกับ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. ในฐานะเพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่สี่ เป็นพวกที่เป็น สนช.สายทหาร มี พล.อ. และ พล.ท. เดินสายล็อบบี้กลุ่ม สปช. ให้คล้อยตาม โดยอ้างว่า "นายสั่ง" เพราะทำให้ สปช.ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกองทัพ ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจที่คบค้ากับทหาร เชื่อใน "สัญญาณ" ดังกล่าว แม้จะมีความพยายามสืบจาก สปช.ฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญว่า "นาย" ที่ถูกอ้างถึงชื่อ-เสียง-เรียงนาม และหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ 

 
กลุ่มที่ห้า พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผยทั้งในพรรคเพื่อไทย กระทั่ง สปช.ว่าเป็นคนใกล้ชิดของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยก่อนหน้าเกิดการรัฐประหาร พ.ต.อาณันย์ ก็ได้รับสัญญาณดังกล่าว จึงลาออกจากเพื่อไทยเพียง 5 วันก่อนถึงวันที่ 22 พ.ค. หลังจากนั้น พ.ต.อาณันย์ก็เข้าร่วมขบวน สปช.


แรกเริ่ม พ.ต.อาณันย์ ที่เป็นแกนของกลุ่ม สปช.รักชาติ ระบุว่า ร่าง รธน.จะผ่านการเห็นชอบจาก สปช. แต่ช่วง 30 วันสุดท้าย ลมเปลี่ยนทิศ พ.ต.อาณันย์ เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเดินเกมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดหน้า ร่วมกับนายทหารในกองทัพที่มีสายเชื่อมโยงกับ คสช. อาทิ พล.อ.ภูดิส ทัตติยโชติ จเรทหารทั่วไป พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ที่เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมหมาดๆ

กลุ่มที่หก นายทหารที่เป็นสาย คสช. นอกจาก พ.ต.อาณันย์เดินเกมแล้ว ยังมีนายทหารสายอื่น ๆ ที่ยึดโยงอยู่กับผู้มีบารมีใน คสช.อันเป็นที่รับรู้ใน สปช. เช่น พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ซึ่งเป็นทหารสาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จึงมีข่าวสะพัดว่า พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ไปหา พล.อ.ประวิตร เพื่อถามสัญญาณการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ข่าวขณะนั้นจึงปรากฏว่า "แล้วแต่พวกมึง"  

 



เนื่องจากกลุ่มทหารหลายพวกที่พยายามรับสัญญาณจากเบื้องบนมาเดินเกมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แหล่งข่าวจากอดีต สปช.ซึ่งสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของนายทหารกลุ่มนี้วิเคราะห์ว่า นายทหารกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นทหารสายคุมกำลัง การเติบโตในหน้าที่จึงมีโอกาสน้อยกว่าทหารที่มาจากสายคุมกำลัง
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ มีการรัฐประหาร ทหารกลุ่มนี้ก็จะฉวยโอกาส ทหารกลุ่มดังกล่าวต้องแสดงฝีมือและผลงาน และสุดท้ายในโผทหารล่าสุดซึ่งผ่านมือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ทหารเหล่านี้จึงเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง
เช่น พล.อ.เดชา ปุญญบาล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ฐิติวัจน์ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พล.อ.เช่นเดียวกับ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญเพียงหนึ่งเดียวที่โหวตงดออกเสียง ก็จะได้เป็น พล.อ.ในตุลาคมนี้เช่นกัน

"ทุกคนก็วิ่ง โดยเฉพาะที่ไม่อยู่สายคุมกำลังพล จังหวะนี้เป็นโอกาสดีที่จะวิ่งฉวย" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมาธิการการปฏิรูปค่านิยมศิลปะ สปช. ผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำแนกกลุ่มคนใน สปช.ออกเป็นสี่กลุ่ม หลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไปแล้ว

มองแง่ดีก็ต้องยอมรับว่าสังคมก็เป็นเช่นนี้ คือประกอบด้วยกลุ่มชนหลากหลาย ตัวแทนของแต่ละกลุ่มชนเหล่านี้แหละที่ประกอบกันขึ้นเป็นสภาอันทรงเกียรติ แห่งนี้คือเป็นสภาที่ให้เกียรติแก่คนทุกหมู่เหล่าโดยไม่รังเกียจนั่นเอง

เคยจำแนกคนออกเป็นสี่จำพวกดังนี้ หนึ่ง คือ สังคมหนอน คือต่างไต่ตัวยั้วเยี้ยซึ่งกันและกัน เพื่อขึ้นไปอยู่บนยอดเหนือสุด ซึ่งก็แค่เหนือกองอาจมนั่นเอง

สอง คือ สังคมปลา อยู่น้ำแต่ไม่เห็นน้ำ เพราะน้ำอยู่ติดตาติดตัวมัน ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ปลามันลืมตาอยู่ในน้ำแท้ ๆ แต่ก็ยังมองไม่เห็นเบ็ด จึงตกเป็นเหยื่ออยู่ร่ำไป นี่เป็นจำพวกมองด้านเดียวตลอด

จำพวกสาม คือ สังคมเต่า มันรู้ทั้งน้ำทั้งบก เกิดอะไรขึ้นก็หดหัวเข้ากระดองทันที พวกนี้แหละคือ เหล่าปัญญาชนคนชั้นกลางตัวดี ผู้มีธรรมชาติ ยโส โลเล เสรี นั่น

จำพวกสี่ คือ นก มันอยู่ได้หมดทั้งน้ำทั้งบก กระทั่งถึงทั้งฟ้า มีแค่ปีกเป็นภาระ อยู่เป็นฝูง ทำรังแต่พอตัว รู้พอเพียงโดยแท้

ตัวแทนของสัตว์สี่จำพวกนี้แหละที่ถูกเลือกเข้าไปอยู่ในสภาทุกยุคทุกสมัย

สภาให้เกียรติกับคนเหล่านี้เสมอ สิทธิอันเสมอภาคที่ให้แก่คนทุกหมู่เหล่านี้แหละ คือความทรงเกียรติของสภาแห่งนี้

มองอย่างนี้ก็ไม่รังเกียจสัตว์สี่จำพวกในสภานี้หรอก เราควรมาร่วมช่วยกันกำจัดสังคมที่น่ารังเกียจอันมีอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ให้หมดไปต่างหาก นี่แหละประเด็นหลัก

นี่ต่างหากคือการปฏิรูปแท้จริง

แม้ว่าวิษณุ ระบุว่า อาจมี 3 กลุ่ม แต่หากแยกย่อยออกมาจะพบการวางแผน การเดินเกมอันสลับซับซ้อนก่อนชะตาของร่างรัฐธรรมนูญจะขาด

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar